ปิยบุตร-สุดสงวน อาจารย์มธ.เบิกความ คดี “สมยศ”

 

2 พ.ค.55 การสืบพยานในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา112 ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin  ในช่วงเช้า มีพยานฝ่ายจำเลยเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ
ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ .) รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

ปิยบุตร เบิกความกับทนายจำเลยว่า ตนกับอาจารย์อีก 5 คน เริ่มก่อตั้งคณะเพื่อทำงานด้านกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะรณรงค์ ขยายความคิดด้านกฎหมายแก่ประชาชนให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและ ประชาธิปไตย เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ความสนใจมามากกว่า 1 ปีแล้ว  พบว่ากฎหมายนี้มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในลักษณะที่การกำหนดโทษรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เพิ่มโทษกฎหมายหมิ่นฯ ทั้งระบบเพื่อจะกำจัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของนักศึกษา

ในส่วนของการตีความกฎหมาย ปิยบุตรเห็นว่า คำว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น  แสดงความอาฆาตมาดร้าย ในมาตรา112 ก็มีความหมายเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และมาตรา392 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงเห็นได้ว่าแม้การตีความจะไม่ต่างกันแต่การกำหนดโทษกลับรุนแรงกว่ามาก (มาตรา112 มีโทษจำคุก3-15ปี) ทั้งที่จริงแล้วก็ไม่มีการนิยามลักษณะความผิดของมาตรา112 ไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด  นอกจากนี้มาตรา112 ยังไม่มีเหตุยกเว้นความผิดในกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจ และยังถูกจัดไว้ในหมวดความมั่นคง ซึ่งถือว่าขัดกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และไม่รักษาสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ปิยบุตรขยายความในประเด็นการจัดมาตรา112 ไว้ในหมวดความมั่นคงว่า  การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เพราะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อเสียชื่อเสียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การกำหนดโทษหมิ่นพระมหากษัตริย์ให้สูงกว่าบุคคลทั่วไป เป็นสิ่งที่สามารถทำได้แต่ไม่ควรสูงมากเกินไป หรือมากเท่าปัจจุบัน ซึ่งในต่างประเทศก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกับมาตรา112 แต่มีโทษน้อยกว่า ที่สำคัญยังมีการยังมีการดำเนินคดีและลงโทษน้อยมาก อาจลงโทษแค่ปรับ ตัวกฎหมายนี้แม้ว่ามีอยู่แต่ก็เสมือนตายไปแล้ว ซ้ำเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

ทนายถามถึงนิตยสาร Voice of Taksin  ปิยบุตรเห็นว่า มีบทความที่เนื้อหาก้าวหน้ากว่านิตยสารเล่มอื่นๆ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครองในเอเชีย  ส่วนในเนื้อหาบทความที่พบการกระทำความผิด  ปิยบุตรเห็นว่า คนที่ผู้เขียน คือจิตร พลจันทร์ ต้องการกล่าวถึงอำมาตย์  ซึ่งหมายถึงบุคคลชนชั้นหนึ่งที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาตลอด ในบทความแผนนองเลือดที่กล่าวถึงการวางแผนฆ่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี  ปิยบุตรเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการเตือนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก และเตือนว่าอำมาตย์อย่าทำแบบนี้เลย โดยเมื่ออ่านบทความทั้งหมดแล้ว ไม่ได้ทำให้นึกถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และบทความ 6ตุลา แห่ง2553 นั้น หลวงนฤบาลเป็นสัญลักษณ์แทนอำมาตย์ ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปิยบุตรให้ความเห็น เกี่ยวกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดๆ มิได้ โดยเขาเห็นว่า คำว่า”เคารพสักการะ” เขียนขึ้นมาเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ไว้บังคับให้ประชาชนทำ และ “ละเมิดมิได้” หมายถึง ห้ามฟ้องร้อง ไม่ใช่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา48 ที่บัญญัติให้ บก.หนังสือต้องรับผิดชอบต่อบทความที่ตีพิมพ์ ปิยบุตรทราบว่าได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ปัจจุบันใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แทน ซึ่งระบุว่าบก.และผู้พิมพ์โฆษณาไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาบทความ แม้ว่าจะเป็นผู้เผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาหมิ่นก็ตาม

พนักงานอัยการกล่าวถึงประวัติศาสตร์รอยต่อของกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีสติฟั่นเฟือน จึงถูกรัชกาลที่1 ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ปิยบุตรเห็นว่านำมาเชื่อมโยงกับบทที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ และผู้เขียนบทความก็ไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้าย เพียงแต่เล่าเรื่องไปตามปกติ

ทนายจำเลยถามติงอีกครั้ง  ปิยบุตรเห็นว่า การดำเนินคดีนี้ คนที่มีหน้าที่หาผู้กระทำผิดมาลงโทษก็คือเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยซึ่งเคยเป็น บก. และในประเด็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่อยู่ในกระแสหลักและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

ต่อมา รศ.สุดสงวน สุธีสร เบิกความถึงชื่อนิตยสาร Voice of Taksin ว่าเป็นชื่อที่ตั้งมาเพื่อกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ตนอ่านTaksin ว่าตากสิน ไม่ใช่ทักษิณ ในส่วนเนื้อหาบทความ สุดสงวนเห็นว่าทั้งสองบทความเขียนไปในลักษณะการเล่า เป็นวรรณกรรมทางการเมืองที่ไม่ได้อิงกับหลักวิชาหรือประวัติศาสตร์ เขียนตามใจผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่า หลวงนฤบาล หมายถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ทนายถามถึงสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ สุดสงวนทราบว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ทราบว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีคดีนี้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ทราบว่ากฎหมายนี้มีความร้ายแรงต่อความรู้สึกและกำหนดโทษหนักมาก สุดสงวนเห็นว่าการถูกดำเนินคดีตามาตรา112 ถือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท