Skip to main content
sharethis

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ (The Press Complaints Commission: PCC) ได้ประกาศยุบองค์กรลง โดย Lord Hunt ประธาน PCC ให้คำอธิบายกับการประกาศยุบสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้สื่อได้มีเวลาทบทวนไตร่ตรองบทบาทในอดีตที่ผ่านมา และเพื่อโอกาสในการเรียกความมั่นใจของสาธารณชนต่อสื่อกลับคืนมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาฯมีมติเอกฉันท์ในหลักการที่จะแปลงรูป PCC หลังช่วงเปลี่ยนผ่านไปเป็นองค์กรใหม่ที่จะสามารถกำกับดูแลการรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน

การประกาศยุบตัวของสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษนี้เป็นผลกระทบจากวิกฤตศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อที่ทำหน้าที่กำกับดูแลจรรยาบรรณสื่อ

ปรากฏการณ์วิกฤติศรัทธาต่อบทบาทสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อในประเทศอังกฤษพัฒนามาจนถึงจุดแตกหักจนถึงขั้นที่สภาการหนังสือพิมพ์ต้องประกาศยุบตัวนี้ เมื่อเกิดคดีที่สื่อละเมิดจรรยาบรรณจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กรณีที่มีการเปิดเผยว่าผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์นิวส์ออฟเดอะเวิร์ล (The News of the World) ทำการดักฟังโทรศัพท์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และใช้ความสัมพันธ์และอิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในการรายงานข่าวมาตั้งแต่ปี 2006

จากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าพฤติกรรมดักฟังโทรศัพท์และล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของ The News of the World นั้นมีมาตั้งแต่ปี 2002 โดยในช่วงต้นการดักฟังโทรศัพท์ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจำกัดอยู่ในหมู่บุคคลสาธารณะ เช่น ดารานักแสดง นักการเมือง และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษเท่านั้น แต่ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2011 มีการเปิดเผยข้อมูลว่าผู้สื่อข่าวของ The News of the World สามารถเข้าไปฟังข้อความเสียง(voice mail) ในโทรศัพท์ของ Milly Dowler นักเรียนหญิงวัย 13 ปีที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2002 และพบเป็นศพถูกฆาตกรรมเดือนกันยายนปีเดียวกัน

การเปิดเผยถึงวิธีการหาข่าวของ The News of the World โดยเข้าไปฟัง voice mail ของ Milly Dowler ระหว่างที่เธอหายตัวไปนั้น ทำให้สาธารณชนไม่พอใจอย่างรุนแรงและรวมตัวกันรณรงค์ต่อต้านสื่อ ผลจากการบอยคอตของผู้อ่าน และการที่บริษัทต่างๆถอนโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ทำให้ The News of the World ที่ตีพิมพ์มานานถึง 168 ปีต้องปิดตัวลง ทั้งยังนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของสาธารณชนต่อสื่อโดยรวม

ไม่เพียงแต่บุคคลสาธารณที่ตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ละเมิดจรรยาบรรณ ครอบครัวของบุคคลที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ผู้บริโภคสื่อและประชาชนทั่วไปต่างพากันตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบถึงจรรยาบรรณสื่อ และบทบาทของสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ (PCC) ที่ประชาชนเรียกว่าเป็น “เสือกระดาษ”

ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นอีกต่อไปว่าสื่อจะสามารถกำกับดูแลกันเองได้

ต่อกรณีการละเมิดจรรยาบรรณสื่อของ The News of the World นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปีที่แล้ว (2011) นายเดวิด คามารอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ลงนามในประกาศแต่งตั้ง Lord Justice Leveson เป็นประธานในการสอบสวนบทบาทและพฤติกรรมของสื่อและเจ้าหน้าตำรวจในการดักฟังโทรศัพท์ ของบุคคลทั่วไป โดยคณะกรรมการสืบสวนของ Lord Justice Leveson มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกสอบสวนพยานต่างๆ ทั้งนี้ พยานที่ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำในคดีนี้ มีทั้ง นักข่าว ผู้บริหาร สื่อ เจ้าของสื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองจากทุกพรรค โดยพยานทั้งหมดจะต้องสาบานตนก่อนให้ปากคำและต่อหน้าสาธารณชน กระบวนการสอบสวนนี้จะมุ่งไต่สวนวัฒนธรรม การทำข่าวและจรรยาบรรณของสื่อ

Lord Justice Leveson กล่าวไว้ในการเปิดการสืบสวนคดีนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 ว่า “สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบที่สำคัญยิ่งในทุกๆแง่มุมของสาธารณชน นั่นคือ ทำไมความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในวงการสื่อจึงกระทบต่อพวกเราทุกคน ดังนั้น หัวใจหลักของการสอบสวนคดีนี้ เป็นเพียงคำถามพื้นๆว่า ใครจะเฝ้าระวังผู้เฝ้าระวัง?

ทั้งนี้ Lord Justice Leveson แถลงว่าจะไต่สวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อ กับสาธารณชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมือง การสอบสวนคดีดังกล่าวนี้ จะเป็นแนวทางต่อการกำหนดกฎระเบียบในการควบคุมกันเองของสื่อในอนาคต และ ธรรมาภิบาลของสื่อที่สอดคล้องกับเสรีภาพสื่อพร้อมไปกับการรักษาจรรยาบรรณและมาตรฐานของวิชาชีพสื่อ

ตอนต่อไป -ประวัติสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ : 59 ปีของการเปลี่ยนรูปแปลงร่าง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net