Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากจะพูดถึงนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นบุคคลที่ประชาชนเกลียดมากที่สุดคนหนึ่ง น่าจะหนีไม่พ้นอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Margaret Thatcher ฉันใดก็ฉันนั้น ความพยายามที่จะฉายภาพของคนที่มีทั้งภาพความนิยม (นายกฯ หญิงจากการเลือกตั้งสามสมัย) กับภาพของมนุษย์ที่เป็นปุถุชนซึ่งเชื่อแต่ขาวหรือดำ ไม่ชอบอะไรที่เทา ๆ คนหนึ่ง ก็หนีไม่พ้นคำวิจารณ์มากมายมหาศาลอย่างหนัง The Iron Lady ที่ลงโรงไปเมื่อต้นปีนี้เอง

The Iron Lady เป็นอะไรที่ “ผู้หญิง” มาก ๆ ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง (Meryl Streep ซึ่งได้รางวัล Academy Award ด้วย) ผู้กำกับ (Phyllida Lloyd) และผู้เขียนบท (Abi Morgan) ก็เป็นหญิง และเป็นเรื่องของบุคคลทางการเมืองในเพศ “กระแสรอง” ที่คน “ทั้งรักทั้งชัง”

11 ปีครึ่งที่ Margaret Hilda Thatcher เป็นนายกฯ อังกฤษนั้น ทั้งประเทศเหมือนผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่ เป็นยุคแห่งการเปิดเสรีการค้า ตัดสวัสดิการสังคม ควบคุมและบั่นทอนอำนาจของสหภาพแรงงาน เป็นยุคที่อังกฤษมีอัตราการว่างงานสูงสุด และก็เป็นยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจในเวลาต่อมาด้วย ก่อนหน้าสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ นโยบายแรกที่นางแธตเชอร์ทำคือการตัดงบประมาณสนับสนุนงบซื้อนมให้เด็กกิน เพื่อรัดเข็มขัด ต้องการให้โรงเรียนพึ่งตัวเองได้ และสนองนโยบายแปรรูป (privatization) ที่เธอดำเนินการต่อมาเมื่อขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

เป็นยุคสมัยของกำปั้นเหล็กของผู้หญิงเหล็กซึ่งเป็นเจ้าของวรรคทองมากมาย โดยเฉพาะ TINA (There is no alternative) ซึ่งนางแธตเชอร์มักใช้ในยุคที่อังกฤษเริ่มฟื้นสถานะมหาอำนาจของโลกเพื่อยืนยันว่า นอกจากทุนนิยมเสรี โลกาภิวัตน์ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การควบรวมกิจการแล้ว โลก “ไม่มีทางเลือกอื่นอยู่” ผมเติบโตมาในยุคที่แอคติวิสต์ต่อต้านโลกาภิวัตน์มักเอ่ยอ้างวลีนี้เพื่อประณามอดีตลูกเจ้าของร้านชำจากบ้านนอกย่านมิดแลนด์อังกฤษ ที่ต่อมากลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านหญิงและนายกฯ หญิงคนแรก (ของอังกฤษและยุโรปในปี 1979) เมื่ออายุ 54 ปี  

Margaret Hilda Roberts เกิดปี 1925 (เกิดก่อนควีนเอลิซาเบธที่ 2 เพียงปีเดียว) ในเมือง Grantham เมืองเล็ก ๆ ขึ้นไปตอนเหนือจากลอนดอนเกือบ 200 กม.ไปทางสก็อตแลนด์ พ่อเป็นเจ้าของร้านชำเล็ก ๆ และต่อมาเล่นการเมืองเป็นสมาชิกสภาเทศบาลท้องถิ่นสังกัดพรรคคอนเซอร์เวตีฟ แม่เป็นแม่บ้านธรรมดา มาร์กาเร็ตเรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐทั่วไปจนต่อมาสามารถสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดได้ ระหว่างเรียนก็เป็นประธานสหภาพนักศึกษาพรรคคอนเซอร์เวตีฟด้วย

หลังจากได้ดีกรีเคมีจากอ็อกซ์ฟอร์ด และทำงานตามวิชาชีพอยู่พักหนึ่ง เธอเริ่มลงสมัครสส.สมัยแรกปี 1950 และต้องใช้เวลาอีกถึงเก้าปีกว่าจะได้รับเลือกเป็นสส.สมัยแรกได้ในปี 1959 ก่อนหน้านั้นก็เพิ่งแต่งงานกับ Denis Thatcher นักธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนางแธตเชอร์ในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่อยู่ด้วยกัน ช่วงนั้นเธอมีลูกแฝด (Carol และ Mark) ระหว่างสร้างครอบครัว เลี้ยงลูก เธอก็ขวนขวายเรียนต่อจนสอบได้นิติศาสตร์บัณฑิตและสอบเนติบัณฑิตได้ด้วย ก่อนได้เป็นผู้นำพรรคคอนเซอร์เวตีฟในปี 1975 และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ อีกสี่ปีต่อมา

เรียกว่านางแธตเชอร์ต้องเล่นการเมืองถึงเกือบ 30 ปีกว่าจะได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ

แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนขาดลอยในการเลือกตั้งทั้งสามครั้ง (เปรียบเทียบผลการเลือกตั้งทั่วไประหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงาน ปี 1979 43.9 ต่อ 36.9% ปี 1983 42.4 ต่อ 27.6% ปี 1987 42.2 ต่อ 30.8%) แต่ยุคของนางแธตเชอร์เป็นยุคที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก ความปั่นป่วนวุ่นวาย ความรุนแรงทางการเมืองจากปฏิบัติการของ IRA การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นซิกเนเจอร์ของอังกฤษอย่างเช่น เหมืองแร่เหล็ก ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของคอลัมนิสต์ท่านหนึ่งที่ว่า Margaret Thatcher เป็น one of the great Prime Ministers, but not one who brought the country together (“มาร์กาเร็ต แธตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง แต่ไม่ใช่คนที่ทำให้ทั้งประเทศเห็นร่วมกันได้”)*  

เล่าลือกันว่านโยบาย “อประชานิยม” ของเธอ โดยเฉพาะในยุคกลางทศวรรษ 1990 (หลังผ่านยุครุ่งเรืองคะแนนเสียงจากชัยชนะในสงครามหมู่เกาะโฟล์กแลนด์มาแล้ว) ทำให้แม้แต่ควีนเอลิซาเบธก็ไม่สบายพระทัย เพราะเกรงว่าจะสร้างความแตกแยกให้กับสังคม จนถึงขั้นมีการ “แทรกแซง” ลงมา (แบบไม่ประเจิดประเจ้ออย่างบางประเทศนะครับ) ซึ่งน่าจะสะท้อนความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลยุคนางแธตเชอร์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ค่อยชื่นมื่นเท่าไร จะเห็นว่าในหนัง The Iron Lady ไม่ได้กล่าวถึงควีนเอลิซาเบธเลยแม้แต่แอะเดียว

ประโยคเดียวของนางแธตเชอร์ที่น่าจะเข้าข่ายการชื่นชมพระราชวงศ์มากสุดคือตอนที่เธอบอกว่า “Those who imagine that a politician would make a better figurehead than a hereditary monarch might perhaps make the acquaintance of more politicians." (“คนที่คิดว่านักการเมืองจะเป็นประมุขประเทศได้ดีกว่ากษัตริย์ที่สืบสันตติวงศ์นั้น ควรทำความรู้จักนักการเมืองให้มากขึ้น”) นอกนั้นอดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมท่านนี้ไม่เคยแสดงความชื่นชมต่อราชวงศ์และไม่เคยยอมประนีประนอมกับอำนาจนอกกรอบกฎหมายแต่อย่างใด

ความรั้นของนางแธตเชอร์สะท้อนจากวรรคทองอย่างเช่น

- “We will stand on principle or we will not stand at all.” (“เราจะยืนอยู่บนหลักการ ไม่เช่นนั้นแสดงว่าเราไม่มีหลักการอะไรเลย”)

- หรือ “If you set out to be liked, you would be prepared to compromise on anything at any time, and you would achieve nothing.” (“ถ้าคุณต้องการเป็นที่ชื่นชอบ ก็เตรียมที่จะประนีประนอมเสีย แต่อย่าหวังว่าจะประสบความสำเร็จอะไร”)

แม้หนังจะฉายภาพที่เกินจริงไปบ้างในฐานะผู้นำหญิงเดี่ยว (เพราะในความจริงตั้งแต่สมัยที่เข้าสภาครั้งแรกในปี 1979 อังกฤษก็เริ่มมีสส.หญิง 19 คนแล้ว) แต่ก็สะท้อนให้เห็นอุปสรรคด้านทัศนคติมากมายที่ผู้หญิงที่ต้องการทำงานบริการสาธารณะต้องเผชิญ แต่นายกฯ หญิงเหล็กท่านนี้ก็ฝ่าฟันมาได้จนได้ จนต่อมาได้รับการยกย่องด้วยการมีรูปปั้นร่วมกับเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลในรัฐสภา (ถือเป็นนายกฯ คนที่สองที่ได้รับเกียรติดังกล่าวในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่)   

ฟางเส้นสุดท้ายก่อนลาออกจากตำแหน่งในปี 1990 น่าจะเป็นความขัดแย้งกับ Geoffrey Howe รองนายกฯ และสหายเก่าแก่ตั้งแต่ครม.ยุคแรกในปี 1979 เพราะไม่เห็นด้วยกับช่วงเวลาการเข้าร่วมเงินสกุลยูโร (ซึ่งน่าจะเป็นจุดยืนที่ถูกต้องถ้าพิจารณาจากปัญหายูโรไครซิสในปัจจุบัน) และจากการผลักดันโยบาย Poll Tax (เป็นภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากพลเมืองของประเทศเป็นรายหัวในอัตราตายตัว)  

ที่เกี่ยวกับ “สยาม” อยู่บ้างคือการเลือกใช้เพลง Shall We Dance? ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเวที “The King and I” ที่มีเนื้อหากล่าวถึงความโรแมนซ์ระหว่างพระเจ้ากรุงสยามกับฝรั่งที่พระองค์จ้างมาเลี้ยงดูราชบุตรราชธิดา แอนนา เลียวโนเวนส์ ไม่แน่ใจว่าที่เลือกใช้เพลงประกอบละครมาเป็นธีมของหนังจะเป็นเพราะผู้กำกับ Phyllida Lloyd เดิมมีอาชีพผู้กำกับละครมาก่อนหรือเปล่า

ส่วนวรรคทองที่ประทับใจผมเป็นการส่วนตัวมากสุดคือ “It used to be about trying to do something. Now it’s about trying to be someone.” (“เดิมเรามักพยายามทำอะไรบางอย่าง แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ขวนขวายที่จะเป็นเหมือนคนบางคน”) ซึ่งกลายเป็นสูตรสำเร็จของคนที่ “ประสบความสำเร็จ” ในปัจจุบันไปเสียแล้ว 

ผมเคยเขียนไปแล้วว่า แม้จะยังไม่ตาย แต่สังคมอังกฤษเริ่มถกเถียงกันแล้วว่าหากนางแธตเชอร์ถึงแก่อสัญกรรม จะมีการจัดงานศพให้กับท่านเป็นแบบรัฐพิธี (state funeral) หรือไม่ เพราะในประวัติศาสตร์ของอังกฤษนั้น มีเพียงเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลเท่านั้นที่เคยได้รับการจัดงานศพแบบเป็นรัฐพิธี แม้แต่งานพระศพของเจ้านายในราชวงศ์วินเซอร์ (พระราชชนนี หรือเลดี้ไดอาน่า ฯลฯ) ก็ไม่เคยได้รับเกียรติให้จัดเป็น “รัฐพิธี”  

 

หมายเหตุ
- http://blogs.telegraph.co.uk/news/peteroborne/100125535/lady-thatcher-deserves-every-honour-%E2%80%93-apart-from-this-one/

- เพลง Shall We Dance? http://www.youtube.com/watch?v=PdyqmN5cnRQ จากละคร The King and I

- ดูตัวอย่างหนัง Iron Lady ได้ที่นี่นะครับ http://www.youtube.com/watch?v=Im2UvBs_gfs

- ดูวรรคทองของนางแธตเชอร์จากหนัง The Iron Lady ได้จาก http://www.rottentomatoes.com/m/the_iron_lady/quotes/   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net