เปิดตัวหนัง “อสรพิษ” พร้อมบทสัมภาษณ์ผู้กำกับและบทวิจารณ์

ภาพยนตร์เรื่อง “อสรพิษ” หรือ Venom เป็นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ จารุณี ธรรมยู อำนวยการสร้างโดย วีรยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ หนังสร้างจากเรื่องสั้นความยาว 47 หน้า ผลงานเขียนของ แดนอรัญ แสงทอง ที่ได้รับการแปลไปหลายภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน เยอรมัน เป็นอาทิ

ตัวหนังได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากโครงการและกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้งเคยฉายฉบับสั้น 12 นาที ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อสองปีที่ก่อน อีกทั้งได้รับการติดต่อให้นำภาพยนตร์ซึ่งขณะนั้นตัดต่อดราฟท์แรกเข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่าง Cannes Film Festival ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย หลังจากใช้เวลาในการถ่ายทำนาน 6 เดือนและตัดต่ออีกกว่าปี หนังเรื่องนี้ก็พร้อมสมบูรณ์และเข้าฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมาที่โรงภาพยนตร์ลิโด

สถานที่ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่องใช้ จ.เพชรบุรี และนักแสดงส่วนใหญ่มาจาก ต.แพรกหนามแดง ซึ่งผู้กำกับหน้าใหม่บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การบอกเล่าวิถีชีวิตแบบไทยๆ ในแบบของเธอที่ต้องการสะท้อนภาพโครงสร้างสังคมชนบทซึ่งไม่เอื้อเฟื้อให้เด็กชายคนหนึ่งซึ่งมีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนายหนังตะลุงเป็นจริงขึ้นมาได้

 

ภาพยนตร์ตัวอย่าง “อสรพิษ” (venom official trailer)

 

ทำไมเลือกงานชิ้นนี้ของแดนอรัญ แสงทองมาทำหนังเพราะเป็นงานที่จับต้องยากพอสมควร

พออ่านแล้วเรารู้สึกว่างานชิ้นนี้มีพลังมาก เชื่อว่าทุกคนอ่านและคงชอบมันและมีความรู้สึกกับมัน แต่เราเห็นมันออกมาเป็นภาพเลย คือเป็นฉากๆ อยู่ในหัวเรา เราเลยรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นหนังได้ เราก็เลยลองเขียนบทเล็กๆ ดู และมันอยู่กับเรามานานมาก สิ่งนั้นมันเกิดมาสิบกว่าปีที่แล้ว แต่แน่นอนในเมืองไทย งานแบบนี้มันคงเกิดยาก แต่เราก็ถือว่าโชคดีที่มีจังหวะที่ดีที่ทางรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัง ก็ถือเป็นผลพลอยได้ และเราเชื่อว่าคนมีความในมันจะยังอยู่ และถ้าเราไม่ทิ้งมันก็เป็นไปได้

อะไรคือส่วนที่ยากที่สุด

คือเรื่องของสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ลมฟ้าอากาศ คือตอนที่เราถ่ายทำมีน้ำท่วมด้วยเมื่อปี 53 น้ำท่วมโลเกชั้น เราก็ต้องปล่อย เรามีเรื่องยากทั้งหมด คือเด็ก สัตว์ สลิง แต่สิ่งที่เราต้องปล่อยเลยคือสัตว์ เพราะเราคุมไม่ได้ ผู้ช่วยเราเกือบถูกวัวขวิด สิ่งที่เราเขียนไว้มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องตัดทอน มันก็น่าใจหาย เพราะเราเขียนบทอยากให้เป็นตามบท แต่เราต้องยอมตัดใจทิ้ง

มีเสียงแซวว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังบ้านนอก

(หัวเราะ) การทำหนังเรื่องนี้ คนหนึ่งที่เราคิดถึงตลอดคือ พี่เชิด ทรงศรี ที่ตั้งปณิธานว่าเราจักสำแดงความเป็นไทยให้แก่โลก คำๆ นี้มันเร้าใจเราเหมือนกันเพราะงานชิ้นนี้ถือเป็นงานบูชาครู เป็นการทำความเคารพพี่เชิดด้วย เราเชื่อว่าถ้าพี่เชิดอยู่ พี่เชิดจะมา แต่สิ่งที่บางคนอาจจะสยองขวัญนิดหนึ่งคือเราทำที่นั่งให้พี่เชิดด้วย มันไม่ใช่เรื่องผีอะไรแต่มันคือการแสดงความเคารพ

อะไรคือความเป็นไทยหรือเสน่ห์แบบไทบที่อยากจะบอก

เสน่ห์ของมันคือชีวิตคน เป็นชีวิตของคนต่างจังหวัด ถ้าบอกว่าเป็นชนบทหรือบ้านนอกเลย ซึ่งปัจจุบันนี้คนอาจจะมองข้ามไปเลย ทุกคนพูดเรื่องชีวิตในเมืองแต่อาจจะหลงลืมถึงความยากแค้น ชะตากรรมของคนที่อยู่อย่างไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อกับการมีชีวิตของเขา เหมือนตัวเองของเรื่องที่ฝันอยากเป็นนายหนังตะลุง แต่สิ่งแวดล้อมของเขาทำให้เขาไปไม่ถึง เขาต้องเผชิญกับบางอย่างที่มันโหดร้าย

โปรแกรมเมอร์หนังคนหนึ่งเขาบอกว่า หนังของเรามันน่าสนใจตรงที่ว่ามันพูดเรื่องแค่ในหมู่บ้านเล็ก แต่พูดสิ่งที่เป็นสากล เราพยายามเน้นเรื่องศิลปะว่ามันเกิดไม่ได้หรอกในสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย เหมือนเด็กที่อยากเป็นนายหนังแต่ชีวิตไม่เอื้อเฟื้อเขา

แต่หนังเรื่องนี้ก็เผชิญกับความท้าทายแบบนั้น เพราะมันก็ไม่อินเทรนด์

มันไม่ได้เป็นไทยแบบจัดตั้ง แต่มันลงถึงโครงสร้างความเป็นไทยเลย สามารถทำความเข้าใจกับสังคมไทยได้ในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าเรื่องของวัฒนธรรม หนังตะลุง แต่มันมีเบื้องลึกของมัน

ความเป็นไทยแบบนี้จะดึงคนดูได้แค่ไหน

เราเชื่อว่ามันเป็นหนังบ้านนอก เราเชื่อว่าคนบ้านนอกดูแล้วจะชอบ เราอยากฉายหนังให้คนบ้านนอกดู เราเชื่อว่ามันกระทบใจเขาแน่นอน

หลังจากนี้จะฉายที่ไหนบ้าง

ก็มีเสียงเรียกร้องจากเพชรบุรีเพราะตอนที่ถ่ายทำ เขาให้ความร่วมมือร่วมใจมาก ทุกคนในหมู่บ้านเขาอยากมาร่วมงานนี้ด้วย อยากให้ไปฉายที่เพชรบุรีด้วย ถ้าโรงหนังเขาไม่รับเราก็อาจจะฉายหนังกลางแปลงเลย

สำหรับโรงหนังในกรุงเทพฯ อสรพิษ จะเข้าฉายในวันพฤหัสบดีที่ 26-29 เม.ย. นี้ ที่โรงภาพยนตร์ลิโด รอบ 18.00 น. เท่านั้น

 

วิดีโอสัมภาษณ์ จารุณี ธรรมยู ผู้กำกับ และคำวิจารณ์จาก แดนอรัญ แสงทอง และสกุล บุญยทัต

 

มิตรและข้อวิจารณ์

แดนอรัญ แสงทอง ในฐานะเจ้าของบทประพันธ์ และผู้เอื้อเฟื้อแกผู้อำนวยการสร้างคือจารุณีกับวีรยศในหลายๆ ด้านตั้งแต่อนุญาตให้นำบทประพันธ์มาถ่ายทอดผ่านศิลปะบนแผ่นฟิล์ม และรวมไปถึงการช่วยหาสถานที่ถ่ายทำ และร่วมเป็นผู้แสดงด้วย บอกว่าเขาเคารพในการตีความของผู้กำกับและคนเขียนบท ซึ่งดูเหมือนว่าจะพึงพอใจการตีความในแบบฉบับแปลเยอรมัน ซึ่งเผยแพร่เป็นภาษาเยอรมันในชื่อ “ความพินาศแห่งความฝันของนายหนังตะลุงตัวน้อย” โดยเขาเห็นว่าบทประพันธ์ของตัวเขาเองนั้นเปิดโอกาสให้ตีความได้หลากหลาย

“จารุณีกับวีรยศตีความเอียงข้างไปทางเยอรมันก็เลยออกมาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอิสระของผู้กำกับของคนเขียนบทเพราะตัวบทสามารถตีความไปได้เป็นอย่างนั้นและเป็นโศกนาฏกรรมหรือเป็นเรื่องเศร้าได้ คือนายหนังตะลุงผู้นี้ที่มีความคิดความฝันที่บรรรเจิดจ้ายิ่งกว่าคนรุ่นเดียวกันมีหรือใครๆ มี ซึ่งก็เป็นสิทธิของคนทำหนังของเขา ตัวหนังเป็นเหลืองก็ได้เป็นแดงก็ได้ ถ้าแดงทำก็ทำไปอีกอย่าง เราไม่สมประกอบ เราบอบบางเราถูกรังแก แต่เราดิ้นรนต่อสู้ หรือเป็นเหลืองก็ได้ คือเราเชื่อมั่นศรัทธา”

ขณะที่สกุล บุณยทัต อ.จากคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร นักเขียนนักวิจารณ์และผู้เขียนบท “คนทรงเจ้า” ที่เล่าเรื่องราวของงูในฐานะอำนาจลี้ลับเหนือสำนึกของมนุษย์ ได้วิพากษ์อย่างฉันมิตร โดยเขาเห็นว่า เรื่องอสรพิษ ดูเหมือนจะเน้นอำนาจของ “งู” น้อยเกินไป ซึ่งข้ออ่อนที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นส่วนของบทและการตัดต่อ ซึ่งทำให้นักแสดงไม่สามารถเล่นอะไรได้มากนัก และไม่สามารถส่งพลังให้กับการเล่าเรื่องได้บางฉากที่ต้องการน้ำหนักและที่มาที่ไป หลายช่วงตอน แต่ก็มีหลายตอนเช่นกันที่เห็นความพยายามของผู้กำกับแต่ยังไปไม่สุด

“เห็นความพยายามสูง ตั้งใจ แต่เพราะเส้นเรื่องมันมาก ไดเรกชั่นมันเยอะ ทำให้มันไม่สามารถบรรจบกันได้ เลยทำให้เรื่องแตกหาที่มาที่ไปไม่สมบูรณ์ pace ยังไม่ต่อเนื่องดี การสร้างบรรยากาศ เหล่านี้ เห็นความพยายาม แต่อาจจะผิดฝาผิดตัว เรื่องนี้ก็ต้องเน้นอำนาจคือตัวงู บททำให้เสียเวลา การเขียนบทนั้นง่ายไปสำหรับงานสัญลักษณ์ บทจังหวะไม่ดี พัฒนาการของตัวละครบางตัว เช่น แม่เป็นจุดอ่อน บทไม่สามารถพัฒนาน้ำหนักของเรื่องได้ อันนี้เสียดายมาก เพราะว่าทุกคนตั้งใจทำงาน เมื่อบทมันไม่เอื้อเสียแล้ว บทมันง่ายไปถ้าเทียบกับต้นฉบับ เมื่อบทเดิมเป็นสัญญะ ต้องรื้อเล่าเรื่องใหม่ อย่าไปเสียเวลากับเสียงกลองเสียงปี เรื่องนี้อาจจะเอาใจกระทรวงวัฒนธรรมด้วยหรือเปล่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ คนทำตั้งใจทำมาก มันไม่จับใจ คือเรื่องแบบนี้ เปิดฉากต้องน่าสนใจ ไม่ต้องเสียเวลามาก ให้จับอารมณ์คนไว้ก่อน

“ผมชื่นชมความตั้งใจของการทำหนังเรื่องนี้นะครับ เขาทุ่มเทในการทำหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ถ้าดูกันในระดับพื้นฐานก็ดูสนุกนะครับ แต่บังเอิญว่าเรื่องนี้มันมีเชิงชั้นในการขบคิด....อย่าเสียกำลังใจครับคือถ้าถามผม ผมก็จะตอบแบบนี้ แต่กำลังใจเขามี และหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังไม่ดีนะครับ เป็นหนังดีไม่เหมือนหนักสุกเอาเผากิน เจ็ดวันถ่ายเสร็จมันคนละเรื่องกัน หนังพิถีพิถันมาก แต่นั่นแหละครับจังหวะของบท ถ้าจะทำหนังต่อไปต้องมีเชิงชั้น มันต้องเล่าด้วยหนัง อย่าถามว่าเรื่องต่อไปจะคืออะไร แต่ต้องถามว่าภาพต่อไปคืออะไร ต่อไปคนดูจะเห็นอะไร นี่แหละที่สำคัญ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท