นิติราษฎร์: การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนถึงบทเรียนเรื่องการทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการ และการไม่ยอมรับรัฐประหารในนานาอารยะประเทศ 
 
 
การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการ
และการไม่ยอมรับรัฐประหารในนานาอารยะประเทศ  

เยอรมนี

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นยุติว่าคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าสิทธิหน้าที่ของบุคคลในทางกฎหมายมีอยู่อย่างไร คำพิพากษานั้นจะถูกหรือผิดอย่างไรในทางกฎหมายก็ตาม โดยปกติแล้ว ก็ย่อมมีผลผูกพันบรรดาคู่ความในคดี ข้อพิพาททางกฎหมายย่อมยุติลงตามการชี้ขาดคดีของศาลซึ่งถึงที่สุด และคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นฐานแห่งการบังคับคดีตลอดจนการกล่าวอ้างของคู่ความในคดีต่อไปได้  คุณค่าของการต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลก็คือ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล อันมีผลบั้นปลายในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม กรณีย่อมเป็นไปได้เสมอที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอาจเกิดความผิดพลาดขึ้น ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากความจงใจหรือความประมาทเลินเล่อขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือความผิดพลาดนั้น อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยก็ได้ ระบบกฎหมายที่ดีย่อมกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้วได้ ในทางกฎหมาย เราเรียกกระบวนการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้ว แต่มีความบกพร่อง และหากปล่อยไว้ไม่ให้มีการทบทวน ก็จะไม่ยุติธรรมแก่คู่ความในคดีว่า การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในกรณีที่ปรากฏในกระบวนการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ศาลที่พิจารณาคดีดังกล่าวนั้น ย่อมต้องยกคำพิพากษาเดิมซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาดเสีย แล้วพิพากษาคดีดังกล่าวใหม่

การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นหนทางของการลบล้างคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ทั้งนี้ตามกระบวนการ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าในระบบกฎหมายนั้น โดยองค์กรที่มีอำนาจลบล้างคำพิพากษาที่ผิดพลาดดังกล่าว ก็คือ องค์กรตุลาการหรือศาลนั่นเอง

ในทางนิติปรัชญาและในทางทฤษฎีนิติศาสตร์ ยังคงมีปัญหาให้พิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาอาศัยอำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาคดีไปตามตัวบทกฎหมายซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่เคารพหลักการพื้นฐานของกฎหมาย นำตนเข้าไปรับใช้อำนาจทางการเมืองในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ยอมรับสิ่งซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นกฎหมายได้ ให้เป็นกฎหมาย แล้วชี้ขาดคดีออกมาในรูปของคำพิพากษา  ในเวลาต่อมาผู้คนส่วนใหญ่เห็นกันว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่ไม่อาจยอมรับนับถือให้มีผลในระบบกฎหมายได้ และเห็นได้ชัดว่าไม่อาจใช้วิธีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ลบล้างคำพิพากษานั้นได้เช่นกัน จะมีหนทางใดในการลบล้างคำพิพากษาดังกล่าวนั้น

หลักการเบื้องต้นในเรื่องนี้ มีอยู่ว่า กฎเกณฑ์ที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรง ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายฉันใด คำตัดสินที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรมอย่างชัดแจ้งก็ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นคำพิพากษาฉันนั้น

ในประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ความปรากฏชัดว่า ศาลต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลพิเศษที่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์จัดตั้งขึ้นเป็นศาลสูงสุดในคดีอาญาทางการเมือง (เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า Volksgerichtshof  ซึ่งอาจแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า ศาลประชาชนสูงสุด เมื่อแรกตั้งขึ้นนั้น ศาลดังกล่าวนี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทรยศต่อชาติ ต่อมาได้มีการขยายอำนาจออกไปในคดีอาญาอื่นๆด้วย เช่น การวิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะในสงครามของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ศาลดังกล่าวนี้ก็อาจลงโทษประหารชีวิตผู้วิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะนั้นเสียก็ได้) ได้พิพากษาลงโทษบุคคลจำนวนมากโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรม  มีคำพิพากษาจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้ใช้วิธีการตีความกฎหมายขยายความออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษบุคคล ในหลายกรณีเห็นได้ชัดว่าศาลได้ปักธงในการลงโทษบุคคลไว้ก่อนแล้ว และใช้เทคนิคโวหารในการใช้และการตีความกฎหมายโดยบิดเบือนต่อหลักวิชาการทางนิติศาสตร์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลงโทษบุคคลนั้น (เช่น คดี Leo Katzenberger)

มีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีในนามของกฎหมายและความยุติธรรมของศาลในระบบนาซีเยอรมัน เกิดจากแรงจูงใจในทางการเมือง เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และศาสนา (อาจเรียกให้สมกับยุคสมัยว่า "ตุลาการนาซีภิวัฒน์") อีกทั้งกระบวนการในการดำเนินคดี ขัดต่อหลักการพื้นฐานหลายประการ เช่น การไม่ยอมมีให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาที่เห็นได้ชัดว่ามีส่วนได้เสียหรือมีอคติในการพิจารณาพิพากษาคดี การจำกัดสิทธิในการนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหา การกำหนดให้การพิจารณาพิพากษากระทำโดยศาลชั้นเดียว ไม่ยอมให้มีการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา การจำกัดระยะเวลาในการต่อสู้คดีของจำเลย เพื่อให้กระบวนพิจารณาจบไปโดยเร็ว มิพักต้องกล่าวถึงบรรยากาศของการโหมโฆษณาชวนเชื่อในทางสาธารณะ และแนวความคิดของผู้พิพากษาตุลาการในคดีว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาเพียงใด ที่น่าขบขันและโศกสลดในเวลาเดียวกันก็คือ แม้ว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในเวลานั้น จะออกโดยเผด็จการนาซี และศาลในเวลานั้นต้องใช้กฎหมายของเผด็จการนาซีในการพิจารณาพิพากษาคดีก็ตาม แต่ถ้าใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้วไม่สามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้ เช่นนี้ ศาลก็จะตีความกฎหมายจนกระทั่งในที่สุดแล้ว สามารถพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจนได้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว มีเสียงเรียกร้องให้ลบล้างหรือยกเลิกคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการครองอำนาจของรัฐบาลนาซีเสีย  แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าควรจะต้องลบล้างบรรดาคำพิพากษาดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ถกเถียงกันว่าวิธีการในการลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นควรจะเป็นอย่างไร ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะดำเนินการลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีเป็นรายคดีไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะลบล้างคำพิพากษาทั้งหมดเป็นการทั่วไป ในชั้นแรก ในเขตยึดครองของอังกฤษนั้น ได้มีการออกข้อกำหนดลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๑๙๔๗ ให้อำนาจอัยการในการออกคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีหรือให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีก็ได้เป็นรายคดีไป การลบล้างคำพิพากษาเป็นรายคดีนี้ได้มีการนำไปใช้ในเวลาต่อมาในหลายมลรัฐ อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก ทั้งความยุ่งยากในการดำเนินกระบวนการลบล้างคำพิพากษาและการเยียวยาความเสียหาย ปัญหาดังกล่าวนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาในเยอรมนีเกือบจะตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ

ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ประกาศว่า ศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมือง (Volksgerichtshof) เป็นเครื่องมือก่อการร้ายเพื่อทำให้ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนาซีสำเร็จผลโดยบริบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ บรรดาคำพิพากษาทั้งหลายที่เกิดจากการตัดสินของศาลดังกล่าวจึงไม่มีผลใดๆในทางกฎหมาย และในปี ค.ศ.๒๐๐๒ ได้มีการออกรัฐบัญญัติลบล้างคำพิพากษานาซีที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมในคดีอาญา กฎหมายฉบับนี้มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมืองและศาลพิเศษคดีอาญาทุกคำพิพากษา
 

ฝรั่งเศส

ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert , Joseph Barthélemy , George Ripert , Roger Bonnard 

เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la  République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร 

รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส”  รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ ๒ ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๑ 

ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่”  การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส

เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา ๒ ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วยเหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว,  ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๐ จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย   

นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๑๘ มีนาคม ๑๙๔๓ และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ๑๙ มิถุนายน ๑๙๔๓ จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)  

การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ ๒ ประเด็น

ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง

ประเด็นที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ 

รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา ๘ ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่  และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?

เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใดแล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม  อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด  ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยระบอบวิชี่ได้ 

จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป 

นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น 
 

สวิตเซอร์แลนด์

ปี ๒๐๐๓ รัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ได้ตรารัฐบัญญัติฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๐๓ ใจความสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้ คือ การเพิกถอนคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากการกระทำของนาซี 

ในมาตราแรก เป็นการประกาศวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่า “รัฐบัญญัตินี้วางหลักเรื่องการเพิกถอนคำพิพากษาคดีอาญาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากการกระทำของนาซี และเยียวยาให้แก่บุคคลเหล่านั้น รัฐบัญญัตินี้มุ่งหมายเพิกถอนคำพิพากษาเหล่านี้ในฐานะเป็นการละเมิดความยุติธรรมอย่างร้ายแรงในยุคปัจจุบัน” จากนั้นจึงยืนยันในมาตรา ๓ ว่า “คำพิพากษาของศาลทหาร ศาลอาญาแห่งสหพันธ์ ศาลอาญาแห่งมลรัฐ ที่ลงโทษบุคคลที่ช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซี ถูกเพิกถอน” 

เมื่อกฎหมายประกาศให้คำพิพากษาของศาลสิ้นผลไปแล้ว  ก็จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาให้แก่บุคคลที่ต้องโทษตามคำพิพากษาเหล่านั้น ในมาตรา ๔ กำหนดให้บุคคลเหล่านั้นมีสิทธิในการได้รับการเยียวยาชดเชย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อว่า “คณะกรรมการเยียวยาชดเชย” ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องขอการเยียวยาชดเชยของบุคคลที่เคยต้องโทษตามคำพิพากษา และอาจเยียวยาชดเชยให้บุคคล เหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องขอก่อนก็ได้ ในกรณีที่บุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ก็ให้ญาติเป็นผู้ร้องขอแทน  
 

กรีซ

รัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ เป็นรัฐธรรมนูญในสมัยที่กรีซมีกษัตริย์เป็นประมุข โดยในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายกษัตริย์นิยม ด้วยบรรยากาศของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยม ในท้ายที่สุดฝ่ายกษัตริย์นิยมชนะ และประกาศนำรัฐธรรมนูญ ๑๙๑๑ (ซึ่งกำหนดให้มีกษัตริย์) กลับมาปัดฝุ่นใช้บังคับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ โดยเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์ – Royal Democracy” หรืออาจเรียกให้เข้าไทยเสียหน่อย คือ “ประชาธิปไตยแบบกรีซๆ” นั่นเอง 

ทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารในวันที่ ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ ยกเลิกระบอบกษัตริย์ และล้มล้างรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ คณะรัฐประหารได้ปกครองแบบเผด็จการทหาร มีการประกาศใช้คำสั่งที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ต่อมาด้วยสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองอันรุมเร้า รัฐบาลเผด็จการไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเหล่านั้น โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งกับไซปรัส รัฐบาลเผด็จการทหารจึงล้มไปในปี ๑๙๗๔ นาย Karamanlis อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายขวาซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ปารีสตั้งแต่ปี ๑๙๖๓ ได้รับเชิญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยรวมขั้วการเมืองทุกฝ่าย รัฐบาลแห่งชาติของนาย Karamanlis ได้รับการคาดหวังจากประชาชนกรีซว่าจะนำพาสังคมกรีซให้ตื่นจากการหลับใหลและนำพาประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย 

รัฐบาลเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยขั้นที่หนึ่ง โดยประกาศใช้คำสั่งทางรัฐธรรมนูญ ๑ สิงหาคม ๑๙๗๔ (เป็นคำสั่งที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้อยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญตามความหมายเชิงรูปแบบ) ว่าด้วย “ฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายแบบประชาธิปไตย” โดยรับแนวความคิดมาจากประเทศฝรั่งเศสในกรณีรัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ 

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายแบบประชาธิปไตย รัฐบาล ต้องจัดการ “ทำลาย” ผลิตผลทางกฎหมายสมัยเผด็จการทหาร ด้วยเหตุนี้ คำสั่งทางรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๔ จึงประกาศให้บรรดารัฐธรรมนูญสมัยเผด็จการทหาร (ตั้งแต่ปี ๑๙๖๘ ถึง ๑๙๗๓) และการกระทำที่มีเนื้อหาทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ (วันที่คณะทหารรัฐประหาร) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลได้ประกาศความเสียเปล่าของบรรดาการกระทำทางกฎหมายทั้งหลายของรัฐบาลเผด็จการทหารไปแล้ว ก็เท่ากับว่าต้องกลับไปหารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น คือ รัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ กลับมาอีก รัฐบาลจึงประกาศให้นำรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ มาใช้ทั้งฉบับ เว้นแต่เรื่องรูปแบบรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข  ทั้งนี้ ก็เพราะว่ารัฐบาลแห่งชาติต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่ากรีซสมควรเป็นสาธารณรัฐหรือมีกษัตริย์ รัฐบาลได้กำหนดให้มีการออกเสียงลงประชามติในเบื้องต้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๗๔ ว่า ประชาชนเห็นสมควรให้กรีซมีกษัตริย์เป็นประมุข หรือสมควรให้กรีซเป็นสาธารณรัฐ ผลปรากฏว่าประชาชนจำนวนร้อยละ ๖๙.๒ เห็นด้วยกับรูปแบบสาธารณรัฐ เป็นอันว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป กรีซไม่มีกษัตริย์ และเป็นสาธารณรัฐ 

นอกจากนี้รัฐบาลแห่งชาติยังได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และให้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และได้ลงนามในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป

ขั้นตอนต่อไป คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ กรีซจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ของ Karamanlis ได้รับชัยชนะ จึงไม่น่าแปลกใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีรากฐานความคิดของ Karamanlis เป็นสำคัญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๑๙๗๕ และประกาศใช้บังคับในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๑๙๗๕    
 

สเปน

สงครามกลางเมืองในสเปนสิ้นสุดลงเมื่อปี ๑๙๓๖ โดยนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ปราบปรามกลุ่มต่างๆ และเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร นายพลฟรังโก้ปกครองสเปนด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ตรากฎหมายและออกคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ใช้กำลังเข้าปราบปรามเข่นฆ่าบุคคลที่คิดแตกต่าง ออกมาตรการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายหลังระบอบฟรังโก้ล่มสลาย สเปนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่นิติรัฐ-ประชาธิปไตย ภายใต้การนำของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอสและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ในท้ายที่สุด ประชาชนก็ได้ออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๘ 

อย่างไรก็ตาม แม้นิติรัฐ-ประชาธิปไตยจะมั่นคงและมีเสถียรภาพในดินแดนสเปน แต่ผลกระทบจากการกระทำต่างๆในระบอบฟรังโก้ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้น ในนามของความ “ปรองดอง” สเปนจึงออกมาตรการจำนวนมากเพื่อ “ลืม” บาดแผลจากระบอบฟรังโก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการอภัยโทษให้กับการกระทำในสมัยระบอบฟรังโก้ การนิรโทษกรรมแบบสเปนนี่เอง กลายเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น ชิลี อาร์เจนตินา 
 
ปี ๒๐๐๔ ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ ได้รวมตัวกันจัดทำแถลงการณ์ข้อเสนอถึงรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อลบล้างผลพวงของระบอบฟรังโก้ และแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากระบอบฟรังโก้

ในแถลงการณ์ดังกล่าว มีข้อเสนอในหลายประเด็น ตั้งแต่ การลบล้างการกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้ การจ่ายค่าเยียวยาชดเชยให้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบ การจัดตั้งหอจดหมายเหตุรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในระบอบฟรังโก้ การรับรองสิทธิในการรับรู้ของผู้เสียหายหรือญาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบอบฟรังโก้ 

กล่าวสำหรับ การลบล้างการกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้นั้น แถลงการณ์ได้นำรูปแบบการลบล้างกฎหมายและคำพิพากษาสมัยนาซีของเยอรมนีมาพิจารณาประกอบ แถลงการณ์เสนอว่า ให้รัฐสภาตรากฎหมายเพื่อประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ ด้วยเหตุที่ว่า สหประชาชาติได้มีมติที่ ๓๒ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๖ และมติที่ ๓๙ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๔๖ ว่า พิจารณาจากต้นกำเนิด ลักษณะ โครงสร้าง และการกระทำทั้งหลายแล้ว เห็นว่าระบอบฟรังโก้เป็นระบอบการปกครองแบบฟาสซิสต์ นอกจากนี้ การกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้มีความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ เพื่อให้การกระทำเหล่านั้นเสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย 

แถลงการณ์ยังได้เสนอต่อไปว่า ให้รัฐสภาตรากฎหมายประกาศให้ทุกคำพิพากษาของศาลอาญาและศาลทหาร ตลอดจนการดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาและศาลทหาร ในสมัยระบอบฟรังโก้เสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ด้วยเหตุที่ว่าคำพิพากษาและการดำเนินคดีเหล่านั้นเป็นไปตามอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐบาลต้องออกมาตรการที่เหมาะสมในการเยียวยาชดเชยให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากคำพิพากษาและการดำเนินคดีเหล่านั้น 

แถลงการณ์ ๒๐๐๔ ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติ ๕๒/๒๐๐๗ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๐๐๗ ว่าด้วยการยอมรับสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีและความรุนแรงในช่วงสงครามกลางเมืองและเผด็จการฟรังโก้ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ จึงทำหนังสือเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ โดยยืนยันว่ารัฐสภาต้องลบล้างการกระทำใดๆของระบอบฟรังโก้ และการลบล้างดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และไม่กระทบต่อความมั่นคงแห่งนิติฐานะของผู้สุจริตด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีเยอรมนีที่ได้ตรากฎหมายลบล้างกฎหมาย คำพิพากษา และการกระทำใดๆในสมัยนาซี สำเร็จมาแล้ว 
 

ตุรกี

ภายหลังจากมุสตาฟา เคมาล อัลตาเติร์กได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของตุรกี ระบอบการเมืองการปกครองในตุรกีก็ยังไม่มีเสถียรภาพและยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก จริงอยู่ระบอบเคมาลิสต์อาจนำความเป็นสมัยใหม่มาสู่ตุรกี แต่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ และความเป็นสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร ยังไม่อาจฝังรากลงไปในดินแดนแห่งนี้ มีการรัฐประหารโดยคณะทหารหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๑๙๖๐, ๑๙๗๑, ๑๙๘๐ 

รัฐประหารครั้งที่สามของตุรกีในยุคสมัยใหม่ และเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ รัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นำโดยนายพล Kenan Evren ตุรกีถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารในชื่อ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” และรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึง ๑๙๘๓ ส่วนนายพล Evren หัวหน้าคณะรัฐประหารก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี
 
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปซึ่งให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร) มีผลใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน จากนั้นก็ทยอยผ่องถ่ายอำนาจ โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ และมีรัฐบาลใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่มาจากการเลือกตั้งในปี ๑๙๘๓ อย่างไรก็ตามนายพล Evren ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีต่อไปจนถึงปี ๑๙๘๙ 

ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารรวมระยะเวลา ๓ ปี ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนี้นำมาซึ่งการนองเลือด มีประชาชนเสียชีวิต ๕,๐๐๐ คน ถูกจำคุก ๖,๐๐๐ คน ถูกดำเนินคดี ๒๐๐,๐๐๐ คน เสียสัญชาติตุรกีไปอีกร่วม ๑๐,๐๐๐ คน และประชาชนอีกนับหมื่นที่ได้รับการทรมาน 

บรรดานักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันมานานแล้วว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan มีดำริว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมุ่งลดทอนอำนาจศาลให้ได้ดุลยภาพมากขึ้น ลดทอนอำนาจกองทัพ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ปรับปรุงโครงสร้างและที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้ 

๑.) ให้ศาลพลเรือนมีเขตอำนาจเหนือทหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีกล่าวหาว่าทหารและบุคคลเหล่านั้นก่อกบฏล้มล้างรัฐบาลหรือก่ออาชญากรรมต่อรัฐ 
๒.) เพิ่มจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากเดิม ๑๑ คน เป็น ๑๗ คน จากเดิมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาจากการเสนอชื่อโดยศาลและให้ประธานาธิบดีลงนามแต่งตั้ง โดยดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ ๖๕ ปี เปลี่ยนมาเป็นสภาแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๓ คน และอีก ๑๔ คนประธานาธิบดีแต่งตั้งโดยเลือกจากบัญชีที่เสนอจากสภาทนายความ จากสภาสูงการศึกษา และศาล โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง ๑๒ ปี
๓.) เพิ่มจำนวนคณะกรรมการตุลาการ (กต.) จาก ๗ คน เป็น ๒๒ คน โดย ๔ คนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
๔.) ทหารที่ถูกสภาทหารสูงสุดปลดออกจากตำแหน่งมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้
๕.) รับรองสิทธิและเสรีภาพใหม่ๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิของผู้ด้อยโอกาส สิทธิของชนกลุ่มน้อย และคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมากขึ้น
๖.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมยังมีบทบัญญัติยกเลิกมาตรา ๑๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติชั่วคราวในรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ โดยมาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “การฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางกฎหมายใดเนื่องจากการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ไม่อาจทำได้” พูดง่ายๆก็คือ มาตรา ๑๕ สร้างเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องนั่นเอง 

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรวม ๒๖ มาตรา ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ยังไม่อาจมีผลใช้บังคับได้ เพราะ ได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงร้อยละ ๗๐ จึงต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ รัฐบาลกำหนดวันออกเสียงลงประชามติในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ โดยเจตนาให้ตรงกับวันครบรอบ ๓๐ ปีรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan ประกาศว่า “วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ เป็นวันอันเหมาะสมที่สุดสำหรับการเผชิญหน้ากับการทรมาน ความโหดเหี้ยม และการปฏิบัติอันไร้มนุษยธรรมของรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐” 

ในรัฐธรรมนูญตุรกี การออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ ผู้มีสิทธิออกเสียงมีหน้าที่ต้องไปออกเสียงประชามติ หากผู้ใดไม่ไปออกเสียง ต้องถูกปรับ (ประมาณ ๖๐๐ บาท) ผลปรากฏว่าประชาชนชาวตุรกีได้ออกเสียงลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนร้อยละ ๕๗.๙๐ ไม่เห็นชอบร้อยละ ๔๒.๑ มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ ๗๗ (จำนวนร้อยละ ๒๐ ที่ไม่มาออกเสียงนั้น ส่วนใหญ่เป็นฐานคะแนนของพรรคสังคมประชาธิปไตยที่ประกาศบอยคอตไม่ร่วมการออกเสียงประชามติครั้งนี้)  

เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ นั่นเท่ากับว่า บทบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหารและพวก (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล) ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้อง ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว  ดังนั้น ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้วันเดียว การทดสอบท้าทายตอบโต้รัฐประหาร๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ ก็เริ่มขึ้น สมาคมนักกฎหมายและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้ากล่าวโทษนายพล Kenan Evren (ปัจจุบันอายุ ๙๔ ปี) และพวกในความผิดฐานกบฏ ความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตลอดจนความรับผิดทางแพ่ง 
 

........................

นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, กรีซ, สเปน และตุรกีที่สมควรหยิบยกมาแสดงเป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่าใครจะได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย อีกทั้งเป็นการประกาศให้เห็นทั้งในทางสัญลักษณ์ ในทางประวัติศาสตร์ และในทางกฎหมายว่า ต่อไปนี้ หากมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจลง ระบบการเมือง-กฎหมายเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ตัวจริงในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการ “ลบล้าง” ผลพวงของรัฐประหาร และนำตัวคณะรัฐประหารมาลงโทษ 

__________________________________________

เชิงอรรถ
 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง 

 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่

 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว

 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบวิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และสนับสนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ

 คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république 

 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise 

 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane 

ที่มา: เว็บไซต์นิติราษฎร์


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท