Skip to main content
sharethis

 

ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักกฎหมายว่า “นักโทษการเมือง” คือใคร และหากว่ากันตามหลักกฎหมายประเทศไทยมีนักโทษการเมืองหรือไม่ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวในเชิงหลักการว่า “ความผิดทางการเมืองไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใด นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดทางการเมืองเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางกฎหมาย” แต่กระนั้นก็เห็นว่าในทางปฏิบัติมีการใช้คำว่านักโทษการเมืองกันอย่างแพร่หลายและมีบุคคลที่ถูกเรียกว่านักโทษการเมืองอยู่จริง

ในทำนองเดียวกัน อาจารย์คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. กล่าวว่า “ในประเทศไทยไม่มีนักโทษการเมือง มีแต่ผู้กระทำผิดอันสืบเนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมือง” พูดอีกอย่างหนึ่ง นักกฎหมายที่สังกัดสถาบันเหล่านี้เห็นว่าโดยหลักกฎหมายไม่มีนักโทษการเมือง แต่ในทางปฏิบัติมีนักโทษที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาทางการเมือง

อย่างไรก็ดี นักกฎหมายจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค ปฏิเสธการดำรงอยู่ของนักโทษการเมืองอย่างสิ้นเชิง เขากล่าวว่า “นักโทษการเมืองหรือนักโทษคดีการเมืองหมายถึงผู้ที่ถูกฝ่ายที่มีอำนาจบริหารจับตัวหรือควบคุมตัวไว้เนื่องจากการปฏิวัติรัฐประหาร หรือเพราะความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยผู้นั้นมิได้กระทำความผิดในทางอาญาใดๆ นักโทษหรือบุคคลประเภทนี้กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะควบคุมตัว และผู้ต้องหาหรือนักโทษทุกคนในเรือนจำล้วนมีคำพิพากษาให้จำคุกหรือคุมขัง หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม สรุปคือปัจจุบันเราไม่มีนักโทษการเมือง”

ทว่าในอีกด้าน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์อย่างอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล เสนอว่าประเทศไทยมีนักโทษทางการเมืองจำนวนมากมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขากล่าวว่า “นักโทษการเมืองหมายถึงการกระทำบางอย่างซึ่งถูกกำหนดวามผิด โดยมีเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องที่มีเหตุผลทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น การเคลื่อนไหว การรณรงค์ การแสดงความคิดทางการเมือง สังคมไทยจึงมีนักโทษการเมืองเยอะมาก”

ในทำนองเดียวกัน สราวุฒิ ปทุมราช นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “การจับคนที่วันที่ 19 หลังการสลายการชุมนุมไม่ควรถูกจับ เพราะเขาเป็นนักโทษการเมือง การมาร่วมชุมนุมไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เป็นความผิดทางการเมือง ต้องถือว่า นปช. ทุกคนเป็นนักโทษการเมือง เพราะจุดมุ่งหมายคือการเรียกร้องประชาธิปไตย” เหล่านี้เป็นต้น 

ผมยกข้อคิดเห็นที่ต่างกันของผู้เชี่ยวชาญและบุคคลในแวดวงกฎหมายขึ้นมาไม่ใช่เพราะต้องการหาข้อยุติในที่นี้ว่านักโทษการเมืองหมายถึงบุคคลประเภทใด หากแต่ต้องการจะขยายขอบเขตการอภิปรายปัญหานักโทษการเมืองให้กว้างกว่าตัวบทกฎหมาย เพราะในความเห็นของผมนักโทษการเมืองไม่ใช่บุคคลหรือประเภทตามกฎหมาย แต่เป็นบุคคลหรือประเภททางการเมือง ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองจำเพาะชุดหนึ่ง เป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับพลเมืองที่เห็นต่างหรือกระด้างกระเดื่อง และรัฐก็ได้อาศัยมาตรการต่างๆ ในการกำราบพลเมืองที่ไม่เชื่องเหล่านี้ ทั้งในรูปของการใช้กำลังสังหาร การไล่ล่า การข่มขู่คุกคาม และการจับกุมคุมขัง ซึ่งหากเสียชีวิต พลเมืองเหล่านี้ถูกเรียกอย่างหนึ่ง หากถูกไล่ล่าหรือข่มขู่คุกคามก็ถูกเรียกอย่างหนึ่ง แต่หากถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดี พลเมืองที่เห็นต่างและกระด้างกระเดื่องเหล่านี้ก็สามารถถูกเรียกว่า “นักโทษการเมือง” ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “นักโทษการเมือง” คือบุคคลหรือประเภททางการเมืองประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในบริบทที่รัฐก่ออาชญากรรมกับพลเมืองที่ไม่เชื่อฟังตน ในทำนองเดียวกับที่รัฐสังหาร ไล่ล่า และข่มขู่คุกคามพลเมืองที่กระด้างกระเดื่องคนอื่นๆ ในบริบทเดียวกัน การรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองจึงจำเป็นต้องเข้าใจนัยของ “นักโทษการเมือง” ในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเบื้องต้น  

เพราะเหตุที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งกับรัฐหรือกับผู้อยู่ในอำนาจรัฐ บุคคลที่ถูกเรียกว่า “นักโทษการเมือง” จึงเปลี่ยนแปลงตามสมัยที่ผู้อยู่ในอำนาจรัฐเปลี่ยนไป ในอดีตบุคคลที่ได้ชื่อว่า “นักโทษการเมือง” ได้แก่ “กบฏ” หรือบุคคลที่ต้องการโค่นล้มผู้อยู่ในอำนาจรัฐ เช่น “กบฏบวรเดช” พ.ศ. 2476 และ “กบฏ พ.ศ. 2481” โดย “กบฏบวรเดช” ถูกกักขังในเรือนจำที่เกาะตะรุเตาก่อนที่ต่อมาจะถูกย้ายมากักขังในเรือนจำที่เกาะเต่า และได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2487 ร่วมกับนักโทษคดี “กบฏ พ.ศ. 2481” เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ในสมัยต่อมา “นักโทษการเมือง” มักเป็นนักคิด นักเขียน ปัญญาชน ซึ่งถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ดังกรณี จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถูกคุมขังที่เรือนจำลาดยาวในปี พ.ศ. 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ด้วยความที่เป็น “นักโทษการเมือง” เขาจึงได้รับการปฏิบัติต่างจากนักโทษทั่วไป ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาสามารถศึกษาค้นคว้าและผลิตงานเขียนออกมาจำนวนมาก เขาถูกปล่อยตัวในปลายปี พ.ศ. 2507 เพราะศาลกลาโหมยกฟ้อง   

ขณะที่ต่อมาบุคคลที่ถูกจับกุมคุมขังและมีสถานะเป็น “นักโทษการเมือง” คือนักศึกษา เช่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกจับกุมตัวและนำขึ้นศาลทหารในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาถูกควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพราะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยในระหว่างถูกจับกุมคุมขังนักศึกษาเหล่านี้มีสถานะเป็น “นักโทษการเมือง” ขณะที่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมเป็นเวลา 3 วัน ก่อนจะปล่อยโดยไม่ได้แจ้งข้อหาหรือดำเนินคดีใดๆ และเหตุดังนั้นจึงไม่ได้มีสถานะเป็น “นักโทษการเมือง” คำว่า “นักโทษการเมือง” จึงดูเหมือนจะเลือนหายหรือกลายเป็นประวัติศาสตร์สำหรับการเมืองไทยสมัยปัจจุบัน     

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมามีบุคคลที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะการกระทำผิดอันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งหรือ “การต่อสู้ทางการเมือง” จำนวนมาก สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังจากเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 โดยในกรุงเทพฯ ผู้ถูกคุมขังส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งพกพาอาวุธในที่สาธารณะ ส่วนในจังหวัดทางภาคอีสาน เช่น มุกดาหาร มหาสารคาม อุบลฯ อุดรฯ ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ทำลาย และวางเพลิงสถานที่และทรัพย์สินราชการ โดยหลังจากการปราบปรามใหม่ๆ มีผู้ต้องขังในคดีเหล่านี้จำนวนมาก ต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้รับการประกันตัวบ้างและได้รับโทษครบกำหนดบ้าง ปัจจุบันเหลืออยู่ในเรือนจำ 50 คน (เป็นคดีในภาคอีสาน 35 คน และคดีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 คน โดย 3 คนคดีอยู่ในศาลชั้นต้น 37 คนคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา มี 10 คนที่คดีสิ้นสุด) โดย 39 คน (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเรือนจำภาคอีสาน) ถูกย้ายมาอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ตามข้อเสนอของ คอป. 

ส่วนผู้ถูกจับกุมคุมขังอีกกลุ่มมีความความผิดเกี่ยวเนื่องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยทวีจำนวนสูงสุดในปี 2553 จำนวน 478 คดี ก่อนจะลดลงเหลือ 97 คดีในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันยังไม่สามารถรวบรวมจำนวนผู้ถูกคุมขังด้วยข้อหามาตรา 112 ทั่วประเทศได้ว่ามีจำนวนเท่าใด แต่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่รวบรวมไว้มีจำนวน 12 คน (โดย 10 คนคดีสิ้นสุด ส่วนอีก 2 คนอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี) ซึ่งนักโทษและผู้ต้องหาคดีนี้ส่วนใหญ่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยบุคคลที่สาธารณะค่อนข้างคุ้นเคย เช่น “ดา ตอปิโด” สมยศ พฤกษาเกษมสุข สุรชัย แซ่ด่าน “อากง” และ “โจ กอร์ดอน” เป็นต้น  

ทั้งนี้ ถึงแม้ผู้ต้องหาและนักโทษทั้งสองกลุ่มจะกระทำผิดอันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งหรือ “การต่อสู้ทางการเมือง” แต่ก็ไม่ได้ถูกเรียกว่านักโทษการเมืองเหมือนเช่นนักศึกษา ปัญญาชน ผู้นำกรรมกร ฯลฯ ในช่วงก่อนหน้า (อาจารย์คณิตให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่มีนักโทษการเมืองแล้ว ซึ่งก็หมายว่าเมื่อก่อนเคยมี ซึ่งก็น่าจะหมายถึงนักศึกษาและปัญญาชนที่ว่านี้) ขณะที่ผู้ต้องหาและนักโทษทั้งสองนี้กลุ่มประสบความยากลำบากในเรือนจำค่อนข้างมาก เช่น ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมจำนวนมากมีอาการทางประสาท บางรายเคยขอพบจิตแพทย์แต่ไม่ได้รับอนุญาต หลายรายมีโรคประจำตัวและอาการเจ็บป่วยต่างๆ แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควร รวมทั้งต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างเข้มงวดกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นด้วยเหตุผลนี้ที่แม้จะไม่เรียกผู้ต้องขังเหล่านี้ว่านักโทษการเมือง คอป. จึงมีข้อเสนอให้ย้ายผู้ต้องขังเหล่านี้ไปที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งแม้จะช่วยให้ผู้ต้องขังมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือตามที่ควรจะเป็น 

นอกจากนี้ ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่ได้รับสิทธิในการย้ายสถานที่คุมขังไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่เหมือนผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับการชุมนุม แม้จะเป็นความผิดในบริบทเดียวกันและมีอาการเจ็บป่วยอย่างมากก็ตาม เช่น ดา ตอปิโด ถูกให้ “นั่งเดี่ยว” ในฐานะ “พิธีรับน้อง” เป็นเวลา 3 เดือน จากปกติ 1 เดือน ต่อมาเรือนจำได้ออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังซึ่งส่งผลให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติประสบความยากลำบากในการเข้าเยี่ยมเธอยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แม้เธอมีอาการขากรรไกรอักเสบรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อออกมารับการรักษาอย่างมีคุณภาพ ศาลปฏิเสธคำขอปล่อยตัวเธอชั่วคราวด้วยเหตุผลว่าความเจ็บปวดดังกล่าวไม่ถึงกับทำให้เธอใช้ชีวิตปกติไม่ได้ หรือกรณีอากงซึ่งมีอาการมะเร็งในช่องปาก แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจนทำให้อาการลุกลาม และศาลก็ไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญ ประการสำคัญ รายงานข้อเสนอสร้างความปรองดองในชาติของสถาบันพระปกเกล้าที่ 1 ใน 4 ข้อคือการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท แต่ให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายความว่าไม่รวมผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 เหล่านี้แต่อย่างใด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น    

จะตอบคำถามนี้ได้ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษการเมืองกับอำนาจในการลงทัณฑ์ 

นักโทษการเมืองต่างจากนักโทษทั่วไปในแง่ที่นักโทษการเมืองไม่ได้กระทำผิดอย่างไม่ตั้งใจ ไม่ใช่พวกประเภทหากเลือกได้ก็ไม่อยากทำผิด รวมทั้งไม่ได้เป็นพวกว่านอนสอนง่ายที่เอื้อต่อการเสริมทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ ให้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษการเมืองไม่ได้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจำพวกปล้นชิงวิ่งราวลักเล็กขโมยน้อยที่การปล่อยพวกเขาออกไปจะเป็นการขยายพื้นที่แห่งการควบคุมตรวจตราออกไปนอกคุกผ่านการควบคุมพฤติกรรมพวกเขาอย่างใกล้ชิด การ “ทำผิดกฎหมาย” ของนักโทษการเมืองไม่ได้หนุนเสริมให้อำนาจที่อยู่เบื้องหลังการลงทัณฑ์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเหมือนอย่างเช่นในคดีอาชญากรรมทั่วไป (เช่น อาชญากรรมในซอยส่งผลให้ต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เป็นต้น) หากแต่เป็นการท้าทายอำนาจที่อยู่เบื้องหลังกฎหมาย การปล่อยพวกเขาออกจากคุกจึงเท่ากับเป็นการขยายพื้นที่ของการต่อต้านอำนาจครอบงำออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นักโทษการเมืองจะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อพวกเขาไม่เป็นอันตรายกับระเบียบอำนาจหลักแล้ว หรือไม่ระเบียบอำนาจหลักได้เปลี่ยนไปจึงไม่เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านี้ต้องต่อต้านอีก

จุดตัดจึงอยู่ที่ระเบียบอำนาจหลักในสังคมเป็นสำคัญ

“กบฏบวรเดช”
ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่และผู้ที่อยู่ในอำนาจก็ไม่เห็นว่าบุคคลเหล่านี้เป็นอันตรายต่อพวกเขา นักศึกษาและปัญญาชนได้รับการนิรโทษกรรมส่วนหนึ่งเพราะเงื่อนไขที่จะทำให้บุคคลเหล่านี้เป็นอันตรายต่อระเบียบอำนาจหลักหดแคบลง แต่ปัญหาก็คือว่าสังคมการเมืองไทยปัจจุบันอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่

ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับการชุมนุมจำนวน 40 คนจาก 50 คนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี แต่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลว่าเพราะเป็นคดีร้ายแรง อัตราโทษค่อนข้างสูง และเกรงจะหลบหนี ขณะที่คดี 112 ที่ผ่านมามีคนได้รับการประกันตัวเพียงไม่กี่คน หากไม่เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมก็เป็นนักการเมือง ผู้ต้องหาในคดีนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลอ้างว่าเพราะเป็นความผิดร้ายแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจคนส่วนใหญ่ในสังคมและเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าระเบียบอำนาจหลักในสังคมไทยยังไม่เปลี่ยน และผู้อยู่ในอำนาจก็ตระหนักว่าเงื่อนไขที่ท้าทายพวกเขายังดำรงอยู่และไม่มีท่าจะอ่อนแรงลง จึงส่งผลให้ผู้ต้องหาและนักโทษกรณีมาตรา 112 ยังสามารถเป็นอันตรายต่อพวกเขาได้ไม่รู้จบสิ้น ผู้ต้องหาเหล่านี้จึงไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือแม้กระทั่งไม่ได้รับสิทธิในการนิรโทษกรรมในคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า คำถามก็คือว่าเราจะเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างไรในบริบทการเมืองอย่างนี้ 

ประการแรก ผมคิดว่ามีความจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะหน้าหรือว่าระยะสั้นในการนำผู้ต้องหาหรือนักโทษการเมืองเหล่านี้ออกมาจากเรือนจำโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้วยการประกันตัว การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข หรือว่าการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ทว่ามาตรการเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ก่ออาชญากรรมในนามของรัฐใช้ในการไม่ต้องรับผิด เพราะประวัติศาสตร์การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ผ่านมา เช่น กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และกรณีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ชี้ให้เห็นว่าการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่ได้ช่วยปกป้องพลเมืองที่บริสุทธิ์เท่าๆ กับช่วยให้ผู้ก่ออาชญากรรมในนามของรัฐไม่ต้องรับผิด ซึ่งสาเหตุที่ผู้ก่ออาชญากรรมในนามของรัฐสามารถกระทำการดังกล่าวได้ก็เพราะว่าพวกเขายังคงอยู่ในอำนาจ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ออกโดยรัฐบาลเผด็จการ ส่วนพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกรณีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ออกโดยรัฐบาลพลเอกสุจินดา จึงเป็นการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้ก่ออาชญากรรมในนามของรัฐทั้งสิ้น

คำถามก็คือว่าปัจจุบันเรามีรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่ออาชญากรรมในนามของรัฐ เราจะทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ประวัติศาสตร์การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซ้ำรอย จะทำอย่างไรการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจึงจะเป็นการช่วยเหลือพลเมืองที่บริสุทธิ์ แทนที่จะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐอำมหิตในการล้างผิดให้กับตนเองพร้อมกับโยนความผิดไปให้พลเมือง การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไรและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้เสียก่อน ส่วนจะให้อภัยแค่ไหนอย่างไรเป็นอีกเรื่อง  

ประการที่สอง นอกเหนือจากการปล่อยนักโทษการเมือง ผมคิดสิ่งที่เราต้องคิดต่อก็คือว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่มีบุคคลที่เรียกว่านักโทษการเมืองเกิดขึ้นในสังคมไทยอีก เพราะถ้าหากนักโทษการเมืองเป็นผลพวงของอาชญากรรมที่รัฐกระทำกับพลเมืองที่เห็นต่าง คำถามก็คือว่าความเห็นต่างยังดำรงอยู่หรือไม่ คำตอบก็คือยังมีอยู่ เพราะว่าสาเหตุของความเห็นต่างไม่ได้หายไปไหน ยังคงดำรงอยู่อย่างหนาแน่น เห็นได้จากการปฏิเสธการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปฏิเสธที่จะนิรโทษกรรมผู้ต้องหาและนักโทษคดี 112 ในข้อเสนอปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ทั้งที่เป็นคดีเหล่านี้เป็นคดีการเมืองโดยตรง และผู้ต้องหาหรือว่านักโทษในคดีนี้ก็มีนัยของนักโทษการเมืองตรงกว่ากรณีของการชุมนุมบางคนเสียอีก

ฉะนั้น วิธีการป้องกันไม่ให้มีนักโทษการเมืองเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกก็คือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยใหม่ ให้มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้า ไม่ใช่ว่าปิดปาก ปิดหู ปิดตาอีกฝ่ายอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  

ประการที่สาม ถึงแม้จะสามารถขจัดเงื่อนไขข้างต้นไปได้ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกที่สามารถทำให้พลเมืองเห็นต่างหรือว่ากระด้างกระเดื่องต่อรัฐได้ โจทย์ที่สังคมไทยต้องคิดร่วมกันต่อไปข้างหน้าก็คือว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้รัฐไม่สามารถใช้ความรุนแรงกับพลเมืองของตนได้ในบริบทความขัดแย้งเหล่านี้ นอกเหนือจากการออกกฎหมายที่ระบุโทษไว้อย่างชัดเจนแล้ว จะต้องออกแบบสังคมและการเมืองไทยอย่างไรจึงจะทำให้รัฐไทยไม่กล้าก่ออาชญากรรมกับพลเมืองของตน ซึ่งสิ่งนี้จะไม่ช่วยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่มักกระจุกที่กรุงเทพฯ เท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่เป็นการที่รัฐก่ออาชญากรรมกับคนในพื้นที่และก็มักพ้นผิดภายใต้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ สภาพการณ์ดังกล่าวนี้จะต้องหมดไปจากประเทศไทยเสียที 

หากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว การรณรงค์ปล่อยนักโทษการเมืองจึงแยกไม่ออกจากการรณรงค์ปลดปล่อยประเทศไทยจากการผูกขาดและครอบงำของชนชั้นปกครองเพียงหยิบมือที่มักอาศัยกฎหมายและกลไกรัฐขจัดศัตรูหรือผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างอำมหิตมานานเกินไปแล้ว       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net