Skip to main content
sharethis

“เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” เรียกร้องภาคประชาชนเข้าชื่อเดินหน้าแก้ไขความไม่เป็นธรรม ตัวแทนชาวบ้านสะท้อนปัญหาระบบกฎหมายสร้างความเหลื่อมล้ำ ด้านกรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยปี 2554 ชาวบ้านเข้าขอความช่วยเหลือกว่า 3,800 ราย

 
 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “คดีที่ดิน ว่าด้วยคนจน เหยื่อของการเข้าถึงที่ดิน” ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากตัวแทนภาครัฐ และภาคประชาชน
 
 
แนะการแก้ปัญหา ต้องแก้ไขกรอบกฎหมายเดิมๆ
 
นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ กล่าวว่าคดีที่ดินเริ่มเป็นปัญหาตั้งแต่ปี 2530 เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มีการเปิดตลาดเสรี ทำให้ที่ดินกลายเป็นที่ต้องการขึ้นในทันที มีการซื้อขายเก็งกำไร จนทำให้ประชาชนที่ไม่มีข้อมูล รู้ไม่เท่าทัน ถูกแย่งที่ดินทำกิน จนเกิดเป็นปัญหาคดีความ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีคดีอยู่ระหว่างการพิพากษากว่า 800 คดี ซึ่งคงเป็นเพียง 1 ใน 100 ของคดีทั้งหมด ที่เป็นผลมาจากกระบวนการของระบบทุนนิยม
 
“จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น การบังคับคดี การจำคุก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิด เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม และการพิพากษาคดี เพราะตามกระบวนการศาลจะรับฟังพยานเอกสาร มากกว่าพยานบุคคล ดังนั้นแม้ชาวบ้านจะยืนยันว่าอยู่มานานกว่า ก็ไม่มีน้ำหนัก ดังนั้นกว่าร้อยละ 90 คดีที่ดิน คนจนจึงแพ้คดี และมีหลายคดีที่ถูกตัดสินพิพากษาให้ย้ายออก โดยไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้นกรมคุ้มครองสิทธิจะต้องทำหน้าที่มากขึ้น”
 
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตามความจริงประเทศไทยมีที่ดินเพื่อใช้ในภาคเกษตร 110 ล้านไร่ และประเทศเรามีเกษตรกร 5.8 ล้านครอบครัว ดังนั้นหากแบ่งสรรกันจะได้ครอบครัวละ 20 ไร่ แต่ความจริงกว่าร้อยละ 70 ต้องเช่าทื่ดินของเอกชน
 
“การแก้ไขในเรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไขกรอบกฎหมายเดิมๆ ทบทวนประมวลกฎหมายที่ดินทั้งหมดตั้งแต่มาตรา 6 เรื่องการครอบครองเป็นต้น รวมทั้งภาคประชาชนเองก็ควรลุกขึ้นมารวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมายแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นธรรม” กรรมการปฏิรูปกล่าว
 
 
ชี้ปัญหาที่ดินทำกินกระจุกตัว คนจนกว่า 60 ล้านคนยังไร้ที่ทำกิน
 
ด้านประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คดีที่ดินมีความขัดแย้งอยู่ 2 ประเภท คือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน และความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านกว่า 1 ล้านครอบครัวต้องประสบปัญหาถูกฟ้องร้องว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่บุกรุก โดยจากการสำรวจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2550 ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี พบว่ามีคดีความเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน บุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งหมด 6,711 คดี หรือถูกจับกุมวันละ 19 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถูกพนักงานของรัฐฯ คิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาทต่อไร่ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อน กลับไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
 
“เมื่อก่อนทุกคนทำกินบนที่ดินสาธารณะ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็นำสู่ความต้องการครอบครองอย่างเป็นปัจเจก เกิดการค้าขายที่ดิน ทำให้เกิดการกระจุกตัว โดยกว่าร้อยละ 80 อยู่ในความครอบครองของคนเพียงล้านคน แต่อีกกว่า 60 ล้านคน ยังไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งหากไม่มีระบบและมีกระบวนจัดการที่ดี คนไทยทุกคนควรมีที่ดินเฉลี่ยคนละ 2 ไร่” ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าว
 
 
ชาวบ้านสะท้อนระบบยุติธรรม ระบบกฎหมาย สร้างความเหลื่อมล้ำ
 
ขณะที่นายสนิท แซ่ซั่ว ตัวแทนชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย บ้านหาดราไวย์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาเรื่องที่ดิน กล่าวว่า ชาวเลอูรักลาโว้ยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกเกาะภูเก็ต แต่ปัจจุบันเราถูกกดขี่ และถูกฟ้องร้องเรื่องบุกรุกที่ดินจนถูกฟ้องร้อง ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดชาวบ้านถึงถูกรังแก เพราะเราอยู่แบบสันโดษ เรียบง่าย และเราคงไม่มีเงินที่จะไปต่อสู้หรือจ่ายเป็นค่าประกันใดๆ
 
ขณะที่นายดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวย้ำว่า “ในสังคมไทยที่ระบุว่าให้ความสำคัญในเรื่องเกษตรกรรม แต่ไม่เคยหันมามองภาคเกษตรกรรมอย่างแท้จริง เพราะที่ดินทำกินของเกษตรกรส่วนใหญ่ทุกวันนี้กลายเป็นของนายทุน
 
“เมื่อมีการฟ้องร้องคดีนายทุนก็มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนชาวบ้านมีแค่พยานบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่รับฟัง ทั้งๆ ที่ ที่ดินเหล่านั้นเคยเป็นของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต”นายดิเรกกล่าว
 
 
กรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยปี 2554 ชาวบ้านกว่า 3,800 ราย เข้าขอความช่วยเหลือ
 
ด้านนางนงภรณ์ รุ่งเพชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐก็มีมาตรการในการช่วยเหลือสำหรับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี โดยสถิติเมื่อปี 2554 มีผู้เข้าขอรับการ ช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิ์กว่า 3,800 ราย ทั้งในเรื่องการให้คำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์เพราะไม่ทราบถึงการครอบครองที่ดินและส่วนใหญ่ยากจน รายได้น้อย”
 
นอกจากนี้มีได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าใช้จ่ายของการดำเนินคดี เช่น กรณีการประกันตัว ขอค่าจ้างทนายความ การตรวจสอบทรัพย์สินตารางวัดพื้นที่ ค่าเดินทางไปขึ้นศาล การย้ายที่อยู่หากเกรงว่าไม่ปลอดภัยระหว่างการพิจารณาคดี เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net