อดีต นศ.ชมรมอนุรักษ์ฯ ร่วมค้านเขื่อนแม่วงก์ ร้องเลิกมติ ครม.จี้รับฟังความเห็น

กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน ร่วมค้านเขื่อนแม่วงก์ ร้องรัฐบาลยกเลิกมติ ครม. 10 เม.ย.55จวกอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่มาเป็นข้ออ้างเลื่อนลอย

 
 
วันนี้ (17 เม.ย.55) กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (กคอทส.) ออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 จากกรณีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี
 
กคอทส.ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพที่เคยทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงที่ศึกษาระดับอุดมศึกษา ในนาม คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.) และกลุ่มชมรม ชุมชุม กิจกรรมนักศึกษาอื่นๆ ในอีกหลายมหาวิทยาลัย มีความเห็นร่วมกันว่า มติ ครม.ดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน และขาดความรัดกุมเกินไป อาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี พ.ศ.2554 มาเป็นข้ออ้างอย่างเลื่อนลอย
 
อีกทั้งยังขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่างๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ
 
“กคอทส. มีความเห็นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อความสมดุลทางระบบนิเวศน์ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มที โดยเฉพาะป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ กคอทส.ยังได้ระบุข้อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาล 2 ข้อ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 10 เม.ย.55 และควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2545 ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ
 
2.ในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
 
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า กคอทส.จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์และการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด
 
 
อนึ่ง แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ ๑
โดย กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)
๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕  (๑๗.๓๐ น.)
....................................................................
 
 
จากกรณีที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๓,๒๘๐ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง ๘ ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๒
 
ทั้งนี้ จากการติดตามปัญหาเรื่องเขื่อนแม่วงก์มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี “กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)” อันเกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพที่เคยทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงที่ศึกษาระดับอุดมศึกษา ในนาม คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (คอทส.) และกลุ่มชมรม ชุมชุม กิจกรรมนักศึกษาอื่นๆ ในอีกหลายมหาวิทยาลัย  มีความเห็นร่วมกันว่ามติ ครม. ดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน และขาดความรัดกุมเกินไป โดยอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างเลื่อนลอย และขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ
 
กคอทส. มีความเห็นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อความสมดุลทางระบบนิเวศน์ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มที โดยเฉพาะป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น
 
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาลดังนี้
 
๑. ยกเลิกมติครม. วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕
ให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ ที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ รัฐบาลควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น
 
๒. ในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งนั้น รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
หลายปีที่ผ่านมาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ถูกตั้งข้อกังขาจากสังคมมาโดยตลอดว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้จริงและคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปหรือไม่ รวมทั้งการดำเนินโครงการเม็กกะโปรเจ็คของรัฐในหลายโครงการ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมมาโดยตลอด นั่นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับปัญหาความไม่ลงรอยทางความคิดเหล่านี้ได้ ในบรรยากาศที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนปรารถนาบรรยากาศการปรองดอง
 
กคอทส. จึงมีความปรารถนาจะเห็นนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ที่เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมศึกษารับฟังผลกระทบอย่างรอบด้านก่อนอนุมัติดำเนินโครงการจัดสร้าง
 
ทั้งนี้ กคอทส. จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์และการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด

ขอแสดงความนับถือ

 
กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)
 
รายชื่อแนบท้าย
๑. ทิวา สัมฤทธิ์ พนักงานทำอาหาร
๒. นุชจรี ใจเก่ง Script Writer
๓. จักริน ยูงทอง นักกิจกรรมเพื่อสังคม
๔. ศิริรัตน์ กตัญชลีกุล นักวิจัยอิสระ
๕. นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป / มูลนิธิสัมมาชีพ
๖. สมิทธิ ธนานิธิโชติ รับจ้างทั่วไป
๗. เฉลิมพล ปทะวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวท์ไดเมนชั่น จำกัด (นิตยสาร Sound Dimension)
๘. น้ำผึ้ง หัสถีธรรม แม่บ้าน/รับจ้างทั่วไป
๙. บัณฑิต ไกรวิจิตร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อปริญญาเอก
๑๐. ณัฐวุฒิ คำธรรม ประกอบอาชีพส่วนตัว
๑๑. คติ มุธุขันธ์ Copy Writer
๑๒. ฝ้ายคำ หาญณรงค์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ
๑๓. เพ็ญพรรณ อินทปันตี เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๔. ฆฤพร สาตราภัย ธุรกิจส่วนตัว
๑๕. วรรธนะ วันชูเพลา filmmaker
๑๖. วัชรินทร์ สังขารา พนักงานชั่วคราวที่ Institute for Human Rights and Peace Studies
๑๗. บารมี ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันสันติประชาธรรม
๑๘. รอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
๑๙. ดุจหฤทัย ณ ป้อมเพ็ชร Senior Engineering Manager, Business Continuity Management.
๒๐. กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้อำนวยการสถาบันต้นกล้า มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
๒๑. ชัยพร นำประทีป นักดนตรีอิสระ
๒๒. เชาวรัช ทองแก้ว พนักงานราชการกระทรวงพลังงาน
๒๓. ปิยะวัฒน์ จิรเทียนธรรม ลูกจ้างกระทรวงพลังงาน
๒๔. ประดิษฐ์ ลีลานิมิต สถาบันต้นกล้า
๒๕. กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
๒๖. จิตรลดา โลจนาทร บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ชวนอ่าน
๒๗. สัญญา สุภาผล พนักงานบริษัท
๒๘. สุริยา โพธิมณี พนักงานรับจ้าง
๒๙. สาวิตรี พูลสุขโข โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา
๓๐. สามารถ เบญจอดุลย์ พนักงานรับจ้าง
๓๑. ธีรวัฒน์ ปิติยานานนท์ ลูกจ้างบริษัท
๓๒. จิตลดา ไวดาบ พนักงานรับจ้าง
๓๓. พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ รับจ้างทั่วไป
๓๔. พิชญา อนันตวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓๕. ณรงค์ จ่างกมล
๓๖. ปิยชาติ ไตรถาวร ช่างภาพนิตสาร SME THAILAND และเจ้าของร้านกาแฟGallery กาแฟดริป
๓๗. ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ ช่างภาพหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และเจ้าของร้านกาแฟGallery กาแฟดริป
๓๘. ธารารัก รุจิราภา พนักงานบริษัท
๓๙. กฤช ทองเหลือง Field Director Greenasia Production
๔๐. ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๔๑. เพชร มโนปวิตร นักศึกษาและนักวิจัย University of Victoria
๔๒. จารุณี ธรรมยู ผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่อง อสรพิษ
๔๓. สนั่น ชูสกุล โครงการทามมูล จ.สุรินทร์
๔๔. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการทีวีไทย
๔๕. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
๔๖. จารวี อุ่นบุญเรือง ธุรกิจส่วนตัว
๔๗. เพียงกมล โลหิตหาญ พนักงานองค์กรของรัฐ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๔๘. ธณัฐฌา หัสดินธร ณ อยุธยา
๔๙. กฤษณะ ศรีถนอมวงศ์ รับจ้าง
๕๐. ณัฎฐินี ชูช่วย อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
๕๑. ปกรณ์ จารุจิตติพันธ์
๕๒. พรชัย บริบูรณ์ตระกูล เสมสิกขาลัย โครงการฝึกอบรมผู้นำชุมชน สปป.ลาว
๕๓. ผกามาส คำฉ่ำ เจ้าหน้าที่สำนักงานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท