ผู้เชี่ยวชาญระบุยังไม่ใช่เวลา "ออง ซาน ซูจี" เปลี่ยนพม่า

เสวนาอนาคตประชาธิปไตยพม่าหลังการเลือกตั้ง “ดุลยภาค ปรีชารัชช” ขี้ถึงซูจีจะกวาดที่นั่งทั้งหมดแต่ก็ไม่มีที่ทางในโครงสร้างการเมืองอยู่ดี เพราะเสียงในสภายังน้อย แนะจับตา "ซุจี" เกมยาว สร้างฐานอำนาจลุ้นเลือกตั้งปี 58 ด้าน ส่วน “สุภัตรา ภูมิประภาส” ตั้งคำถาม ซูจีจะได้ดอกผลจากการเลือกตั้งคราวนี้มากเพียงใด

เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ อนาคตประชาธิปไตยพม่าหลังการเลือกตั้ง

 

ชาญวิทย์เชื่อพม่าอาจสร้างประชาธิปไตย-ปรองดองได้ เพราะมีบทเรียนจากความขัดแย้ง 50 ปีที่ผ่านมา

โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งซ่อมพม่าเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีในแง่การเปลี่ยนแปลงในพม่าเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ต้องระวังว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นไปอย่างฉาบฉวย เพื่อให้ประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าเท่านั้น

เขามองว่า พม่าอาจจะสร้างประชาธิปไตยและการปรองดองได้ เพราะระยะ 50 ปีที่ผ่านมา น่าจะสอนให้ชนชั้นนำได้เรียนรู้ถึงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ว่าไม่สามารถฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกได้ ประกอบกับการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่มีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกีดกันอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยมากเท่าใด เธอก็ยังได้รับชัยชนะอยู่ดี

“ผมคิดว่า กระแสภายในไม่น่าให้เผด็จการดำเนินการต่อไปอย่างที่ดำเนินการต่อไปได้ บวกกับกระแสของโลกาภิวัฒน์หรือ Global Politics มันไม่อนุญาตแล้ว มันกลับไปไม่ได้แล้ว” ชาญวิทย์กล่าว และเสริมว่า แม้แต่กองทัพเองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าแต่ก่อน

อดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ ยังชี้ด้วยว่า ข่าวการเลือกตั้งของพม่าไม่ค่อยได้รับความสำคัญในสื่อมวลชนกระแสหลักภาษาไทยมากนัก ถึงแม้ว่าไทยจะแบ่งปันชายแดนกับพม่าและมีปัญหาหลายด้านร่วมกันอย่างมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ไทยอยู่ในอันดับล่างๆ ในแง่ของการรับรู้การตื่นตัวเรื่องอาเซียน

ดุลยภาคชี้ "ซูจี" อาจทำไม่ได้มากในช่วงนี้ แนะให้จับตาเลือกตั้งปี 58

ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญพม่า และอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันอาทิตย์ทีผ่านมา เป็นหนึ่งในการวางแผนสถาปัตยกรรมทางการเมืองของพม่าที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปปี 2010 การตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีในปี 2011 และการเลือกตั้งซ่อมในปีนี้ ซึ่งจะปูทางอนาคตไปสู่การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในปี 2013 การเป็นประธานอาเซียนในปี 2014 และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015

ทั้งนี้ ดุลยภาคตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและประชาคมนานาชาติต่างประเทศ หากแต่เป็นความริเริ่มโดยชนชั้นนำทหารของพม่า ซึ่งได้กำหนดโครงสร้างทางการเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว และเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการปรับยุทธศาสตร์ กล่าวคือ การได้เป็นประธานอาเซียนอย่างภาคภูมิ การผ่อนคลายแรงกดดันจากนานาชาติ รวมถึงการเปิดการลงทุนจากต่างชาติที่มีความชอบธรรมมากกว่าแต่ก่อน

เขาชี้ว่า ผลคะแนนที่มีการรายงานข่าวว่าพรรคเอ็นแอลดีชนะอย่างถล่มทลายนั้น ต้องรำลึกว่าผลคะแนนที่ออกมานั้นยังไม่เป็นทางการจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้ และวิเคราะห์ต่อว่า สถานการณ์หลังจากนี้มีความเป็นไปได้หลายด้าน โดยถ้าหากเป็นไปตามคะแนนที่ออกมาจริง ก็จะทำให้ชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรตามที่รัฐบาลพม่าปรารถนา แต่ขณะเดียวกัน พรรค USDP ซึ่งได้รับชัยชนะถล่มทลายเมื่อปี 2010 อาจรู้สึกว่าถูกหักหน้า อย่างไรก็ตาม หากผลคะแนนทางการออกมาและพบว่าพรรคเอ็นแอลดีแพ้ ต่างชาติก็อาจจะไม่ยุติการคว่ำบาตร ทำให้มองว่ารัฐบาลพม่าไม่น่าจะให้สถานการณ์ออกมาในทิศทางนี้

ดุลยภาคมองว่า ทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือรัฐบาลอาจจะยอมให้เอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งราว 30 ที่นั่ง และที่นั่งที่เหลือยกให้กับพรรค USDP เพื่อผลักดันให้ซูจีสามารถเข้าไปนั่งในสภา และผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาความชอบธรรมของพรรครัฐบาลให้อยู่ได้

ทั้งนี้ พรรคการเมืองห้าพรรคหลักๆ ที่ลงแข่งการเลือกตั้งนัดนี้ ได้แก่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคพลังแห่งประชาธิปไตย (NDF) พรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP) และพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) โดยหากดูจากเขตการเลือกตั้งโดยรวมแล้ว พื้นที่การแข่งขันจะกระจุกอยู่ที่คนพม่าอาศัยอยู่มาก มีเก้าอี้ในบริเวณรัฐฉานไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น โดยดุลยภาคมองว่า หากดูจากสถิติการเลือกตั้งซ่อมในปี 2010 แล้ว พรรคเอ็นแอลดี น่าจะได้ที่นั่งมากในพม่าตอนล่าง เช่น เมียวดี รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง เป็นต้น ในขณะที่ในพื้นที่พม่าตอนบน เช่น เมืองเนปิดอว์ มัณฑะเลย์ พรรค USDP น่าจะได้รับชัยชนะเนื่องจากเป็นเขตที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านในชนบทที่ยังมีทัศนคติทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า

ส่วนในพื้นที่ในเขตชาติพันธุ์คือรัฐฉาน เมื่อวิเคราะห์จากสถิติปี 2010 จะเห็นว่า พรรคที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง คือพรรค USDP ตามมาด้วยพรรคฉานและพรรคโกกั้ง ซึ่งเป็นพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งคู่ จึงต้องน่าจับตาว่าพรรคเอ็นแอลดีจะสามารถเจาะพื้นที่ตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ในส่วนของอนาคตทางการเมืองของนางอองซาน ซูจี ดุลยภาคชี้ว่า จำเป็นต้องดูสถาปัตยกรรมทางการเมืองของพม่าด้วย เพราะจะเห็นว่าในส่วนของสภาประชาชนและสภาชนชาติ จะมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งในสัดส่วนแต่งตั้งร้อยละ 25 เลือกตั้งร้อยละ 75

ทั้งนี้ เขาชี้ว่า มีองค์กรหนึ่งในโครงสร้างทางการเมืองที่สะท้อนว่าชนชั้นนำยังกุมอำนาจทางการเมืองอย่างแน่นหนา คือ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ที่ประกอบไปด้วยผู้นำทางการเมือง เช่น ประธานาธิบดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

“ตรงนี้เป็นตัวสะท้อนว่าระบอบอำนาจนิยมไม่หายไปไหน เพราะทหารควบคุมกลไกเสียส่วนใหญ่ในสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ และอย่าลืมว่า ต่อให้พม่าจะเลือกตั้งและมีการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยก็ตามแต่ แต่รัฐธรรมนูญ 2008 ให้อรรถาธิบายชัดเจนว่า เมื่อใดที่ผบ.สส. เห็นสมควร มองว่าบ้านเมืองสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ ผบ.สส. สามารถประกาศสภาวะฉุกเฉินได้ และประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้กับ ผบ. สส. ปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นพม่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้ามันจะตีกันระสำระส่าย กองทัพสามารถแทรกแซงการเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ดุลยภาคกล่าว

เขามองว่า แม้ว่าการเข้าไปในสภาของซูจีอาจยังไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะใกล้ๆ นี้ แต่ในระยะยาว อาจจะทำให้เธอช่วยสะสมเครือข่ายและอำนาจในสภาสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับนโยบายของประธานาธิบดีเต็งเส่งที่มาทางสายพิราบมากขึ้น เสนอนโยบายประชานิยม และขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจทำให้เขาได้รับความนิยมจากประชาชนไม่ต่างจากนางซูจีเองก็เป็นได้ นอกจากนี้ แง่ของทายาททางการเมืองที่จะมารับช่วงต่อ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่พรรคเอ็นแอลดีและฝ่ายค้านอื่นๆ จำต้องเผชิญด้วย

 

6 เรื่องที่ซูจีต้องทำ และคำถามต่อซูจี "ได้ดอกผลจากการเลือกตั้งคราวนี้มากเพียงใด?"

สุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอิสระ มองว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจทำให้ซูจีได้เข้าไปมีที่นั่งในสภาก็จริง แต่เธอก็จะเปลี่ยนสถานะจาก “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง” มาเป็น “นักการเมือง” ซึ่งหมายความว่าเธอจะได้ไม่ได้อภิสิทธิ์บางอย่างที่เคยได้ เช่นการเลี่ยงไม่ตอบคำถามหรืออธิบายบางอย่างต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ สุภัตราอภิปรายถึงการเมืองหลังการเลือกตั้งโดยดูจากกลุ่มปัญหา 6 ด้าน ได้แก่

1.    ปัญหานักโทษการเมือง โดยข้อมูลจากองค์กร Assistance Association for Political Prisoners (Burma) ล่าสุดระบุว่า ยังคงมีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ 952 ในจำนวนนี้ มีจำนวน 487 คนที่ครอบครัวทราบว่าถูกคุมขังอยู่ที่ไหน ส่วนที่เหลือไม่รู้ชะตากรรม สุภัตราชี้ว่าปัญหานักโทษการเมืองเป็นภาระประการใหญ่ที่ซูจีไม่อาจปฏิเสธ เพราะนี่ก็เป็นเงื่อนไขหลักที่พรรคเอ็นแอลดีประกาศบอยคอตต์การเลือกตั้งเมื่อปี 2010 และต่อมาเมื่อซูจีได้รับการปล่อยตัว เรื่องนี้จึงภาระที่หนักอึ้งของเธอที่จะถูกคาดหวังจากสาธารณะ

2.     เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ซูจีได้เคยหาเสียงช่วงเลือกตั้ง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่สหประชาชาติชี้ว่าละเมิดสิทธิอีก 11 ฉบับ ซึ่งอันนี้จะเป็นภาระอีกอย่างที่หนักอึ้งของเธอเพราะความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก เพราะต่อให้พรรคชนะได้ที่นั่งทั้งหมด ก็ยังคิดเป็นร้อยละ 7 ของทั้งรัฐสภาเท่านั้น และถึงแม้ว่ารวมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงเห็นชอบอย่างน้อยร้อยละ 75

นอกจากนี้ ซูจีก็ยังยืนยันว่า เธอจะไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะมีข่าวว่ารัฐบาลได้เตรียมที่นั่งพิเศษให้เธอไว้ คาดว่าจะเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับทางสังคม อย่างไรก็ตาม หากเธอไม่ยอมเข้าร่วม ในขณะที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งยังคงดำเนินนโยบายประชานิยม ก็อาจไม่มีโอกาสได้สร้างผลงานและอาจทำให้ไม่สามารถไปแข่งขันได้เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2015

3.    ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ 12 กลุ่มได้รวมเป็นสภาสหพันธรัฐชาติสหภาพพม่า (UNFC) เพื่อเจรจากับรัฐบาล ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถเจรจาข้อตกลงหยุดยิงได้สำเร็จกับกองกำลังชนชาติว้า, กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติของรัฐฉานภาคตะวันออก และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ แต่ที่ยังอยู่ปะทะกันอยู่คือ กองกำลังอิสระคะฉิ่น กองกำลังไทใหญ่ส่วนเหนือ และกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติ

ทั้งนี้ สุภัตรามองว่า แม้ว่าจะมีความหวังว่าเธอสามารถเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่ทำได้ดีไหมนั่นคือคำถาม เพราะสิ่งที่กลุ่มชาติพันธ์เรียกร้องมาตลอดคือ ความเสมอภาค การปกครองแบบสหพันธรัฐ และวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นใครก็ตาม เมื่อสภาพการเมืองเปิดมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการมีตัวกลางเจรจาเช่นนางซูจี ไม่มีความจำเป็นมากเท่าใดนัก

4.    เศรษฐกิจ การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าผู้นำทหารมาก ฉะนั้นเมื่อพม่าเปิดประเทศ แน่นอนว่าเม็ดเงินที่ไหลเวียนก็จะส่งผลดีขึ้นต่อประชาชน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าเพิ่งผ่านกฎหมายการลงทุนของพม่าที่บังคับให้เอกชนต้องใช้แรงงานพม่า และออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อการลงทุนจากต่างชาติ ฉะนั้นการเข้ามาของเม็ดเงินต่างชาติจะไหลเข้ามาอย่างฉุดไม่อยู่ พรรคเอ็นแอลดีเองก็ไม่อาจปล่อยให้หน้าที่นี้เป็นแต่เพียงของรัฐบาลอย่างเดียว มิเช่นนั้นก็ไม่มีผลงานเป็นของตัวเองเช่นกัน

5.    สื่อมวลชน โดยเจาะจงเฉพาะสื่อลี้ภัยเช่น มิซซิม่า นิวส์ (Mizzima news) เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma) หรือนิตยสารอิระวะดี เมื่อเดือนที่ผ่านมาบรรณาธิการและนักข่าวของสื่อเหล่านี้สามารถกลับเข้าประเทศได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี และได้ไปพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร คณะกรรมการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งพวกเขาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปรายงานข่าวในประเทศได้ แต่ได้รับสัญญาณว่าให้รายงานอย่างประนีประนอมกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ก็นับเป็นความพยายามของประเทศที่ถือว่ามีเสรีภาพสื่อต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

6.    ประชาสังคม ที่จริงแล้วมีพลเมืองพม่าที่แอคทีฟทางการเมืองอยู่ในเมืองไทยเยอะ โดยเฉพาะปัญญาชนจากรุ่น 8888 (การประท้วงนำโดยกลุ่มนักศึกษาในเดือนสิงหาคม 1988) บางส่วนก็ได้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามแล้ว แต่ส่วนที่ยังอยู่ในประเทศก็ยังคงถูกจองจำในคุก และเมื่อการเมืองพม่าเปิดมากขึ้น ปัญญาชนก็ยิงเป็นที่ต้องการเนื่องจากขาดมากไม่ว่าจะในฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายของพรรคเอ็นแอลดี เพราะมหาวิทยาลัยในพม่าถูกปิดลงตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ภาระในชีวิตหรืออุดมการณ์ของนักศึกษาในรุ่นนั้นก็เปลี่ยนไปตามอายุ จึงคาดว่าคงใช้เวลาอีกนานที่ภาคประชาสังคมจะสามารถเข้าไปมีสวนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้อย่างจริงจัง

"ขอสรุปว่า จากการสังเกตการณ์ เห็นว่าอนาคตของพม่าจะเป็นสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ แต่ไม่แน่ใจว่า พรรคของซูจี จะได้ดอกผลจากตรงนี้แค่ไหน ก็ต้องติดตาม" สุภัตรากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท