นักวิชาการหวั่น อีก 3 ปีเปิดอาเซียน แรงงานไทยรั้งท้าย จี้เร่งพัฒนาฝีมือ-ปฏิรูปกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.55 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร และมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้ร่วมกันจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน และสวัสดิการสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการอาเซียน” เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายแรงงานไทยและผลที่จะเกิดหลังจากมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Economics Community) หรือ AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า

อัฏพร คงสุภาพศิริ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงเข้ามาบริหารกองทุนประกันสังคมแทนข้าราชการ โดยให้มีการคัดเลือกมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ อัฏพรกล่าวถึงระบบประกันสังคมของไทยที่ต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเมื่อไปรักษาฟัน ก็ต้องแยกบิลเป็นสองใบ (เบิกได้ครั้งละ 500 บาท) ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว มีเงินอยู่เป็นแสนๆ ล้าน

“ผมถามเลขาธิการประกันสังคม ตอบคำถามผมได้ไหม ทำไมเวลาผู้ใช้แรงงานปวดฟันแล้วจะไปรักษา กลับบอกว่าไม่มีงบให้รักษา แต่อีกซีกหนึ่งบอกจะไปลงทุนต่างประเทศ แล้วเงินคุณมาจากใคร ใครเป็นเจ้าของเงิน ก็มาจากผู้ใช้แรงงาน” อัฏพรกล่าวและชี้ว่า ที่สุด คนที่ออกคำสั่งก็คือข้าราชการ ไม่ใช่แรงงาน

นอกจากนี้อัฏพรยังตั้งคำถามกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทว่าผู้ใช้แรงงานจะได้ใช้มูลค่าที่เพิ่มมาหรือไม่ เพราะในตอนนี้ค่าครองชีพก็กำลังสูงขึ้น มีการขึ้นค่าไฟ ค่าน้ำ ค่ารถเมล์ หรือแม้กระทั่งค่าอาหาร

ทางด้านไพสิฐ พานิชกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะถึงการปฏิรูปกฎหมายแรงงานว่าจะต้องให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานแบบยืดหยุ่น เพราะปัจจุบันทั่วโลกลดจำนวนของการจ้างแรงงานประจำลง แต่กลับจ้างแรงงานยืดหยุ่นหรือแรงงานนอกระบบขึ้น แรงงานในลักษณะนี้จะเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือจ้างตามฤดูกาล ไพสิฐจึงได้ตั้งคำถามว่าจะให้มีการจัดระบบสวัสดิการของแรงงานเหล่านี้อย่างไร และจะให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไร หรือแรงงานของไทยที่จะส่งออกไปนอกประเทศ จะมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างไร หรือจะจัดการระบบการศึกษาที่เอื้อต่อคนทำงานที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับตัวเองให้สามารถเข้าไปสู่การจ้างงานแรงงานแบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ไพสิฐชี้ว่าการที่จะปฏิรูปกฎหมายแรงงานจะต้องมองในเรื่องของความเป็นธรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ด้านโกวิท บุรพธานินทร์ กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า เป้าหมายหลัก 4 ข้อของ AEC  ที่ว่า 1.ต้องการที่จะให้มีตลาดการผลิตเพียงหนึ่งเดียว 2.ต้องการให้มีการส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีศักยภาพในการที่จะแข่งขันกันประเทศต่างๆได้ 3.พัฒนาประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะประเทศที่เข้ามาเป็นสมาชิกในภายหลังให้มีศักยภาพไม่แตกต่างกันนัก 4.การเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนให้สามารถเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้ ว่าหลักการทั้ง 4 ข้อนี้เป็นหลักที่เอื้อประโยชน์ให้กับระบบทุนนิยม โดยจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่โดยเมื่อมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนเกิดขึ้นนั้น กลุ่มบุคคลที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือบุคคลที่สามารถเข้าถึงโอกาสได้มากที่สุด ได้แก่ 1.ผู้มีการศึกษาสูง 2.ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 3.บุคคลกลุ่มเล็กซึ่งได้แก่เจ้าของกิจการ (เจ้าของทุน) ส่วนแรงงานรากหญ้าอีกส่วนใหญ่อีกกว่า 50 – 60% นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในส่วนนี้

โกวิทกล่าวว่า ภายใต้กลไกภาครัฐของประเทศไทยที่ยังมีปัญหาอย่างมากมายในปัจจุบันเช่น ปัญหาความไม่มั่นคงในชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้าง ค่าชดเชย วันหยุด ลาคลอด และยังรวมไปถึงความไม่มั่นคงของชีวิตหลังการทำงาน และเมื่อเทียบกับ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และเวียดนามแล้วประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศอันดับหลังๆ พอๆ กับ ลาว กัมพูชา และพม่าด้วยซ้ำ

โกวิทกล่าวว่าและสิ่งที่จะตามมาเมื่อเกิดรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกันเกิดขึ้นคือจะมีการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ประเทศไทยก็จะมีนักลงทุนมาตั้งบริษัทประเภทต่างๆ หรือแม้แต่บริษัทไทยที่ไปจะไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน การลงทุนเหล่านี้จะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายทุนและส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทางด้านบริการระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้ บริษัทข้ามชาติต่างๆ ควรจะต้องปฏิบัติตามปฏิญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO โกวิทกล่าวว่าปฏิญญาของ ILO มีแนวทางอยู่ 4 เรื่องคือ 1.เรื่องของการจ้างแรงงาน 2.การฝึกอบรม 3.สภาพการทำงาน 4.แรงงานสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนจะมาตั้งบริษัทในประเทศไทย หรือประเทศไทยจะไปลงทุนในประเทศอื่นๆ นักลงทุนก็ควรจะมีน้ำใจใน 4 เรื่องดังกล่าว เช่น การเน้นการฝึกอบรมให้กับแรงงานท้องถิ่น นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งแก้ไขก่อนจะมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน คือ การพัฒนาความสามารถของลูกจ้าง ให้มีทักษะที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าในปัจจุบันหน่วยงานหลายหน่วยงานยังไม่มีความพร้อมในเรื่องฝึกอบรม โดยการฝึกอบรมต่างๆ ของแรงงานยังไม่มีการพัฒนา หรือกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติวิชาชีพแห่งชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท