Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกถึง มท.1 ชี้คำสั่งขัดต่อกฎหมาย คณะกรรมการฯ ขาดองค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วน ‘อ.แหวว’ ขอลาออกจากตำแหน่งแจงไม่ได้ถูกแต่งตั้งตามคุณวุฒิที่เป็นอยู่

 

 
 
วันที่ 18 เม.ย.55 เครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมาย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อกรณีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยขอให้ทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 246/2555 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ 3 เม.ย.55
 
จดหมายระบุว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ปรากฏเนื้อหาที่ขัดต่อตัวบทและความมุ่งหมายแห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 และ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 อันหมายถึงการใช้อำนาจโดยบิดเบือน (Abuse of Power) และส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรค 1 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) และส่งผลให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย กล่าวคือ
 
1.คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 246/2555 ขาดความสมบูรณ์ในแง่เนื้อหาหรือองค์ประกอบ เนื่องจากขาดองค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในส่วนนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ 
 
นอกจากนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิที่เจ้าของปัญหาหรือผู้ทรงสิทธิ ได้แก่ บุคคลผู้มีชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลายที่ปรากฏตัวในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ อันรวมถึงคนไทยพลัดถิ่นด้วยก็ตาม แต่ต้องกล่าวว่า รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์เป็นอาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิชาเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสถานะบุคคล และสิทธิ (โดยกฎหมายสัญชาติเป็นเนื้อหาอย่างหนึ่งของสถานะบุคคลตามกฎหมาย) มิได้เป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์หรือชาติพันธุ์แต่อย่างใด
 
2.ผู้ทรง คุณวุฒิฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบุหรือยืนยันถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงอันเป็น องค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้ คือ บุคคลหนึ่งๆ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเพราะมีคุณสมบัติใดกล่าวคือ เป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในด้านหนึ่งด้านใด หรือเป็นผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเป็นผู้แทนภาคประชาชน
 
จดหมายดังกล่าวยังระบุข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น คือ กลไกสำคัญที่จะคุ้มครองและผลักดันให้คนเชื้อสายไทยสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิ ในสัญชาติไทยของพวกเขา โดยขอให้มีการดำเนินการทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 246/2555 และมีคำสั่งฯ ฉบับใหม่เพื่อแต่งตั้งนักวิจัยหรือนักวิชาการผู้มีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ ประกอบที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน โดยมีความจำเป็น ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายได้กำหนดเป็นคุณสมบัติไว้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น จำเป็นต้องระบุหรือยืนยันว่าบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือระบุว่าเป็นผู้แทนของภาคส่วนใด
 
วันเดียวกัน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านชาติพันธุ์ ได้ส่งจดหมายขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแล้ว โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้แต่งตั้งตามคุณวุฒิที่เป็นอยู่
 
“คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ดิฉันทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงวุฒิในส่วนที่ เกี่ยวกับวิชาการด้านชาติพันธุ์ อันเป็นหัวข้อศึกษาในวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งดิฉันเองไม่เคยเรียนหรือทำวิจัยในสาขาวิชาดังกล่าว ดิฉันจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิที่อาจรับผิดชอบงานวิชาการด้าน ชาติพันธุ์”
 
“ด้วยว่า ดิฉันเป็นผู้สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากว่าสามสิบปี และการศึกษากฎหมายสัญชาติไทยเป็นหัวข้อที่สำคัญในสาขาวิชานี้ จริยธรรมของผู้สอนกฎหมาย ก็คือ การเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากผู้สอนกฎหมายเอง เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่เคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลูกศิษย์ของผู้สอนก็คงไม่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของกฎหมายเช่นกัน จึงเป็นจริยธรรมของผู้สอนวิชาชีพกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของ กฎหมาย และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ในสังคม” จดหมายระบุ
 
ทั้งนี้จดหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อกรณีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น
(คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕)
 
ที่  พิเศษ ๒/๒๕๕๕
 
วันที่  ๑๘ เมษายน  ๒๕๕๕
 
เรื่อง           ขอให้ทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕
เรียน          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สำเนาถึง     ๑) ปลัดกระทรวงมหาดไทย
                 ๒) อธิบดีกรมการปกครอง
                 ๓) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                 ๔) สภาทนายความ
                 ๕) สื่อมวลชน
 
สืบเนื่องจากการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕
ในฐานะอาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นักวิชาการ นักกฎหมายที่ทำงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถานะบุคลและสิทธิ ซึ่งมีรายนามข้างท้ายจดหมายฉบับนี้ มีความเห็นว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ฯ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ประกอบกับมาตรา ๖ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น ปรากฎเนื้อหาที่ขัดต่อตัวบทและความมุ่งหมายแห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ และพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ อันหมายถึงการใช้อำนาจโดยบิดเบือน (Abuse of Power) และส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา ๙ วรรค ๑ (๑) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒) และส่งผลให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย กล่าวคือ
(๑)      คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ฯ ขาดความสมบูรณ์ในแง่เนื้อหาหรือองค์ประกอบ เนื่องจากขาดองค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในส่วนนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น รวมถึงมีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นในการคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น
นอกจากนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิที่เจ้าของปัญหาหรือผู้ทรงสิทธิ ได้แก่ บุคคลผู้มีชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลายที่ปรากฏตัวในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ อันรวมถึงคนไทยพลัดถิ่นด้วยก็ตาม แต่ต้องกล่าวว่า รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ฯ เป็นอาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิชาเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสถานะบุคคลและสิทธิ (โดยกฎหมายสัญชาติเป็นเนื้อหาอย่างหนึ่งของสถานะบุคคลตามกฎหมาย) มิได้เป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์หรือชาติพันธุ์แต่อย่างใด
(๒)      ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบุหรือยืนยันถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้ คือ บุคคลหนึ่งๆ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเพราะมีคุณสมบัติใดกล่าวคือ เป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในด้านหนึ่งด้านใด หรือเป็นผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเป็นผู้แทนภาคประชาชน
ข้อเสนอแนะ
(๓)      นักวิชาการ นักกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิฯ ขอเรียนย้ำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองว่า ภายใต้ความมุ่งหมายของพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น ประสงค์ที่จะแก้ไขเยียวยาปัญหาความไร้สัญชาติ ความไร้สิทธิที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของตนเองในฐานะมนุษยคนหนึ่ง ด้วยเพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่คนเชื้อสายไทยไร้สัญชาติต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น คือ กลไกสำคัญที่จะคุ้มครองและผลักดันให้คนเชื้อสายไทยสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิในสัญชาติไทยของพวกเขา
                               ดังนั้น ความครบถ้วนขององค์ประกอบในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นจำเป็นต้องประกอบดังนี้
(๓.๑)  ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญฯ ต่อข้อเท็จจริงหรือ สถานการณ์ข้อเท็จจริงต่างๆ ของคนเชื้อสายไทยฯ หรือคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มต่างๆ อันหมายถึง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักเกณฑ์ กระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่นในเชิงเนื้อหา
(๓.๒) ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน อันเป็นไปตามหลักการการมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนสถานการณ์ข้อเท็จจริงของคนไทยพลัดถิ่นในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนเพื่อร่วมผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย
(๓.๓) ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น อันหมายถึง นักวิจัยหรือนักวิชาการด้านกฎหมายในประเด็นสถานะบุคคลและสิทธิ (โดยกฎหมายสัญชาติเป็นหนึ่งในกฎหมายสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายสถานะบุคคล) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น ในเชิงเนื้อหาและรูปแบบ โดยทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ความเป็นไปได้จริงของทางปฏิบัติในการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทย
นอกจากนี้ ในระหว่างทางของกระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายการทะเบียนราษฎร รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ ของผู้ทรงสิทธิ ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายสถานะบุคคลและสิทธิจึงสามารถช่วยสนับสนุนงานของคณะกรรมการฯ ในการพิจารณา ตรวจสอบความสอดคล้องกับกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิฉบับต่างๆ รวมถึงกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิทุกลำดับชั้น
(๓.๔)  หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ มีความเกี่ยวข้องกับคนไทยพลัดถิ่นทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการบังคับใช้กฎหมายโดยการสั่งการไปตามสายบังคับบัญชา รวมถึงสายการกำกับดูแล
(๔)      เพื่อเป็นการเคารพต่อความมุ่งหมายของตัวบท และเจตนารมณ์แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ และพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ นักวิชาการ นักกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิฯ จึงเรียนมาเพื่อขอให้มีการดำเนินการทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ฯ  และมีคำสั่งฯ ฉบับใหม่เพื่อแต่งตั้งนักวิจัยหรือนักวิชาการผู้มีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน โดยมีความจำเป็น ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายได้กำหนดเป็นคุณสมบัติไว้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น จำเป็นต้องระบุหรือยืนยันว่าบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือระบุว่าเป็นผู้แทนของภาคส่วนใด
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
 
 
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บงกช  นภาอัมพร
นักวิชาการด้านสถานะบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 
 
จุฑิมาศ สุกใส
นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรกนก วัฒนภูมิ
นักกฎหมาย
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
 
 
พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิก ในกองทุนศ.คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสุมิตรชัย หัตถสาร
ทนายความ และ
ผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
 
 
นายชาติชาย อมรเลิศวัฒนา
นักกฎหมาย คลินิกกฎหมายด้านสิทธิและสถานะบุคคล
ศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานี
                   นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงาน       เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย
 
 
 
 
จดหมายขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร 
 
 
วันพุธที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
 
เรื่อง      ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕
 
เรียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
อ้างถึง
 
คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่องแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นกรรมการในคณะคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ณ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
 
ดังที่ท่านได้มีคำสั่งแต่งตั้งดิฉันให้ทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ ตามปรากฏตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่องแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นกรรมการในคณะคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ณ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น ดิฉันขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งที่ท่านเห็นในความเชี่ยวชาญของดิฉันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น แต่ด้วยว่า คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ดิฉันทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงวุฒิในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการด้านชาติพันธุ์ อันเป็นหัวข้อศึกษาในวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งดิฉันเองไม่เคยเรียนหรือทำวิจัยในสาขาวิชาดังกล่าว ดิฉันจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิที่อาจรับผิดชอบงานวิชาการด้านชาติพันธุ์
 
ขอให้ตระหนักว่า การที่ มาตรา ๙/๑(๓)  ข้างต้นบัญญัติให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นประกอบด้วย “ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย เป็นกรรมการ” ก็เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้มีนักวิชาการ ๒ ประเภทเพื่อทำหน้าที่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น อันเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต กล่าวคือ (๑) นักวิจัยหรือนักวิชาการที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับความเป็น “ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต” ซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมายของการรับรองสิทธิดังที่กำหนดในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ และ (๒) นักวิจัยหรือนักวิชาการที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะต้องใช้ในการปรับสถานะคนต่างด้าวของคนไทยพลัดถิ่นหรือบุตรของคนดังกล่าวให้มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตดังบุพการี  โดยเหตุผลของเรื่อง การมีผู้ทรงวุฒิอย่างครบถ้วนที่จะจัดการปัญหาย่อมนำไปสู่การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นอย่างถูกต้องและไม่ล่าช้าจนเกินสมควร การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการยกร่างกฎหมายเท่านั้นจึงจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่นที่ประสบความยากลำบากที่ต้องอพยพหนีภัยการสู้รบกลับจากดินแดนที่ประเทศไทยเสียไปในอดีต
 
นอกจากนั้น ด้วยว่า ดิฉันเป็นผู้สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากว่าสามสิบปี และการศึกษากฎหมายสัญชาติไทยเป็นหัวข้อที่สำคัญในสาขาวิชานี้ จริยธรรมของผู้สอนกฎหมาย ก็คือ การเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากผู้สอนกฎหมายเอง เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่เคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลูกศิษย์ของผู้สอนก็คงไม่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของกฎหมายเช่นกัน จึงเป็นจริยธรรมของผู้สอนวิชาชีพกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ในสังคม
 
ดิฉันจึงจำเป็นที่จะต้องขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ หากท่านมิได้แต่งตั้งดิฉันในคุณวุฒิที่ดิฉันเป็นอยู่
 
ท้ายที่สุด ดิฉันขอความกรุณาที่ท่านจะรักษาการตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ เพื่อให้คนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่มากนักที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติทั้งที่อพยพกลับจากดินแดนที่เสียไปมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว พวกเขาประสบความยากลำบากในชีวิตด้วยมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย อันทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดิฉันขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมาล่วงหน้า
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
 
 
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
(รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร)
รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net