May Day 2012: ปัญหาของคนงานในอุตสาหกรรมยาง

อุตสาหกรรมยางยานยนต์ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่ไม่ควรมองข้าม พบปัญหาทำงานหนัก มีปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัย นายจ้างทุนข้ามชาติไม่ปรึกษาหารือสหภาพแรงงาน และปัญหาแรงงานเหมาช่วงก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายในอุตสาหกรรมนี้


การประท้วงล่าสุดของคนงานในอุตสาหกรรมยาง คือที่บริษัท บริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี จำนวนกว่า 1,400 ตน รวมตัวประท้วงผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ที่สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเมื่อเดือน ก.พ. 2555 พบว่าผลผลิตกลุ่มยางรถ คิดเป็น 23.7% ของผลผลิตหมวดผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

สำหรับโครงสร้างผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทยนั้นมีประมาณ 20 ราย ผู้ผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)  กลุ่มร่วมทุนกับต่างชาติและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ คือ กลุ่มยางสยามหรือสยามมิชลิน กรุ๊ป (ไฟร์สโตน) มีผู้ผลิตในกลุ่มนี้ 3 ราย (สยามมิชลิน,ยางสยามอุตสาหกรรมและยางสยามพระประแดง) บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด  และบริษัท ไทยบริดจ์สโตน จำกัด  2)  กลุ่มยางรถบรรทุกและรถโดยสาร เช่น บริษัท ดีสโตน จำกัด บริษัท โอตานิไทร์ จำกัด บริษัทสยามการยาง เป็นต้น  และ 3) กลุ่มผู้ผลิตที่ทำการหล่อดอกยางใหม่สำหรับยางใช้แล้วเพื่อป้อนตลาดยางทดแทน ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 80 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับตลาดยางรถยนต์ แบ่งเป็น ตลาดภายในประเทศ 55% ตลาดนำเข้า 5% และตลาดส่งออก 40% จากมูลค่าตลาด รวม 18,000-20,000 ล้านบาท (จากการประเมินในปี 2542) และจากการคาดการณ์การขยายตัวของตลาดยางในปีนี้ แม้ว่าเมื่อปี 2554 ตลาดยางรถยนต์จะชะลอตัวลงจากปัญหาน้ำท่วม แต่เชื่อว่าปีนี้ตลาดจะกลับมาโตอีกครั้ง จะขยายตัว 10% รวม 10 ล้านเส้น

ถึงแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินสูง แต่ทั้งนี้คนงานในอุตสาหกรรมนี้ก็ยังคงประสบปัญหาที่ไม่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ มากนัก โดยในรายงานความก้าวหน้า การวิจัย “การจ้างงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงในอุตสาหกรรมยางยานยนต์กรณีศึกษาบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย” ที่เสนอต่อ ICEM CAL Project โดย วรดุลย์ ตุลารักษ์ และวิทยากร บุญเรือ พบประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนงานในอุตสาหกรรมยางดังนี้ …

สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมยางยานยนต์ color:#0000CC">

จากการสำรวจฐานข้อมูลที่มีอยู่พบว่า ในอุตสาหกรรมยางยานยนต์ในประเทศไทยมีสหภาพแรงงานอยู่ 10 แห่งมีสมาชิกรวมกันประมาณ 7,100 คน ส่วนใหญ่เป็นสหภาพแรงงานในบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งมีการลงทุนแยกเป็นบริษัทลูกจำนวนหลายบริษัทและมีโรงงานตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ ในจำนวนบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ บางกลุ่มบริษัทมีบริษัทลูกมากกว่า 10 แห่ง ประกอบกิจการบริษัทผลิตยางยานพาหนะและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ส่วนสภาพแรงงานทั้งหมดเป็นสหภาพแรงงานสถานประกอบการ ดังนั้นจึงพบว่า ในบริษัทข้ามชาติเดียวกันอาจมีสหภาพแรงงานมากกว่า 1 แห่ง หากบริษัทข้ามชาติแห่งนั้นลงทุนตั้งโรงงานในหลายพื้นที่

สถานการณ์แรงงานสัมพันธ์ color:#0000CC">

ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานแทบทุกแห่งในอุตสาหกรรมยางยายยนต์ประสบปัญหาข้อพิพาทกับนายจ้างครอบคลุมในหลายประเด็น นับตั้งแต่ ปัญหาค่าจ้างสวัสดิการ การหักเงินเดือนพนักงาน ปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัย ปัญหาการจ้างงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง โดยสหภาพแรงงานแห่งต่างๆ ก็เคลื่อนไหวจนได้ข้อยุติ และได้รับการหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน กรณีปัญหาความขัดแย้งโดยสังเขปได้แก่

กรณีสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย

ในปี 2552 บริษัท สยามมิชลิน จำกัด หักเงินเดือนพนักงาน 13.04 % เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 และสามารถตกลงกันได้เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2552 บริษัทฯตกลงจะเรียกพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน แต่เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปี บริษัทฯยังเรียกกลับเข้าทำงานไม่หมด ที่ผ่านมาบริษัทฯจะเรียกเข้าเป็นชุดๆ ชุดแรกจะต้องเข้าอบรมที่วัดเป็นเวลา 1 วัน ชุดที่ 2 อบรมเป็นเวลา 3 วัน ชุดที่๓และชุดถัดๆมาอบรมเป็นเวลา 5 วัน ส่วนชุดสุดท้ายซึ่งเป็นชุดที่มีคณะกรรมการสหภาพฯ และ กรรมการลูกจ้าง รวมทั้งหมด 21 คน เข้าอบรมเป็นเวลา 10 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2553 ซึ่งบริษัทฯ (ผู้จัดการบุคคล)ให้สัญญาว่าหลังจากเข้าอบรมที่วัดเสร็จแล้วจะเรียกกลับเข้าทำงานทั้งหมด แต่บริษัทฯมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น ผู้จัดการบุคคลได้เดินทางมาพบพนักงานและแจ้งให้ทราบว่าในวันที่ 1 และ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ให้พนักงานเข้าพบเป็นรายบุคคลพร้อมทั้งมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติ โดยแยกผู้ที่ไม่มีคดีทั้งหมด 9 คน ให้ทำในบริษัทฯส่วนรองประธานสหภาพถูกย้ายไปปฏิบัติงานอยู่ที่โกดังส่งยาง NSC สำหรับผู้ที่มีคดีความอีก 12 คนซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้าง ยังคงไม่ให้กลับเข้าทำงานแต่มอบหมายงานให้ไปฝึกอบรมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 3 ชลบุรี ในหลักสูตรช่างเชื่อม , ช่างกลึงโลหะและช่างอื่นๆ ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

ที่มา: http://www.thailabordatabase.org/th/file3.php?id=53030201

color:#0000CC">

กรณีสหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 สหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ด้านค่าแรงและโบนัส รวมทั้งความกดดันจากการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายอย่างด้วยกัน เช่น ห้องน้ำไม่เพียงพอ น้ำดื่มไม่สะอาด อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน และไม่จัดที่ทำงานให้พนักงานที่ตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม ฯลฯ โดยในระหว่างการเจรจาผู้บริหารได้ยื่นข้อเรียกร้องตอบโต้มา เช่น เสนอขอฐานเงินเดือนเพิ่มจาก 6,000บาทเศษ เป็น 8,000 บาทเศษ กลับถูกผู้บริหารตัดค่าโอที และยกเลิกเบี้ยเลี้ยงการผลิต พร้อมกับให้เพิ่มเวลาการทำงานเป็น 3 กะ จึงทำให้ต้องขอปรับฐานเงินเดือนใหม่ เป็น 13,000 บาท ถึง 15,000 บาท กลับถูกผู้บริหาร สั่งปิดโรงงาน โดยอ้างว่าเครื่องจักรเสีย พร้อมกับมีการนำแรงงานต่างชาติกว่า 300 คนเข้ามาทำงานแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การปล่อยลอยแพพนักงาน โดยนำพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาเข้ามาทำงานแทน

ที่มา: บ.แม็กซิสฯ ประกาศเครื่องจักรเสียสั่งหยุดงาน 7 วันระหว่างเจรจา (voicelabour, 29-1-2553) / พนง.ผลิตยางรถยนต์ “บ.แม็กซิส” กว่า 500 คน รวมตัวเรียกร้องเพิ่มเงินโบนัส-สวัสดิการ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-1-2554)

กรณีสหภาพแรงงานบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (อมตะนคร)

ในเดือนมีนาคม ปี 2555 สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้ ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคม บริษัทได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน

ที่มา: ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ (ประชาไท, 25-1-2555)

กรณีสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย color:#0000CC">

ในเดือนกรกฎาคม 2553 สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 15 ข้อ เพื่อขอปรับสภาพการจ้าง ต่อบริษัท โดยหลังจากการเจรจา 12 ครั้ง และพนักงานประนอมข้อพิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยแล้ว 9 ครั้ง  นายจ้างได้ประกาศปิดงานพนักงานประมาณ 800 คน ให้พนักงานที่มาทำงานกะเช้าไม่ต้องเข้าโรงงาน โดยได้รับค่าจ้าง จึงทำให้คนงานทั้งหมดต้องชุมนุมชี้แจงกันอยู่หน้าบริเวณบริษัทฯ รอการเจรจากับทางนายจ้าง เพื่อหาข้อยุติ หลังจากนั้น สหภาพแรงงานได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการจ้างงานระยะสั้น ได้มีการยกเลิกการจ้างงานสัญญาจ้างระยะสั้น 9 เดือนโดยใช้การจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงแทน

ที่มา: นายจ้างคนทำยางสั่งปิดงาน หลังเจรจาลูกจ้างไม่ยุติ (voicelabour, 19-11-2553)

 

ปัญหาของคนงานในบรรษัทข้ามชาติของอุตสาหกรรมยางยานยนต์ color:#0000CC">

จากงานวิจัยพบว่าบริษัทข้ามชาติมีบทบาทสูงขึ้นในอุตสาหกรรมยางยานยนต์ในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น โดยงานวิจัยได้นำเสนอตัวอย่างการปัญหาของคนงานใน 3 บริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่น โดยพบปัญหาดังต่อไปนี้  

  • ระบบการจ้างงานที่หลากหลาย จากงานวิจัยพบบริษัทแห่งหนึ่งใช้การจ้างงานถึง 5 รูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบมีค่าจ้างและสวัสดิการไม่เท่ากัน กล่าวคือ: 1. การจ้างเหมาช่วง (outsourced workers) 2. การจ้างเหมาค่าแรง (agency workers) 3. การจ้างงานแบบประจำรายเดือน4. การจ้างรายวันโดยตรงโดยมีสัญญาจ้างระยะสั้น เช่น 1 ปี 5. การจ้างรายวันโดยตรงแต่ไม่มีระยะเวลาของสัญญาจ้าง
  • พบการจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามาใหม่ ในทำงานในหน้าที่ที่ทำงานหนัก เช่น ยกยาง โหลดยางในโกดัง
  • แรงงานประจำและแรงงาน sub-contract ได้รับสวัสดิการไม่เท่ากัน
  • พบปัญหาการบาดเจ็บของคนงาน เช่น คนงานชั่วคราวที่เป็นผู้หญิงซึ่งทำงานในประเภทยกของหนักเกิดขึ้นบ่อยครั้งยังไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับคนงานประจำและคนงานชายในลักษณะเดียวกันด้วย 
  • พบปัญหาความร้อนในโรงงานซึ่งบริษัทไม่ยอมลงทุนปรับปรุงให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและดีขึ้น
  • พบปัญหาฝ่ายบริหารไม่เคยปรึกษาหารือกับสหภาพในกระบวนการการจ้างคนงานจ้างเหมาช่วง
  • พบปัญหาสุขภาพความปลอดภัยของคนงานชั่วคราวอยู่ในระดับที่สูงกว่าคนงานประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบหมายงานประเภทที่หนักและเสี่ยงอันตรายให้แก่คนงานชั่วคราวก่อน เช่น การโหลดยางในโกดังซึ่งเป็นงานที่หนักรวมทั้งงานที่ต้องสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย

ข้อเสนอแนะจากสหภาพแรงงาน color:#0000CC">

จากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดของสหภาพแรงงานในกลุ่มภาคตะวันออก (เดือนธันวาคม 2554) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสหภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยางรถยนต์ มีการร่วมกันหาแนวทางการรับมือกับการจ้างงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงโดยมีแนวทางโดยสังเขปดังนี้

  • สนับสนุนคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงที่ยังไม่ได้เข้าร่วมสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างพร้อมกันกับสหภาพแรงงานในนามของพนักงานเพื่อให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างให้เท่าเทียมกับพนักงานประจำ

  • ให้สหภาพแรงงานแก้ไขข้อบังคับให้รับคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

  • สหภาพแรงงานควรเข้าถึงคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงมากขึ้นและอธิบายถึงปัญหาการจ้างงานที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยให้คนงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกับคนงานประจำดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 11/1 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่สหภาพแรงงานตีความว่าคนงานต้องได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกัน โดยอาจมีแนวทางที่พุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐก่อนกล่าวคือ ร้องเรียนให้แรงงานจังหวัดออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ และ/หรือ หากแรงงานจังหวัดไม่มีคำสั่ง ก็ให้คนงานจ้างเหมาฟ้องศาลปกครองว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือแรงงานจังหวัดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมาย  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท