Skip to main content
sharethis

24 เม.ย. 55 เวลาประมาณ  9.30 น. การสืบพยานฝ่ายโจทย์ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังคงดำเนินต่อไป โดยช่วงเช้าวันนี้ก่อนเริ่มต้นการสืบพยาน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ2550 ใน มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา29 หรือไม่

นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยและผู้ยื่นคำร้องกล่าวว่า การยื่นคำร้องนี้ไม่ได้ทำให้ศาลอาญายุติการสืบพยาน แต่ศาลอาญาไม่มีอำนาจตีความเองว่ามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องส่งไปให้รัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ และแม้ว่าจะสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วก็ตามศาลอาญาก็ยังไม่อาจอ่านคำพิพากษาได้ เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงเหตุผล การยื่นคำร้องเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะจำเลยซึ่งไม่ว่าจะกระทำผิดจริงหรือไม่ก็มักยอมรับผิดแล้วขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ไม่ต้องติดคุกนานเกินไป ดังนั้นการยื่นคำร้องในครั้งนี้ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ และที่สำคัญไม่ใช่เป็นการทำเพื่อตัวจำเลยเพียงคนเดียว เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะเป็นผลดีกับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีลักษณะเดียวกันด้วย

ส่วนการสืบพยานในวันนี้ ประกอบด้วยพยานทั้งหมด 4 ปาก โดยหนึ่งในนั้นคือศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พยานปากสำคัญได้เบิกความถึงบทความที่ถูกฟ้องในนิตยสาร Voice of Taksin ว่า มี 2 บทความจาก 2 เล่มที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา112  พยานเห็นว่าฉบับหนึ่งผู้เขียนตั้งใจเท้าความไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยพยานทราบว่าเป็นการหมิ่นประมาทเพราะอาศัยการเทียบเคียงกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ และเทียบเคียงกับพงศาวดารกรุงธนบุรี ของหมอ บลัดเลย์

เมื่อทนายจำเลยถามถึงการบันทึกประวัติศาสตร์แบบอื่นในเรื่องเดียวกัน เช่น ฉบับของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ธงทองตอบว่า ยอมรับว่าประวัติศาสตร์มีหลายฉบับ แต่ประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ นั้นไม่ได้ให้น้ำหนัก เพราะถือว่าเป็นการบันทึกแนวหนึ่งที่มีคนส่วนน้อยถกเถียงกันอยู่ ส่วนบทความอีกฉบับหนึ่งที่กล่าวถึง “หลวงนฤบาล” ธงทองระบุว่าไม่สามารถให้ความเห็นได้แน่ชัดว่าผู้เขียนต้องการหมิ่นประมาทหรือกล่าวถึงใคร  

ทนายความถามว่า ในระบอบการปกครองของไทยปัจจุบันพระมหากษัตริย์กับอำนาจรัฐเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ พยานกล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ใต้กฎหมายแต่ยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคง พยานจึงไม่สรุปว่าพระมหากษัตริย์แยกออกจากอำนาจรัฐหรือไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะยังมีคำว่า “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ส่วนมาตรา112 นั้น ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการระวางเพิ่มโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าประเทศไทยจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันมาตรานี้กลับมีโทษสูงกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก พยานเห็นว่าโทษ 3-15 ปีรุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด คำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น” ในมาตรา112 ควรจะมีความหมายเช่นเดียวการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าโทษหนักเบาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่ให้จำเลยพิสูจน์เหตุยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดได้ตามมาตรา 329 แต่พยานก็เห็นว่า โดยภาพรวมกฎหมายอาญาจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว พยานเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดๆ มิได้ หมายความว่าประชาชนไม่สามรถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ว่าจะโดยทางแพ่งหรือทางอาญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ และพยานก็ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ว่าการวิจารณ์พระองค์นั้นทำได้ แต่พยานก็เห็นว่าการกระทำผิดตามมาตรา 112 นั้น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่ถึงกับจะทำให้รัฐไม่ดำรงอยู่เสียทีเดียว

ทนายจำเลยสืบความถึงโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นๆ พยานก็เห็นว่าในคดีซึ่งมีการกระทำผิดที่ร้ายแรงกว่านี้กลับมีโทษจำคุกน้อยกว่า นอกจากนี้พยานยังเห็นว่าการแก้ไขให้มาตรา112 ตามแนวทางของกลุ่มนิติราษฎร์จะทำให้รักษาหลักการของมาตรา 112 ที่แท้กว่าการนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ร้องต่อศาลก่อนที่จะมีการสืบพยานปากนายชนาธิป ชุมเกษียน อดีตลูกจ้างที่ทำงานเป็นช่างภาพให้แก่นิตยสาร Voice of Taksin เนื่องจากนายชนาธิป เคยเข้าฟังการสืบพยานฝ่ายเดียวกันที่จังหวัดเพชรบูรณ์ก่อนหน้านี้  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยานโจทก์อีกปากหนึ่งของวันนี้คือนายบวร ยะสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ซึ่งระบุว่าได้แจ้งความนายสมยศในคดีหมิ่นฯ ไว้อีกคดีหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ การสืบพยานฝ่ายโจทย์ในคดีนี้จะมีไปจนถึงวันที่ 26  เม.ย. 55 และสืบพยานฝ่ายจำเลยจะมีในวันที่ 1-4 พ.ค. 55     

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net