Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องในวันพรุ่งนี้ เป็นวันครบรอบ 20 ปีการสถาปนากรมทรัพย์สินทางปัญญา คงไม่มีสิ่งใดจะดีไปกว่าการให้สติแก่กันฉันกัลยาณมิตร

“ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่าตื่นตระหนกกับรายงานมาตรการพิเศษ 301 ของสหรัฐฯ จนยอมตามข้อเรียกร้องที่ไม่ธรรมและสร้างปัญญาให้กับการสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว แนะกรมฯ ตั้งสติควรยึดหลักความสมดุลย์ระหว่างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของภาคธุรกิจและคุ้มครองสาธารณประโยชน์ของประชาชน”

ทุกๆ ปี ก่อนวันเกิดของกรมฯ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯจะออกรายงานมาตรการพิเศษ  301 (Special 301 Report) ประจำปี ปรากฎว่า ปีนี้ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ  PWL (Priority Watch List) เช่นเดียวกับอีก 12 ประเทศ

ประเทศไทยถูกกล่าวหาและขึ้นบัญชีว่าเป็นประเทศที่ “ด้อยประสิทธิภาพ” ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ มาหลายวาระหลายโอกาส และด้วยข้อหารุนแรงที่ต่างระดับกันไป  ในปีนี้ไทยถูกจัดกลุ่มเป็น “ประเทศที่ต้องจับตามอง” เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 หลังจากที่ไทยนำมาตรการใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตร หรือมาตรการซีแอล มาใช้เพื่อลดราคายาจำเป็น เช่น ยารักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคมะเร็ง โดยนำเข้ายาชื่อสามัญในราคาที่ถูกกว่าแต่มีคุณภาพเทียบเท่ามาจากอินเดีย มาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ โดยยื่นข้อเสนอจ่ายค่าใช้สิทธิ์ให้กับเจ้าของสิทธิบัตร   ในครั้งนั้น สหรัฐฯ แจ้งเหตุผลชัดเจนว่า จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะไทยนำมาตรการยืดหยุ่นนี้มาใช้ ทั้งๆ ที่มาตรการนี้อยู่ในข้อตกลงสากลว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทาง ปัญญา หรือข้อตกลงทริปส์ และกฎหมายสิทธิบัตรของไทย และประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ ก็นำมาใช้เช่นกันเป็นเรื่องปกติ ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯเอง

หลังจากนั้น ไทยก็ถูกแขวนอยู่ในบัญชี PWL เรื่อยมา ด้วยข้อหาเดิมๆ ที่นิยมถูกขุดขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เนืองๆ เมื่อต้องการกดดันประเทศไทย ข้อหาเดิมๆ ก็ไม่พ้นเรื่องของลิขสิทธิ์เทปผีซีดีเถื่อน แต่สหรัฐฯ ไม่กล้าอ้างเรื่องการใช้มาตรการซีแอลกับยาจำเป็นในรายงานมาตรการพิเศษ 301 อีก เพราะเรื่องซีแอลของไทยกลายเป็นกระแสทั่วโลกและเกิดแรงกดดันประนามสหรัฐฯ จึงทำให้อเมริกาจำต้องละไม่เอ่ยถึงเรื่องซีแอล แต่หันมาใช้ข้อกล่าวหาเรื่องอื่นแทน

ในปีนี้มีข้อเรียกร้องใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา และดูเหมือนว่า จะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจริงๆ คือ ต้องการให้ประเทศไทยต้องลงนามในสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาสากลหรือ WIPO (World Intellectual Property Organization) ซึ่งจะมีผลทำให้ไทยต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเข้มงวดเกินกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงแบบทริปส์พลัส และไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกและปฎิบัติตามข้อตกลงต่างๆตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง หรือ ACTA (Anti-counterfeiting Trade Agreement) สหรัฐฯ ไม่ได้พูดตรงๆ ในรายงาน แต่พูดว่าไทยต้องปรับปรุงเรื่องสินค้าปลอมแปลง  นัยสำคัญของเรื่องนี้ คือ ยาชื่อสามัญที่ปลอดภัยและมีคุณภาพจะถูกเหมารวมว่าเป็นยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ ได้ง่ายๆแม้เพียงแค่ต้องสงสัย และจะถูกยึด ส่งกลับ หรือทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องยาหรือทรัพย์สินทางปัญญา  นอกจากนี้ ยังให้อำนาจสามารถยึดจับยาที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ทั้งๆ ที่ยาดังกล่าวไม่มีสิทธิบัตรในประเทศต้นทางและปลายทาง  ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการละเมิดข้อตกลงทริปส์และขัดขวางการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยมี  “การผูกขาดข้อมูลทางยา” หรือ  Data Exclusivity (DE) ซึ่งจะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับการสาธารณสุขของไทย เพราะจะเป็นการกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ โดยจะให้มีการผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก 5-13 ปี ทั้งๆ ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรอยู่แล้ว 20 ปีตามกฎหมายสากลและไทย  เช่นเดียวกัน อเมริกาไม่ได้อ้างตรงๆ ว่าเป็น DE แต่สามารถอ่านออกได้ไม่ยากว่าอะไรคือวาระซ่อนเร้น ทั้งนี้ ทางนักวิชาการจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เคยทำวิจัยประเมินพบว่า หากไทยต้องยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา 5 ปี และ 10 ปี จะส่งผลให้ใน 20 ปีข้างหน้า จะเกิดผลกระทบ คือ ราคายาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน ร้อยละ 13 และ 27 ตามลำดับ, ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน 190,682.94 และ 325,264.49 ล้านบาท ตามลำดับ, ส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่า 38,800.30   และ 94,586.44 ล้านบาท ตามลำดับ และนี่ทำให้ข้อสรุปของงานวิจัยผลกระทบของทริปส์พลัสชิ้นนี้ระบุว่า “การผูกขาดข้อมูลทางยา” คือข้อเรียกร้องแบบทริปส์พลัสที่ร้ายแรงที่สุด

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเรียกร้องให้บรรษัทหรือหน่วยงานในอาณัติของตนต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณานโยบาย หรือกฎหมายในทุกขั้นตอน โดยอ้างเรื่อง “ความโปร่งใส” ทั้งๆ เรื่องนี้เป็นอธิปไตยของประเทศและรัฐควรจะมีสิทธิและอำนาจจัดการได้เอง ขณะที่ขั้นตอนต่างๆในการจัดทำรายงานของสหรัฐฯ ไม่มีความโปร่งใส

มาตรการพิเศษ 301 เป็นมาตรการที่เรียกได้ว่าเป็นการ “กระทำฝ่ายเดียว” นั่นหมายความว่า “ข้าดูเอง พิจารณาเอง กล่าวหาเอง และตัดสินเอง”  ประเทศคู่ค้าไม่สิทธิโต้เถียง เพียงแต่ทำตามที่สั่งเท่านั้นพอ  ถึงแม้จะมีการแก้ไขให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและภาครัฐใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนเป็นเพียงละครสร้างภาพความใจกว้างและความชอบธรรมให้สหรัฐฯ เท่านั้นสิ่งที่รัฐบาลของแต่ละประเทศที่เป็นคู่ค้ากับอเมริกามักเป็นกังวล  จนบางครั้งสติแตกเหมือนกับประเทศไทยในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา คือ เกรงว่า มาตรการพิเศษ 301 จะนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ที่สหรัฐฯ มักจะขู่นำมาใช้ “ลงโทษ” แบบศาลเตี้ย เช่น การตัดสิทธิพิเศษด้านการส่งออก หรือ GSP  หลายรัฐบาลยอมที่จะถูกกดขี่และทำตามสิ่งที่อเมริกาเรียกร้อง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านการส่งออกและเสียสละประโยชน์ของคนบางกลุ่มใน ประเทศ ซึ่งไม่พ้นคนยากจนและไร้อำนาจต่อรอง

ทั้งๆ ที่ทั้งโลกมีข้อตกลงด้านการค้าหลายๆ ฉบับอยู่ภายใต้องค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นเวทีสากลที่ประเทศเกือบทั้งโลกเป็นสมาชิกอยู่  แต่เนื่องจากเวทีองค์การการค้าโลกเป็นเวทีแบบพหุภาคี และข้อตกลงใดๆ ก็ตามต้องเป็นเอกฉันท์ของประเทศสมาชิกทั้งหมด  จึงไม่ง่ายสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะเรียกร้องสิ่งต่างๆ ได้ตามอำเภอใจในเวทีนี้ และหันมาใช้วิธีไล่บี้เป็นรายประเทศโดยถือว่าตนเองมีอำนาจทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ดังเช่นมาตรการพิเศษ 301 และข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ

รัฐบาลไทยควรจะกล้าหาญและเท่าทันมากขึ้น และกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรทำหน้าที่ทางปัญญาให้แก่ผู้กำหนดนโยบายว่า ไม่จำเป็นต้องไปตื่นตระหนกไปกับรายงานฯ ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับนักการเมืองหรือข้าราชการ 

ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแล้วที่ประเทศไทยถูกกดดันเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรสรุปบทเรียนเรื่องมาตรการพิเศษ 301 เสียทีว่า แท้จริงแล้วเราเสีย “ค่าโง่” ยอมให้สหรัฐฯ ไปแบบได้ไม่คุ้มเสียหรือเปล่า ควรสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่เป็นกลางที่ศึกษาและพิสูจน์ผลกระทบและประโยชน์ต่างๆ ที่ได้และที่ต้องเสียให้กับสหรัฐฯ จากมาตรการพิเศษ 301 รวมทั้งกลับไปยึดมาตรฐานความตกลงขององค์การการค้าโลกที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ และที่สำคัญที่สุด ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตระหนักในพันธกิจของตัวเองในฐานะหน่วยราชการที่ดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีหน้าที่ทั้งรักษาผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิและด้านรักษาประโยชน์ของสาธารณะซึ่งกรมฯมีหน้าที่ทำทั้งสองด้านให้สมดุลย์กัน

 

 

สามารถดูรายงานมาตรการพิเศษ  301 ปีปัจจุบันได้ที่ http://www.ustr.gov/sites/default/files/2012%20Special%20301%20Report_0.pdf

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net