สมยศเบิกความ ชี้ “จักรภพ เพ็ญแข” ตัวจริงเขียนบทความ อ่านแล้วตีความแค่ “อำมาตย์”

สมยศเบิกความระบุ “จิตร พลจันทร์” นามแฝงของ “จักรภพ เพ็ญแข” เขียนบทความที่ถูกฟ้อง เขียนมาก่อนเขาเป็นบก. พร้อมแจงอ่านบทความคร่าวๆ เห็นว่าหมายถึง “อำมาตย์” ไม่อาจโยงถึงกษัตริย์ได้ ด้านทนายชี้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับใหม่ บก.ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเนื้อหา ดีเอสไอจับคนเขียนไม่ได้ จึงโยงจับสมยศ

 

1 พ.ค.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่นายสมยศเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Voice of Taksin ที่มีการตีพิมพ์บทความ 2 เรื่องที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ในปี 2552 เป็นเพียงผู้เขียนคนหนึ่งใน นิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาเมื่อถึงฉบับที่ 9 จึงมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ต่อจากนายประแสง มงคลสิริ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ-ประชาไท) โดยได้ค่าจ้าง 25,000 บาท นิตยสารเล่มนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด เนื่องจากร่วมกันหลายหุ้นและช่วยๆ กันทำ ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาด มีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งถูกสั่งปิดซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะมีเนื้อหาวิพากษ์การโยกย้ายนายพลในช่วงเวลานั้นอย่างหนัก  

สำหรับบทความที่ตีพิมพ์นั้น แบ่งเป็นบทความประจำที่ลงต่อเนื่อง และบทความใหม่ๆ ที่ต้องทำเพิ่มให้ทันสถานการณ์ ในส่วนบทความประจำจะมีทั้งผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝง โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมจะได้รับการลงพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการตัดทอนบทความแต่อย่างใด โดยปกติตนมีหน้าที่อ่านเพียงคร่าวๆ เนื่องจากมีบทความต้องพิจารณามาก และต้องเร่งให้ทันการปิดเล่ม

เมื่อถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บก.บห. โดยผู้ประสานงานติดต่อให้จักรภพมาเป็นคอลัมนิสต์คือ นายประแสง

เมื่ออัยการถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความในขั้นสุดท้าย สมยศขอดูรายชื่อกรรมการในนิตยสารอีกครั้งพร้อมระบุว่า ไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จากนั้นอัยการได้ซักถามเพิ่มเติมจนสุดท้ายสมยศตอบว่า ผู้มีสิทธิตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงบทความ ก็คือตัวนักเขียนเอง ตนมีหน้าที่นำไปส่งโรงพิมพ์

ในด้านเนื้อหาของบทความ นายสมยศตอบทนายว่า เมื่ออ่านบทความของจิตรฯ แล้วคิดว่าสื่อถึง “อำมาตย์” ไม่คิดว่าจะสื่อความถึงสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภาพประกอบบทความก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ไม่น่าจะทำให้ผู้อ่านโน้มเอียงไปในทางนั้นได้ ในส่วนที่พยานอื่นระบุว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เขาไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงท่อนจันทร์ แต่กล่าวถึงถุงแดงซึ่งเขาไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร การกล่าวถึงผู้อยู่ชั้นบนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็ไม่เกี่ยวข้องกษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด ส่วนการกล่าวถึงตัวละคร “หลวงนฤบาล” ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตำแหน่งหลวงนั้นต่ำกว่า อีกทั้งบทความยังระบุว่าหลวงนฤบาลสอพลอทหารใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงนายทหารที่ยศต่ำกว่าจอมพลฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเชื่อว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน  

นอกจากนี้ยังมีการเบิกความเกี่ยวกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสมยศเบิกความว่า เนื่องจากเป็นสื่อมวลชน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง โดยรู้ว่าตาม พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ 2484  บก.ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของหนังสือที่จัดพิมพ์ แต่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ได้ระบุว่าให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ

สุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการสืบพยานว่า กฎหมายใหม่ไม่ได้ระบุว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย หากบทความเข้าข่ายความผิดผู้เขียนต้องรับผิดชอบ การที่เจ้าหน้าที่จับตัวผู้เขียนไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา หรือต่อให้ยืนยันว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตีพิมพ์ก็ยังไม่ใช่นายสมยศอยู่ดี เพราะมีบรรณาธิการอีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือ แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี เพราะดีเอสไออ้างว่านายสมยศแสดงตนเสมือนเป็นบรรณาธิการ

สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา สมยศเบิกความต่อศาลว่า เคยทำสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์และหนังสืออื่นๆ มาก่อนจะมาทำนิตยสาร Voice of Taksin หลังจากโดนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งปิด ก็มาเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Red Power ต่อในเดือน ก.ค.53

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สมยศและสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ จากนั้นทั้งสองก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร โดยสุธาชัยถูกควบคุมตัว 7 วัน สมยศถูกควบคุมตัว 21 วัน โดยไม่มีการสั่งฟ้องคดีใดๆ ระหว่างนั้น Voice of Taksin ถูกปิด ทีมงานเดิมจึงเปิด Red Power ขึ้นมาใหม่โดยตีพิมพ์ได้ 5 เล่ม ก็ถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ จึงได้ไปจ้างพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชาแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทย พร้อมๆ กับการจัดทัวร์ท่องเที่ยวกัมพูชาด้วย

สมยศ ระบุว่า เขาเชื่อว่าการจับกุมเขามีที่มาจากผังล้มเจ้า ซึ่งระบุถึงหนังสือ Voice of Taksin และผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงสุธาชัยด้วย ซึ่งภายหลังสุธาชัยได้ฟ้องหมิ่นประมาท พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ผู้ประกาศผังล้มเจ้า จนสุดท้าย พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่าผังไม่มีมูล จึงได้มียอมความกันไป

ในทัศนะของสมยศ เขาคิดว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ซึ่งย้อนไปในอดีตจะพบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหาร โดยมีข้ออ้างว่ารัฐบาลทักษิณไม่จงรักภักดี และยังแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านและถูกจับกุมด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีจำนวนมาก ทั้งที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าพระมหากษัตริย์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอความจริง กระนั้นตนก็ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเหมือนประชาชนทั่วไป เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 และเห็นว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายอื่น อีกทั้งโทษ 3-15 ปีก็สูงเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักนิติรัฐ ส่วนพฤติกรรมที่ผ่านมา เคยแถลงข่าวถึงปัญหาเรื่องนี้และเสนอการรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา112 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ถูกจับกุมคุมขังในสัปดาห์ถัดมา

“ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว” สมยศให้สัมภาษณ์ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้า

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ “จิตร พลจันทร์” ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ โดยตีพิมพ์ในฉบับที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชื่อ “แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น”  และในฉบับที่ 16 เดือนมีนาคม 2553 ชื่อ เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 ซึ่งตามคำฟ้องระบุความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 112 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4

หลังจากถูกจับกุมเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการยื่นขอประกันถึง 9 ครั้ง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯและจะสืบพยานจำเลยในวันที่ 1-3 พ.ค.55 โดยในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้านายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ จะขึ้นให้การเป็นพยาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท