สลักธรรม โตจิราการ: ข้อเท็จจริงจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต 10 เมษา 53

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: สลักธรรม โตจิราการ: ข้อเท็จจริงบางประการที่พบเห็นจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

 

13 เมษายน 2555

แม้ว่าการสลายการชุมนุมของประชาชนที่บริเวณสี่แยกคอกวัวจะผ่านมา 2 ปี แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันว่าการค้นหาความจริงว่าใครเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็ตาม ยังมีความไม่ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตนั้นถูกผู้ใดสังหาร ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็กล่าวหาว่า “ชายชุดดำ” ซึ่งถือปืนอาก้าทำการสังหาร ในขณะที่ฝั่งประชาชนผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากลงความเห็นว่าทหารเป็นผู้สังหารประชาชน

2 ปีที่แล้วหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพที่เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันในวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยมีคณาจารย์ด้านนิติเวชวิทยาจากหลายสถาบัน เช่น โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนแพทย์อื่นๆเป็นกรรมการร่วมกันชันสูตรพลิกศพเพื่อให้การชันสูตรพลิกศพเป็นไปด้วยความโปร่งใส นอกจากนั้น คณะกรรมการดังกล่าวได้เชิญตัวแทนจาก นปช. ไปร่วมชันสูตรศพที่เสียชีวิตซึ่งมี อ.เชิดชัย ตันติสิรินทร์ และ อ.ชลน่าน ศรีแก้ว ไปร่วมชันสูตร ส่วนผมก็เข้าไปเป็นผู้ช่วยทั้ง 2 ท่านด้วย โดยศพของประชาชนนั้น คณะกรรมการชันสูตรพลิกศพทำการชันสูตรที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนศพของทหารนั้นคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพทำการชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผมจึงได้เห็นผู้เสียชีวิตทุกคนในเหตุการณ์ 10 เมษายน ทั้งฝั่งประชาชนและฝั่งทหาร โดยศพของประชาชนนั้นได้รับการชันสูตรพลิกศพโดยคณะกรรมการร่วมชันสูตรฯที่โรงพยาบาลตำรวจทุกราย ส่วนศพของทหารที่เสียชีวิตก็ได้รับการชันสูตรโดยคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพชุดเดียวกันนี้

ยกเว้น พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่คณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพไม่ได้เป็นผู้ชันสูตรศพ เพราะศพถูกนำไปฌาปนกิจเสียก่อน หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงต้องรีบฌาปนกิจศพของ พ.อ.ร่มเกล้า โดยไม่นำศพเข้าร่วมการชันสูตรโดยคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพจากหลายสถาบันเพื่อความโปร่งใสในขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพเช่นเดียวกับศพอื่น ?

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ผมได้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตรด้วย จึงขอนำเอาสิ่งที่ได้พบเห็นมาเล่าให้ประชาชนได้รับฟังเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการค้นหาความจริงมากขึ้น

จากการตรวจศพของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. ในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการชันสูตรฯ ลงความเห็นว่าผู้เสียชีวิตในฝั่งของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมกับ นปช. นั้น มี 1 คนที่หัวใจวายตาย และอีก 1 คนที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วต่ำ ส่วนคนที่เหลือทั้งหมดเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง เนื่องจากมีการแตกสลายของอวัยวะภายในอย่างรุนแรง และมีอาจารย์แพทย์ด้านนิติเวชจากโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวว่าแผลจากกระสุนปืนความเร็วสูงนั้นน่าจะเป็นแผลจากกระสุนปืน M16 มากกว่าอาก้า แต่ว่าเนื่องจากไม่พบหัวกระสุน แพทย์นิติเวชจึงไม่สามารถระบุชนิดของหัวกระสุนไปในรายงานตรวจศพได้ทันที ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานนิติวิทยาศาสตร์และพนักงานสอบสวนในการนำข้อมูลจากการสอบสวนไปพิจารณาลงความเห็นเพิ่มเติมว่าเกิดจากกระสุนชนิดใด แต่ถ้าลองดูภาพที่ผมหามาเปรียบเทียบแผลภายในร่างกายที่เกิดจากกระสุนชนิดต่างๆ (ขอบคุณ www.firearmstactical.com) ดังที่ปรากฏข้างล่าง แผลของกระสุน 5.56x45 mm มาตรฐาน NATO อย่างที่ใช้ใน M16 HK33 และTavor ที่ทหารใช้ตอนปราบปรามประชาชน (รูปที่ 1 กรอบบน) จะเห็นว่าแผลภายในจะเกิดการทำลายเป็นช่องกว้างขึ้นมามากเหมือนกับที่พบในศพของประชาชน ในขณะที่แผลจากกระสุน 7.62x39 mm มาตรฐานรัสเซียอย่างที่ใช้ในอาก้า (รูปที่ 1 กรอบล่าง) ที่อ้างว่าชายชุดดำใช้ จะไม่เกิดการทำลายอวัยวะภายในเป็นช่องกว้าง แต่จะทะลุร่างกายออกไปได้มากกว่า M16

ฉะนั้นในความเห็นผมสรุปได้ว่าแผลที่เกิดขึ้นในร่างกายของผู้เสียชีวิตฝั่งประชาชนในวันที่ 10 เมษายน ส่วนใหญ่น่าจะเกิดจากกระสุน 5.56x45 mm มาตรฐาน NATO ซึ่งทหารใช้มากกว่ากระสุน 7.62x39 mm มาตรฐานรัสเซียที่มีคนอ้างว่าชายชุดดำใช้ ถ้าเชื่อตามรูปว่าชายชุดดำมีปืนอาก้าตามรูปที่เอามาลงกันจริงๆ ก็แปลว่าชายชุดดำไม่มีส่วนในการฆ่าประชาชนเลย เพราะชายชุดดำไม่ได้ถือ M16 HK33 หรือ Tavor ในขณะที่ทหารที่เข้าปฏิบัติการสังหารประชาชนในวันที่ 10 เมษายนมีหลักฐานชัดเจนว่ามีปืน M16 Tavor และปืนซุ่มยิง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือร่างผู้เสียชีวิตเกินครึ่งหนึ่งแผลกระสุนเข้าอยู่ที่ศีรษะ ปกติศีรษะคนมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดร่างกายมนุษย์ทั้งหมด ถ้าไม่เล็งยิงโอกาสโดนน้อยมาก แปลว่าคนยิงมีเจตนายิงให้เสียชีวิตอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นยังมีศพที่ถูกยิงเข้าที่อกด้วยกระสุน 5.56x45 มิลลิเมตรมาตรฐาน NATO แต่วิถีกระสุนพุ่งดิ่งจากบนลงล่างด้วยมุมชันมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการโดนกระสุนที่ยิงขึ้นฟ้าแล้วตกลงมา

 


รูปที่ 1 รูปเปรียบเทียบระหว่างแผลที่เกิดจากกระสุน 5.56x45 mm มาตรฐาน NATO อย่างที่ใช้ใน M16 และ Tavor ที่ทหารใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน (ในกรอบบน) เมื่อเปรียบเทียบกับ ผลจากกระสุน 7.62x39 mm มาตรฐานรัสเซียอย่างที่ใช้ในอาก้า (AK47) อเซกาเซ (SKS) (ในกรอบล่าง)

 

สำหรับกรณีทหารที่เสียชีวิตนั้นผมได้ร่วมการตรวจศพนายทหารชั้นประทวนที่อยู่กับ พ.อ.ร่มเกล้า ตอนเสียชีวิต แต่ไม่ได้ร่วมการตรวจศพ พ.อ.ร่มเกล้า ซึ่งไม่ได้รับการชันสูตรจากคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพเหมือนศพอื่นๆ ในช่วงวันที่ 10 เม.ย. ศพทหารที่เสียชีวิตนั้นนั้นตายจากสะเก็ดระเบิดที่เป็นโลหะรูปร่างบิดเบี้ยวเป็นแผ่นที่แตกออกมาด้วยความเร็วสูงพุ่งทะลุเข้าไปในสมอง ถ้าถามความเห็นผม ทหารที่เสียชีวิตนั้นน่าจะเสียชีวิตจากระเบิดมือมากกว่า M79 เพราะว่า กระสุนระเบิดขนาด 40 mm ที่ใช้กับ M79 หรือ M203 ส่วนมากเป็นกระสุนที่มีอำนาจการทำลายจากตัวแรงระเบิดเอง (High Explosive) มากกว่า ยกเว้นจะใช้หัวกระสุนชนิดคล้ายปืนลูกซองซึ่งจะให้ลูกปรายออกมาเป็นลูกกลม ในขณะที่ระเบิดมือชนิดทำลายบุคคลจะใช้การแตกสะเก็ด (Fragmentation) เพื่อให้สะเก็ดระเบิดพุ่งตามแรงระเบิดไปทำลายบุคคล จากการชันสูตรพบว่าทหารที่เสียชีวิตนั้นไม่ได้เสียชีวิตจากตัวแรงระเบิดเอง แต่เสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด สะเก็ดระเบิดที่พบในศีรษะทหารที่เสียชีวิตมีลักษณะเป็นแผ่นแบบที่แตกออกมาจากผิวของระเบิดมือชนิดแตกสะเก็ด ไม่ใช่หัวลูกปรายในกระสุน M79 แบบพิเศษ (นอกจากนั้น คุณภาพของกระสุนระเบิดสำหรับ M79 ที่ใช้ในราชการกองทัพไทยมีประวัติปัญหาการใช้งาน เคยมีบุคคลากรทางทหารเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ลูกน้องในทีมของเขายิง M79 ไปตกกลางวงเด็กที่เล่นกันอยู่ ปรากฏว่าไม่มีเด็กบาดเจ็บเลย มีแต่ร้องไห้กันเพราะเสียงระเบิด)


หากเราคะเนว่าทหารที่เสียชีวิตเพราะว่าโดนระเบิดมือแบบแตกสะเก็ด แปลว่าผู้ลงมือต้องอยู่ใกล้กับพื้นที่มาก เพราะว่าระยะขว้างของระเบิดมือนั้นโดยปกติจะไม่เกิน 50-100 เมตร ยกตัวอย่างเช่นระเบิดขว้างแบบแตกสะเก็ดชนิด M67 ของสหรัฐอเมริกามีระยะขว้างปกติ 40 เมตร เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำการสังหารต้องอยู่ใกล้แนวหลังหรือกองบัญชาการของ พ.อ.ร่มเกล้า และทีมงาน ตามปกติแล้วการรักษาความปลอดภัยในบริเวณแนวหลังหรือกองบัญชาการนั้นจะต้องเข้มงวดมาก โอกาสที่บุคคลภายนอกจะเล็ดรอดเข้าไปยังพื้นที่แนวหลังหรือกองบัญชาการในระยะไม่เกิน 40 เมตรในสถานการณ์สงครามและสามารถขว้างระเบิดมือแล้วหลบหนีออกจากพื้นที่โดยไม่ถูกตรวจจับหรือมีการปะทะถือว่าน้อยมาก ยกเว้นการรักษาความปลอดภัยย่อหย่อนอย่างร้ายแรง หรือเป็นการกระทำจาก “คนใน” ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีที่ฝั่งกองทัพและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นออกมาเผยแพร่จึงกล่าวอ้างว่าทหารเหล่านี้เสียชีวิตจากกระสุนระเบิดที่ยิงโดย M79 เพื่ิอไม่ให้เกิดการเสียหน้า


สำหรับสิ่งที่ผมได้พบเห็นมาเหล่านี้ หวังว่าจะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ปรากฏออกมาสู่สังคม คืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตทุกคนในเหตุการณ์นี้ และผู้ที่สั่งการให้ปราบปรามประชาชนโดยใช้อาวุธสงครามในยามค่ำคืนจนเกิดความสูญเสียจะต้องรับผิดชอบต่อคำสั่งของตนในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท