Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2554 ขณะที่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการนำเที่ยวกัมพูชา กำลังดำเนินการตามขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมือง ที่อรัญประเทศ  เพื่อที่จะนำคณะท่องเที่ยวไปยังกัมพูชา ก็ได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า คุณสนยศถูกออกหมายจับโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากนั้น ทนายความของคุณสมยศก็ได้ยื่นขอประกันตัว แต่ในที่สุดศาลไม่พิจารณาให้ประกันตัว คุณสมยศจึงต้องอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การจับกุมคุณสมยศในขณะนั้น เป็นการดำเนินการภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เห็นคุณสมยศเป็นศัตรูทางการเมืองของตน และนี้เป็นการจับกุมคณสมยศครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้จับกุมครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ในข้อหาละเมิดภาวะฉุกเฉิน แล้วคุมขังอยู่ 21 วัน ดูเหมือนว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามใบสั่ง เพราะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอธิบายว่า ส่วนสืบสวนสะกดรอย ของดีเอสไอ เข้าจับกุมคุณสมยศ ที่ได้กระทำผิดในคดีต่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะการกระทำผิดเป็นเครือข่ายโดยใช้เครื่องมือสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต แต่เอาเข้าจริง ในระยะต่อมา ทางการดีเอสไอ.ไม่ได้ฟ้องในเรื่องอินเตอร์เนตเลย แต่ฟ้องในฐานะที่คุณสมยศเป็นบรรณาธิการหนังสือวอยส์ออฟทักษิณ ในฉบับที่ 15 มีบทความเรื่อง“แผนนองเลือด” ในคอลัมน์ คมความคิด ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝง “จิตร พลจันทร์”ที่ถูกตีความว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การจับกุมคุณสมยศดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นการตั้งใจใช้อำนาจในการคุกคามสื่อมวลชนฝ่ายค้าน ด้วยการใช้ข้อหาตามมาตรา 112 เป็นเครื่องมือ แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ก็คือการริดรอนสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ถือว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด จนกระทั่งศาลได้ตัดสินว่ามีความผิดแล้ว ซึ่งหลักการนี้ ก็ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ มาตรา 22 ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาควรที่จะต้องมีสิทธิประกันตัวมาสู้คดี และในปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการยื่นขอประกันตัวคุณสมยศถึง 8 ครั้ง แต่ศาลก็ยืนกรานที่ไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างอย่างเดียวว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ถ้าให้ประกันตัวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ในที่สุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของคุณสมยศ ก็ได้อดอาหารประท้วงที่หน้าศาลอาญา 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของบิดา  แต่ศาลก็ยังคงเมินเฉยอยู่นั่นเอง

กรณีจับกุมคุณสมยศด้วยข้อหา 112 ในทางระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขัดหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ จึงเกิดการเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรกรรมการนานาชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศอย่างไม่มีเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554 สหภาพแรงงานประเทศเนปาล ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทยให้ปล่อยตัวคุณสมยศโดยทันที และล่าสุด ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2555 นี้ สหภาพแรงงานกลางของเกาหลีใต้ และ สหภาพแรงงานรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกาไทย ให้ปล่อยตัวสมยศโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า คุณสมยศถูกถูกจับกุมดำเนินคดี ในข้อหาที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำ แต่ถูกจับให้เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ ที่น่าสนใจก็คือ ในระหว่างการดำเนินคดี คุณสมยศถูกกลั่นแกล้ง โดยให้เดินทางไปสืบพยานต่างจังหวัด เช่น จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2555 และ ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ต่อมา จึงเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯ การย้ายที่คุมขังและสืบพยานลักษณะนี้ สร้างความลำบากอย่างมากแก่ผู้ต้องขัง เพราะเดินทางไปในรถที่ไม่สะดวก และต้องไปปรับการใช้ชีวิตใหม่ในเรือนจำต่างจังหวัด การดำเนินการเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิของคุณสมยศ ซึ่งการตระเวนส่งตัวไปสืบพยานยังหลายจังหวัดเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในการพิจารณาคดีในประเทศไทย

การคุมขังคุณสมยศด้วยความผิดตามมาตรา 112 นี้ เป็นการสะท้อนถึงความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกลายเป็นเรื่องปกติ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า มีประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และขณะนี้ยังในคุก ตัวอย่างเช่น

คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 จนถึงขณะนี้ ถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 4 ปี

คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ขณะนี้ติดคุกมาแล้ว 14 เดือน โดยคุณสุรชัยถูกฟ้องคดี 112 ทั้งหมด 7 คดี คุณสุรชัยจึงขอต่อศาลให้รวมคดีเข้าด้วยกัน เพื่อจะได้สารภาพแล้งจบคดีโดยเร็ว

คุณเลอพงษ์ วิชัยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน ชาวอเมริกันสัญชาติไทย ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลหนังสือ King never smile จากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย ลงในคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ลดลงเหลือ 2 ปีครึ่ง

คุณอำพน ตั้งนพคุณ หรือ อากง ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เป็นข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

ฯลฯ

ปัญหาร่วมจากความไม่เป็นธรรมของผู้ต้องคดีก็คือ การไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในแทบทุกกรณี และการที่ศาลมีแนวโน้มจะตัดสินให้ผู้ต้องหามีความผิดทั้งที่หลักฐานอ่อน เช่น กรณีของคุณอำพน หลักฐานอ่อนมาก และโจทย์ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยซ้ำว่า คุณอำพนเป็นคนส่งข้อความ ทั้งยังมีเหตุที่อธิบายได้ว่า คุณอำพนอาจจะใช้เอสเอ็มเอสไม่เป็นเลย แต่ศาลก็อ้างว่า กรณีนี้โจทย์ไม่ต้องพิสูจน์เพราะ “ผู้ที่กระทำความผิดลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้” กรณีโจ กอร์ดอนซึ่งอยู่ต่างประเทศมานาน และใช้พิมพ์ดีดไทยไม่เป็น คีบอร์ดคอมพิวเตอร์ที่จับมาได้ ก็ไม่มีอักษรภาษาไทย การจะแปลหนังสือลงอินเตอร์เนตคงเป็นเรื่องยาก และยิ่งกว่านั้น หนังสือเรื่อง King never smile ก็เป็นหนังสือวิชาการที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล และวางขายอย่างเปิดเผยในต่างประเทศ แต่ศาลก็อ้างให้เป็นไปตามคำฟ้อง แล้วก็ตัดสินไปตามที่จำเลยสารภาพ

ปัญหาความไม่เป็นธรรมของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่จะต้องติดคุกทันทีเมื่อถูกกล่าวหา และมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ในคุกนาน จึงทำให้เกิดความสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ผู้ต้องหาหลายคน ตัดสินใจรับสารภาพ ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อที่จะไม่สู้คดีแล้วให้การพิจารณาคดีจบ แล้วรอคอยความหวังจากการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข จึงแสดงท่าทีต่อกรณีนี้ว่า จะไม่รับสารภาพและขอพระราชทานอภัยโทษ  เนื่องจากตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ หากรับสารภาพก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ คุณสมยศกล่าวว่า “คนที่เขารับสารภาพเพราะเขาไม่เชื่อมั่น สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว แค่สิทธิในการประกันตัวก็ยังไม่มี ฝ่ายผู้เสียหายก็ยังไม่เคยปรากฏตัวในชั้นศาลซักครั้ง ที่เราสู้ เพราะอยากรู้ด้วยตัวเองว่า ความยุติธรรมสำหรับคดี 112 ยังหลงเหลืออยู่ไหม” คุณสมยศย้ำว่า ผลการแพ้ชนะคดีสำหรับเขาแล้วมีค่าเท่ากัน เพราะหากได้ออกจากเรือนจำก็ยังเจอกรงขังที่ใหญ่กว่า ที่ผ่านมาถือว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศแล้ว มีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่พลเมืองที่ดีควรจะเป็น

ดังนั้น ในโอกาส 1 ปีในคุกของคุณสมยศ จึงขอสดุดีจิตใจของนักต่อสู้ของคุณสมยศอย่างจริงจัง และฝากใจไปถึงเหยื่อของกรณี 112 ทั้งหมดด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net