Skip to main content
sharethis

ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำเสนอข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ  ขอให้สภาผู้แทนฯ ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและสร้างมาตรการคุ้มครองเด็กในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้

24 เมษายน 2555 ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยประธานอนุกรรมการฯ นายอภิชาต ศักดิ์เศรษฐ์   โดยผู้แทนฯ ได้นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ผลกระทบจากความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบฯ นโยบายด้านการใช้กำลังทหารและฝ่ายความมั่นคงจำนวนมาก  นโยบายด้านการเยียวยาและการสร้างกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจมีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่  พร้อมนำเสนอความเป็นมาและสภาพปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 (กฎอัยการศึก) และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉินฯ) มีผลทำให้บุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้รวมไปถึงผู้ต้องสงสัยที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกจับและควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษก่อนเข้าสู่มาตรการขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ

จากการรวบรวมการข้อเท็จจริงในพื้นที่พบว่า ตั้งแต่ 2550-ต้นปี 2555 มีอย่างน้อย 30 กรณีที่เด็กถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ในจับและควบคุมตัวนั้นมีสภาพการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและไม่สอดคล้องกับวิธีการสำหรับเด็กที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553  เช่น การจับและควบคุมตัวโดยมิได้แสดงหมายและเหตุแห่งการจับกุม มีการควบคุมตัวเด็กรวมกับผู้ใหญ่ แม้หลังจากที่มีการร้องเรียน การควบคุมตัวเด็กตาม พรก.ฉุกเฉินฯจะได้มีการปรับปรุงระเบียบในการแยกสถานที่ควบคุมตัวเด็กออกจากผู้ใหญ่ แต่การควบคุมตัวภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึก ยังไม่มีระเบียบในการกำหนดการแยกสถานที่ควบคุมตัวของเด็ก ในการซักถามเด็กก็ไม่ปรากฎว่ามีบุคคลที่เด็กไว้วางใจและมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพร่วมด้วย ทำให้บางกรณีพบว่าเด็กถูกข่มขู่หรือถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีกรณีที่เด็กถูกวิสามัญฆาตกรรมระหว่างการปิดล้อม ตรวจค้น หรือในบางกรณีเจ้าหน้าที่ให้เด็กเข้าร่วมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแบบไม่เป็นทางการซึ่งถือว่าเป็นการให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมของความขัดแย้งด้วยอาวุธด้วย เป็นต้น

ทางมูลนิธิฯและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและภาพสะท้อนจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการป้องกันการก่อเหตุและการปราบปรามการก่อความใม่สงบส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก จึงได้ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเพิ่มระบบการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพื้นที่ด้วยการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคม  ทั้งนี้เพื่อการพิจารณาการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ และการประกาศต่ออายุการใช้พรก.ฉุกเฉิน จากข้อเท็จจริงรอบด้าน  รวมทั้งเรียกร้องขอให้ตัวแทนคณะกรรมการธิการได้ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติดำเนิการให้รัฐบาลทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ทั้งระบบ โดยการประกาศใช้หรือขยายระยะเวลาในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ควรให้มีการอภิปรายอย่างเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย มิใช่เป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 8 ปีเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net