ภาษาและสำเนียงท้องถิ่น : สินค้าวัฒนธรรมเทียม ๆ ปลอม ๆ ในสื่อบันเทิงไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Home ของคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็น 3 องก์ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องความรักและความทรงจำ โดยมีพื้นเรื่องเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตัวละครส่วนใหญ่จึงอู้คำเมืองกันเกือบทั้งเรื่อง ใครฟังไม่รู้เรื่องก็มีซับไตเติลภาษากลางให้ได้อ่าน ผู้เขียนเองใช้ชีวิตอยู่ภาคเหนือมานานจนสามารถพูดและฟังคำเมืองได้อย่างสบาย ๆ ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็พบว่าสำเนียงการพูดการจาของตัวละครไม่มีติดขัดให้รู้สึก “เจ็บแอวขนาด” ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบของคนเหนือเวลาได้ยินคำพูดเหนือผสมกลางกลายเป็นสำเนียงประหลาดว่าฟังแล้วเจ็บเอวเหลือเกิน เรื่องนี้ต้องขอบคุณคุณมะเดี่ยวในฐานะผู้กำกับชาวเหนือที่ติวเข้มนักแสดงเป็นอย่างดี

ใช่ว่าหนังเรื่อง Home คือสื่อบันเทิงเรื่องแรกที่เลือกใช้ภาษาเหนือเป็นภาษาในการสื่อสารของตัวละครในเรื่อง หากย้อนกลับไปมองแวดวงบันเทิงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีละครทีวีไทยไม่น้อยที่เลือกให้พระเอกนางเอกเป็นคนต่างจังหวัดแล้วพูดภาษาถิ่น บ้างก็ให้นางเอกเป็นสาวไฮโซปลอมตัวมาเป็นคนใช้ชาวอีสาน บ้างก็ให้เป็นครีเอทีฟสาวที่มีเบื้องหลังเป็นเด็กดอย เวลาอยู่กับเพื่อนสนิทก็จะพูดภาษาเหนือกัน และหลาย ๆ เรื่องยกระดับให้ถึงกับพูดกันทั้งเรื่อง อาทิเรื่องรอยไหม ที่ตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องใช้ภาษาเหนือในการสื่อสารสนทนากัน

กลายเป็นกระแสที่น่าสนใจไม่น้อยที่ผู้จัดละครจำนวนมากสนใจสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครที่พูดสำเนียงท้องถิ่น ทั้งที่ในอดีตภาษาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเหนือ อีสานและใต้ รวมถึงสำเนียงเฉพาะของท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น คำลงท้ายว่าฮิ มักถูกใช้ในทำนองเสริมสร้างความตกลงขบขันจากการถูกนิยามว่าเป็นสำเนียงของพวกบ้านนอกที่ถูกพูดผ่านตัวละครจำพวกคนใช้ คนขับรถ โดยเฉพาะภาษาอีสานโดนหนักกว่าใครเพื่อน ทำเอาคนอีสานจำนวนไม่น้อยพลอยเกิดความอายที่จะพูดภาษาถิ่น

ความตั้งใจของคนทำละครทีวีคงต้องการเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างกลุ่มฐานคนดู ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์ พอมองเห็นเป็นสองแนวทางคือ ประการแรก ได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มที่พูดด้วยภาษาถิ่นในเรื่อง ประการที่สองคือ กลุ่มคนภาคกลางที่แม้ฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็รู้สึกว่าสำเนียงเหล่านี้เป็นของแปลกใหม่ น่าชวนติดตามและเรียนรู้ภาษาไปในตัว ดังนั้นสำเนียงภาษาถิ่นจึงกลายเป็นหนึ่งเครื่องมือบุกทะลวงเปิดตลาด กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนทำ(คิดว่า)สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจและประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการรับชมได้

ทว่าแท้ที่จริงแล้วคนดูที่เป็นคนท้องถิ่น พูดและฟังสำเนียงภาษานั้นมาแต่เกิดเขาชื่นชอบจริงหรือ

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่หงุดหงิดทุกทียามได้ดูและได้ยินหนังละครที่พูดภาษาเหนือกันแบบมั่วไปหมด สื่อบันเทิงเหล่านี้โดยมากใช้นักแสดงผู้มีสำเนียงกลางเป็นภาษาแม่ดำเนินเรื่อง ดังนั้นเขาและเธอย่อมไม่สะดวกปากแน่ยามต้องพูดสำเนียงท้องถิ่นออกมา และตัวผู้กำกับเองก็คงไม่ได้เคี่ยวเข็ญอะไร อาจจะเนื่องด้วยตัวผู้กำกับเองซึ่งเป็นคนภาคกลางก็คงไม่ทราบว่าจริง ๆ เขาพูดกันอย่างไร สิ่งที่เราเห็นและได้ยินในละคร สำเนียงภาษาถิ่นเหล่านี้จึงมีแต่เพียงการหยิบเอาคำบางคำ สำเนียงบางสำเนียงมาผสมรวมกับภาษากลาง อาทิ ในภาษาเหนือหญิงสาวพูดคำว่า ‘เจ้า’ ต่อท้ายประโยคก็เป็นอันเพียงพอว่านี่คือภาษาเหนือแล้ว หรือการใช้สรรพนาม ข่อย ข้าเจ้า ฯลฯ ผสมปนเปกันไปจนงงว่าจะพูดภาษาเหนือหรือภาษากลางกันแน่

เอาเข้าจริงนี่เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีถึงการไม่ทำการบ้านของผู้กำกับและทีมงาน โดยปกติแล้วนักแสดงที่ดีจะเล่นให้เข้าถึงบทบาทและทำให้คนเชื่อว่าตัวเขาเป็นตัวละครตัวนั้นจริง ๆ นั้น สำเนียงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะสำเนียงเป็นตัวบอกท้องถิ่น เห็นได้บ่อยครั้งในบรรดาบทสัมภาษณ์นักแสดงต่างประเทศที่ต้องเล่นหนังในบริบทอื่น (เช่นนักแสดงอเมริกันแสดงเป็นชาวอังกฤษ) หากเป็นนักแสดงที่ดีและพยายามเล่นให้เข้าถึงบทบาท เขาจะต้องพยายามฝึกอย่างหนักเพื่อให้ตนสามารถพูดสำเนียง ‘ซ่งติงติดคอ’ ได้เหมือนสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ทว่าเมื่อดูสื่อบันเทิงไทยมีน้อยรายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ดังนั้นภาษาถิ่นที่ปรากฎในสื่อบันเทิงไทยโดยมากจึงมีสถานะเป็นเหมือนสินค้าที่พยายามสร้างความแปลกใหม่และความหลากหลายให้แก่วงการ เหมือนเป็นการหยิบเอาวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เคยใช้กันมาจนปรุแล้วมาผสมกันใหม่กลายเป็นสูตรที่คิดว่าน่าขายได้ ทว่าภาษาถิ่นที่นำมาเสนอกับกลายเป็นบิดเบือนไปจากพื้นฐานความจริง ไม่มีใครในพื้นที่นั้นที่พูดด้วยสำเนียงแบบนั้น คนภาคกลางที่หัดเริ่มพูดภาษาเหนือแล้วมี ‘สำเนียงปะแล็ด’ ก็ไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ คนอีสานทั้งภูมิภาคก็ไม่มีใครพูดแบบน้องไฮโซผู้ปลอมตัวมาเป็นคนใช้ที่ใช้คำว่า ‘เด้อหล้า’ ติดปากตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อไม่มีใครบนโลกความจริงพูดด้วยสำเนียงนี้ แล้วเราจะเรียกสำเนียงของบรรดานักแสดงทางสื่อบันเทิงเหล่านี้ว่าอะไรนอกเสียจากมันคือวัฒนธรรมเทียมอันจอมปลอม

คนที่ดูแล้วชื่นชมหนังและละครที่ใช้สำเนียงภาษาวัฒนธรรมเทียมนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากพวกที่ปลาบปลื้มยากไปเที่ยวบนเขาบนดอยแล้วเห็นชาวเขาใส่ชุดชนเผ่ามาขายของที่ระลึกพร้อมระลึกว่า โอ้ว พวกเขายังรักษาขนบธรรมเนียมดั่งเดิมไว้ ในหมู่บ้านของเขาคงอุดมไปวัฒนธรรมอันงดงามที่คงไว้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเป็นแน่ หารู้ไม่ว่าวิถีชีวิตของชาวเขาเหล่านั้นก็เปลี่ยนผันไปมิได้คงเดิม ชุดชนเผ่าก็หาได้ใส่ในชีวิตประจำวันทุกวันไม่

ดูแล้วกระแสวัฒนธรรมเทียมจำพวกสำเนียงท้องถิ่นปลอม ๆ คงได้รับความนิยมไปอีกไม่น้อย มีหลายคนแย้งผู้เขียนว่าสื่อบันเทิงเหล่านี้กำลังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมให้คนต่างถิ่นได้รู้จักความงดงามของภาษาท้องถิ่น ทว่าการที่สื่อนำเสนอแบบผิด ๆ นั้นย่อมเท่ากับการผลิตซ้ำความเทียมและจอมปลอมซ้ำไปซ้ำมา ในไม่ช้าคนในวัฒนธรรมภาษากลางย่อมเข้าใจสำเนียงท้องถิ่นอย่างคลาดเคลื่อน เนื่องด้วยเข้าใจว่าสิ่งที่ตนได้ยินจากในทีวีและจอเงินนั้นคือของจริง ทั้งที่ไม่มีใครเลยที่พูดด้วยสำเนียงนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง ฉะนั้นแล้วนี่เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของต่างถิ่นจริงหรือ

ผู้เขียนว่าไม่น่ามีปัญหาที่จะฝึกให้นักแสดงพูดด้วยสำเนียงที่ถูกต้อง (มะเดี่ยวทำได้มาแล้ว อย่างน้อย ๆ มะเดี่ยวก็รู้ว่าเขาควรเลือกคนที่มีพื้นเพท้องถิ่นนั้นมาเล่น เพื่อลดปัญหาสำเนียงแบบ ‘เจ็บแอว’ ของนักแสดง) แต่ก็คงมีข้ออ้างของคนทำอีกล้านแปดที่จะไม่สนใจ เช่น เรื่องการขาดเวลาและบุคลากรในการฝึกเอย ความไม่พร้อมของนักแสดงเอย ฯลฯ พูดบ่นไปก็เหมือนสีซอ

การแก้วัฒนธรรมเทียมประเด็นนี้ไม่ได้ยากอะไรเลยเพียงแต่ให้นักแสดงพูดภาษากลางไปนั่นแหละ คนดูรู้และรับได้มาเกือบสามทศวรรษแล้วที่ตัวละครเป็นคนภาคอื่นและเกิดเหตุการณ์ในภาคต่าง ๆ ของประเทศแต่กลับพูดภาษากลาง ทำในสิ่งที่ถนัดที่สุดนี่แหละ ไม่ต้องไป ‘สลิด’ อยากเสนอนู้นนี่โดยที่ปราศจากความละเอียดในการทำงาน หากเพิกเฉยทำต่อไปเช่นนี้ก็มีแต่ผลิตวัฒนธรรมปลอม ๆ ให้คนดูได้เสพกันอย่างลอยหน้าลอยตาไม่รู้ในความผิดตัวเองอยู่ต่อไป

แล้วต่อไปวัฒนธรรมเทียมเหล่านี้ก็คงพัดทะลักหน้าจอต่อไปอีกเป็นแน่ถ้าเรายอมและเพิกเฉยต่อมัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท