ครูเบน แอนเดอร์สัน: ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ มีนาคมศกนี้ ครูเบน หรือ เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ Aaron L. Binenkorb ด้านการศึกษาระหว่างประเทศและศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งคณะการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์แนล(Department of Government, Cornell University) สหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถานำเรื่อง “Modern Monarchies in a Global Comparative Perspective” (ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก) ในการประชุมวิชาการเรื่อง Democracy and Crisis in Thailand จัดโดยมหาวิทยาลัย McGill ของแคนาดา ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปกรำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปาฐกถานำของครูเบนมีเนื้อหากว้างขวางเจาะลึกชวนคิดน่าสนใจยิ่ง ผมขออนุญาตถอดความเรียบเรียงมาเสนอต่ออีกทีตามที่ถ่ายทอดบันทึกไว้ในเว็บยูทูบตามลิงค์ด้านล่างนี้:

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“ก่อนอื่นผมใคร่ขอแสดงความขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถานำที่นี่ และผมอยากขอบคุณเป็นพิเศษต่อคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ, ผู้จัดการประชุมคุณอีริค ซึ่งผมรู้จักมาตั้ง ๑๐ - ๑๒ ปีแล้วกระมัง, อาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์และท่านอื่น ๆ , ผมยังอยากขอบคุณเป็นพิเศษต่อผู้ช่วยออกแบบภาพพาวเวอร์พอยท์ประกอบซึ่งคงจะขึ้นจอให้ท่านได้ชมดูด้วยความทรมานสายตาในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขาผู้นั้นก็คือนายวุฒิที่ยืนอยู่ข้างหลัง ผมคอยช่วยเหลือเผื่อผมเดินเครื่องผิดพลาดยุ่งเหยิงขึ้นมา เขาเก่งเหมือนพ่อมดเลยทีเดียวในเรื่องทำนองนี้

“ผมขอเริ่มโดยพูดบางอย่างที่คงจะเป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนอยู่แล้วสำหรับท่านทั้งหลายแต่ผมคิดว่าควรจะกล่าวย้ำเพื่อให้มั่นใจจะดีกว่า ท่านคงเห็นได้ว่าในบัญชีรายชื่อระบอบราชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ปัจจุบัน ๒๗ ประเทศนั้นมีบางอย่างแปลกพิกลอยู่ตอนท้ายบัญชี กล่าวคือมีจักรพรรดิในญี่ปุ่นแม้ว่าพระองค์หาได้มีจักรวรรดิไม่ และยังมีเจ้าชาย, เจ้าผู้ครองนคร, และเจ้าแคว้นอีกบางองค์ (princes, grand dukes, emirs) ซึ่งเอาเข้าจริงก็ดูไม่เหมือนกษัตริย์ในความหมายเดิมสักเท่าไหร่

“แต่ทว่าราชาธิปไตยนั้นหมายถึงการปกครองโดยคน ๆ เดียว ต่างจากคณาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยคนไม่กี่คน และประชาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยคนจำนวนมาก ดังนั้นบรรดารัฐนคร (principalities) ที่ผมกำลังคิดถึงอย่างเช่น โมนาโก, ลิกเตนสไตน์, ลักเซมเบิร์ก แม้จะเล็กมากเสียจนกระทั่งจริง ๆ แล้วก็ไม่จัดเข้าข่ายราชอาณาจักร แต่เอาเข้าจริงรัฐนครเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นตามหลักราชวงศ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับราชาธิปไตย กล่าวคือการที่วงศ์ตระกูลหนึ่งได้ควบคุมการนำเชิงสัญลักษณ์ของรัฐไว้ ดังนั้นก็อย่าแปลกใจนะครับถ้าท่านมีจักรพรรดิที่ปราศจากจักรวรรดิ, และเจ้าชายบางองค์ในบัญชีรายชื่อนี้

“ทีนี้ถ้าท่านดูบัญชีรายชื่อนี้ ทางซ้ายมือท่านจะเห็นการจัดอันดับประเทศราชาธิปไตยทั้ง ๒๗ ประเทศตามขนาดพื้นที่จากใหญ่ด้านบนไปสู่เล็กด้านล่าง และท่านจะเห็นว่ามันมีแง่มุมบางอย่างที่น่าสงสัยนิดหน่อยเกี่ยวกับตารางนี้ อันหนึ่งก็คือซาอุดีอาระเบียเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่ที่สุด ทว่าภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายที่อยู่อาศัยไม่ได้ ดังนั้นมันจึงดูใหญ่กว่าที่เป็นจริงมากและในกรณีโมร็อกโก ผมเชื่อว่าท่านย่อมตระหนักว่าสาเหตุที่ประเทศนี้มีอาณาเขตใหญ่ปานนั้นก็เพราะกษัตริย์ฮัสซันที่สองรุกรานและยึดครองพื้นที่ผืนใหญ่ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และจนถึงทุกวันนี้ทางสหประชาชาติก็ยังสอบสวนเรื่องนี้อยู่ไม่แล้วเสร็จในความพยายามจะสร้างสภาวการณ์ที่เปิดโอกาสให้ชาวซาฮาราตะวันตกได้ก่อตั้งประเทศของตัวเองขึ้นมาในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าโมร็อกโกอาจจะหดเล็กลงเหลือแค่ใกล้เคียงกับนอร์เวย์หรือสวีเดนเท่านั้น

“ทางขวามือ ท่านก็จะเห็นบางอย่างที่น่าสงสัยเล็กน้อยด้วยเหมือนกัน อาทิเช่นชั่ว ๔ ปีหลังนี้ประชากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พุ่งสูงขึ้นจาก ๔ ล้านเป็น ๘ ล้านคน และผมค้นพบว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกวันนี้ ๘๘ % ของประชากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามา นั่นแปลว่าประชาชนจริง ๆ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแค่ราว ๑๒%

“ผมยังคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่จะลองพิจารณาดูกรณีกรุงเทพฯเปรียบเทียบกับรัฐจริง ๆ ทั้งหลายด้วย และท่านจะพบว่าถ้าหากกรุงเทพฯเป็นรัฐอิสระ - และเราน่าจะยอมรับความจริงว่าบ่อยครั้งกรุงเทพฯเองก็ชอบประพฤติตัวราวกับเป็นรัฐแยกต่างหากออกมาด้วย - กรุงเทพฯ จะจัดอยู่ประมาณอันดับที่ ๑๐ หรืออยู่ในครึ่งบนของบรรดาประเทศราชาธิปไตยของโลก

“สิ่งสำคัญยิ่งเกี่ยวกับบรรดาประเทศราชาธิปไตยเหล่านี้คือทั้งหมดรวมกันแล้วจัดเป็นกลุ่มข้างน้อยที่เล็กมากในองค์การสหประชาชาติ คือ ๒๗ จากจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๐ ประเทศ คิดสะระตะแล้วเรากำลังพูดถึงราว ๑๓% ท่านจึงพึงตระหนักว่า ๘๗ หรือ ๘๘% ของบรรดาชาติทั้งหลายในสหประชาชาติไม่ใช่ราชาธิปไตย และนี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างพิเศษยิ่งจากเมื่อราวร้อยปีก่อนตอนจวนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัยนั้นเกือบทุกประเทศในโลกที่มีฐานะอิสระอยู่บ้างแล้วต่างก็ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยกันทั้งสิ้น

“สุดท้าย ผมอยากชวนท่านลงไปดู...ด้านล่างสุดของตารางนี้คือยอดจำนวนประชากรของบรรดาประเทศราชาธิปไตยทั้งหมดรวมกัน เราจะได้ต่ำกว่า ๕๐๐ ล้านคนเล็กน้อย และอาณาเขตภูมิศาสตร์ประมาณ ๒.๕ ล้านตารางไมล์ แต่ถ้าท่านมองต่ำลงมาอีกหน่อย ท่านจะพบว่าต่อให้เอาพื้นที่ทั้งหมดของบรรดาประเทศราชาธิปไตยในโลกมารวมกันก็จะได้แค่ ๒ ใน ๓ ของขนาดพื้นที่ประเทศบราซิลเท่านั้น และถ้าท่านดูจำนวนประชากรอินเดีย ท่านจะพบว่าประชาชนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยในโลกรวมกันก็ยังไม่ถึงครึ่งของประชากรอินเดียทุกวันนี้ไม่มีประเทศขนาดใหญ่จริง ๆ ประเทศใดที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่านี่เป็นกลุ่มที่เล็กจริง ๆ และเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของโลกแล้ว ก็จัดเป็นประเทศแคระทั้งในทางประชากรและภูมิศาสตร์

“ประการสุดท้าย เราอาจดูแบบแผนการกระจายตัวของบรรดาประเทศราชาธิปไตยว่าไปอยู่ในภูมิภาคไหนกันบ้าง และท่านจะพบว่าในจำนวน ๒๗ ประเทศนี้ อยู่ในยุโรปตะวันตก ๑๐ ประเทศเกือบทั้งหมดยกเว้นสเปนล้วนอยู่เหนือเทือกเขาแอลป์ขึ้นไป นั่นคือไม่มีประเทศราชาธิปไตยอยู่ในยุโรปใต้และยุโรปตะวันออกเลย กลุ่มประเทศราชาธิปไตยใหญ่ที่สุดอันดับสองมาจากตะวันออกกลาง ทั้งหมดล้วนเป็นประเทศอาหรับและมุสลิม และถ้าจะนับรวมโมร็อกโกซึ่งอันที่จริงอยู่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยแล้ว คุณก็จะได้รวม ๘ ประเทศ แต่ผมเองชอบที่จะจัดให้โมร็อกโกอยู่ในทวีปแอฟริกามากกว่า ถัดไปคือเอเชียอาคเนย์ซึ่งมี ๔ ประเทศ แอฟริกามีอยู่ ๓ ประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ ประเทศได้แก่จักรวรรดิแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่น เอเชียใต้มี ๑ ประเทศได้แก่ภูฏานและโอเชียเนีย ๑ ประเทศคือตองกา ส่วนอเมริกาเหนือ, กลางและใต้นั้น ไม่มีประเทศราชาธิปไตยอยู่เลยและไม่มีมานานกว่าศตวรรษแล้ว ดังนั้นซีกโลกตะวันตกจึงปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐล้วน ๆ แอฟริกาและเอชียก็ไม่ได้มีระบอบราชาธิปไตยมากนัก มีแต่ตะวันออกกลางและยุโรปนั่นแหละที่เป็นแหล่งรวมหลักของประเทศราชาธิปไตย“พูดดังนี้แล้ว ท่านคงได้ข้อคิดเชิงสถิติบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายตัว, ขนาด, ความสำคัญ ฯลฯลฯลฯ ของราชาธิปไตยในโลกทุกวันนี้ ก่อนจะว่าต่อไป ผมอยากชวนให้ท่านสังเกตว่าเอาเข้าจริงประเทศไทยจัดอยู่เกือบอันดับยอดของบรรดาประเทศราชาธิปไตยทั้งหลายทั้งในแง่ประชากรและพื้นที่ภูมิศาสตร์ และแน่นอนนั่นทำให้หัวข้อเรื่องราชาธิปไตยไทยค่อนข้างน่าสนใจ

“ภาระหน้าที่ของผมตอนนี้คือหันไปพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันพิเศษยิ่งที่พลิกเปลี่ยนโลกซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย ไปเป็นโลกที่ปกครองด้วยระบอบที่ไม่ใช่ราชาธิปไตยในรอบเกือบร้อยปีที่ผ่านมา และผมอยากพูดถึงมันเป็นขั้นเป็นตอน โดยหวังว่าท่านจะอนุญาตให้ผมเริ่มจากตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

Screen Shot 2555-05-01 at 9.33.15 PM

ภาพวาดพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิของนโปเลียน โบนาปาร์ต“นี่เป็นจังหวะก้าวเริ่มแรกของช่วงเวลาที่โดยพื้นฐานแล้วอยู่ภายใต้การครอบงำของจักรวรรดิอันกว้างใหญ่, การปกครองโดยจักรพรรดิและมหากษัตริย์ ในแง่หนึ่งในช่วงเวลาที่ว่านี้กล่าวได้ว่าระบอบราชาธิปไตยมั่นคงทีเดียว อย่างน้อยจนกระทั่งถึงเสี้ยวสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษดังกล่าว หลักหมายสำคัญแห่งระยะเริ่มแรกของช่วงนี้ได้แก่กระบวนการที่นโปเลียน โบนาปาร์ต ผู้เป็นสามัญชนจากเกาะคอร์สิกาและนักการสงครามที่ปราดเปรื่อง ได้กลายเป็นจอมเผด็จการของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติในตอนแรก และต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ ก็ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ระหว่างที่เขาขยายอำนาจด้วยแสนยานุภาพไปทั่วยุโรปนั้น ในที่สุดเขาก็สถาปนาน้องชายของตนเป็นกษัตริย์แห่งฮอลแลนด์, อิตาลีทางใต้, และสเปน ฯลฯ ความสำคัญของโบนาปาร์ตอยู่ตรงนี่เป็นครั้งแรกในช่วงเวลาอันยาวนานที่สามัญชนคนหนึ่งและมิหนำซ้ำยังมีเชื้อสายอิตาเลียนด้วยสามารถเรืองอำนาจขึ้นและตั้งตนเป็นจักรพรรดิได้จริง ๆ ภายในเวลาชั่วไม่กี่ปี ในบางด้านท่านอาจเปรียบเขาเหมือนกับพระเจ้าตากสินมหาราช - ไม่ใช่ทักษิณคนปัจจุบันนะครับ แต่เป็นคนก่อนนู่น - ผู้เริ่มจากตัวเปล่าแล้วกลายมาเป็นกษัตริย์องค์สำคัญของไทย เพียงแต่โบนาปาร์ตจัดอยู่ในระดับที่ใหญ่โตกว่า

“นโปเลียนทำให้ประเทศมหาอำนาจราชาธิปไตยต่าง ๆ ของยุโรปหวาดกลัวมากเสียจนกระทั่งในที่สุดเขาถูกจับไปปล่อยเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกจนสิ้นชีวิต อย่างไรก็แล้วแต่ในระยะที่เหลือของศตวรรษนั้น บรรดากษัตริย์ยุโรปทั้งหลายก็ปักใจเด็ดเดี่ยวที่จะปราบปรามสิ่งที่กำลังอุบัติตามมาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ อันได้แก่มรดกตกทอดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส, ความเป็นปฏิปักษ์ต่ออภิชนาธิปไตยยุโรป, และเหนืออื่นใดคือชาตินิยมที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูงในจักรวรรดิอันใหญ่โตทั้งหลายไม่ว่าจักรวรรดิรัสเซีย, ออสเตรีย-ฮังการี, เยอรมัน, อังกฤษ, และออตโตมัน ซึ่งล้วนแต่กอปรด้วยคนหลากชาติพันธุ์หลายประชาชาติทั้งสิ้น

“ทีนี้เราอาจมองปฏิบัติการดังกล่าวจากมุมอนุรักษ์นิยมว่าเป็นฝีมือของพวกราชาธิปัตย์ปฏิปักษ์ปฏิวัติทั่วโลกซึ่งลงมือกันทันทีหลังนโปเลียนสิ้นอำนาจ ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งซึ่งจะเห็นได้จากตารางข้างบนนี้คือการตัดสินใจบังคับกะเกณฑ์ให้ฮอลแลนด์ยอมมีกษัตริย์ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วอังกฤษเป็นผู้เลือกให้ เนเธอร์แลนด์เป็นกรณีค่อนข้างผิดปกติวิสัยของยุโรปตรงที่ไม่เคยมีกษัตริย์ของตนเองมาก่อน หากเป็นสาธารณรัฐมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ หรือคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อังกฤษเห็นว่าไม่เข้าที จึงจัดแจงเอากระทาชายชาวดัตช์นายหนึ่งขึ้นนั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์วิลเลียมที่หนึ่งแห่งเนเธอร์แลนด์และแสดงความเอื้อเฟื้อโดยยกเบลเยียมซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีให้ในทำนองว่า...ใช่ ท่านจะเอาเบลเยียมไปก็ได้ เชิญเลย...แต่ปรากฏว่าชาวเบลเยียมไม่ชอบใจก็เลยพากันก่อกบฎต่อกษัตริย์วิลเลียมที่หนึ่ง อังกฤษจึงบอกชาวเบลเยียมว่า... เอาล่ะตกลง พวกเอ็งจะเอาราชาธิปไตยของตัวเองก็ได้ นี่อีตาคนนี้เป็นชาวเยอรมันนิสัยดีซึ่งนับญาติได้กับกษัตริย์ของเรา เขาจะมาเป็นกษัตริย์ของพวกเอ็ง

“สิ่งที่น่าหลากใจเกี่ยวกับทั้งสองกรณีนี้คืออังกฤษเป็นตัวการสำคัญในการผลักดันให้เกิดระบอบราชาธิปไตยเล็ก ๆ ขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พี่เบิ้มปรัสเซียหรือนัยหนึ่งเยอรมนีและพี่เบิ้มฝรั่งเศสเข้าควบคุมอาณาเขตที่ทางลอนดอนคิดว่าสำคัญมากทางยุทธศาสตร์ต่อผลประโยชน์ของอังกฤษ

“ขณะเดียวกันจักรวรรดิออตโตมันทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปซึ่งทุกวันนี้เรียกกันว่าคาบสมุทรบอลข่านก็กำลังตกต่ำเสื่อมทรุดลงตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มันสะใจดีที่จะหวนระลึกว่าจักรวรรดิออตโตมันถูกขนานนามว่า “คนป่วย” ไม่ใช่ของเอเชียหรือตะวันออกกลางนะครับ แต่“ของยุโรป” และในขณะที่อำนาจของจักรวรรดิแห่งนี้เสื่อมทรุดลงและประชากรท้องถิ่นที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งหลายอย่างเช่นชาวกรีซ บัลแกเรียและอื่น ๆ เริ่มก่อหวอดขึ้น บรรดามหาอำนาจก็เคลื่อนตัวเข้ามาแล้วบอกตามแบบฉบับเลยว่า...พวกเอ็งจะมีราชอาณาจักรของตัวเองก็ได้ และใช่แล้วเราจะจัดหากษัตริย์ดี ๆ มาให้พวกเอ็งจากเดนมาร์กเอย เยอรมนีเอย ฯลฯ กล่าวคือกลายเป็นแบบฉบับเลยว่ากษัตริย์ที่เอามานั่งบัลลังก์นั้นไม่ใช่คนท้องถิ่น ผมไม่ได้รวมกษัตริย์บอลข่านเหล่านี้ไว้ในตารางด้วย ก็เพราะล้วนอยู่ได้ไม่ยืดนักและเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ช่วยเผยให้เห็นอะไรสักเท่าไหร่

“ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เรื่องราวก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจมากทีเดียว ก่อนอื่นเลยก็คือในปี ค.ศ. ๑๘๗๐ - ๗๑ ระบอบราชาธิปไตยในฝรั่งเศสก็ถูกโค่นเป็นการถาวรเนื่องจากความโง่เขลาของหลานของนโปเลียน อันได้แก่นโปเลียนที่สามผู้ดันไปประกาศสงครามกับปรัสเซียหรือเยอรมนีซึ่งมีกำลังทหารดีที่สุดเมื่อเทียบกับที่ใดก็ตามในยุโรป เขารบแพ้ราบคาบกระทั่งถูกจับเป็นเชลยด้วยซ้ำแล้วก็ถูกเนรเทศ จากนั้นมาฝรั่งเศสก็ไม่มีกษัตริย์อีกเลย และนี่เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะนับเป็นมหาอำนาจยุโรปประเทศแรกที่ได้ปกครองในระบอบสาธารณรัฐอย่างมีเสถียรภาพนับแต่สิ้นสุดระบอบสาธารณรัฐในฮอลแลนด์เป็นต้นมา

Screen Shot 2555-05-01 at 9.33.28 PM

จักรพรรดิเปโดรที่สองแห่งบราซิล

“สิ่งน่าสนใจประการที่สองซึ่งท่านจะเห็นได้จากตารางข้างบนก็คือการล้มของระบอบจักรพรรดิในบราซิล และบราซิลในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นั้นเป็นแห่งเดียวในซีกโลกตะวันตกที่มีระบอบราชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพ เจ้านายเหล่านี้ไม่ใช่ชาวอเมริกาใต้หรือบราซิลท้องถิ่น หากมาจากราชวงศ์ของโปรตุเกส ตลกร้ายก็คือจักรพรรดิเปโดรที่สองซึ่งอันที่จริงเป็นคนดีมากและเล็งการณ์ไกลทีเดียวนั้นทรงละอายพระทัยยิ่งที่บราซิลเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีระบบทาสโดยถูกกฎหมายเป็นฐานรองรับระเบียบสังคมและเศรษฐกิจอยู่ ดังนั้นในปี ค.ศ. ๑๘๘๘ พระองค์จึงตรัสว่าเราต้องหยุดสิ่งนี้และทรงเลิกทาสทั้งหมดในบราซิลรวมทั้งปลดปล่อยพวกเขาเป็นอิสระ ปีถัดมาเจ้าที่ดินใหญ่ผู้โกรธแค้นกับนายทหารผู้มักใหญ่ใฝ่สูงก็บอกว่าเราไม่ต้องการจักรพรรดิแบบนี้ และดังนั้นพระองค์ก็เลยถูกโค่นด้วยรัฐประหารและต้องเสด็จกลับยุโรป ฉะนั้นจึงเป็นอันว่ามีสองประเทศใหญ่ที่กลายเป็นสาธารณรัฐในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

“แต่ยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าและในบางแง่ก็น่าสนใจกว่านี้อีก กล่าวคือในตอนปลายเสี้ยวสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ระบอบราชาธิปไตยโดยเฉพาะในยุโรปตกเป็นเป้าประทุษร้ายทางกายภาพโดยตรงเนื่องจากการปรากฏขึ้นของขบวนการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนโดยเฉพาะขบวนการอนาธิปไตยรวมทั้งขบวนการชาตินิยมที่พิโรธโกรธแค้นมาก ผมใคร่เตือนความจำท่านว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันดำเนินมาอย่างไรเพื่อที่ท่านจะเห็นได้ว่ามันเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากมายขนาดนั้นมาก่อนในยุโรป

“ค.ศ. ๑๘๘๑ นักอนาธิปไตยขว้างระเบิดปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สองแห่งรัสเซีย
“ค.ศ. ๑๘๙๘ นักอนาธิปไตยชาวอิตาเลียนแทงจักรพรรดินีอลิซาเบ็ธแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีสิ้นพระชนม์
“ค.ศ. ๑๙๐๐ กษัตริย์อุมแบร์โตแห่งอิตาลีถูกนักอนาธิปไตยชาวอิตาเลียนอีกคนยิง 8
“ค.ศ. ๑๙๐๓ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์แห่งเซอร์เบียถูกทหารชาตินิยมนายหนึ่งยิง
“ค.ศ. ๑๙๐๘ กษัตริย์คาร์ลอสแห่งโปรตุเกสถูกสังหารโดยผู้นิยมสาธารณรัฐหัวรุนแรงชาวโปรตุเกส
“ค.ศ. ๑๙๑๔ เจ้าชายฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกนักชาตินิยมชาวเซอร์เบียยิง และเราก็ทราบว่าการกระทำครั้งนั้นโดยพื้นฐานแล้วนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

“เพื่อทำความเข้าใจวิกฤตระดับโลกที่กำเริบร้ายแรงซึ่งแสดงออกในยุโรปเป็นหลักนี้ เราต้องเข้าใจบางอย่างที่เป็นเรื่องพื้นฐานมาก กล่าวคือกษัตริย์ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกตนเองเป็นอภิมหากษัตริย์หรือจักรพรรดินั้นมิได้ถือตนเป็นประมุขของชาติ ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาทำสงครามกันไม่หยุดหย่อนเพื่อแย่งยึดดินแดนและประชาชนมากขึ้น ๆ และด้วยเหตุนี้เอง ถึงตอนนั้นพวกเขาจึงล่อแหลมต่อการถูกต่อต้านและการเคลื่อนไหวของนักปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยประชาชาติเฉพาะเจาะจงหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวโปแลนด์, ชาวเช็ก, ชาวฮังการี, ชาวฟินแลนด์, ชาวยูเครน เป็นต้น

“นั่นคือความโลภโมโทสันอยากได้ใคร่มีอำนาจมากขึ้นและมากขึ้น ความโลภโมโทสันอยากได้ใคร่มีดินแดนมากขึ้นและมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติวิสัยของบรรดามหาอำนาจสำคัญในยุโรปนั้น ได้ถูกบ่อนทำลายหรือเริ่มถูกบ่อนทำลายลงโดยพลังชาตินิยมแล้ว

“และเหตุมูลฐานของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอันหายนะนั้นก็คือการปักใจแข่งขันช่วงชิงกันในหมู่อภิมหาราชาธิปไตยทั้งหลายซึ่งได้แก่ลอนดอน, เวียนนา, เบอร์ลิน, อีสตันบูล, และมอสโก...”

“ที่นี้เราก็หันไปดูตอนเริ่มต้นของระยะที่สองได้แล้ว.....
“ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งนาน ๑๒ ปีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๑ ถึง ๑๙๒๓ นั้นประสบกับบางอย่างที่ไม่เคยมีใครอาจคาดเดาได้ล่วงหน้ามาก่อน
“ก่อนอื่นเลยก็คือราชวงศ์ชิงในจีนล้มลงใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยน้ำมือพวกชาตินิยม
“ค.ศ. ๑๙๑๗ ราชาธิปไตยรัสเซียก็ล่มจมด้วยฝีมือของคนอย่างเลนินและคนอื่น ๆ อีกมากหน้าหลายตา
“ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อท้ายที่สุดเยอรมนีปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว ระบอบจักรพรรดิก็มีอันสลายหายวับไปและองค์จักรพรรดิก็ต้องเสด็จหนีไปฮอลแลนด์
“ค.ศ. ๑๙๑๙ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล้มลง
“และใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ก็ถึงคราวจักรวรรดิออตโตมันล้มลงบ้าง

“ประเทศทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ลงเอยกลายเป็นสาธารณรัฐในท้ายที่สุดและหดเล็กลงกว่าเก่าเอามาก ๆ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชีวิตผู้คนทุกฝ่ายต้องสูญเสียไปนับล้าน ๆ ทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งน่าจะเป็นสงครามที่ก่อหายนะภัยร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติจวบจนถึงตอนนั้น และบรรดาจักรพรรดิผู้แพ้สงครามทั้งหลายก็ไม่เคยได้อโหสิกรรมจากอาณาประชาราษฎร์เลย ดังนั้นประเทศมหาอำนาจราชาธิปไตยที่อยู่รอดมาได้ก็คือพวกที่เป็นฝ่ายชนะสงครามทั้งนั้น ได้แก่อังกฤษและญี่ปุ่น

Screen Shot 2555-05-01 at 9.33.52 PM
ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา

“จากความล่มสลายลงของจักรวรรดิเหล่านี้ ก็บังเกิดประดารัฐชาตินิยมขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่แล้วปกครองในระบอบสาธารณรัฐผุดขึ้นมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งการปรากฏขึ้นของรัฐต่าง ๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นสาเหตุสำคัญให้ก่อตั้งสันนิบาตชาติขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอเมริกัน วูดโรว์ วิลสัน

“ความคิดเรื่องสันนิบาตชาตินับว่าแปลกใหม่อย่างน่า ประหลาดใจในตอนนั้น ทั้งนี้ก็เพราะในสมัยก่อน ท่านไม่อาจจินตนาการว่าจะมี “สันนิบาตจักรพรรดิ” หรือ “______________สันนิบาตราชา” ขึ้นมาได้, เหมือนที่ทุกวันนี้ ท่านก็ไม่อาจจินตนาการว่าจะมี “สันนิบาตศาสนา” หรือ “สหศาสนา” ได้เช่นกัน ชาติเป็นหน่วยชนิดเดียวเท่านั้นที่ทำให้เป็นไปได้ในอันที่จะมีตัวแทนของหน่วยดังกล่าวในบางแบบจากทั่วโลกมาอยู่ในองค์การหนึ่งเดียว และอันที่จริงการก่อตัวของสหประชาชาติรวมทั้งสันนิบาตชาติก็แสดงให้เห็นชัดยิ่งว่าบัดนี้ชาตินิยมเป็นพลังมูลฐานที่สุดและได้เข้าแทนที่ราชาธิปไตยในระดับรากฐานแล้ว

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“จากนี้เราก็เดินเรื่องต่อในช่วง ๒๐ ปีถัดไประหว่างสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไปจนเริ่ม

สงครามโลกครั้งที่สอง มี ๒ เรื่องที่ผมควรกล่าวไว้ตอนนี้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสเปนและประเทศไทยนั้นเอาเข้าจริงแสดงให้ท่านเห็นผลจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและลางร้ายว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในภายภาคหน้า

“ในสเปนต้นคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๓๐ กษัตริย์อัลฟองโซถูกบังคับให้สละราชสมบัติโดยพวกนิยมสาธารณรัฐ, สังคมนิยม, เสรีนิยม ฯลฯ เนื่องจากพระองค์สัมพันธ์ใกล้ชิดกับจอมเผด็จการทหาร 10 พรีโม เดอ รีเวรา ในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ พวกอนุรักษ์นิยมและขวาจัดพยายามก่อรัฐประหารซึ่งในที่สุดนำไปสู่การเริ่มสงครามกลางเมือง ฝ่ายขวาภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลฟรังโกที่ได้อาวุธและเงินสนับสนุนจากผู้นำฟาสซิสต์ของเยอรมนีและอิตาลีเป็นฝ่ายชนะในที่สุด

“ระหว่างนั้น ญี่ปุ่นก็เข้ายึดแมนจูเรียและรุกรานจีน แล้วตั้งเจ้านายเชื้อสายแมนจูขึ้นเป็นหุ่นเชิดปกครองรัฐแมนจูกัวเอกราชที่จอมปลอม

“ในคริสต์ทศวรรษเดียวกัน มุสโสลินีก็รุกรานเอธิโอเปียและขับไล่จักรพรรดิไฮเลเซลัสซีไปลี้ภัยในอังกฤษ

“ช่วงเดียวกันนั้น ในสยาม ระบอบกษัตริย์ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ยังบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่เสร็จเสียที ได้ถูกโค่นโดยแนวร่วมอันประกอบไปด้วยสามัญชน, นายทหารและพลเรือนชาตินิยม ซึ่งปกครองประเทศอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๔๔ - ๑๙๔๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๗ เสด็จนิราศไปอังกฤษ อันเป็นที่ซึ่งกษัตริย์ผู้ประสบความเดือดร้อนทั้งหลายมักจะไปกัน แล้วสละราชสมบัติตอนกลางคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๓๐

“ผู้นำสำคัญที่สุด ๒ คนของคณะราษฎรอันได้แก่ปรีดี พนมยงค์และแปลก พิบูลสงครามล้วนได้รับการศึกษาในประเทศสาธารณรัฐชาตินิยมฝรั่งเศส ไม่ใช่ในอังกฤษหรือรัฐราชาธิปไตยแห่งอื่นในยุโรป ท่านอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกนับแต่ช่วงหลังพม่าเข้ายึดครองหมาด ๆ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาที่เอาเข้าจริงไม่มีกษัตริย์ทรงปกครองอยู่ในประเทศไทยเอง

“มีอีก ๒ ระยะที่เราอยากพิจารณา ก่อนจะสรุปจบโดยอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของอังกฤษในเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดโดยสังเขป

Screen Shot 2555-05-01 at 9.34.04 PM

ท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์

“สงครามโลกครั้งที่สองและสภาพหลังจากนั้นก็เหมือนกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตรงที่นำมาซึ่งการล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผมคิดว่าสงครามใหญ่ล้วนแต่อันตรายมากเสมอสำหรับราชาธิปไตย อยู่อย่างสันติจะดีกว่า ตัวละครหลักตอนนั้นได้แก่อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ และน่าตื่นใจว่าเวลาเขาเอ่ยอ้างถึงที่ ๆ อยู่ภายใต้การปกครองของเขานั้น เขาพูดถึง “อาณาจักรไรช์ที่สาม” ซึ่งแปลว่า “ราชอาณาจักรที่สาม” หรือ “จักรวรรดิที่สาม” และเขาบรรยายว่ามันเป็นทายาทสืบต่อจาก “จักรวรรดิที่สอง” ซึ่งล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจาก “จักรวรรดิที่หนึ่ง” เมื่อครั้งปรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจสำคัญของยุโรปภายใต้พระอัจฉริยภาพทางทหารของเฟรเดอริคมหาราช

“ความหมายนัยของการเรียกหน่วยภายใต้การรับผิดชอบของตนว่า “จักรวรรดิที่สาม” บ่งชี้ว่าฮิตเล่อร์ตั้งใจจะให้เยอรมนีขยายดินแดนไปครอบคลุมยุโรปกลางและตะวันออกทั้งหมด แต่เขาไม่มีเจตนาจะฟื้นฟูราชวงศ์ฮอเฮนซอลเลินเก่า และเขาก็ไม่มีแนวคิดใด ๆ ที่จะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิอย่างนโปเลียนเลย แทนที่จะทำเช่นนั้น เขากลับเรียกตัวเองว่า “ท่านผู้นำ” หรือ“ฟูเรอห์” อันเป็นสมญานามใหม่ที่มีแง่มุมประชานิยมและเชื้อชาตินิยมอย่างแรงกล้า

“ในกรณีฮิตเล่อร์นี้ ผมคิดว่าเราอาจเห็นบางอย่างที่สำคัญมาก กล่าวคือถึงตอนนั้น แนวคิดที่ว่าจะมีใครสร้างระบอบราชาธิปไตยใหม่ขึ้นมากำลังกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ นั่นคือเราอาจบอกได้จริง ๆ เลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งมรณกรรมของระบอบราชาธิปไตย ณ จังหวะที่ธรรมเนียมเก่าแก่ที่ว่ามีคนหน้าใหม่เข้ามาทำลายราชวงศ์เก่าแล้วสร้างราชวงศ์ใหม่ของตนขึ้นนั้นได้สิ้นสุดยุติลง

“เราอาจเห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนยิ่งในกรณีประเทศจีนภายหลังราชวงศ์ชิงถูกโค่น นายพลภาคเหนือจีนผู้ทรงอำนาจนามหยวนซีไขจัดแจงแต่งตั้งให้ตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. ๑๙๑๒ แต่แล้วเขาก็รื้อคิดว่าเป็นจักรพรรดิของจีนด้วยจะมิดีกว่าหรือ? เขาจึงเริ่มจัดตั้งการรณรงค์ให้ตนเองได้เป็นผู้นำราชวงศ์ใหม่ แต่มันล้มเหลวไม่เป็นท่า เกิดกบฎขึ้น เขาถูกบีบให้เลิกล้มแผนนั้นไปและกระทำอัตวินิบาตกรรมใน ค.ศ. ๑๙๑๖

Screen Shot 2555-05-01 at 9.34.15 PM

จักรพรรดิโบกัสซาแห่งจักรวรรดิแอฟริกากลาง

“ระบอบราชาธิปไตยหนึ่งเดียวที่น่าสนใจแถมเอาเข้าจริงยังแปลกพิลึกที่สุดด้วยซึ่งท่านจะเห็นได้อย่างรวบรัดต่อไปเป็นดังนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ จอมเผด็จการทหารโหดผู้กุมอำนาจมายาวนานแห่งสาธารณรัฐแอฟริกากลางอันกระจิริดซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ได้ตัดสินใจว่าเป็นแค่ประธานาธิบดีของประเทศนี้ยังไม่พอ ชายผู้นี้มีภูมิหลังอันน่าสนใจ เขาชื่อ ฌอง เบเดล โบกัสซาเคยเป็นนายสิบในกองกำลังฝรั่งเศสที่พยายามกลับเข้ามายึดครองเวียดนามในอินโดจีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นว่าไปแล้วเขาก็เป็นแค่ทหารรับจ้างของฝรั่งเศสเท่านั้นเอง

“เมื่อประเทศของเขาได้เอกราช เขาได้เลื่อนยศเป็นพันเอกทันที และหลังจากนั้นไม่นานก็เข้ารวบอำนาจขึ้นเป็นประธานาธิบดีเสียเอง แต่ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ เขาก็บอกว่า... เฮ้ยข้าอยากเป็นจักรพรรดิโว้ย... ดังนั้นเขาก็เลยสั่งตัดฉลองพระองค์แพงหูฉี่สำหรับพิธีราชาภิเษกซึ่งลอกแบบมาโดยตรงจากภาพวาดของนโปเลียน การณ์จึงกลายเป็นว่าในทวีปแอฟริกาที่ร้อนอบอ้าวจนเหงื่อไหลไคลย้อยนั้น โบกัสซากลับใส่ชุดเสื้อคลุมขนสัตว์สีขาวสำหรับฤดูหนาวแบบที่นโปเลียนเคยใส่ และเขายังสั่งร้านอัญมณีราคาแพงในปารีสให้ทำมงกุฎประดับเพชรงามวิเศษแพรวพราวมาด้วย แล้วจัดเดินขบวนแห่แหนเฉลิมฉลองใหญ่กลางเมืองหลวงบังกีโดยมีวงดนตรีออเคสตร้าจากฝรั่งเศสคอยบรรเลงเพลงของโมสาร์ตตามประกบ

“แน่ล่ะครับว่าพอกลายเป็นจักรพรรดิแล้ว โบกัสซาก็ยิ่งเลวร้ายกว่าเก่าอีกและเรียกประเทศของตนว่าจักรวรรดิแอฟริกากลาง นี่ทำให้ผู้คนหัวร่อเย้ยไยไพไปทั่วแม้กระทั่งในฝรั่งเศสเอง และสามปีต่อมา ผู้คนอดรนทนไม่ไหวอีกต่อไป เขาก็เลยถูกโค่นแล้วก็หายหน้าหายตาไป

“ความหมายนัยของเรื่องนี้ก็คือคุณทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าหากราชวงศ์หนึ่งถูกโค่นลง ก็จะไม่มีราชวงศ์ในรัฐนั้นอีกต่อไป”

“ที่นี้ถ้าท่านมองดูยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านต้องระลึกว่าตอนนั้นฮิตเล่อร์ก็กำลังยุ่งกับการยึดครองและผนวกกลืนออสเตรีย, เช็กโกสโลวาเกีย, และพิชิตโปแลนด์ ฯลฯ อยู่แล้วต่อมาแสนยานุภาพเยอรมันก็บุกยึดฮอลแลนด์, เบลเยียม, ยูโกสลาเวีย, กรีซ ฯลฯ และฮิตเล่อร์ยังกำลังดำเนินการร่วมกับพันธมิตรได้แก่มุสโสลินีในอิตาลีและระบอบทหารในญี่ปุ่นด้วย

“ที่แห่งเดียวที่เขาไม่ประสบความสำเร็จอย่างน้อยในตอนเริ่มแรกก็คือความพยายามในอันที่จะรุกรานและพิชิตสหราชอาณาจักร ซึ่งเคราะห์ดีที่เป็นเกาะอันมีทัพเรือเข้มแข็ง

“ทว่าในภาคพื้นทวีปยุโรป ระบอบราชาธิปไตยที่ยังดำรงอยู่ต้องเผชิญทางเลือกที่ไม่น่าอภิรมย์ยิ่ง ทางหนึ่งก็คือหนีไปเสียภายหลังเยอรมนีเข้ายึดครอง ทางนี้ถูกเลือกโดยราชินีเนเธอร์แลนด์, เจ้าผู้ครองนครลักเซมเบิร์ก, กษัตริย์นอร์เวย์ซึ่งเสด็จไปลอนดอนโดยเรือดำน้ำอังกฤษ และกษัตริย์กรีซ เจ้านายทั้งหลายนี้ล้วนไปประทับอยู่ในอังกฤษและกลับขึ้นครองราชย์ได้หลังสงครามอย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง

“แต่กษัตริย์องค์อื่น ๆ ทรงรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกนอกจากเข้ากับฮิตเล่อร์ไม่ว่าจะอย่างเอาจริงเอาจังหรือเพียงเพราะไม่เห็นทางเลือกอื่นก็ตาม ได้แก่กรณีกษัตริย์เบลเยียม, โรมาเนีย, บัลแกเรีย, ยูโกสลาเวีย, และอิตาลี เจ้านายเหล่านี้ต่างประสบเคราะห์กรรม กล่าวคือหลายองค์ถูกโค่นอย่างถาวรโดยประชาชน, กลุ่มกู้ชาติติดอาวุธ, หรือบางแห่งก็โดยกองทัพแดงของสตาลินที่ยาตรามาถึงตอนสิ้นสงคราม กษัตริย์เบลเยียมถูกบังคับให้สละราชสมบัติแก่โอรส สวีเดนพยายามเป็นกลางระหว่างสงคราม จึงหลีกเลี่ยงการถูกยึดครองไปได้ แต่ก็ผ่านประสบการณ์นี้มาอย่างไม่ราบรื่นนัก

“น่าสนใจว่าสตาลินซึ่งมีโอกาสและแสนยานุภาพที่จะผนวกรวมอาณาดินแดนทั้งปวงในยุโรปตะวันออกเข้ามาเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพโซเวียต กลับตัดสินใจว่ามันจะเป็นการผิดพลาดถ้าขืนทำเช่นนั้น ดังนั้นท่านผู้ฟังก็เลยได้เห็นบรรดารัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งชาติทั้งหลายแหล่เป็นครั้งแรก แน่ล่ะว่าพวกเขาล้วนอยู่ใต้การควบคุมของสตาลิน แต่ก็ส่งผลให้ไม่มีระบอบราชาธิปไตยเหลืออยู่ในยุโรปตะวันออกอีกต่อไป

“แต่เอาเข้าจริงการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ที่น่าสนใจที่สุดซึ่งเกิดขึ้นกลับไม่ใช่อยู่ในยุโรป หากอยู่ในเอเชีย จากกฎเกณฑ์ทั่วไปที่ผมได้อภิปรายมา ท่านทั้งหลายอาจคาดหมายว่าความย่อยยับอัปราชัยของญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากที่ได้รุกรานจีนอย่างป่าเถื่อน รุกรานเอเชียอาคเนย์หลายแห่งอย่างโหดเหี้ยม ฯลฯ จะทำให้องค์จักรพรรดิถูกโค่นโดยมหาอำนาจสัมพันธมิตรผู้พิชิตศึก

Screen Shot 2555-05-01 at 9.34.28 PM

จักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น

“ทว่าสิ่งนี้ไม่บังเกิดขึ้นแม้ว่าฮิโรฮิโตเองจะได้สนับสนุนการรุกรานจีน การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ และการพิชิตเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่อย่างแข็งขันก็ตาม มีคนญี่ปุ่นต้องสละชีวิตเพื่อการนี้หลายล้าน และยังประชาชนท้องถิ่นที่ถูกรุกรานซึ่งต้องสูญเสียชีวิตไปหลายต่อหลายล้านอีกเล่ายังไม่ต้องพูดถึงการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิอันน่าอเนจอนาถซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะองค์จักรพรรดิไม่ยอมจำนนทั้งที่ไม่มีความหวังว่าจะเหลือรอดอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว

“แต่อเมริกาโดยผ่านตัวนายพลแม็คอาเธอร์ได้ตัดสินใจที่จะกอบกู้และปกป้องเจ้าหมอนี่ไว้ในที่สุดเขาก็ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษผิดทั้งปวง และคนที่ถูกแขวนคอหรือประหารชีวิตฐานก่ออาชญากรรมสงครามได้แก่ผู้นำสุดยอดทางทหารและการเมืองแต่ไม่รวมองค์จักรพรรดิเองด้วย

“ท่านผู้ฟังอาจลองถามตัวเองดูว่าทำไมชาวอเมริกันที่มีประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบสาธารณรัฐมายาวนานจึงตัดสินใจสนับสนุนและธำรงรักษาสถาบันจักรพรรดิไว้เล่า? เราต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นตอนช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น กล่าวคือสองวันหลังการทิ้งระเบิดเมืองฮิโรชิมา รัสเซียก็ตัดสินใจละเมิดข้อตกลงไม่รุกรานกันกับญี่ปุ่น แล้วรีบรุกรานแมนจูเรียและกำลังมุ่งหน้าสู่เกาหลีรวมทั้งอาจบุกญี่ปุ่นด้วยในที่สุด

“ฝ่ายอเมริกาก็ปักใจเด็ดเดี่ยวจะควบคุมญี่ปุ่นโดยปลอดการก้าวก่ายแทรกแซงใด ๆ ให้จงได้และการปรากฏตัวขึ้นของรัสเซีย รวมทั้งการก่อตั้งบรรดาสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองเอียงซ้ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนในประเทศญี่ปุ่นซึ่งประสบความเสียหายอย่างหนักนั้น ก็ทำให้อเมริกาได้คิดว่า... จะว่าไปแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ใช้ได้ถนัดมือดีในการปราบปรามไอ้พวกนี้นี่นา... และคนจำนวนมากที่เอาเข้าจริงเป็นอาชญากรสงครามก็เลยถูกอเมริกาเกณฑ์ไปเป็นสมัครพรรคพวกเพื่อถล่มสหภาพแรงงานและองค์กรอื่น ๆ ให้ราบคาบ จากนั้นญี่ปุ่นจึงกลายเป็นพันธมิตรที่ซื่อตรงจงรักของอเมริกาเรื่อยมา

“มันน่าสนใจว่าอันที่จริง “เทนโน” (คำเรียกขานจักรพรรดิญี่ปุ่น แปลว่าเจ้าสวรรค์) ซาบซึ้งตื้นตันใจเรื่องนี้อย่างยิ่ง พระองค์ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทรงบอกอาณาประชาราษฎร์ว่าพระองค์ไม่ใช่เทพศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็น่าจะเห็น ๆ กันได้อยู่ และทรงยอมรับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่โดยพื้นฐานแล้วอเมริกาบังคับยัดเยียดให้ประชาชนญี่ปุ่น ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เลวนัก

“ดังนั้นสถานการณ์ซึ่งผิดแปลกแตกต่างกันนี้จึงแสดงให้ท่านผู้ฟังเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่ว่าระบอบราชาธิปไตยที่ล้มเหลวย่อมถูกโค่นนั้นใช่ว่าจะถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซนต์เสียทีเดียว ถ้าเผื่อท่านมีอเมริกาในยุคสงครามเย็นคอยหนุนหลังละก็ ท่านอาจแพ้สงครามแต่ก็ยังอยู่รอดได้

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“ระยะสุดท้ายที่ท่านเห็นได้จากตารางข้างบนนี้โดยพื้นฐานแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านจะเห็นว่าราชาธิปไตยเวียดนาม, ราชาธิปไตยอิตาลี, ราชาธิปไตยยูโกสลาเวีย ฯลฯ ต่างถูกทำลายลง

“ผลของสงครามโลกครั้งที่สองก็คือบรรดามหาอำนาจจักรวรรดิตัวหลัก ๆ แต่เดิม ต่อให้เป็นฝ่ายชนะสงครามก็ตาม ล้วนตกอยู่ในภาวะพิการทางเศรษฐกิจและอ่อนแอกว่าสมัยคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๒๐ และ ๑๙๓๐ มาก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียมและฝรั่งเศสได้ถูกฮิตเล่อร์ยึดครองและจริง ๆ แล้วประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีวัตถุปัจจัยที่จะไปสงวนรักษาจักรวรรดิโพ้นทะเลของตนไว้อีกต่อไป ส่วนบรรดาประเทศมหาอำนาจใหม่อันได้แก่สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตนั้นพูดกันอย่างเคร่งครัดแล้วก็ไม่ใช่มหาอำนาจอาณานิคมหรือจักรวรรดิ

“ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการชาตินิยมในเอเชียและแอฟริกาเติบใหญ่แข็งกล้าขึ้น และเมื่อสิ้นสงคราม ก็เป็นที่แจ้งชัดแล้วว่าการยกเลิกระบบอาณานิคมขนานใหญ่จะต้องเกิดขึ้นแน่ และเราก็สามารถเห็นสิ่งนี้ได้แต่เนิ่นเมื่ออาณานิคมที่ใหญ่โตที่สุดในโลกอันได้แก่อินเดียของอังกฤษถูกแบ่งออกเป็นรัฐเอกราช ๒ รัฐ คืออินเดียที่มีขนาดเล็กลงและปากีสถาน ส่วนศรีลังกาและพม่าก็ได้สถานะรัฐเอกราชเช่นเดียวกันนั้นในเวลาเดียวกัน

“นี่มิได้หมายความว่าอังกฤษไม่พร้อมจะเล่นบทโหดถ้าสามารถเล่นได้ ตัวอย่างเช่นมีความพยายามใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงในเคนยาและประสบความสำเร็จที่จำกัดระดับหนึ่ง และอังกฤษยังใช้ความพยายามมหาศาลในการปราบปรามกบฎพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและในการสร้างประเทศมลายาที่เป็นเอกราชขึ้นหลังจากนั้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ ภายใต้ระบบการปกครองอันแปลกประหลาดยิ่งที่ให้ราชาท้องถิ่นเล็ก ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครอง

“ประเทศบรูไนซึ่งอุดมด้วยน้ำมันถูกลอนดอนเก็บเอาไว้ควบคุมต่อไป แต่เอาเข้าจริงแล้วก็อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทน้ำมันเชลล์มากกว่าจนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ฝรั่งเศสส่งกองทัพมหึมาเพื่อพยายามยึดอินโดจีนคืนแต่กลับรบแพ้อย่างราบคาบในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ สงครามปราบปรามพวกต่อต้านอาณานิคมอันน่าสยดสยองอีกกรณีหนึ่งในแอลจีเรียก็ล้มเหลวในที่สุดด้วย ฝรั่งเศสถูกบีบบังคับให้จำต้องรับรองประเทศแอลจีเรียที่เป็นเอกราช และในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ นายพลเดอโกลล์ก็บอกกล่าวกับบรรดาประเทศแอฟริกันใต้การปกครองของฝรั่งเศสทั้งหลายโดยพื้นฐานว่า... บัดนี้พวกท่านเป็นเอกราชแล้ว แต่ท่านต้องเข้าเป็นสมาชิกเครือจักรภพนานาชาติอันน่ารักของฝรั่งเศสนะ

“พวกดัตช์พยายามกอบกู้สถานะของตนในอินโดนีเซียแต่ล้มเหลวและต้องยอมเลิกราไปในปลายปี ค.ศ. ๑๙๔๙ และท้ายที่สุดจักรวรรดิของโปรตุเกสในแอฟริกาก็สลายหายไปในปี ค.ศ.๑๙๗๕ ภายหลังดำเนินสงครามจักรวรรดินิยมที่วิบัติหายนะและไม่ประสบความสำเร็จครั้งต่าง ๆ กันถึง ๓ ครั้ง”

“ผมอยากจะหยุดตรงนี้สักครู่เพื่อเน้นย้ำผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่งของการยกเลิกระบบอาณานิคม เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็นมากนักและน่าจะเป็นสิ่งที่ปลุกขวัญกำลังใจระบอบราชาธิปไตยที่เหลือรอดอยู่ทั้งหลาย นั่นคือการยกเลิกระบบอาณานิคมและการขยายตัวอย่างใหญ่โตของสหประชาชาติหมายความว่าอาณาเขตของชาติกลายเป็นสิ่งที่มีเสถียรภาพและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นกว่าก่อนมาก

“นับแต่ราว ค.ศ. ๑๙๔๗ เป็นต้นมาไม่มีสมาชิกองค์การสหประชาชาติประเทศใดสามารถเพิ่มเติมอาณาดินแดนทางภูมิศาสตร์ของตนให้มากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำเลย และนี่หมายความว่าสาเหตุที่ทำให้ระบอบราชาธิปไตยจำนวนมากถูกทำลายลงก่อนหน้านี้ อันได้แก่ความหิวกระหายที่จะขยายราชอาณาจักรและหมกมุ่นอยู่แต่กับศึกสงครามนั้น ได้จบสิ้นลงแล้วโดยพื้นฐาน

“ฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าถ้าหากกษัตริย์ทรงปรีชาและมีสายพระเนตรยาวไกล พระองค์ก็อาจทรงช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดที่นำไปสู่ลัทธิแบ่งแยกดินแดน อันเป็นลัทธิที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจยิ่งสำหรับคนบางกลุ่ม ทว่าน่าสยดสยองสำหรับคนกลุ่มอื่น ๆ ได้ ดังที่ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นได้จากการแตกแยกตัวของยูโกสลาเวีย, การแตกแยกตัวของเอธิโอเปีย, การแตกแยกตัวของปากีสถาน,การแตกแยกตัวของจักรวรรดิ โซเวียต ฯลฯ และบางทีอาจรวมถึงการแตกแยกตัวของจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคตด้วย

“ดังนั้นพึงระลึกไว้นะครับว่าอาณาเขตแห่งชาตินับวันแต่จะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นท่านก็ไม่จำต้องมีกองทัพใหญ่โต เพราะระบบโลกจะไม่ปล่อยให้ท่านถูกยึดครองโดยรัฐอื่น”

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

Screen Shot 2555-05-01 at 9.35.04 PM

นัสเซอร์ กัดดาฟี ลอนนอล

“ผลลัพธ์ประการหนึ่งของความเสื่อมทรุดแห่งระบอบอาณานิคมและการปรากฏตัวขึ้นของรัฐบาลแห่งชาติเอกราชทั้งหลายถือเป็นสิ่งแปลกใหม่น่าสนใจ และนั่นก็คือในสภาพที่ไม่มีเจ้าอาณานิคมอีกต่อไป พลังการเมืองสำคัญที่สุดในหลายต่อหลายที่ได้แก่กำลังทหารในท้องถิ่นซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมักได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศสและอังกฤษ ทว่ากลับอวดอ้างว่าเป็นปากเสียงแท้จริงของประชาชน

“ในช่วงนี้นี่เองที่เราได้พบเห็นกำลังทหารท้องถิ่นพากันล้มเจ้าในที่ต่าง ๆ:
“ เริ่มด้วยอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เมื่อกษัตริย์ฟารุคถูกขับไล่ไสส่งโดยนัสเซอร์และเพื่อนพ้อง
“ค.ศ. ๑๙๕๘ เจ้าผู้ปกครองที่อังกฤษยัดเยียดให้อิรักถูกปลงพระชนม์โดยการลุกฮือของทหาร
“สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นที่ลิเบียใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ด้วยฝีมือทหารนำโดยกัดดาฟี
“ที่กัมพูชาใน ค.ศ. ๑๙๗๐ โดยลอนนอล
“อัฟกานิสถานใน ค.ศ. ๑๙๗๓
“และเอธิโอเปียใน ค.ศ. ๑๙๗๔
“นั่นนับเป็นการทำลายระบอบราชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่เลยทีเดียว
“เฉพาะในลาวและเวียดนามเท่านั้นที่เรากล่าวได้ว่าคอมมิวนิสต์เป็นผู้ทำลายระบอบการปกครองของราชวงศ์ท้องถิ่น
“ในการมองหาสาเหตุหรือผู้ก่อการโค่นระบอบราชาธิปไตย สิ่งที่น่าตื่นใจคือทหารเป็นตัวการสำคัญกว่าพวกมีความคิดจะเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนที่มาจากคนชั้นล่าง”

“เวลาใกล้จะหมดแล้ว ผมใคร่ขอหันไปพูดเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากโดยสังเขปอย่างรวดเร็ว

"ถ้าท่านดูบนตาราง ท่านจะพบสิ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือขอให้ดูการปรากฏขึ้นของบรรดาระบอบราชาธิปไตยเอกราชซึ่งแต่ก่อนไม่ได้เป็นระบอบนั้นในจังหวะเฉพาะเจาะจงราว ค.ศ. ๑๙๖๘

“และตรงนี้ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจบางสิ่งบางอย่างซึ่งน่าสนใจมากกล่าวคือราชาธิปไตยอังกฤษไม่เหมือนราชาธิปไตยอื่น ๆ ในยุโรปหรือญี่ปุ่นเอาเลยทีเดียว อังกฤษนั้นถูกปกครองมานับพันปีโดยชาวนอร์มัน, เวลส์, สก๊อต, ดัตช์, และเยอรมัน หากมิใช่โดยชาวอังกฤษเอง และแบบแผนของการมีสถาบันกษัตริย์ต่างชาติต่างภาษาทั้งหลายแหล่มาปกครองตลอดช่วงเวลานี้หมายความว่าระบอบราชาธิปไตยของอังกฤษมีลักษณะยืดหยุ่นพลิกแพลงที่เป็นไปได้ต่าง ๆ นานามากกว่าในที่อื่น ๆ ไม่เหมือนอย่างของฝรั่งเศส, เยอรมนีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น มันเป็นประโยชน์มากทีเดียวที่ได้ราชวงศ์ต่างชาติมาปกครอง นั่นหมายความว่าเอาเข้าจริงคนท้องถิ่นที่เป็นขุนนางและอภิสิทธิ์ชนต่างหากที่เป็นผู้บริหารจัดการระบบ

Screen Shot 2555-05-01 at 9.35.33 PM

พระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ พระอัยกาเจ้าของพระราชินีอลิซาเบ็ธปัจจุบัน ผู้ทรงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นวินด์เซอร์

“อันที่จริงมันน่าสนใจที่ราชวงศ์อังกฤษปัจจุบันนี้ยังคงเรียกตนเองว่า “ชาวฮาโนเวอร์” อันเป็นรัฐเยอรมันเล็ก ๆ ที่ซึ่งพวกเขาจากมาเพื่อรับเชิญไปเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๑๔ พวกเขาดำรงตนเป็นชาวเยอรมันอย่างอยู่ดีมีสุขสมบูรณ์สืบมาจนกระทั่งระหว่างสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างสงครามนั้นเอง พระอัยกาเจ้าของพระราชินีอลิซาเบ็ธก็ตรัสด้วยความขวยพระทัยว่า...เราจะเปลี่ยนชื่อของเรา เราจะเรียกชื่อตัวเองใหม่ว่าราชวงศ์วินด์เซอร์... ซึ่งเป็นชื่อปราสาทแห่งหนึ่งนอกกรุงลอนดอน และเอาเข้าจริงสมาชิกราชวงศ์นี้รุ่นแรก ๆ พูดอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำไป หากพูดแต่ภาษาเยอรมัน

“นับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ราว ค.ศ. ๑๘๗๐ เป็นต้นมา อังกฤษเป็นมหาอำนาจจักรวรรดิเดียวที่มีผลประโยชน์ผูกพันขนานใหญ่กับระบอบราชาธิปไตยในเอเชียและแอฟริกา ตอนนั้นฝรั่งเศสกลายเป็นสาธารณรัฐเรียบร้อยแล้ว เยอรมนีไม่ได้มีจักรวรรดิโพ้นทะเลมากเท่าไรนักและเท่าที่มีก็สูญเสียไปอย่างรวดเร็วในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อเมริกาก็สาละวนอยู่ในฟิลิปปินส์และไม่มีอะไรมากกว่านี้เท่าไหร่ และรัสเซียก็อยู่ในฐานะคล้ายกัน ญี่ปุ่นเป็นจักรวรรดิใหญ่อีกเพียงประเทศเดียวที่พยายามขยายอำนาจอย่างรวดเร็ว แต่ยกเว้นกรณีแมนจูเรียแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็หมกมุ่นอยู่แต่กับราชวงศ์อายุ ๓,๐๐๐ ปีอันน่ามหัศจรรย์ของตนเกินไปจนลงมือกวาดล้างราชาธิปไตยเกาหลีทิ้งอย่างเหี้ยมเกรียมและยึดเอาเกาหลีเป็นเมืองขึ้นโดยไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนใด ๆ ให้กับราชธรรมเนียมประเพณีของประเทศเก่าแก่แต่โบราณแห่งนั้นเลย

“แต่อังกฤษนั้นแตกต่างออกไป กล่าวคืออังกฤษเห็นแต่เนิ่นทีเดียวว่ามันเป็นประโยชน์ที่จะมีระบอบราชาธิปไตยที่ยอมสวามิภักดิ์คอยปกป้องผลประโยชน์ทั่วโลกของตน สาเหตุง่าย ๆ ๒ ประการเรื่องนี้ก็คือ: -

“ประการแรกก่อนอื่นใด จักรวรรดิอังกฤษนั้นใหญ่โตมโหฬารเสียจนกระทั่งจริง ๆ แล้วตนเองก็ไม่มีประชากรมากพอจะไปปกครองหลายพื้นที่ได้โดยตรง มันต้นทุนย่อมเยาว์และเข้าทีกว่ามากที่จะปกครองผ่านราชาธิปไตยท้องถิ่นที่เชื่อฟังสั่งได้รายย่อย ๆ หรือไม่ย่อยเท่าใดนัก และปกติหรือบ่อยครั้งทีเดียวระบบดังกล่าวไม่ได้ถูกเรียกว่าอาณานิคม หากเรียกว่ารัฐในอารักขา โดยมีตัวเราเป็นผู้อารักขาท่านไว้นั่นเอง แต่ระบบรัฐในอารักขานี้เอาเข้าจริงเปิดช่องให้อังกฤษสร้างระบอบราชาธิปไตยขึ้นได้หากต้องการ และอังกฤษก็ได้ทำเช่นนั้นในอิรัก, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, จอร์แดน ฯลฯ

“ขณะเดียวกันก็ดำเนินการให้มั่นใจว่ากษัตริย์ทั้งใหม่และเก่าเหล่านี้ควบคุมประชากรท้องถิ่นได้ แต่ยอมปล่อยให้อังกฤษตัดสินใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพื้นฐาน, นโยบายความมั่นคงและป้องกันประเทศพื้นฐาน, และเหนือสิ่งอื่นใดคือยอมให้อังกฤษเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในตะวันออกกลางเห็นได้ชัดว่านี่ย่อมหมายถึงน้ำมัน

“ดังนั้นสิ่งที่ท่านเห็นในกระบวนการใช้การปกครองโดยอ้อมแทนที่จะเป็นโดยตรงซึ่งผมจะบรรยายผ่าน ๆ อย่างรวบรัดตามตารางโดยเน้นบางประเด็น ก็คือ:

“จอร์แดนซึ่งเป็นราชอาณาจักรที่อังกฤษสร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ในที่สุดก็ได้เอกราชใน ค.ศ. ๑๙๔๖
“อียิปต์ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญจอมปลอมซึ่งอังกฤษสร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๒ หลังจากเคยเป็นรัฐในอารักขาอยู่ระยะหนึ่ง ก็มีอันสูญสลายไปใน ค.ศ. ๑๙๕๒
“เราได้พูดถึงมาเลเซียใน ค.ศ. ๑๙๕๗, เราได้พูดถึงราชาธิปไตยที่อังกฤษสร้างขึ้นในอิรักซึ่งล้มไปใน ค.ศ. ๑๙๕๘
“จากนั้นก็มีสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดตามมาในระยะหลังนี้ซึ่งผมจะอธิบายสาเหตุของมันให้ฟังในอึดใจข้างหน้า
“ค.ศ. ๑๙๖๑ คูเวตซึ่งเคยเป็นรัฐในอารักขามาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๔ กลายเป็นแคว้นเอกราชภายใต้รัฐธรรมนูญ
“ค.ศ. ๑๙๗๐ ตองกากลายเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญภายหลังเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษมา ๙๐ ปี
“ค.ศ. ๑๙๗๑ หลังจากบาห์เรนเป็นรัฐในอารักขามาร่วมร้อยปีก็ได้เอกราช และในที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญมาใน ค.ศ. ๒๐๐๒
“กาตาร์พ้นสภาพรัฐในอารักขาแล้วได้เอกราชในเวลาเดียวกัน แต่ยืนกรานปฏิเสธไม่เอารัฐธรรมนูญใด ๆ
“สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งบรูไนที่ซึ่งสุลต่านได้เอกราชจากกรุงลอนดอน, เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ, แต่แน่ล่ะว่าหาได้เป็นอิสระจากบริษัทน้ำมันเชลล์ไม่, และกระบวนการเดียวกันก็เกิดขึ้นในเลโซโทและสวาซิแลนด์ด้วย

“ฉะนั้นสิ่งที่ท่านเห็นตรงนี้จึงชวนตื่นใจยิ่งกล่าวคือการปรากฏตัวขึ้นอย่างน่าจับตาของบรรดารัฐขนาดจิ๋วซึ่งเป็นรัฐในอารักขาและปกครองโดยวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ซึ่งไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นผลผลิตของนโยบายที่ยืนนานของอังกฤษในอันที่จะปกครองผ่านระบอบราชาธิปไตยซึ่งอนุรักษ์นิยมและเชื่อฟังสั่งได้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

Screen Shot 2555-05-01 at 9.35.43 PM

นายฮาโรลด์ วิลสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษสังกัดพรรคแรงงาน ค.ศ. ๑๙๖๔-๗๐ และ ๑๙๗๔-๗๖

“และเหตุผลที่จู่ ๆ รัฐเหล่านี้ก็เริ่มได้เอกราชกันในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ นั้นก็เพราะในปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๖๐ รัฐบาลอังกฤษใต้การนำของฮาโรลด์ วิลสันตอนนั้นได้ประกาศต่อโลกว่าอังกฤษไม่มีปัญญาความสามารถที่จะธำรงรักษาแสนยานุภาพที่ตนเคยมีโดยเฉพาะในเอเชียอีกต่อไป

“เดิมทีอังกฤษมีผลประโยชน์เหนืออื่นใดในอันที่จะธำรงรักษาการควบคุมช่องทางเดินเรือทะเลทั้งหลาย อันได้แก่จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย ช่องแคบมะละกา ต่อไปยังทะเลจีนและลงไปออสเตรเลีย สิ่งนี้สำคัญคับขันยิ่งต่อจักรวรรดิอังกฤษ และถึงค.ศ. ๑๙๖๘ อังกฤษก็ไม่มีสมรรถนะและแสนยานุภาพหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่จะทำสิ่งนี้อีกแล้ว และท่านก็อาจกล่าวได้ว่า ณ จุดนี้เองที่อเมริกาก้าวเข้ามาแทน

“แต่บรรดารัฐเอกราช/ราชาธิปไตยใหม่ที่โผล่ขึ้นมาเหล่านั้น - ซึ่งท่านย่อมทราบว่าผู้ปกครองบางรายก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์มาก่อนจนกระทั่งอังกฤษจัดแจงให้ได้เป็นนั้น - มันเป็นมาตรการตอบรับความล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษในบั้นปลายอย่างหนึ่ง ฉะนั้นถ้าท่านแปลกใจว่าไฉนจู่ ๆจึงเกิดมีระบอบราชาธิปไตยใหม่โผล่ขึ้นมาเป็นทิวแถวละก็ นี่คือสาเหตุที่มาของมัน ทว่าระบอบดังกล่าวจะอยู่ยืนนานเพียงใดในระยะของการเคลื่อนไหวลุกขึ้นสู้ของมวลชนแผ่กว้างขนานใหญ่ที่เรียกว่าฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับปัจจุบัน นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องรอดูต่อไป

“ดังนั้นประเด็นที่ผมใคร่จะเตือนให้ท่านระลึกไว้ก็มีเพียงว่าในประวัติศาสตร์ทั้งหมดของราชาธิปไตยโลกนั้น ตัวการใจกลางคือสหราชอาณาจักร อันเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเดียวที่มีผลประโยชน์ในอันที่จะสร้าง ค้ำชู ฯลฯ รัฐในอารักขาหรือราชาธิปไตยในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลกแล้วรัฐเหล่านั้นก็เข้าสู่องค์การสหประชาชาติในที่สุด

“ผมหยุดแค่นี้ดีกว่า ผมไม่ได้พูดถึงประเทศไทย แต่ใคร่จะเสนอแนะว่าถ้าท่านสนใจใคร่รู้ว่าประเทศไทยสอดรับกับแบบแผนที่กล่าวมาตรงไหนละก็ ที่ ๆ ควรเริ่มดูคือลอนดอน ขอบคุณครับ”_

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท