Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
“ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย”

คำโปรยพาดหัวข่าวแจกของกรมการจัดหางานซึ่งพูดถึงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ข้อความที่แฝงด้วยความมั่นใจของกรมการจัดหางานในครั้งนี้ ไม่อาจดูเบาได้ดังแต่ก่อน ด้วยเพราะแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายในประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติเอง

มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าที่กรมจัดหางานคาดหวัง


ทิศทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี 19 มกราคม 2555 บอกอะไรบ้าง?


ประการแรก
มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการอนุญาตให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งการผ่อนผันจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานได้ต่อไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555

แต่แรงงานกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของกระบวนการการผ่อนผันการต่อใบอนุญาตทำงาน ยังคงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามระบบที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอต่อใบอนุญาตทำงาน การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ โดยมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกประกาศ แนวปฏิบัติโดยระยะเวลาในการได้รับใบอนุญาต และประกันสุขภาพก็จะต้องสิ้นสุดในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 และหากในระหว่างนั้นแรงงานข้ามชาติได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ก็ให้ยกเว้นในเรื่องค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทำงานที่เหลื่อมซ้อนกัน สำหรับการต่อใบอนุญาตทำงานนั้น จากการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานจัดหางานเชียงใหม่ระบุว่า ให้มีการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานได้จนถึง 13 เมษายน 2555

ประการที่สอง ให้แรงงานกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิถุนายน 2555 เช่นกัน

ประการที่สาม มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ค่าธรรมเนียมวีซ่าของแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติที่จะนำเข้าตาม MoU เหลือ 500 บาท รวมทั้งเมื่ออยู่ครบสองปีแล้ว และต้องต่อวีซ่าก็ให้คงอัตราค่าธรรมเนีบมที่ 500 บาท รวมทั้งให้มีการตรวจสุขภาพหลังจากที่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว

ประการสุดท้าย มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ออกไปอีกหนึ่งปี


เหตุผลที่ทำให้กรมการจัดหางานมั่นใจ ?

“ทั้งนี้โดยภาพรวมนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฯ ที่จะมากรอกแบบพิสูจน์สัญชาติและต่ออายุใบอนุญาตทำงานจะได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากทางการพม่าได้มีการปรับปรุงวิธีดำเนินงานใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลแทนการกรอกเอกสาร ซึ่งนายจ้างสามารถกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานพม่า เพื่อยืนยันสัญชาติ จากนั้นกระทรวงแรงงานพม่าจะส่งอีเมลยืนยันกลับมาที่ตัวนายจ้างโดยตรง เพื่อให้นายจ้างใช้เป็นหลักฐานพาลูกจ้างไปยืนยันตัวที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดทางการพม่าได้ร่วมกับทางการไทยเห็นชอบให้เปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติฯ เพิ่มอีก 5 แห่ง ที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่จังหวัดเชียงราย ตาก และระนอง”

คำให้สัมภาษณ์ของ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน
จากเอกสารเผยแพร่ของกรมการจัดหางาน “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย *

อาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สิ่งที่ทำให้กรมการจัดหางานมั่นใจว่าคงใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแรงงานเถื่อนตามความเห็นของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะมีปัจจัยในเรื่องการปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการดำเนินการในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของประเทศพม่าเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา คิดเป็นถึง 70% ของจำนวนแรงงานทั้งสามสัญชาติ และที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติจะมีความล่าช้า และมีความซับซ้อนส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และกระบวนการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ก็เนื่องมาจากความไม่ลงตัวของระบบอันเกิดจากประเทศต้นทางนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติพม่าที่ชายแดนซึ่งสร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน และเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่างๆ หรือความล่าช้าของการดำเนินการ

การเปลี่ยนแปลงของประเทศต้นทางของพม่าครั้งนี้คงไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจเพียงแค่การพิสูจน์สัญชาติที่ระบบเอื้อมากขึ้นเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลพม่า ก็ยิ่งทำให้กระทรวงแรงงาน มั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่า เริ่มค่อยๆ ลดลง และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมือง อาจจะมีผลต่อการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งทิศทางการลงทุนในพื้นที่ชายแดนที่ประเทศไทยสามารถรองรับได้ด้วยช่องทางที่เปิดไว้ใน มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551


ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นไป: แนวโน้มสถานการณ์และผลกระทบหลัง 14 มิถุนายน 2555

หากว่าสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจริง หลังวันที่ 14 มิถุนายน 2555 แรงงานข้ามชาติสามสัญชาติกว่าล้านคน จะกลายเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้อง มีระยะเวลาในการทำงานในประเทศไทยที่ค่อนข้างแน่นอน คือ ทำงานได้ครั้งละสองปี ต่อได้อีกสองปี และต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง และจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้ในอนาคตด้วยระบบการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายตามข้อตกลงเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ และด้านอื่นๆ อยู่ไม่น้อย


ระบบบริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ: การพลิกผันที่ไม่อาจจะทันได้เตรียมตัว

ผลกระทบอันเนื่องมาจากกรณีที่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ก็คือ แรงงานข้ามชาติเดิมที่เคยใช้ระบบบริการสุขภาพผ่านการซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็จะต้องเปลี่ยนไปเข้าสู่ระบบประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายมีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้อง โดยทั้งสองระบบก็มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป

หากพิจารณาจากตัวเลขของการขออนุญาตทำงานที่คงเหลือเมื่อเดือนมกราคม 2555 ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเข้าประกันสังคมหลังการพิสูจน์สัญชาติได้ ซึ่งมีเพียงสามกิจการหลักๆ ได้แก่ งานรับใช้ในบ้าน งานประมงและเกษตรกรรมที่ไม่ใช่การจ้างงานทั้งปี จากแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันทั้งหมด 1,248,064 คน พบว่า

ในกลุ่มงานรับใช้ในบ้าน มีจำนวน 85,062 คน
ประมง มีจำนวน 41,128 คน และ
เกษตรและปศุสัตว์ 228,041 คน
รวมทั้งสามกิจการ 354,231 คน

อย่างไรก็ตาม ก็พบว่าในงานภาคเกษตรและปศุสัตว์จำนวนไม่น้อยที่จะทำใบอนุญาตทำงานแบบทั้งปี ซึ่งก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่าจะต้องเข้าระบบประกันสังคมหรือไม่

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือ การหดตัวลงของผู้ประกันตนในระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จะส่งผลต่อความมั่นคงทั้งของกองทุนประกันสุขภาพ และตัวสถานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจ้างงานในเชิงอุตสาหกรรม หรือการจ้างงานทั่วไปมาก การแบกรับความเสี่ยงของกองทุนจะมีมาก นอกจากนั้นแล้วระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติจะครอบคลุมถึงการบริการด้านอื่นๆ เช่น งานส่งเสริมสุขภาพ งานเฝ้าระวังป้องกันซึ่งเป็นงบที่จัดสรรให้ระดับพื้นที่โดยตรง แต่ระบบประกันสังคมบริการเหล่านี้ยังเป็นคำถามว่าจะสามารถครอบคลุมได้หรือไม่ แต่โดยระบบที่เป็นอยู่แล้วไม่ครอบคลุมในบริการดังกล่าว ซึ่งก็กลายเป็นคำถามในเชิงปฏิบัติว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำอย่างไร และเป็นหน้าที่ของใคร

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าที่ผ่านมาเมื่อแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว แต่ยังไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ หรือมีแนวปฏิบัติที่เป็นระบบชัดเจนก็ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ในประกันสังคมบางส่วนก็เกิดปัญหาติดขัด เช่น กรณีเงินสงเคราะห์บุตรกับการแจ้งเกิดลูกของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหาหรือคำถามหลักสำหรับช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านจากระบบประกันสุขภาพในสู่ระบบประกันสังคมโดยเฉพาะในด้านรักษาพยาบาล คือ สิทธิในการรักษาพยาบาลตามระบบประกันสังคมจะเริ่มมีใช้บริการเมื่อแรงงานได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปแล้วสามเดือน ในขณะที่ประกันสุขภาพสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากจ่ายเงินประกันสุขภาพ ทำให้เกิดเป็นคำถามว่าในช่วงสามเดือนระหว่างรอให้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลเกิดขึ้น จะมีการดำเนินการอย่างไร จะมีกระบวนการรองรับหรือไม่ เพราะหากไม่มีกระบวนการรองรับ ผลกระทบอาจเกิดขึ้นทั้งตัวแรงงานข้ามชาติ และตัวสถานพยาบาลหากไม่สามารถดำเนินการเก็บค่ารักษาพยาบาลตามจริงได้

 

 
* สืบค้นได้ที่ http://wp.doe.go.th/sites/default/files/news/228.pdf

 

 


หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิปี 2554,
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net