Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในโอกาสวันสงกรานต์ พ.ศ.2555 นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังประเทศลาว และพบปะกับคนเสื้อแดงจำนวนมาก ที่ข้ามพรมแดนไปเยี่ยม ในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่โรงแรมกรีน ปาร์ค บูติก โฮเต็ล นครเวียงจันทน์ โดยกล่าวอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ขอให้ พล.อ.เปรม มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพรัก ตอนที่อยู่เมืองไทยจะไปกราบคารวะเป็นประจำ แม้ พล.อ.เปรม จะอายุมาก แต่ยังแข็งแรง จึงอยากฝากความปรารถนาดีไปถึง และตั้งแต่เดินทางออกนอกประเทศ ไม่มีโอกาสได้พูดคุยหรือหารือปรึกษากันเลย

การแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีต่อ พล.อ.เปรม อย่างมาก เพราะนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ท่าทีของขบวนการฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงการต่อต้าน พล.อ.เปรม เสมอมา ด้วยเหตุผลว่า พล.อ.เปรมและองคมนตรีทั้งหลายเป็นกลุ่มสำคัญในการสนับสนุนการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เคยระบุในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2552 ว่า พล.อ.เปรม คือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร สำหรับ พล.อ.เปรมก็แสดงท่าทีหลายครั้งที่ชี้ให้เห็นแนวคิดอันสวนทางกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยและขบวนการเสื้อแดง เช่น การแสดงความชื่นชมและสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เมื่อ พ.ศ.2550 ต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ.2552 ก็ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เคยระบุว่า “คนไทยโชคดีที่ได้นายกฯชื่ออภิสิทธิ์” ในทางตรงข้าม ในกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พล.อ.เปรม กล่าวว่า เป็นการ “ทรยศชาติ” ดังนั้น การที่เป้าหมายในการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) และขบวนการคนเสื้อแดงในระยะที่ผ่านมา ที่มุ่งจะต่อต้านอำมาตยาธิปไตย และถือกันว่า พล.อ.เปรม เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายอำมาตย์จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

ปัญหาคือ การปรับเปลี่ยนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณเช่นนี้ สะท้อนสถานการณ์อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อขบวนการประชาชนอย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า การเปลี่ยนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประนีประนอม ที่ดำเนินมาแล้วนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้เข้าเป็นรัฐบาล และเป็นท่าทีเดียวกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้ไปร่วมงานงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันกองทัพบก ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้ยกมือไหว้ พล.อ.เปรม 2 ครั้ง โดยที่ พล.อ.เปรม รับไหว้ และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างกลาง ทั้ง 2 ได้พูดคุยกันประมาณ 2-3 นาที ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะเดินไปลงนามในสมุดอวยพร โดยมี น.ส. ยิ่งลักษณ์ เดินประกบคู่ไปด้วย จากนั้น พล.อ.เปรมได้เดินย้อนกลับมาและพูดคุยกับนายกฯ พร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ในครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮาของสื่อมวลชนอย่างมาก

ต่อมา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้จัดงาน ’รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย“ ที่ตึกสันติไมตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงาน ในครั้งนี้ พล.อ.เปรมและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สนทนากัน เดินเคียงคู่กันอย่างชื่นมื่น ซึ่งเห็นได้ว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาลที่จะสร้างภาพแห่งความปรองดอง

ถ้าจะให้วิจารณ์กระบวนการเหล่านี้ คงไม่อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำผิด เพราะต้องเข้าใจกันว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่รัฐบาลปฏิวัติโค่นล้มอำมาตย์ แต่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีแนวทางประนีประนอม ยิ่งกว่านั้น เป้าหมายแห่งการปรองดองเพื่อความสามัคคีภายในชาติ น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกฝ่าย ดังนั้น พรรคเพื่อไทย และ นปช.จึงยุติการโจมตี พล.อ.เปรมมานานแล้ว เพราะอาจจะถือได้ว่า การมุ่งกล่าวถึงการล้มล้างฝ่ายอำมาตย์จะไม่เป็นผลดีต่อความสามัคคีที่รัฐบาลจะต้องสร้างขึ้น เพียงแต่ว่าการปรองดองที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมีการดำเนินการอีกหลายอย่างซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยน เช่น

  1. การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีท่าทีไม่แตะต้องกองทัพบกเลย ในกรณีปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 เป้าหมายของการโจมตีกรณีนี้ มุ่งไปที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น การไม่แตะต้องกองทัพ ไม่ขัดแย้งกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะผ่อนปรนไม่ให้เป็นศัตรูกับกองทัพ
  2. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนในการไม่สนับสนุนข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เคยขอต่อฝ่ายนิติราษฎร์เสียด้วยซ้ำ ให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ทั้งที่ การที่รัฐบาลไม่ดำเนินการเรื่องนี้ หมายถึงการละเลยปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ผลักดันในเรื่องเสรีภาพทางความคิด และเมินเฉยต่อคำตัดสินอันละเมิดหลักยุติธรรมของผู้พิพากษาทั้งหลาย
  3. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดำเนินการอย่างเชื่องช้าในการช่วยเหลือประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน และยังคงติดอยู่ในคุก ในขณะนี้ ทั้งที่รัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วถึง 8 เดือน ก็ยังมีมิตรสหายที่ถูกคุมขังอยู่เกือบ 60 คน
  4. แม้ว่าจะมีกระแสในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่การดำเนินการของพรรคเพื่อไทยในขั้นนี้ ก็มีเพียงแค่การผลักดันให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. โดยไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาแห่งการแก้ไข ซึ่งหมายถึงว่า พรรคเพื่อไทยกำลังและเขียน ”เช็คเปล่า” ให้แก่คณะบุคคลที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า หลักประกันที่จะสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงไม่ชัดเจน

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ ฝ่ายขบวนการประชาชนคงจะต้องพิจารณาบทบาทของพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นจริง และคงต้องยอมรับว่า การผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงท่าทีเชิงปฏิวัติสังคมคงจะเป็นการยาก ในส่วนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คงต้องแสดงบทบาทเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ต่อไป แต่ยังน่าจะต้องถือว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นมิตรในแนวร่วม จึงยังไม่จำเป็นถึงขนาดที่จะต้องคว่ำบาตรหรือต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคงต้องเข้าใจสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่สามารถชูธงต้านอำมาตย์ได้เหมือนเดิม

ท่าทีของฝ่ายประชาชนในขณะนี้ คือ ควรจะต้องเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทย สามารถที่จะเลือกสนับสนุนนโยบายบางด้าน และแสดงท่าทีไม่สนับสนุนนโยบายบางด้านได้ การปรองดองหรือการประนีประนอมกับฝ่ายอำมาตย์อย่างไร้หลักการ เราก็คงจะต้องไม่เห็นด้วย และยังต้องเรียกร้องผลักดันให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปต่อสู้ในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับพวกขวาจัด หรือผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้นำมาซึ่งหลักการที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง เป็นต้น

แต่การสนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ ทั้งในเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร และการปฏิรูปกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 คงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย หรือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีท่าทีอย่างไร เพราะบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมไทยอยู่ในมือของประชาชน ยิ่งเสียกว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net