Skip to main content
sharethis

 

ขอบคุณภาพจาก The Reading Room


เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และ Emily Hong

The Reading Room และ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้จัดการบรรยายหัวข้อ “Cultural Resistance หรือ Creative Resistance การต่อต้านเชิงสร้างสรรค์/การต่อต้านเชิงวัฒนธรรม” เมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ The Reading Room สีลม ซอย 19  โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยายภาษาไทย และ Emily Hong นักกิจกรรม เทรนเนอร์ และนักเขียน เป็นผู้บรรยายภาษาอังกฤษ

เนื้อหาการบรรยายกล่าวถึงการประยุกต์ศิลปะและวัฒนธรรมมาเพิ่มอำนาจการสื่อสารประเด็นต่างๆ ของขบวนการทางสังคมทั่วโลกเพื่อให้ประสบผลในการเคลื่อนไหว รวมทั้งแนะนำแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง สำรวจตัวอย่างวิธีการต่อต้านการคอรัปชั่น บริษัทข้ามชาติ และอำนาจเผด็จการต่างๆ ของประเทศต่างๆทั่วโลก

หลังจบการบรรยายมีกิจกรรม workshop โดยให้ผู้เข้าฟังได้ฝึกนำเทคนิคต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคม กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “โรงเรียนพ(ล)บค่ำ” ซึ่งจัดโดย The Reading Room และ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยเฉพาะสื่อใหม่และขบวนการทางสังคม โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3  

แล้วไอ้การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์นี้มันเป็นยังไง?
 

Creative/Cultural Resistance

แปลความหมายได้อย่างกว้างที่สุดคือ การควบคุม/ใช้อำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นในการประท้วงหรือการรณรงค์ต่างๆ โดยมีแนวคิดพื้นฐานอยู่ 3 เรื่อง คือ  1.สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” หรือ “Direct action” 2.ศิลปะ และ 3.วัฒนธรรม และหลักการสำคัญที่สุดของ Creative Cultural Resistance จะเป็นการผสานแนวคิดทั้ง 3 เรื่องนี้เข้าด้วยกัน


1.ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (Direct action)


งานเขียนเกี่ยวกับ Direct action ของคนไทยที่สำคัญคืองานของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ โดยได้แปลคำว่า Direct action ไว้ว่า “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” ขณะที่ David Graeber นักวิชาการทางด้านอนาธิปัตย์นิยม (Anarchism) คนสำคัญที่เขียนบทความเกี่ยวกับ Direct action ในเชิงวิชาการได้ให้ความหมายของ Direct action ไว้ว่า การปฏิเสธการเมืองที่ต้องร้องขอรัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ แต่สนับสนุนการท้าทายอำนาจรัฐโดยตรง

“การเมือง” ที่เรากำลังพูดถึงก็คือ การเมืองที่ต้องพึ่งพาอำนาจนักการเมืองหรือภาครัฐบาลเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่ Direct action ปฏิเสธการเมืองแบบนั้น แต่ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการด้วยตัวเราเองโดยไม่ผ่านตัวกลาง คือนักการเมือง หรือข้าราชการ

หัวใจสำคัญของ Direct action คือ ข้อแรก การทำด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง ไม่ผ่านผู้มีอำนาจ เรามักจะเชื่อว่าถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร เราจะต้องไปหาคนที่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจที่ว่านี้มีหลายกลุ่ม เช่น คนที่ได้อำนาจของเราผ่านการเมืองคือ นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอำนาจเช่นนักธุรกิจ แต่ Direct action จะปฏิเสธการไปหาคนเหล่านี้เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่าทุกคนมีอำนาจในตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้อำนาจของเราเองทำอะไรบางอย่าง รวมทั้งไม่เชื่อในวิธีการไปโน้มน้าวผู้ที่มีอำนาจ และจะไม่ใช้วิธีพึ่งพากับตัวกลางทางการเมือง หรือข้าราชการ

2.ศิลปะ

อำนาจหรือพลังของศิลปะที่เป็นพื้นฐานที่สุด คือ ศิลปะมันเชิญชวนหรือโน้มน้าวให้คนคิดอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้บอกให้เขาคิดอะไร ซึ่งต่างจากอำนาจของการเมือง การเมืองต้องมีข้อความที่ชัดเจนเพื่อบอกให้คุณคิดอะไร แต่ศิลปะมีอำนาจในการเล่นกับจินตนาการ มันเชิญชวนให้คนมาคิด แต่ไม่ได้บอกว่าต้องคิดแบบไหน

ตัวอย่างที่สำคัญของการใช้ศิลปะอย่างหนึ่งคือ เรื่องของการใช้เพลง เช่น “Singing Revolution” หรือการปฏิวัติด้วยการร้องเพลงในเอสโตเนีย หรือการใช้เพลงในการรวมพลของขบวนการสิทธิพลเมืองในอเมริกาช่วงปี 70 เช่นเพลง We Shall Overcome

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการใช้งานศิลปะสองมิติ เช่นภาพเขียน มีกรณีที่น่าสนใจคือ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีภาพเขียนผลงานปิกัสโซขนาดใหญ่ชื่อ “Guernica” ประดับบนผนัง เป็นภาพที่ปิกัสโซเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนความโหดร้ายรุนแรงของสงครามกลางเมืองในสเปน ในปี 2003 ประธานาธิบดี Bush ประกาศจะบุกอิรักโดยได้ส่ง Colin Powell ไปที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อพูดสุนทรพจน์โน้มน้าวให้แต่ละประเทศยอมรับสงครามของอเมริกาในอิรัก ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ถึงกับนำม่านสีฟ้ามาปิดภาพ Guernica เอาไว้ชั่วคราวเพื่อไม่ให้ภาพนี้ปรากฏเป็นฉากหลังขณะที่ Colin Powell กล่าวเรื่องสงครามออกกล้อง เนื่องจากภาพนี้มีสารเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามที่ทรงพลังมาก

 

Guernica, 1937 by Pablo Picasso (http://www.pablopicasso.org/guernica.jsp)

 

เมื่อศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการณรงค์หรือการต่อต้าน ความท้าทายหรือปัญหาใหญ่คือ เนื่องจากศิลปะพยายามที่จะเชิญชวนหรือเล่นกับจินตนาการผู้เสพ ศิลปินจึงต้องการพื้นที่ในการสร้างสรรค์สิ่งที่เล่นกับจินตนาการ แต่การรณรงค์ในทางการเมืองนั้นจำเป็นต้องมีข้อความที่ชัดเจนว่าเรากำลังพูดถึงอะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร จะทำอย่างไร ฉะนั้นความท้าทายของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวโดยใช้ศิลปะคือ เราจะหาความสมดุลระหว่างพื้นที่ที่เปิดให้ใช้จินตนาการ กับความชัดเจนของการสื่อสารอย่างไร หลักการพื้นฐานที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยใช้ศิลปะคือ เราจำเป็นต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของศิลปะ และธรรมชาติของการรณรงค์

ในมุมกลับกัน แม้จะมีความท้าทาย แต่การใช้ศิลปะในการรณรงค์ต่างๆ ก็มีข้อดี คือศิลปะทำให้ผู้ที่เห็นสามารถนำประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปผูกโยงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าการรณรงค์นี้คืออะไร หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ นี่คือจุดแข็งของศิลปะจุดหนึ่งซึ่งเราจะต้องเอามาใช้ในการรณรงค์ นักกิจกรรมสามารถเรียนรู้จากศิลปินหรืองานศิลปะได้ว่า ในการออกแบบงานรณรงค์ เราต้องเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้สาธารณะเข้ามามีส่วนร่วม แล้วเอาความคิดของตัวเองเข้ามามีความสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อให้การรณรงค์ประสบผล ไม่ใช่แค่การชูป้ายประท้วง หรือออกไปตะโกนสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น

3.วัฒนธรรม

หลักการใหญ่ 2 ข้อของเรื่องวัฒนธรรมคือ ข้อแรก เราจำเป็นต้องรู้จัก อาณาบริเวณหรือลักษณะของวัฒนธรรมในสังคมเรา (Cultural terrain) ถ้าจะเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปไมยก็คือ เหมือนกับเราเป็นกองโจร ต้องรู้จักภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ เพื่อที่จะใช้ในการสร้างความได้เปรียบให้กับเราในการสู้รบ

คนที่ทำงานรณรงค์ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง มักจะเป็นคนส่วนน้อย และมักคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของตนซึ่งเป็นคนส่วนน้อย แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ แล้วต้องเข้าใจวัฒนธรรมกระแสหลักของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้รู้ว่าเราจะหยิบวัฒนธรรมนั้นมาใช้ประโยชน์ในการโน้มน้าวผู้คนอย่างไร เราสามารถเรียนรู้จากนักการตลาดที่มีความฉลาดในการใช้ “ความฝัน” หรือ “ฝันร้าย” ของคนให้เป็นประโยชน์ เช่น โฆษณาโรลออนที่ทำให้รักแร้ขาว นักการตลาดใช้ความใฝ่ฝันของผู้หญิงไทยเวลาใส่เสื้อแขนกุดขึ้นบีทีเอสแล้วเป็นที่ต้องการของผู้ชายรอบๆ เพราะเห็นรักแร้ขาว นี่คือตัวอย่างการใช้วัฒนธรรมกระแสหลักในการโน้มน้าวคน

ข้อที่สองคือ เมื่อเราเข้าใจอาณาบริเวณหรือลักษณะวัฒนธรรมในสังคม (Cultural terrain) แล้ว เราจะสามารถเข้าไปหยิบค่านิยมหรือโลกทัศน์ของสังคมมาใช้ประโยชน์ในการรณรงค์ได้ เราอาจจูงใจคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ฝั่งเดียวกับเราตั้งแต่ต้นให้เข้ามาเห็นด้วยกับเราได้ ยกตัวอย่าง การรณรงค์แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่รณรงค์เรื่องนี้มักจะถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มที่ไม่รักสถาบันฯ หรือไม่เอาเจ้า การรณรงค์อาจพยายามหาจุดร่วมโดยไม่ให้จุดยืนของเราไปทำตัวขัดแย้งกับวัฒนธรรมกระแสหลัก เราอาจพูดถึงกลุ่มคนที่รักสถาบันฯรักในหลวง แต่ว่าไม่ได้ต่อต้านการรณรงค์แก้ไข ม. 112 หรือคนที่รักในหลวง แต่ก็รักเสรีภาพด้วย นี่เป็นการพยายามหาจุดตรงกลางจากวัฒนธรรมหลักในสังคม

ลองยกตัวอย่างของอเมริกาซึ่งใช้ Pop culture ในการรณรงค์การต่อต้านสงคราม ถ้าคนที่เข้าใจ Pop culture ก็จะรู้ว่าหมายถึงอะไร เป็นการโยงแหวนที่ Bush ใส่กับหนัง The Lord of the Rings ซึ่งพูดถึงความกระหายอำนาจ เราสามารถเอาประสบการณ์หรือความเข้าใจใน Pop culture เข้าไปโยงกับ message ทางด้านการเมืองได้

 

http://www.lowbird.com/all/view/2008/06/bush-ring-of-power

 

หลักการ Dilemma action

หลักการที่สำคัญที่สุดของ Creative/Cultural Resistance หรือ การควบคุมหรือใช้อำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เกิดจากการนำแนวคิดพื้นฐานในกิจกรรมการรณรงค์ทั้ง 3 ข้อคือ ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ศิลปะ และ วัฒนธรรม มารวมกัน นั่นคือหลักการที่เรียกว่า Dilemma action

เราทำกิจกรรมรณรงค์หรือประท้วงต่างๆ กันบ่อย แต่มักไม่เกิดผลเท่าไร เพราะว่าเราเองมักจะมีประเด็นที่เน้นข้อความในด้านการเมืองเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงประเด็นอื่น หลักการนี้คิดขึ้นมาโดยคนที่รู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่พอใจที่การรณรงค์ที่เป็นอยู่มันไม่ไปไกลหรือไม่บรรลุผลที่ต้องการ

Dilemma action เป็นศัพท์ที่ George Lakey เป็นผู้คิด ความหมายคือ ปฏิบัติการที่ทำให้เป้าหมาย (Target) ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตัดสินใจลำบาก ตัวอย่างเช่น อองซาน ซูจีที่เพิ่งประกาศว่าจะเดินสายในต่างประเทศ บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นการตัดสินชั่ววูบ แต่ที่จริงอองซาน ซูจีคิดเรื่องนี้มานานแล้ว และนี่คือ Dilemma action เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะยอมให้อองซาน ซูจีเดินทางไปแล้วกลับโดยดี หรือออกไปแล้วไม่ให้กลับ ก็จะเป็นประโยชน์ต่ออองซาน ซูจี แล้วเป็นการตัดสินใจที่ยากของรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ให้กลับก็จะเป็นการเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วพม่ายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงกับที่ต่างชาติกล่าวหา แต่ถ้ายอมให้กลับมา อองซาน ซูจีจะสามารถเดินทางไปต่างประเทศ รับรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการ และทำให้สถานะของตัวเองในแง่ของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสูงขึ้นมา นี่คือรูปแบบ Action อย่างหนึ่งที่ทำให้เป้าหมายต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ตัวอย่างของ Dilemma action ที่นักเคลื่อนไหวในเซอร์เบียใช้ คือการสร้างความตลกขบขันให้อีกฝ่าย ประชาชนพยายามไล่ผู้นำเผด็จการ มิโลเซวิช โดยเอาถังเปล่าใบใหญ่ไปวางไว้ที่ถนน และเขียนถ้อยคำว่า -- ผู้นำของเราอยากเกษียณ แต่เกษียณไม่ได้เพราะมีเงินไม่พอ กรุณาช่วยกันบริจาคเงินให้มิโลเซวิชโดยการโยนเหรียญเข้าไปในถัง แต่ถ้าไม่มีเหรียญให้ตีถังนี้แทน – เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้คนยากจน จึงไม่มีใครโยนเหรียญแต่ตีถังแทน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจำนวนมากลงมายังท้องถนนและตีถังจนตำรวจจับ พอตำรวจมาจับถังขึ้นรถไป นักรณรงค์กลุ่มนี้ก็ถ่ายภาพตำรวจอุ้มถังขึ้นรถ และทำเป็นข่าว ทำให้ตำรวจกลายเป็นคนที่ดูตลกขบขันไป แต่ถ้าตำรวจไม่มาจับถัง การรณรงค์ก็จะมีต่อไป ตีถังกันต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (Dilemma) วิธีนี้มีผลทำให้กลุ่มตำรวจรู้สึกว่าตนเองสูญเสียความน่าเชื่อถือบางอย่างในระบอบนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมในบริบทนี้ด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในวิธี Dilemma action  http://www.youtube.com/watch?v=vc1CcxHwypE

 

กลวิธีในการรณรงค์ (Tactics)

การรณรงค์ต่างๆสิ่งสำคัญคือ ต้องจับต้องได้ และต้องสื่อสารไปถึงเป้าหมาย (communicative) สิ่งเหล่านี้คือกลวิธีหลากหลายที่ช่วยเพิ่มความสนใจในการรณรงค์ต่างๆ ได้

แจกใบปลิวให้น่าสนใจ (Advance Leafleting)

กลวิธีที่ง่ายที่สุด พื้นฐานที่สุด ที่นักกิจกรรมหรือนักรรณรงค์ใช้กันอยู่แล้ว คือการแจกใบปลิว การแจกใบปลิวถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ช่วยให้เราให้ข้อมูลกับคนอื่นได้ว่าเรากำลังทำอะไร ปัญหาคือเรื่องอะไร แต่การแจกใบปลิวแม้ว่าจะสำคัญแต่มักไม่ค่อยได้ผล เพราะว่ามันน่าเบื่อ น่ารำคาญ ถ้าเรานึกถึงตัวเองเวลามีคนมาแจกใบปลิว มันมีไม่กี่ครั้งที่เราจะรับมาแล้วอ่าน แต่มักเขวี้ยงทิ้งลงถัง การแจกใบปลิวแบบที่เราทำกันแบบปกติถือเป็นการสูญเสียทรัพยากร สูญเสียเวลา ไม่ได้ผล ทำมาแจก คนก็ไม่อ่าน ไม่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่การแจกใบปลิวแบบแปลกใหม่หรือที่เรียกว่า Advance Leafleting คือการพยายามนำศิลปะกับวัฒนธรรมเข้ามาช่วยให้การแจกใบปลิวไม่เสียเปล่า หลักการง่ายๆ คือทำให้มันสนุก ทำให้แปลก และทำให้เป็นที่จดจำ มีการทดสอบขององค์กรในต่างประเทศที่แสดงว่า เมื่อเอาหุ่นยนต์ไปแจกใบปลิว คนเลือกที่จะรับใบปลิวจากหุ่นยนต์มากกว่าจากคนด้วยกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ดูตลก แต่จริงๆ มันสะท้อนว่าการแจกใบปลิวถ้าทำให้แปลกและทำให้คนอื่นสนุก มันจะได้ประโยชน์ เราสามารถใช้ละครเข้ามาเล่นกับการแจกใบปลิว หรือใช้การแต่งกายแบบแปลกๆ เข้ามาเล่น

เคยมีการณรงค์หนึ่งเกี่ยวกับสงครามในอเมริกา ซึ่งเอาคนใส่ชุดบ๋อยเสิร์ฟอาหาร ถือถาด ถือเมนูเดินไปตามท้องถนน และถามผู้คนว่า “คุณได้สั่งสงครามหรือเปล่า” (Do you order war?) พอคนบอกว่าไม่ได้สั่ง บ๋อยก็ส่งใบเสร็จให้และบอกว่าต้นทุนของสงครามที่เราแต่ละคนต้องจ่ายคือเท่าไร ปรากฏว่านี่เป็นการรณรงค์ที่ชาญฉลาดมาก เพราะเป็นการแจกใบปลิวแบบหนึ่ง ให้ข้อมูลคนแบบหนึ่ง แต่ทำคนสนใจ ไม่ใช่การแจกใบปลิวแบบทั่วไปที่เต็มไปด้วยข้อความบอกว่าสงครามมีผลเสียอย่างไร ซึ่งคนอาจจะไม่อ่านก็ได้ นี่คือวีธีการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปประยุกต์

เวลาประท้วง อย่าแต่งตัวเหมือนนักประท้วง

ส่วนใหญ่เวลาที่นักกิจกรรมรณรงค์อะไร เรามักจะไปเดินประท้วงหรือชูป้าย แต่สิ่งที่พึงระวังคือ เรามักจะแต่งเหมือนนักประท้วงออกไป เมื่อเราแต่งตัวเหมือนนักประท้วง เรามักจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนทั่วไปไม่ได้ชอบนักประท้วงสักเท่าไร คนเห็นแล้วรู้สึกเบื่อหน่าย และถ้าเราถูกตำรวจจับ คนก็ไม่รู้สึกเห็นใจ  หลักการข้อนี้แนะนำให้แต่งกายแบบที่ไม่ปกติ มีตัวอย่างของคนขับเครื่องบินที่ประท้วงการบินในอเมริกา การไม่แต่งตัวแบบนักประท้วงไปประท้วงนั้นช่วยดึงดูดสื่อและเป็นที่สนใจ นี่เป็นบทเรียนข้อหนึ่งสำหรับนักกิจกรรมว่า ถ้าเราแต่งตัวไม่เหมือนนักประท้วง เราจะได้รับความสนใจและอาจเป็นข่าว

 

 

http://independentnewshub.com/?p=45494

 

คนที่ติดตามการประท้วงในซีเอทเทิลจะเห็นว่ามีกลุ่มประท้วงแบบปฏิบัติการซึ่งหน้า (Direct action) หลายกลุ่มที่แต่งตัวประหลาดๆ ไม่ใช่เพื่อดึงความสนใจสื่ออย่างเดียว แต่เพื่อปกป้องตัวเองไปด้วย อย่างเช่น กลุ่มที่แต่งตัวเป็นเต่าออกไปเรียกร้องเรื่องเต่าทะเลที่กำลังจะสูญพันธ์ ชุดเต่าช่วยปกป้องจากการถูกตำรวจทุบตี และยังแฝงความหมายว่าเต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืนและรักสันติ

 

http://seaturtles.org/article.php?id=1154

ดัดแปลงวิธียื่นรายชื่อหรือ petition (Creative petition delivery)

นักรณรงค์ทำ online petition ตลอดเวลา online petition มีข้อดีคือสามารถให้ข้อมูลผู้อื่นและแพร่กระจายได้เร็วเพราะคนสามารถแชร์ต่อๆ กันได้ แต่ online petition  มีข้อเสียตรงที่หน่วยงานเป้าหมายของการเข้าชื่อมักไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าชื่อไม่ว่าจำนวนชื่อจะมากแค่ไหนก็ตาม เป้าหมายมักจะละเลย แต่มีวิธีการที่จะทำให้การยื่นรายชื่อเมื่อได้รายชื่อครบแล้ว ให้เป้าหมายของเราไม่สามารถเพิกเฉยได้ หลักการง่ายๆ ก็คือทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นมันเห็นชัด มีหลายกลุ่มที่ทำ online petition อย่างเว็บไซต์ Avaaz.org เวลาที่ส่งมอบรายชื่อ เขาจะแปลงตัวเลขจำนวนคนให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น การล่ารายชื่อรณรงค์เรื่องฟาร์มเลี้ยงหมู ก็ทำหมูจำลองตัวใหญ่ๆ โดยหมู 1 ตัวแทนรายชื่อ 1,000 รายชื่อ ถ้าแสนรายชื่อจะต้องเอาหมูไปเท่าไรก็ลองนึกดู เวลาเราไปออฟฟิศของหน่วยงานที่เราจะยื่นรายชื่อ ก็จะมีสิ่งที่จับต้องได้มาสร้างความสนใจ และทำให้เป็นข่าว อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กลุ่มกรีนพีซ ที่รณรงค์เกี่ยวกับการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยให้คนแต่งตัวเป็นลิงเข้าไปในออฟฟิศขององค์กรแต่ละท้องที่เพื่อยื่นรายชื่อ ทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวและถูกพูดถึงในหน้าสื่อ

 

ใช้ภาพให้มีศิลปะ (Artistic Imagery)

การแขวนป้ายข้อความ (Banner Hangs) และข้อความมนุษย์ (Human Banner)

ตัวอย่างที่คลาสสิคมากและยังพูดถึงกันอยู่ก็คือการแขวนป้ายข้อความที่ซีแอทเทิล ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม WTO ก็ ถ้าใครได้ดูหนังเรื่อง Battle in Seattle ก็เห็นมีการจำลองฉากนี้ในหนังด้วย สารก็คือ WTO ทำสิ่งที่สวนทางกับประชาธิปไตย การแขวนป้ายก่อนที่จะมีการประชุมมีผลคือ สร้างบรรยากาศให้พื้นที่นั้นเข้าใจว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น และประเด็นที่นักกิจกรรมกำลังจะเริ่มรณรงค์คืออะไร การแขวนป้ายนั้นช่วยส่งสารของนักกิจกรรมก่อนจะมี event เกิดขึ้น สมมติว่าจะมีการประชุมอาเซียนในเมืองไทย การแขวนป้ายก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้สื่อสารประเด็นต่างๆ ได้ แต่ว่าการแขวนป้ายแบบในภาพนั้นต้องใช้ทักษะมากคือต้องมีนักห้อยโหน และเสี่ยงที่จะถูกจับ เสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุ ดังนี้จึงมีป้ายข้อความมนุษย์ (Human Banner) เกิดขึ้น

Human Banner  ก็คือการใช้มนุษย์ไปทำเป็นข้อความ ต้องใช้คนจำนวนมากแต่มีข้อดีคือ ความเสี่ยงน้อย อันตรายน้อย สามารถเป็นข่าวได้ เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง

 

 

http://www.revolutionbythebook.akpress.org/n30-looking-back-on-a-decade-of-activism-against-global-capital/

 

http://www.oyalbankofscotland.com/

 

 

การฉายภาพตามตึก (Guerilla projection)

เป็นเทคนิคที่คล้ายกับการแขวนป้ายข้อความ แต่ใช้อุปกรณ์ฉายแสงกำลังสูงไปตามผนังตึก เช่นตัวอย่างของ Occupy Wall Street ที่ยิงข้อความต่างๆไปบนตึก อย่างตึก Wall Street หรือตึกที่เป็นเป้าหมายของตน ข้อดีของการใช้ การฉายภาพคือ ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับมีน้อย ต้นทุนต่ำกว่าการใช้คนไปห้อยตัวตามป้ายแบนเนอร์เพราะต้องใช้เครนใช้อุปกรณ์ต่างๆ และที่สำคัญคือการฉายภาพสามารถเล่นโต้ตอบได้ เคลื่อนไหวได้ หมุนได้ เปลี่ยนข้อความได้ เล่นกับคนได้

 

http://www.en-derin.com/artworks/occupy-the-art-world-21-ows-inspired-designs

 

การป่วนทางวัฒนธรรม (Culture Jamming)

เทคนิคนี้หลายคนที่เป็นศิลปินจะสนใจมาก คือการเอา Pop Culture มาบิด ใช้วัฒนธรรมที่คนรู้จักมักคุ้นกันดี แบบเห็นภาพก็รู้ว่าพูดถึงอะไร มาบิดให้สารกลับหัวกลับหาง แสดงความหมายตรงกันข้ามกับความหมายที่คนคุ้นเคย เทคนิคนี้ภาษาฝรั่งเศสเรียก Détournement ซึ่งเกิดขึ้นจากนักวิชาการชื่อ Guy Debord ผู้เขียนเรื่อง "สังคมมหรสพ" (La société du spectacle) ตัวอย่างเช่น สิ่งที่คุ้นเคยในสังคมอย่างเช่น โค้ก หรือไนกี้ เวลาคนเห็นโลโกก็รู้ได้ทันที แต่เทคนิคนี้จะเอาโลโก้โค้กหรือไนกี้มาปรับแต่งใหม่ในโปสเตอร์ ทำให้มีความหมายต่อต้านบริโภคนิยม เป็นเล่นกับวัฒนธรรม โดยกลับทิศกับสิ่งที่สัญลักษณ์เหล่านี้เคยสื่อความหมาย

ตัวอย่างที่พูดถึงกันมาก คือภาพที่เรียกว่า “Pepper spraying cop” ตำรวจในภาพชื่อ John Pike ซึ่งเป็นประเด็นจากภาพข่าวตำรวจฉีดสเปรย์พริกไทยใส่นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมสนับสนุนกลุ่ม Occupy Wall Street ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส เมื่อปี 2011 ในอินเตอร์เน็ตมีการตัดต่อภาพล้อเลียนตำรวจคนนี้โดยให้ไปฉีดสเปรย์ใส่คนอื่นไปทั่ว พอคนเห็นภาพตำรวจนี้ก็รู้ได้ทันทีว่ามีความหมายเสียดสีการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เป็นการหยิบเอาภาพที่เราคุ้นเคย เข้าใจความหมายอยู่แล้วมาบิด หรือทำให้เปลี่ยนความหมายไป

 

http://badgasgoodwind.blogspot.com/2011/11/blog-post_22.html

 

http://www.theatlantic.com/national/archive/2011/11/why-i-feel-bad-for-the-pepper-spraying-policeman-lt-john-pike/248772/

 

แสดงละคร (Theatrical)

โรงละครที่มองไม่เห็น (Invisible theatre)

หลักการง่ายๆ คือสร้างเหตุการณ์สมมติขึ้นโดยมีนักแสดง เข้าไปอยู่ปะปนกับคนทั่วไป มักใช้สำหรับการรณรงค์เกี่ยวประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ อย่างเช่นเรื่องเพศ หรือเชื้อชาติ ที่ไม่สามารถคุยในเนื้อหากันได้ตรงๆ การณรงค์ด้วยเทคนิค Invisible theatre นับว่าดีมาก เพราะทำให้คนถกเถียงในประเด็นที่อ่อนไหว โดยที่เราไม่ต้องเป็นผู้เริ่มเปิดประเด็นพูดโดยตรง

ตัวอย่างที่เคยเกิดคือ การแสดงละครในร้านอาหาร คู่เลสเบี้ยนกับเด็กสองคน และพนักงานเสิร์ฟเป็นตัวละครที่สมมติขึ้น คนในร้านที่เหลือเป็นคนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้อง ตัวละครคือพนักงานเสิร์ฟจะเดินมาหาคู่เลสเบี้ยน และพูดเสียงดังให้ทุกคนได้ยินเช่น “ครอบครัวนี้เลี้ยงลูกได้ยังไงเนี่ย คุณทำให้ทุกคนในร้านสะอิดสะเอียน...” โดยมีการแอบถ่ายวิดีโอเก็บไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนรอบข้างที่อยู่ในร้านจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร โดยเริ่มถกเถียงเรื่องครอบครัวที่เป็นเพศที่สาม มีการถกเถียงที่น่าสนใจที่มักไม่เกิดขึ้นหากเป็นการรณรงค์ลักษณะอื่น

 

การขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์ (Creative disruption)

วิธีนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก แต่ต้องมีการวางแผนพอสมควรก่อนที่จะเริ่มต้น มักจะใช้เมื่อเป้าหมายของการรณรงค์มีสถานะที่สูง มีอภิสิทธิ์ หรือมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สูงกว่าเรามาก อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในวันสตรีสากลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการชูป้าย “ดีแต่พูด” ของคุณจิตรา คชเดช ต่อหน้านายกฯอภิสิทธิ์

หลักการของ Creative disruption คือ จะมีประโยชน์ในกรณีที่เรามีสถานะต่างจากเป้าหมายของเรามาก ยากที่เราจะเข้าประชิดตัวและสื่อสารในสิ่งที่ต้องการ แต่ความท้าทายคือ เมื่อเราไปขัดขวางการพูดของคนคนหนึ่งซึ่งมีสิทธิที่จะพูด มักเกิดคำถามตามมาว่า จุดใดคือความพอดี ที่ทำให้การรณรงค์ไม่ละเมิดสิทธิในการแสดงออกของคนที่เป็นเป้าหมาย แต่กรณีของคุณจิตราก็แก้ปัญหาประเด็นนี้ได้ เพราะนายกฯอภิสิทธิ์เลือกที่จะพูดต่อโดยที่ไม่ได้ถูกขัดขวางหรือริดรอนสิทธิในการพูด แต่ความสนใจทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกฯอีกต่อไป แต่ถูกดึงมาที่ผู้รณรงค์ซึ่งไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการชูป้าย ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือขัดขวางการพูด ไม่ได้ตัดไฟฟ้า ไม่ได้ตัดไมค์ แต่ทำให้ความสนใจย้ายมาอีกจุดหนึ่ง

 

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/blog-post_5542.html

 

การหลอกลวง (Hoax)

หัวใจหลักของกลวิธีนี้คือการหลอกลวงต้มตุ๋น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่า “Yes Men” มักจะปลอมตัวเป็นคนอื่นเพื่อสร้างข่าว เทคนิคง่ายๆ ของ Yes Men คือเริ่มจากการทำเว็บหลอก ประสัมพันธ์หลอกๆ และแสดงตัวเป็นคนอื่นให้เนียน BBC เคยเชิญ Andy Bichlbaum ซึ่งที่จริงเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Yes Men มาสัมภาษณ์ในวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์สารพิษรั่วในเมือง Bhopal อินเดีย เพราะนักข่าวถูกหลอกว่า Andy คือตัวแทนของบริษัท Dow Chemical ที่มีส่วนรับผิดชอบเรื่องการปล่อยสารพิษเมื่อ 20 ปีก่อน Andy ได้ให้สัมภาษณ์ BBC ว่าบริษัทจะรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินจำนวนมหาศาล ประเด็นที่ Yes Men สื่อในการหลอกครั้งนี้คือเรื่องจริยธรรมของบริษัท และถือว่าประสบความสำเร็จเพราะว่าทำให้คนเชื่อว่าบริษัทนี้ต้องการจ่ายเงินชดเชยกับผู้เสียหายจริงๆ ทั้งที่ไม่ใช่นโยบายของบริษัท และเกิดการถกเถียงในหน้าสื่อตามมา
 

 

http://bombsite.com/issues/107/articles/3263

อีกกลุ่มหนึ่งที่คนรู้จักกันดีคือกลุ่ม Billionaires for Bush เป็นกลุ่มที่ต่อต้านนโยบายของ Bush ที่สนับสนุนคนรวย สมาชิกลุ่มที่เป็นผู้ชายมักแต่งกายชุดทักซิโด้ ผู้หญิงแต่งชุดราตรี พยายามใช้ข้อความพุ่งเป้าไปที่ Bush และนโยบายของ Bush แต่ข้อความมักจะเกินจริง เป็นการเสียดสี Billionaires for Bush ประสบความสำเร็จมากในการทำให้สิ่งที่ตนพูดปรากฏตามหน้าสื่อ การประท้วงโดยทั่วไปแทบทุกครั้งจะมีคนจำนวนมากถูกจับ แต่กลุ่ม Billionaires for Bush ไม่เคยถูกตำรวจจับเลย เพราะการที่เขาแต่งตัวแบบนี้นั่นเอง ตำรวจในนิวยอร์คไม่เคยไล่จับคนที่ใส่ทักซิโด้เลย ตรงกับหลักการว่า “เวลาประท้วง อย่าแต่งตัวเหมือนนักประท้วง”

 

 

http://billionairesforbush.com/photos.php


การบุกตรวจค้นอย่างสันติ (Nonviolent Raid)

กลวิธีสุดท้าย เป็นเทคนิคที่ดีมากสำหรับการโจมตีหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชนที่ปกปิดเอกสาร ตัวอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นใน Quebec แคนาดา ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม SalAMI โดยต้องการขอดูร่างข้อตกลงการค้าเสรีในอเมริกาเหนือ (FTAA) ของแคนาดาซึ่งปกปิดเป็นความลับ ใครๆก็ดูไม่ได้แม้แต่นักการเมืองหรือวุฒิสมาชิก กลุ่ม SalAMI ได้ออกข่าวประกาศว่าพวกตนจะไปขอตรวจเอกสารซึ่งถูกเก็บเป็นความลับในฐานะที่ตนเองเป็นพลเมือง เมื่อถึงวันที่ประกาศก็พากันไปโดยแบกกุญแจยักษ์ไปด้วยพร้อมประกาศว่า ตนเป็นพลเมืองของประเทศ จึงขอเข้าไปในสำนักงานดูเอกสารในฐานะที่เป็นเอกสารราชการ ปรากฏว่าทุกคนถูกจับหมด แต่หลังจากการรณรงค์นี้ เอกสารก็ถูกเปิดเผย เพราะกลายเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าสื่อ

 

 

สามารถดู presentation ประกอบการบรรยายได้ที่ http://prezi.com/mws0ngutcdfr/creative-cultural-resistance/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net