Skip to main content
sharethis
รมว.ต่างประเทศแคนาดาเผยจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจพม่า ด้านอาเซียนยินดีกับการระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าของอียู ระบุเป็นการกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
 
25 เม.ย. 55 - นายจอห์น  แบร์ด  รมว.ต่างประเทศแคนาดาเปิดเผยว่า  ทางการแคนาดายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า เช่นการนำเข้า-ส่งออก และธุรกรรมทางการเงิน  เนื่องจากพม่าได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นเพียงวันเดียว ภายหลังสหภาพยุโรป(อียู)ระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าเป็นเวลา 1 ปี  นายแบร์ดบอกว่า  การยกเลิกคว่ำบาตรพม่ามีผลทันที ทำให้แคนาดาสามารถส่งออกและนำเข้า รวมทั้งเข้าไปลงทุนในพม่า แต่ยังคงคว่ำบาตรด้านอาวุธเหมือนเดิม
 
 
การระงับมาตรการคว่ำบาตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปในพม่า และการเลือกตั้งซ่อมเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้นางอองซาน ซูจี  ผู้นำฝ่ายค้านได้เข้าไปนั่งในสภาเป็นครั้งแรก  รวมทั้งมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน อย่างไรก็ตาม แคนาดาต้องการเห็นพม่าดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ผู้คนจากหลากหลายอาชีพมีโอกาสได้ร่วมการปฏิรูป   แต่แคนาดาจะไม่รีรอที่จะกลับมาคว่ำบาตรพม่าอีก  หากสถานการณ์ในพม่ากลับมาเลวร้ายอีก   ซึ่งเรามีความหวังและมองในแง่ดีอย่างมาก  พร้อมกับจะติดตามดูพม่าอย่างใกล้ชิด ร่วมกับประชาคมโลก
 
ด้านสมาคมประชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนแสดงความยินดีในวันนี้ต่อการที่อาเซียนได้ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่า โดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในแถลงการณ์ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ว่าทุกประเทศสมาชิกในอาเซียน ยินดีกับการระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ที่ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
 
 
นายวิชัย นัมเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษเกี่ยวกับพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ เผยเมื่อวาน ก่อนที่นายบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติจะเยือนพม่าสุดสัปดาห์นี้ว่า หลังผ่านพ้นช่วงเวลากว่า 20 ปีที่พม่าโดดเดี่ยวตัวเอง เวลานี้พม่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว มีรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และรัฐสภา
 
ทั้งนี้ นายนัมเบียร์ ระบุว่า การพบกันระหว่างประธานาธิบดีเต็ง เส่งและนางอองซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเกมนี้ พร้อมกับกล่าวชื่นชมภาวะผู้นำของเต็ง เส่ง และการตัดสินใจของนางซูจี ที่ยอมเข้าร่วมการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เมื่อต้นเดือนนี้ และอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การตัดสินใจของอาเซียนที่เลือกพม่าเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปี 2557 นอกจากนี้การระงับมาตรการคว่ำบาตรทั้งจากสหรัฐและสหภาพยุโรปก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญ
 
สถิติล่าสุด ระบุว่า พม่า มีประชากรเมื่อปี 2553 จำนวน 50 ล้าน 3 แสนคน และอยู่ในอันดับ ที่ 149 จากทั้งหมด 185 ประเทศของดัชนีวัดคุณภาพชีวิต
 
นายนัมเบียร์ บอกว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งพัฒนาพม่า และพม่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการเงินการปฏิรูปสกุลเงิน วางแผนบริหารจัดการเงินทุนและความช่วยเหลือที่จะไหลทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมศักยภาพของหน่วยราชการ วางแผนพัฒนาภาคเอกชน และสิ่งแรกที่ยูเอ็นจะให้ความช่วยเหลือ คือ การจัดลำดับความสำคัญของแผนการพัฒนาประเทศ
 
นายนัมเบียร์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลพม่า เริ่มดึงบุคลากรที่มีความสามารถที่อยู่ในต่างประเทศกลับพม่า แต่ก็ยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอย่างมาก ซึ่งหากพม่าจัดการกับปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้ เละขาเชื่อว่า มีแนวโน้มอย่างมากที่พม่าจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net