Skip to main content
sharethis
 
งานนี้ต้องมีชื่อเต็ม เพราะอยากทำความเข้าใจให้ชัดเจนแต่แรกว่า ผมไม่ได้เขียนวิพากษ์สมจิตต์ นวเครือสุนทร แต่ยกกรณีของเธอมาตั้งคำถามถึงขอบเขตของการทำหน้าที่สื่อ
 
ผมไม่รู้จักสมจิตต์เป็นการส่วนตัว มีน้องๆ บอกว่าเธอเคยฝึกงานแนวหน้า สมัยผมอยู่ แต่จำกันไม่ได้และไม่เคยเจอกันอีก เข้าใจว่าจะเป็นรุ่นไล่ๆ กับ “น้องเล็ก” วาสนา นาน่วม ซึ่งหลังเรียนจบ แนวหน้าก็รับเข้าทำงานเป็นนักข่าวทหารตั้งแต่ต้น
 
ผมสอบถามเรื่องสมจิตต์จากคนที่รู้จักเธอ ทราบว่าเป็นนักข่าวที่เก่ง จับประเด็นแม่น ไม่ต้องจด ไม่ต้องไปไล่เทปดูอีกครั้ง แล้วก็กล้าซักถาม ทำการบ้าน (ซึ่งเป็นคุณสมบัติของนักข่าวที่เก่ง พวกยืนแอบหลังเพื่อนจดข่าวอย่างเดียวไม่มีทางก้าวหน้า)
 
มีคนเล่าว่า สมชาย มีเสน เคยชมว่าสมจิตต์เป็นนักข่าวที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในรุ่นถัดจากเขา อ๊ะ อ๊ะ อย่าไปติดใจกิตติศัพท์ด้านอื่น “ไอ้ช้าง” น้องผมจากแนวหน้า คือนักข่าวภาคสนามที่เก่งที่สุดในทำเนียบ จับประเด็นแม่น กล้าซัก กล้าถาม ไล่ต้อน จี้ใจดำ ก็ขนาดยุค รสช. กองบรรณาธิการต้องให้ “ไอ้ช้าง” หยุดงานหลบไปอยู่เชียงใหม่ เกรงจะไม่ปลอดภัยจากการไล่ซักสุจินดา หลังยกทีมออกจากแนวหน้า ไอ้ช้างมาอยู่ INN ด้วยกันพักหนึ่ง (จนได้แฟน หลังจากตอนที่อยู่แนวหน้าเคยจีบน้องเล็กแต่ไม่สำเร็จ คริคริ) แล้วบางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ค่าตัวแพงที่สุด ก็ดึงไปอยู่ด้วย
 
เล่าอย่างนี้ก็พอเห็นภาพ สมจิตต์ถอดแบบมาจากสมชาย อันที่จริงถ้าไม่ใช่ยุคการเมืองเลือกข้าง เธอน่าจะเป็นนักข่าวที่เปล่งประกายเจิดจ้า นิสัยเสียที่อาจจะมีบ้างคือเธอไม่แคร์ใคร ไม่ค่อยมีพวก (ซึ่งยิ่งหนักขึ้นในยุคการเมืองเลือกข้าง) ไม่เหมือนนักข่าวทั่วไปที่รวมกลุ่มกันลอกข่าว พูลข่าว เพราะกลัวตกข่าว
 
สมจิตต์ไม่เคยมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ มีนอกมีใน แม้ชื่นชมพรรคแมลงสาบอย่างแรงกล้า เหม่อมองหน้ามาร์คจนสะดุดหัวปักหัวปำ แต่ก็ไม่เคยมีข่าวร่ำลือในวงการว่าเธอได้อะไรจาก ปชป. ไม่เคยมีข่าวไปรับเลี้ยงดูปูเสื่อในคอนโดของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (แหงอยู่แล้ว เธอเป็นผู้หญิง “ปูเสื่อ” เขามีไว้รับรองนักข่าวชาย) ไม่เคยรับโฆษณาหน่วยงานรัฐแล้วได้เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยรับซองรายเดือน (ไม่เหมือน บก.ข่าวทีวีบางคน มีเสียงนินทาว่าสมัยทักษิณมีคนหัวขาวดูแล ขอขึ้นค่าตัวเขาไม่ให้เลยโดดไปฝั่งตรงข้าม)
 
แล้วก็ไม่เคยจัดทอดกฐินวัดบ้านตัวเอง แจกการ์ดตั้งแต่รัฐมนตรียันปลัดกระทรวง อธิบดี คนละปึก เหมือนสื่อบางคนที่ชอบออกมาโวยวายเรื่องเสรีภาพสื่อ
 
แต่แน่นอน สมจิตต์เลือกข้างชัดเจน รัก ปชป. เกลียดทักษิณ เพื่อไทย เลือกข้างจนอาจกล่าวได้ว่าในหัวเธอรับข้อมูลด้านเดียว
 
คำถามคือนักข่าวเลือกข้างได้ไหม รักเกลียดได้ไหม ผมว่าได้ นักข่าวเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่อยู่ที่เลือกข้างแล้วจะทำหน้าที่ให้ดีได้อย่างไร
 
ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา สมจิตต์ตั้งคำถาม เสียจนโด่งดังตกเป็นข่าวเสียเอง เมื่อมีคนเสื้อแดงส่งเมล์ใช้ถ้อยคำไม่พอใจ เข้าข่าย “คุกคาม” (แต่การไปประท้วงช่อง 7 ให้ย้ายเธอออกจากหน้าที่ ไม่ถือเป็นการคุกคามสื่อนะครับ ประชาชนผู้เสพย์สื่อย่อมมีสิทธิแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อ ตราบเท่าที่ไม่ใช้กำลัง)
 
กรณีสมจิตต์ไม่ได้ตามนายกฯ ไปประชุมที่กัมพูชา ต้องอธิบายให้คนนอกเข้าใจว่า (ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ) เวลานายกฯ หรือรัฐมนตรีคนสำคัญไปต่างประเทศ ทีวีพูล (ซึ่งเก็บเงินลงขันจากทุกช่อง) จะจัดคิวหมุนเวียนให้ช่องใดช่องหนึ่งไปทำข่าว แล้วเอาข่าวมาออกทุกช่อง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยรัฐบาลก็อำนวยความสะดวกให้ เพราะเสมือนไปทำข่าวประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาล (พูดง่ายๆว่านักข่าวที่ไปแบบนี้ไม่ได้มีเสรีภาพที่จะมาทำข่าวด่ารัฐบาลหรอก ทีวีพูลคุณก็รู้อยู่)
 
บังเอิญรอบนี้ คิวมาลงช่อง 7 และคิวนักข่าวก็ลงสมจิตต์พอดี พูดอย่างให้ความเป็นธรรม รัฐบาลก็สะดุ้ง นักข่าวที่จะตามนายกฯ ดันเป็นสมจิตต์ ที่รู้กันอยู่ว่ามีอคติกับรัฐบาล รัฐบาลขอเปลี่ยนตัว ช่อง 7 ไม่ยอม รัฐบาลก็เลยบอกว่างั้นไม่ต้องไปแล้ว โดยอ้างทางกัมพูชา
 
ถามว่านี่คือการแทรกแซงสื่อไหม พูดตรงไปตรงมาก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ แต่เรียกให้ถูก น่าจะเรียกว่าปฏิเสธสื่อ คือไม่ใช่รัฐบาลเอาช่อง 3,5,9,11 ไปแต่ไม่ยอมให้ช่อง 7 ไป แบบนั้นถือว่าปิดกั้น แต่แบบนี้คือ เมื่อมีสมจิตต์ให้เลือกคนเดียว กรูก็ไม่เลือก ไม่เอานักข่าวตามไปซะเลย ถามว่ามีสิทธิไหมครับ
 
แต่แน่นอนรัฐบาลเสีย คือแทนที่จะได้ประชาสัมพันธ์ผลงาน ก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ นักข่าวก็เสีย คือแทนที่จะได้ข่าว ก็ไม่ได้ข่าว
 
พูดอย่างให้ความเป็นธรรมกับสมจิตต์ เธอบอกเพื่อนๆ ว่ารู้หรอกน่า ไปในนามทีวีพูล ทำข่าวการประชุมนานาชาติ เธอก็ต้องทำตัวให้เหมาะสม ไม่ไปทำวงแตกหรอก ผมว่ารัฐบาลน่าจะให้โอกาสเธอ เพราะถ้าเธอทำวงแตก รัฐบาลก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจี้ทีวีพูลและช่อง 7 เล่นงาน
 
หน้าที่กับทัศนะ
 
ถ้าเรายอมรับว่านักข่าวเลือกข้างได้ มีเสรีภาพที่จะเป็นเหลืองแดง เลือกนิยมพรรคใดพรรคหนึ่ง ประเด็นที่ควรถกกันในแวดวงวิชาชีพสื่อคือ เราสามารถเอาทัศนะส่วนตัวเข้าไปสอดแทรกในการทำหน้าที่มากน้อยเพียงใด
 
ถ้าเป็นคอลัมนิสต์ เป็นคอมเมนเตเตอร์ โอเค ไม่มีปัญหา คุณจะใส่ความเห็นอย่างไรในคอลัมน์ ชัดเจนว่าเป็นความเห็นส่วนตัว (แต่ถ้าปลุกความเกลียดชัง ปลุกให้คนไร้สติ ก็คือสื่อรวันดา สมควรถูกประณาม ไม่สามารถปกป้องว่าเป็นเสรีภาพสื่อ)
 
ถ้าเป็นหัวหน้าข่าว รีไรเตอร์ สื่อไทยพยายามขีดวงว่าไม่ใส่ความเห็นในเนื้อข่าว (แต่มันก็มีวิธีสอดแทรก) ส่วนโปรยข่าว พาดหัวข่าว หลายสำนักละเลงกันสะใจ นี่ก็แยกคนอ่านอยู่ในตัว ฉบับไหนเป็นสื่อเหลือง สื่อแดง สือสลิ่ม หรืออีแอบ
 
ผมยืนยันเสมอว่าสื่อเลือกข้างได้ แต่คุณต้องยอมรับผลของการกระทำนั้น ไม่ใช่สื่อคุกคามคนแต่ห้ามคนเขาตอบโต้สื่อ สื่อเลือกข้างก็ต้องยอมรับว่าคุณจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกแสดงความไม่พอใจ ประท้วง ด่าทอได้ ตราบใดที่ไม่ใช้กำลังและไม่เข้าข่ายดูหมิ่นเหยียดหยามหรือหมิ่นประมาท (แบบเดียวกับหนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ของสลิ่มตัวแม่ อิ๋ง กาญจนวณิชย์ ควรมีเสรีภาพในการฉาย แต่ฉายแล้วคนดูด่าขรม เสื้อแดงเกลียดชัง ผู้กำกับก็ต้องยอมรับ)
 
ปัญหาน่าคิดคือบทบาทของนักข่าวภาคสนามนี่สิ บทบาทของนักข่าวภาคสนามไม่ได้อยู่ที่การเขียนคอลัมน์หรือพาดหัว แต่อยู่ที่การตั้งประเด็นคำถาม ไม่ว่าจะถามนำ ถามตาม ถามต้อน ต้องทำการบ้านมาอย่างแม่นยำ นักข่าวเก่งๆ อย่างสมชาย มีเสน ไม่ได้ส่งผลสะเทือนเฉพาะหนังสือพิมพ์ฉบับที่ตัวเองอยู่ แต่เป็นผู้กำหนดประเด็นข่าวทำเนียบในวันนั้นของทุกสื่อได้เลย (นักการเมืองถึงได้กลัว)
 
ฉะนั้น ถ้าเราเลือกข้างแล้วเราสามารถสอดแทรกทัศนะเข้าไปในการตั้งคำถามมากน้อยเพียงไร
 
นักข่าวตัวอย่างในกรณีคล้ายสมจิตต์ ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม สุทิน วรรณบวร ผู้สื่อข่าวเอพี ผู้ตั้งคำถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตอนที่พันธมิตรบุกทำเนียบแล้วรัฐบาลสมัครประกาศภาวะฉุกเฉินว่า “ระหว่างชีวิตเลือดเนื้อประชาชนกับนายกฯ เฮงซวย จะเลือกฝ่ายไหน”
 
ใครที่ดูทีวีถ่ายทอดสดตอนนั้นคงจำได้ ไม่ใช่ถามธรรมดานะครับ แต่คุณสุทินใส่อารมณ์โกรธแค้นรุนแรงจนตัวสั่น
 
ถ้าคนไม่รู้จักมาก่อน คงเข้าใจว่าคุณสุทินเป็นแกนนำพันธมิตรหลุดเข้ามาในที่แถลงข่าว ไม่ใช่นักข่าว ซึ่งตอนหลังคุณสุทินก็ลาออกจากนักข่าว แล้วโดดขึ้นเวทีพันธมิตรจริงๆ
 
คุณสุทินเจ้าของหนังสือ “นักข่าวสายโจร” เป็นนักข่าวแบบที่สามารถใช้ภาษากำลังภายในว่า “ชิงชังความชั่วร้ายยิ่งกว่าความอาฆาตแค้น” เก่ง กล้า ตรงไปตรงมา อัตตาสูง แสดงออกอย่างร้อนแรงทุกยุคทุกสมัย เท่าที่จำความได้ก็ตั้งแต่สมัย รสช.เช่นถามบรรหารเรื่องที่พูดในสภาว่ามีนักการเมืองตระบัดสัตย์ "อยากรู้ว่าใครเป็นสัตว์ ใครเป็นคน คุณเป็นสัตว์หรือไม่" ตอนทักษิณเรียกพรรคเล็กมาลงสัตยาบัน ก็ถามว่า "นี่สภาจริงหรือสภาโจ๊ก"
 
“คุณดูสิครับว่าไอ้คนที่ได้รับคำถามจากเราน่ะ มันเหมาะสมที่จะได้รับคำพูดที่ไพเราะเพราะพริ้งไหม คุณคิดว่านักการเมืองพวกนี้ ควรได้รับคำถามแบบไหน คำถามที่นอบน้อมไหม ถ้าคนเลว เราต้องถามด้วยคำถามเลวๆ นักการเมืองที่คนทั้งประเทศเรียกมันว่าไอ้ จะให้คนเรียกว่าท่านเหรอ อย่างนี้แหละ ประชาชนถึงได้ถูกขี่คอมาตลอด”
 
ฟังแล้วน่าปรบมือให้ ถ้าไม่ฉุกคิดว่านี่ผู้นำม็อบหรือนักข่าว (กันแน่วะ)
 
“ผมถามว่าคุณสมัครเมื่อเกิดเหตุนองเลือดขึ้นแล้วเนี่ย พรรคประชากรไทยของคุณจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลไหม แกก็บอกว่า เออ..ทีจอร์จบุชมันฆ่าคนในเหตุจลาจลในอเมริกาไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย ผมก็บอกว่ามันคนละเรื่องกัน ผมถามว่าคุณจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลไหม แกก็เห็นนักข่าวฝรั่งเยอะแกก็บอกให้ฝรั่งถามบ้าง ปีเตอร์ซึ่งเป็นนักข่าวฝรั่งเขาก็บอกว่าผมก็จะถามเหมือนที่คุณสุทินถามน่ะแหล่ะ ผมก็ถามย้ำว่าจะถอนตัวหรือเปล่า แกหันขวับมาบอกว่าคุณหุบปากได้แล้ว ผมก็เลยสวนไปว่ามึงก็หุบปากสิวะ แกก็บอกว่าถ้างั้นคุณมาถามผมทำหอกอะไร ผมก็บอกว่าแล้วคุณมาเป็นรองนายกทำส้น....อะไร เท่านั้นแหละวงแตกเลย ตอนนี้พอแกมาเป็นนายกฯก็เลยมีคนตั้งฉายาแกว่า ‘นายกฯหอกหัก’ (หัวเราะขำ)”
 
คุณสุทินเล่าในผู้จัดการย้อนอดีตหลังพฤษภาทมิฬ
 
นี่ไม่ใช่เรื่องสีนะครับ ไม่ใช่เพราะเป็นสีเหลือง แต่สมมติกลับข้างกัน นักข่าววอยซ์ทีวีลุกขึ้นมากำหมัดกัดฟันหน้าแดงก่ำตะโกนถาม พล.อ.อนุพงษ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ว่า “ระหว่างชีวิตเลือดเนื้อประชาชนกับนายกฯ ฆาตกร จะเลือกฝ่ายไหน” ผมก็ว่าคุณมีปัญหาแล้ว คุณจะเป็นนักข่าวหรือเป็นเสื้อแดง เส้นแบ่งมันเลอะเลือน เวลาทำหน้าที่ คุณต้องชัดเจนว่าเป็นนักข่าว
 
ถ้าเปรียบเทียบให้ Extreme อีกหน่อยก็คือ นักข่าวอิรักขว้างรองเท้าใส่จอร์จ บุช ในความเป็นชาวอิรักผู้ถูกรุกรานเขาคือฮีโร่ แต่ในความเป็นนักข่าว เขาล้ำเส้นจรรยาบรรณ
 
หลังคำถาม “นายกฯ เฮงซวย” คุณสุทินมีปัญหากับเอพีต้นสังกัด ท้ายที่สุดก็ลาออก (มาอยู่ ASTV พักหนึ่งแล้วลาออกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ) คุณสุทินโทษว่ามีคนอีเมล์ไปฟ้อง พวกพันธมิตรพูดทำนองว่าเอพีถูกซื้อ หรือมีอิทธิพลล็อบบิ้ยิสต์ แต่ว่ากันตามเนื้อผ้า ถ้าผมเป็น บก.ข่าวเอพี ผมก็มองว่าคุณสุทินเลือกข้างแล้วใช้อารมณ์จนมีปัญหาในการทำข่าว ไม่เหมาะสมจะทำหน้าที่อีกต่อไป
 
สำนักข่าวใหญ่ระดับโลกนะครับ เขามีกรอบเกณฑ์ของเขาอยู่ ถึงไม่จำกัดว่าต้อง “เป็นกลาง” อย่างเคร่งครัด แต่ก็อย่าแสดงอารมณ์จนกระทบกระเทือนเครดิตของต้นสังกัด
 
จะหาเรื่องหรือหาข่าว
 
ย้อนมาที่สมจิตต์ เธอยังไม่ตั้งคำถามรุนแรงขนาดคุณสุทิน แต่อาจเป็นเพราะเธอ “แหลม” อยู่คนเดียวในช่วงที่พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล (อันที่จริงเท่าที่สอบถาม มีนักข่าว 3-4 คนที่มักตั้งคำถามซักไซ้ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามร้อนเท่าสมจิตต์ รายหนึ่งอยู่สำนักข่าวต่างประเทศ แต่ประเด็นที่สำนักข่าวต่างประเทศต้องการก็แตกต่างไป)
 
นักข่าวที่สนิทกันรายหนึ่งยังบอกว่า สมจิตต์ตั้งคำถามคล้ายๆ ผมสัมภาษณ์ไทยโพสต์แทบลอยด์นั่นแหละ อย่างน้อยก็มีส่วนคล้ายกัน 50% ขึ้นไป คือต้อนจนกว่าจะได้ประเด็นที่ต้องการ
 
อ้าว งั้นเหรอ แต่ผมว่าไม่เหมือนกัน บรรยากาศต่างกัน ผมสัมภาษณ์พิเศษ 2 ต่อ 2 ไม่ว่าจะมีความเห็นตรงกันหรือตรงข้าม ยังเป็นการโอภาปราศรัยในบรรยากาศที่เอื้อ ไม่เหมือนยืนแย่งกันถามในทำเนียบ บางครั้งผมถามแรงในเนื้อหา แต่ก็ระวังท่าที และมักจะมาในช่วงท้ายๆ หลังจากปรับทุกข์ผูกมิตรแล้ว ไม่ใช่นั่งลงปุ๊บก็ชวนทะเลาะ ผมมีเวลาต้อน ยั่วยุ หรือยกยอ จนได้ประเด็นที่ต้องการ อย่างน้อยผมก็ไม่เคยลงเอยด้วยการหวิดฟาดปากกับแหล่งข่าวหรือโดนด่าไล่หลัง ส่วนใหญ่ชอบด้วยซ้ำ เพราะผมให้เขาพูดในสิ่งที่เขาอยากพูด พร้อมๆ กับถามในประเด็นที่ผมอยากถาม และประเด็นที่ผมคิดว่าคนอ่านอยากรู้
 
พูดแล้วจะหาว่าคุย งานสัมภาษณ์ที่ผมภาคภูมิใจคือสัมภาษณ์สนธิ ลิ้ม ในฉบับท้ายๆ ก่อนเลิกทำไทยโพสต์แทบลอยด์ สนธิก็รู้ว่าผมคิดอย่างไร แต่ผมให้สนธิพูดให้หมด และผมก็ถามสิ่งที่ผมอยากถามจนหมด สนธิอ่านแล้วชอบใจจนเอาไปพิมพ์เป็นเอกสารประกอบการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ พันธมิตรอ่านแล้วปลื้ม เสื้อแดงอ่านแล้วยิ่งชิงชัง มันออกมาสมบูรณ์แบบทั้งสองด้าน
 
ไม่ใช่ว่าผมสัมภาษณ์แล้วไม่ชวนทะเลาะ มียกเว้นบางราย เช่น พี่เปี๊ยก พิภพ ธงไชย เนื่องจากสนิทกัน ผมตั้งคำถามชวนทะเลาะ ประชดประเทียดเสียดสีอีกต่างหาก แต่ให้รสชาติไปอีกแบบ เป็นการเอาตัวตนของผมใส่เข้าไปในงานสัมภาษณ์ (เคยสัมภาษณ์ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จนลูกสาว อ.สมเกียรติที่นอนอยู่ข้างวงหายง่วงลุกขึ้นมาถามว่านี่จะทะเลาะกันหรือสัมภาษณ์กัน)
 
ที่ยกหางตัวเองมายืดยาว คริคริ คือผมจะบอกว่าการตั้งคำถามมันเป็นศิลปะ ที่ต้องทำให้สอดคล้องกับกาลเทศะ ไม่ใช่ว่าผมเก่งหรอก ให้ผมไปยืนถามในทำเนียบก็คงใบ้กิน แต่หลักการเดียวกัน ถ้าเราอยากได้คำตอบ หรือแม้แต่อยากซักให้จน บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามแรง แต่หาวิธีไล่เรียงเอา
 
สมมติเช่น แทนที่จะถามว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คิดจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติและประชาชนบ้างหรือไม่” คุณก็อาจจะถามว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ รัฐบาลต้องการแก้ไขประเด็นไหนบ้าง” ถ้าคุณมี agenda คุณก็ต้องพยายามล่อให้เขาตอบ เช่น ต้องการแก้ ม.237 เรื่องยุบพรรคใช่หรือไม่ จากนั้นค่อยลงท้ายว่าต้องการแก้ ม.309 ใช่หรือไม่
 
แต่พอถามว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คิดจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติและประชาชนบ้างหรือไม่” คุณอยากให้ยิ่งลักษณ์ตอบว่าอะไร “ไม่คิดค่ะ” กระนั้นหรือ มันคือคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ และจริงๆ มันไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำประณามที่มาในรูปของคำถาม ฉะนั้นไม่แปลกหรอกที่ยิ่งลักษณ์เดินหนี
 
แล้วมันก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่เขาจะวิจารณ์กลับ เป็นสิทธิของสุรนันท์ เวชชาชีวะ ที่จะวิจารณ์สมจิตต์ หรือวิจารณ์ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ หรือจะวิจารณ์ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เช่นเดียวกับที่พรรคแมลงสาบมีสิทธิตอบโต้ผม สือจะถือสิทธิวิจารณ์นักการเมืองข้างเดียวไม่ได้
 
ผมพยายามจะแยกเรื่องสีเสื้อ ทัศนะ ออกไปแม้คงแยกไม่ได้เด็ดขาด แต่ลองสมมติตัวเองว่าถ้าผมเป็นบรรณาธิการข่าวทีวี ที่มีนักข่าวทำเนียบเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาล ผมจะทำอย่างไร ถ้านักข่าวของผมใช้วิชาชีพเป็นเครื่องมือแสดงทัศนะทีเกลียดชัง อคติ จนฝ่ายรัฐบาลต่อต้าน ถามอะไรก็ไม่ตอบ หรือตอบก็กลายเป็นทะเลาะกัน จะโทษนักข่าวฝ่ายเดียวไหม ก็คงไม่ แต่ถามว่าเขาทำหน้าที่นักข่าวได้เต็มที่ไหม คำตอบก็คือไม่
 
เอาง่ายๆ ถ้านักข่าววอยซ์ทีวีประณามอภิสิทธิ์ “ฆาตกร” ถ้าผมเป็น บก.ข่าวผมก็ต้องเรียกมาอบรม คุณแสดงอารมณ์อย่างนี้ไม่ได้ มันมีขีดคั่นของจรรยาบรรณอยู่ คุณไปยืนตรงนั้นไม่ได้ไปในฐานะส่วนตัว ไม่ได้ไปในฐานะวอยซ์ทีวีด้วยซ้ำ แต่ไปในฐานะนักข่าวที่ต้องตั้งคำถามแทนประชาชน ถามในสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ คุณไม่มีหน้าที่ไปแสดงความเห็นหรืออารมณ์ของตัวเอง ถ้ามีความเห็น ก็ใช้สมองของคุณแปรมันออกมาเป็นคำถามที่สอดคล้องกับความอยากรู้ของสาธารณชน
 
พูดอีกอย่างในฐานะที่เราทำงาน เราก็ต้องอยากได้งาน เราตั้งคำถาม เราย่อมอยากได้คำตอบ ถ้าถามแล้วทำให้ไม่ได้คำตอบ ไม่ได้ข่าว เพียงแต่เป็นข่าวว่านายกฯ เดินหนีนักข่าวปากกล้า กลายเป็นตัวเราเป็นข่าวเสียเอง อย่างนี้ถือว่าบรรลุเป้าหมายของงานข่าวหรือไม่
 
ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ผมจะบอกว่าช่อง 7 ควรเปลี่ยนสมจิตต์ไปทำข่าวบันเทิง เพราะผมมองว่าสมจิตต์เป็นนักข่าวที่เก่ง เราควรมีนักข่าวเก่งๆ ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ไม่ใช่มีแต่นักข่าวที่เช้ามาก็ชมว่า วันนี้ท่านนายกฯ แต่งตัวสวยจัง แต่ปัญหาคือสมจิตต์ต้องหาจุดลงตัว หาจุดที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ
 
ผมไม่ได้บอกว่านักข่าวจะต้องไปเอาอกเอาใจนักการเมือง ทหาร แต่ดูอย่างวาสนา นาน่วม ผบ.เหล่าทัพยัวะเธอก็หลายครั้ง แต่วาสนายังอยู่ ยังตั้งคำถามให้ ผบ.เหล่าทัพต้องตอบ เธอต้องมีศิลปะ ทีแข็งทีอ่อน ไม่งั้นก็ทำข่าวไปด้วยเขียนลับลวงพรางไปด้วยไม่ได้หรอก
 
ขอย้ำว่านี่ผมไม่ได้พูดเรื่องสมจิตต์คนเดียว แต่เธอเป็นตัวอย่างของกรณีที่นักข่าวเลือกข้างแล้ว จะทำหน้าที่อย่างไรให้เหมาะสม นี่เป็นประเด็นที่วงวิชาชีพสื่อควรขบคิด ไม่ใช่พอมันเป็นเรื่องแล้วก็สะใจ “ยุน้องออกมาตายดาบหน้า”
 
อันที่จริงผมเชื่อว่าเรื่องสีเสื้อมีส่วน เพราะมันทำให้คนสุดขั้วสุดโต่ง โดยเฉพาะสื่อ สุดโต่งอย่างไม่เคยเห็นกันมาก่อน เพราะความเชื่อที่ว่าตัวเองเป็นฝ่ายดี ฝ่ายถูก มีคุณธรรมจริยธรรม ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคือความชั่วร้าย
 
สมจิตต์เองก็ทำหน้าที่ตรวจสอบมาทุกรัฐบาล ตั้งคำถามร้อนแรงกับทุกนายกฯ กระทั่งชวน หลีกภัย ยังเคยตอบโต้เธอว่ากลับไปถามพ่อถามแม่ที่บ้านสิ
 
แต่ในวิกฤติที่ไม่ปกตินี้ เธอก็น่าจะรู้ตัวเองดี ว่าอยู่ในอุณหภูมิปกติหรือไม่ เธอตรวจสอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในมาตรฐานเดียวกับรัฐบาลชวน หรืออย่างน้อยก็รัฐบาลบรรหารหรือเปล่า ถ้าอยู่ในระดับอารมณ์เดียวกันถึงมันจะมีปัญหา แต่ก็ไม่น่ามากขนาดนี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net