จี้รัฐเร่งสอบเหตุการตายของ 2 แรงงานพม่าที่เสียชีวิตระหว่างถูกส่งกลับประเทศ

(22 เม.ย.55) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับอนุภูมิภาคขององค์กรที่ทำงานด้านการย้ายถิ่น 39 องค์กรในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ออกแถลงการณ์กรณีมีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าสองคนเสียชีวิต ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไทย ระหว่างการส่งกลับประเทศ โดยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต ตลอดจนเรื่องค่าชดเชย และทบทวนกระบวนการจับ การกักขัง และการส่งกลับ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้ย้ายถิ่นและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รายละเอียดมีดังนี้


การเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไทย
จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบ

วันที่ 17 เมษายน ขณะที่ประชาชนในประเทศไทยกำลังสนุกสนานกับวันหยุดยาวต่อเนื่องในวันปีใหม่ไทยและเทศกาลสงกรานต์ แรงงานชาวพม่าสองคนถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่ภายในยานพาหนะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองใช้ในการส่งกลับ นายเมืองโซ อายุ 25 ปี และ นางมีลา อายุ 36 ปี คือผู้เสียชีวิตสองคนในจำนวนแรงงานทั้งหมด 62 คน ที่ถูกส่งกลับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของประเทศไทย ไปยังประเทศพม่าผ่านด่านพรมแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขณะเดียวกันสื่อมวลชนได้รายงานว่าแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตเนื่องมากจากสภาพที่แออัดภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตนั้นยังไม่มีการยืนยันหรือพิสูจน์หลักฐาน

การตรวจสอบในภายหลังโดยเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด และสถานีตำรวจภูธรแม่สอดได้รับการยืนยันว่ายานพาหนะที่ใช้ในการส่งกลับได้เดินทางออกจากด่านสะเดา จังหวัดสงขลาวันที่ 16 เมษายน และมาถึงยังด่านแม่สอดในวันถัดมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนหรือสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นผู้ควบคุมการส่งกลับในครั้งนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรายงานอีกว่าศพของผู้เสียชีวิตทั้งสองและแรงงานข้ามชาติคนอื่น รวมทั้งญาติของผู้เสียชีวิตถูกส่งกลับออกนอกประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เครือข่ายฯ MMN มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตอย่างน่าสลดและการดำเนินการต่อมาของเจ้าหน้าที่ไทย การเสียชีวิตครั้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการปฏิบัติต่อผู้ย้ายถิ่นในกระบวนการส่งกลับประเทศของไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2548 และ 2551 เครือข่ายฯ MMN ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการจับ การกักขัง และการส่งกลับในหกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จากการศึกษาเราพบว่าผู้ย้ายถิ่นมักจะถูกควบคุมเป็นระยะเวลานานเกินไปกว่าที่ควรในพาหนะที่ใช้ในกระบวนการส่งกลับและโดยทั่วไปพวกเขาได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างจำกัดมาก

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักขัง โดยยังรวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) นอกจากนี้ ตามหลักการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวหรือนักโทษของสหประชาชาติ ที่ว่า “ทุกคนที่อยู่ภายใต้การกักขังหรือการจำคุกทุกรูปแบบจะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมและได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 เครือข่ายฯ MMN ได้เป็นตัวแทนแรงงานนำเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อผู้แทนของสหประชาชาติด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ผู้นำเสนอรายงานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้ความสนใจเฉพาะต่อเหตุการณ์หลัก 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างวาระกัน โดยส่งผลทำให้ผู้ย้ายถิ่นที่มีความเปราะบาง/เสี่ยงภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่และสูญเสียชีวิตในห้องกักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือระหว่างที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทย จนกระทั่งถึงบัดนี้เครือข่ายฯ MMN ไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบว่ามีการดำเนินการขั้นตอนหรือมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเหตุการณ์ที่น่าสลดใจครั้งนั้น

เพื่อตอบสนองต่อโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้ เครือข่ายฯ MMN ขอเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลไทย:

1. ดำเนินการสืบสวนอย่างทันที เป็นกลางและยุติธรรมต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รวมถึงสถานการณ์ของการกักขังผู้ย้ายถิ่นก่อนการดำเนินการส่งกลับประเทศ, การดูแลด้านสุขภาพและการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติระหว่างที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่ต่อมาเสียชีวิต รวมทั้งสภาพของพาหนะที่ใช้ในการส่งกลับและสภาวะอื่นๆ ตลอดกระบวนทั้งการกักขังและส่งกลับ

2. สนับสนุนการชันสูตรศพของแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตทั้งสองคนอย่างเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง

3. ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ครอบครัวของเหยื่อที่เสียชีวิต ตลอดจนเรื่องค่าชดเชย

4. จัดหาให้มีการตรวจสุขภาพ การรักษาและดูแล รวมถึงการเข้าถึงการให้คำปรึกษาอย่างสมัครใจแก่ผู้ย้ายถิ่นทุกคนที่อยู่ในพาหนะที่ใช้ในการส่งกลับดังกล่าวและคนที่อาจจะป่วยและ/หรือได้รับความบอบช้ำด้านจิตใจเพราะต้องเดินทางกับเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ต่อมาพบว่าเสียชีวิต

5. ต้องมั่นใจว่าทุกคนที่ได้กระทำการปฏิบัติ หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นสาเหตุหรือก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ย้ายถิ่นทั้งสองคนได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

6. ทบทวนกระบวนการจับ การกักขัง และการส่งกลับ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้ย้ายถิ่นและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา รัฐต้องดำเนินการอย่างทันทีเพื่อให้มั่นใจว่าการส่งกลับผู้ย้ายถิ่นดำเนินการภายใต้กฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท