Skip to main content
sharethis

ศาลเริ่มไต่สวน “คีนาน เอฟรอน” อดีตนายพลและปธน. ตุรกี พร้อมนายทหารระดับสูงเหตุทำการรัฐประหารเมื่อ 32 ปีก่อน โดยมีรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประชาชนยื่นเป็นโจทก์ร่วมฟ้อง ในขณะที่รบ. ปัจจุบันเตรียมดำเนินการ “ล้มล้างผลพวงรปห.”

4 เม.ย.55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อดีตประธานาธิบดีตุรกีและอดีตนายพล “คีนาน เอฟรอน” พร้อมอดีตผู้บัญชาทหารอากาศ ผู้มีบทบาทในการทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อ 32 ปีก่อนได้รับการไต่สวนโดยศาล ณ กรุงอังการาแล้ววันนี้ ในข้อหากระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1980

รายงานข่าวระบุว่า ถึงแม้ คีนาน เอฟรอน (Kenan Evren) วัย 94 ปี และทาชิน ซาฮินกายา (Tahsin Sahinkaya) อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ วัย 87 ปี จะไม่สามารถมาขึ้นศาลได้ด้วยตนเองเนื่องจากสุขภาพที่อ่อนแอ แต่อัยการก็ระบุว่า พวกเขาสามารถให้ปากคำผ่านทางวีดีโอลิงค์กับศาล

ทั้งนี้ การรัฐประหารครั้งล่าสุดของตุรกีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1980 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 20 ปีนั้น นำมาซึ่งการสังหารประชาชน 50 คน การจับกุมประชาชนกว่า 5 แสนคน และการเสียชีวิตจากการคุมขังและการหายตัวของคนอีกจำนวนมากภายในระยะเวลาสามปีของการปกครองระบอบทหาร

การไต่สวนคดีดังกล่าว ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อสองสามปีที่แล้ว ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดโดยทหารนับร้อยคน รวมถึงผู้บัญชาการกองทัพในอดีตและปัจจุบัน และพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในฐานะมีส่วนร่วมในแผนการโค่นล้มรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดย รีเซฟ เทยิพเออร์โดกัน (Recep Tayyip Erdogan)

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำให้ความคุ้มกันจากความผิด (immunity) จากการทำรัฐประหารของนายเอฟรอนหมดลงไป

ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลของเออร์โดกัน ฝ่ายค้าน และรัฐสภา ได้ร่วมกับประชาชนจำนวน 350 คนและกลุ่มต่างๆ ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมในศาลในฐานะคู่กรณีฝ่ายที่เสียหาย ซึ่งหมายความว่า ความเสียหายของโจทก์จะนำไปใช้ในการดำเนินคดีและการกำหนดบทลงโทษ

รัฐบาลเออร์โดกันระบุว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าพวกเขาควรจะได้เข้าร่วมกับผู้ที่ถูกกระทำคนอื่นๆ

“คู่กรณีอย่างแรกและที่สำคัญที่สุดต่อการรัฐประหารก็คือรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของชาติ” เออร์โดกันกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาต่อพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของเขาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ฝ่ายที่กระทำการรัฐประหารในปี 1980 อ้างว่า พวกเขาถูกบังคับให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เนื่องจากเกิดความวุ่นวายจากการปะทะกันของกลุ่มฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเป็นเวลาหลายปี และทำให้มีคนเสียชีวิตราว 5,000 คน

เหล่านายพลดังกล่าว ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปโดยคำเรียกจากสมัยออตโตมันว่า “ปาชา” (Pasha) มองตนเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ระเบียบของรัฐโลกวิสัย ซึ่งผู้นำทหาร “มุสตาฟาเคมาล อาตาเติร์ก” ได้เป็นผู้สถาปนาขึ้นจากอาณาจักรออตโตมันในปี 1923

พวกเขาทำการรัฐประหารในปี 1960 ซึ่งนำไปสู่การแขวนคอของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอาวุโสอีกสองคน ตามมาด้วยการรัฐประหารอีกสองครั้งในปี 1971 และ 1980 เพื่อขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นอันตรายต่อระเบียบดังกล่าว

เมื่อคณะรัฐประหารพยายามฟื้นฟูประชาธิปไตยในแบบของตนเอง เช่นครั้งล่าสุดในปี 1997 กองทัพก็ได้บังคับรัฐบาลที่นำโดยพรรคอิสลามให้ลาออก

บทบาทของกองทัพของประเทศตุรกี ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงและแบ่งแยกอย่างมาก โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรค AKP ของเออร์โดกันก็ได้พยายามลดอำนาจของสถาบันทหารและบทบาทในรัฐลง

หนังสือพิมพ์ ราดิกัลป์ (Radikal) ของตุรกี ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของโฆษกพรรค AKPฮูเซยิน เซลิค (Huseyin Celik)ว่า ในขณะนี้ ทางการตุรกีได้ทำการลบชื่อของผู้นำทหารที่ทำการรัฐประหารในปี 1980 และครั้งอื่นๆ ก่อนหน้า ออกจากชือโรงเรียน ถนน สนามกีฬา และค่ายทหาร ในปฏิบัติการ “ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร” (Coup house cleaning)

“เราจำเป็นลบชื่อของผู้ที่ทำการรัฐประหารออกจากสถาบันสาธารณะและชื่อสถานที่ต่างๆ ออกไปให้หมด” เขากล่าว “พวกเขาถูกลบออกไปจากหัวใจของประชาชนหมดสิ้นแล้ว”

แปลจาก Turkey puts former military ruler on trial, Aljazeera, 4/04/55

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net