Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

เมื่อกล่าวถึงประเด็นของความรุนแรงในภาคใต้  ปฏิกิริยาของทั้งกองทัพไทยและผู้นำทางการเมืองซึ่งยืนคนละขั้วทางการเมืองต่างก็แย่พอๆ กัน

พวกเขาต่างพยายามที่จะโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือมากกว่าที่จะมองถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง

พรรคประชาธิปัตย์และกองทัพไม่ได้รีรอที่จะโจมตีรัฐบาลหลังจากที่ได้รู้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรซึ่งยังคงหลบหนีอยู่นอกประเทศนั้นได้พบกับกลุ่มผู้นำรุ่นเก่าของขบวนการแบ่งแยกดินแดนของปาตานีหลายกลุ่ม

ควรจะกล่าวไว้ในที่นี้ว่า  รัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาล ตัวแทนองค์กรหลายแห่ง และแม้กระทั้งเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงได้พยายามที่จะพูดคุยหรือเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่ช่วงปีทศวรรษที่ 1980

ในครั้งแรก กองทัพเป็นผู้ริเริ่ม  แต่ว่าการพบปะกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ไปได้ไม่ไกลเกินกว่าการเป็นข่าวและการแสวงหาข่าวกรอง

ในช่วงปลายปีทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 ปีกที่ติดอาวุธของขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนได้ล้มเลิกการเคลื่อนไหว ผู้นำของพวกเขาหลายคนก็ยังคงลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2004 กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ซึ่งได้เคยพบกับทหารเมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว ได้กลับมาสร้างบทบาทให้ตัวเองอีกครั้ง พวกเขาพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงขบวนการรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรียกกันในท้องถิ่นว่า “ยูแว” และกลุ่มประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ว่ากลุ่มที่มีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับกลุ่มยูแวได้ดีที่สุดนั้นเชื่อว่าคือกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนท  ความท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยก็คือการระบุว่าใครคือคนของบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทที่ “แท้จริง” เพราะว่ามีมากกว่าหนึ่งกลุ่มซึ่งใช้ชื่อเดียวกัน   พวกเขาอาจจะมีเอกภาพร่วมกันเมื่อสามทศวรรษก่อน  แต่ว่าในทุกวันนี้มีแกนนำหลายคนที่มากล่าวอ้างว่าเป็นหัวหน้าของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้   ดูตัวอย่างกลุ่มพูโลเป็นต้น  มีแกนนำสามคนที่อ้างว่าตัวเองนั้นเป็นประธานของพูโล ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทก็ไม่ต่างกันเท่าใดนักในประเด็นนี้ 

นายฮัสซัน  ตอยิบเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆ อดีตนายกฯ ทักษิณในการประชุมลับเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2555 เขาเป็นคนหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทและเขาก็ได้พยายามที่จะเข้าหาทางการไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการผ่านอดีตนายกรัฐมนตรีชวลิต ยงใจยุทธ เพราะเขาต้องการที่จะมีบทบาทในการพูดในฐานะตัวแทนของคนปาตานี

แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าความพยายามของทักษิณนั้นสูญเปล่าก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าแกนนำของกลุ่มในบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพวกยูแวที่สุดนั้นตัดสินใจคว่ำบาตรการประชุมร่วมกับตัวแทนของพรรคเพื่อไทย/กลุ่มเสื้อแดง

เมื่อถามว่าทำไมพวกเขาจึงปฏิเสธที่จะพบทักษิณ  ตัวแทนของบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทกลุ่มนี้กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยให้อภัยกับสิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณได้ทำไว้กับคนมลายูปาตานี  นโยบายของทักษิณในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันได้ปรากฏตัวตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ทักษิณขึ้นสู่อำนาจ  แต่ว่าทักษิณไม่ได้ยอมรับการดำรงอยู่ของพวกเขาและได้เรียกพวกเขาว่า “โจรกระจอก”  ทัศนคติเช่นนั้นเปลี่ยนไปหลังจากที่พวกเขากลุ่มหนึ่งได้บุกโจมตีค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 4 มกราคม 2547 พร้อมทั้งขโมยปืนทหารไปอีกกว่า 350 กระบอก

ในปลายปี 2548 ทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เปิดไฟเขียวให้มีการเจรจาหลายรอบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ  ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้นก็มี พล.ท. ไวพจน์ ศรีนวล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และพล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นตัวแทน  การพบกันนั้นเรียกกันว่า “กระบวนการลังกาวี” ซึ่งตั้งชื่อตามเกาะซึ่งเป็นสถานที่ที่การประชุมกันได้เกิดขึ้น

กระบวนการลังกาวีได้นำไปสู่ข้อเสนอจำนวนหนึ่งซึ่งได้ส่งถึงมือของนายกรัฐมนตรีทักษิณในขณะนั้นผ่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์  ปันยารยุน แต่ว่าทักษิณนั้นมัวแต่ยุ่งอยู่กับการประท้วงของกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งกำลังปะทุขึ้นในกรุงเทพฯ

หลังจากการรัฐประหารในปี 2549  พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้ไฟเขียวกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางยุติความขัดแย้ง นอกเหนือจากการใช้วิธีทางการทหาร  ซึ่งหมายถึงว่าหากจำเป็นที่จะต้องเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ควรจะทำ

ในเดือนกันยายน 2551 นายยูซุฟ  คัลลา ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอินโดนีเซียในขณะนั้นได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปาตานีและตัวแทนของกองทัพไทย แต่เมื่อการประชุมถูกเปิดเผยกับสาธารณะ  รัฐบาลไทยก็ยุติการดำเนินการในทันที

พล.อ.สุรยุทธ์เองก็ได้ไปพบกับบุคคลคนหนึ่งที่อ้างตัวเองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มพูโลในเดือนธันวาคม 2550 ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่เดือน

ในช่วงของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การพูดคุยเพื่อสันติภาพอยู่ในภาวะชะงักงัน  เพราะว่าพวกเขาวุ่นวายอยู่กับการแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพฯ

ในยุคที่นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี  ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องพูดคุยอีกครั้งหนึ่งซึ่งต่อมาได้ถูกระงับภายหลังจากที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรหันไปสนับสนุนให้นายทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นข้าราชการที่เป็นที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยได้ทำหน้าที่นี้แทน

นับแต่กระบวนการลังกาวีในปี 2548 จนถึงการพูดคุยระหว่างทักษิณกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อเร็วๆ นี้  พวกยูแวและกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทไม่ได้เข้าร่วมวงพูดคุยเหล่านี้เลย  แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทได้พูดว่าพวกเขาไม่เคยให้อภัยทักษิณและสิ่งที่เขาทำกับคนมลายูในปาตานี  แต่ว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพูดคุยกับพวกคนไทย

ถ้าหากว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยและกองทัพนั้นเชื่อว่าชีวิตของประชาชนในภาคใต้นั้นสำคัญกว่าอีโก้ของพวกเขา พวกเขาจะต้องหยุดทำให้เรื่องการพูดคุยกับผู้เห็นต่างเป็นเรื่องการเมือง  ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาทั้งหมดต่างก็ทำเช่นนั้น

สิ่งที่ควรจะทำในตอนนี้ก็คือการลดความเป็นการเมืองของกระบวนการนี้เพื่อให้การพูดคุยกับพวกกลุ่มเก่าผู้อาวุโสเหล่านี้ดำเนินไปได้  โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถที่จะทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มยูแวในพื้นที่ได้   สมาชิกของภาคประชาสังคมและข้าราชการที่เกษียณแล้วควรที่จะเป็นผู้ที่ทำให้กระบวนการนี้เดินต่อไป  แทนที่จะเป็นนักการเมือง เพื่อที่จะทำให้กระบวนการนี้เป็นเรื่องซึ่งไม่ลำเอียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มันคงจะไม่ได้เป็นเรื่องง่ายนัก  เหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์สามลูกในยะลาและหาดใหญ่ซึ่งทำให้มีคนบาดเจ็บหลายร้อยคนและเสียชีวิตมากกว่าสิบคนแสดงให้เห็นว่าพวกยูแวนั้นไม่ได้อยู่ในภาวะที่ต้องการจะพูดคุย   การไล่ล่าและเอาชีวิตพวกเขาก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะว่าทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของเรานั้นไม่มีความสามารถ

แต่แทนที่จะยอมรับถึงความบกพร่องและการถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง  นายทหารระดับสูงและผู้กำหนดนโยบายกลับมองถึงแต่การหาแต้มทางการเมืองแทนที่จะมองถึงความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาต่างก็แย่พอๆ กันในเรื่องของความสามารถในการรักษาความมั่นคง

 

หมายเหตุ : สำหรับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  โปรดดู http://seasiaconflict.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net