สนนท. และเครือข่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

 
20 เม.ย. 55 - สนนท. และเครือข่ายออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
แถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 
 
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนประการหนึ่ง ที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอคือปัญหาการสร้างเขื่อน อันจะทำให้ทรัพยากรประเทศที่ถูกทำลายไปจากนโยบายของภาครัฐ ในอดีตที่ผ่านมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ได้เข้าร่วมกับขบวนการชาวบ้านในการคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว พวกเขาไม่ได้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง ทั้งนี้ในแต่ละโครงการยังมีการอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลอันเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับการประมูล
 
ด้วยเหตุนี้การ ที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๓,๒๘๐ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง ๘ ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๒ นั้น แม้ว่าปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน แต่การแก้ปัญหาด้วยอำนาจรัฐโดยที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จึงเหมือนเป็นหนังม้วนเก่าที่กำลังถูกนำกลับมาฉายซ้ำภายใต้วาทกรรม “เขื่อนคือการพัฒนา”และ “ต้องเสียสละป่าเพื่อสร้างเขื่อน”
 
นอกจากนี้หากชั่งน้ำหนักดูแล้วจะพบว่าผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ต้องทำลายสมดุลทางระบบนิเวศน์า ไม่ว่าจะเป็นพันธ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธ์ การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเหลืออยู่น้อยเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ต้องสูญเสียป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทางป่าไม้ให้กับบุคคลบางกลุ่ม กรณีปัญหาดังกล่าวนั้น สวนทางกันอย่างชัดเจนระหว่างการเร่งพัฒนาแก้ปัญหาของภาครัฐ และการพัฒนาของพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า ป่าไม่ ทรัพยากรอื่นๆ อันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อคนรุ่นหลังในอนาคต
 
โดยจากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น เป็นการตัดสินใจตัดสินใจที่ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน สังคม นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้-ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ เป็นน่าสังเกตว่าในหลายปีที่ผ่านมาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ถูกตั้งข้อกังขาจากสังคมโดยตลอดว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้จริงและคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปหรือไม่
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) เป็นองค์กรนักนิสิตนักศึกษาที่มีจุดยืนเคียงข้างผลประโยชน์ประชาชน และเรียกร้อง ต่อต้าน คัดค้าน แนวทางที่ทำลายผลประโยชน์ประชาชน ไม่ว่าแนวทางนั้นจะมีที่มาจากรัฐหรือทุนก็ตาม
 
เราในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์กรเครือข่ายร่วม ขอเรียกร้อง คัดค้าน ต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ดังนี้
 
๑. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ เนื่องด้วยมติ ครม. ดังกล่าว ที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ไม่เป็นไปกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในกระบวนการสร้างเขื่อน การทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(Public hearing)
 
๒. เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย ของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ซึ่งมีกรณีศึกษามากมายทั่วประเทศและทั่วโลก และร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
 
๓. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกๆโครงการของรัฐ รัฐต้องถือว่าความเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเจ้าของประเทศและเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ภาครัฐต้องให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้ข้อดี-ข้อเสีย ปัญหา แนวทางแก้ไข ให้กับประชาชนทุกภาคส่วนรับรู้อย่างทั่วถึง
 
หน้าที่ของรัฐบาลคือการทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน บนเส้นทางที่พินิจวิเคราะห์ถึงผลดี-ผลเสีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และแน่นอนบางครั้งปัญหาเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้ง ก็มิใช่การสร้างเขื่อนเท่านั้นที่เป็นทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน แต่หากยังมีทางเลือกอื่นๆอีกมากมายที่สามารถทำได้ และแน่นอนการสร้างเขื่อนก็อาจทำลายความสุขของคนทั้งสังคม หากต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่งของคนในสังคม
 
หยุดเขื่อนแม่วงก์ ! หยุดวาทกรรมการพัฒนาจอมปลอม!
 
ด้วยจิตคารวะ
 
20 เมษายน 2555
 
1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
 
2. เครือข่ายนักศึกษาสี่ภาค
 
3. กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
4. กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา
 
5. ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยบูรพา
 
6. กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
7. กลุ่มซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
8. กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
9. กลุ่มรั้วแดง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
 
10. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
11. กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
 
12. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพือสังคมประชาธิปไตย (YPD)
 
13. เครือข่ายกระพรุนไฟ
 
14. กลุ่มระบายฝัน มหาวิทยาลัยนเรศวร
 
15. กลุ่มคนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
16. กลุ่มปลุกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
17. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
 
18. ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
 
19. คนหนุ่มสาวภาคอีสาน
 
20. กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรม (F.A.N.)
 
21. กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP)
 
22. ศูนย์บ่มเพาะนักปฎิบัติการทางสังคม
 
23. กลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
24. กลุ่มเม็ดทราย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
25. กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด ม.สงขลานครินทร์
 
26. กลุ่มกลุ่มนักศึกษาอิสระเพือสังคม ม.ปัตตานี
 
27. กลุ่มประกายไฟ-การละคร
 
28. ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
29. ชมรมมหาวิทยาลัย-ชาวบ้าน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
30. กลุ่มสิตเอก ม.รังสิต
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท