Skip to main content
sharethis

โรงเรียนฝางวิทยายนนำกระบวนการการเรียนการสอนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คมาใช้ โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบผลลัพท์นักเรียนกระตือรือร้นมากขึ้น

 

อย่าแปลกใจหากวันนี้ นักเรียนในประเทศไทยจะคร่ำเคร่งกับกิจกรรมที่หลากหลายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพราะนอกจากฟังก์ชันการใช้งานที่รองรับพฤติกรรมของคนในสังคมได้อย่างดีแล้ว การเรียนรู้ผ่านสังคมออนไลน์เช่นนี้กำลังกลายเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่หลายโรงเรียนหันมาให้ความสนใจ ดังตัวอย่างของเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น

กว่าหนึ่งปีมาแล้วที่เครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน ได้พัฒนาสังคมออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้ครูและนักเรียนใช้ซอฟท์แวร์ในทางที่สร้างสรรค์เพื่อรองรับสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวางในขณะนี้ สังคมแห่งการเรียนรู้นี้มีเวบไซต์ www.fangwittayayon.net เป็นศูนย์กลาง ให้ครูและนักเรียนเข้ามาร่วมแบ่งปันหรือแชร์ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งใช้เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ประเมินผล ตรวจสอบกันและกันได้ในตัว ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยใช้เวบไซต์เครือข่ายสังคมการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.)

อาจารย์คเชนทร์ กองพิลา ผู้ออกแบบเวบไซต์ดังกล่าวว่า กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบเวบไซต์ ว่า ได้มาจากการเลียนแบบโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน แล้วนำมาประยุกต์ใหม่ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยใช้ซอฟท์แวร์ใหม่ แล้วสร้างเมนูและฟังก์ชันให้สอดคล้องกับการใช้งาน ซึ่งเป็นการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เมื่อถามถึงการใช้งาน อ.คเชนทร์ บอกว่า ใช้งานคล้ายกับโซเชียลมีเดียทั่วไป คือ เริ่มต้นจากการล็อกอิน (Log in) แล้ว เข้าไป Join กับวิชาต่างๆ ที่นักเรียนหรืออาจารย์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม โดยสมาชิกสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือ คอมเม้นท์ (Comment), โพส, ตั้งกลุ่ม หรือ แนบไฟล์ (Attach) ตามกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิกหรือตั้งไว้

ที่ผ่านมา นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าไปโพสกิจกรรมที่ครูสั่งงาน โดยครูตั้งเป็นคำถามปลายเปิดให้นักเรียนได้ช่วยกันคิดและหาคำตอบ หรือการนำเอาคลิปการทำงานหรือการประกวดแข่งขันที่อัพลงยูทูบ (Youtube) มาแปะไว้ในเวบนี้เช่นกัน หรือในบางครั้งอาจารย์บางท่านสามารถนำพาวเวอร์พ้อยท์การสอนมาโพสไว้ จึงถือเป็นการเรียนการสอนแบบใหม่ คือเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้แทนที่จะจำกัดเพียงในห้องเรียนแต่ขยายมาไว้ในเครือข่ายสังคมออนไลน์

“ประโยชน์อย่างหนึ่งของเวบไซต์ดังกล่าว คืออาจารย์สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของนักเรียนได้ อาจารย์สามารถให้คะแนนเด็กในแต่ละวิชาได้ เพิ่มกิจกรรมการเรียนให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะเด็กได้สนุกกับการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรืออาจารย์ทำอะไร ก็สามารถตรวจเช็คได้ เป็นการประเมินผลไปในตัว ” อ.คเชนทร์กล่าว

นอกจากนี้ อ.คเชนทร์ยังได้ออกแบบเวบไซต์ให้โรงเรียนในเครือข่าย สามารถเข้ามาร่วมแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนในกรุ๊ปที่ชื่อว่า Featured Group โดยอาจารย์ในโรงเรียนหรือจากโรงเรียนเครือข่ายที่ต้องการใช้เวบไซต์ดังกล่าวต้องผ่านการอบรมการใช้เวบไซต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน การล็อกอิน และการประเมินผลการเรียนการสอนผ่านเวบไซต์

อ.คเชนทร์ บอกเล่าว่า ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดเจนของสังคมเครือข่ายการเรียนรู้โรงเรียนฝางวิทยายน คือนักเรียนมีการออกแบบการโพสที่หลากหลายขึ้น เช่น การทำคลิปวิดีโอ ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดสำหรับการมีส่วนร่วมบนเครือข่าย หากใครทำคลิปวิดีโอและนำมาโพสในบางรายวิชาจะให้คะแนนเพิ่มเติม

“เราสังเกตได้ว่าเด็กสนุกกับการเรียนการสอนยิ่งขึ้น เพราะมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของพวกเขา ในวันนี้เด็กนักเรียนอยู่กับสังคมออนไลน์มากขึ้น การเรียนการสอนจึงต้องปรับตัวให้สอดรับให้ได้ ผลดีกับตัวเด็กเองเขาก็สามารถพัฒนาฝีมือในการคิดค้นรูปแบบการทำเวบ หรือออกแบบงานก่อนจะโพสลงบนเวบไซต์” อ.คเชนทร์บอกเล่า

ปัจจุบัน โรงเรียนฝางวิทยายนสามารถเป็นต้นแบบในการสร้างสังคมเครือข่ายการเรียนรู้ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีโรงเรียนขอนแก่นพัฒนศึกษา นำรูปแบบเวบไซต์ไปต่อยอด รวมถึงเป็นแห่งเรียนรู้ของโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน และสามารถกลายเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของโรงเรียนฝางวิทยายน

เมื่อในวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมออนไลน์ได้มีอิทธิพลต่อระบบการศึกษา การนำโซเชียลเน็ตเวิร์คมมาใช้กับการเรียนการสอนจึงนับว่าเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งครูและนักเรียนจึงได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปพร้อมกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net