ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" เปิดตัวหนังสือ "แรงงานอุ้มชาติ"

 
1 เม.ย. 53 - ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศเขียน หนังสือที่ "ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน 
 
 
 
1.ทำไมคุณจรรยาเขียนเล่มนี้ออกมา และพล็อตสำคัญของหนังสือนี้คืออะไร และเพราะอะไรคนควรควัก 300 บาท ไปซื้อมาอ่าน
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กเชื่อและพูดมาโดยตลอดว่า “ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้า ไม่ได้ต้องการผู้นำเก่งเท่านั้น แต่ต้องการประชาชนที่เก่งและรู้เท่าทันผู้นำที่เก่งด้วย”
 
แต่การเมืองไทยหรือจะพูดว่า วิธีการเมืองไทยที่เห็นและสัมผัสมาตลอดชีวิต เป็นเรื่องของการล่อหลอกและกล่อมเกลาประชาชนด้วยข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ “เท็จปนจริง” ที่แยกกันไม่ออก และมักจะนำเสนอข้อมูลเฉพาะ “ด้านเดียว" และ "ด้านดี” ของผู้นำ
 
ไม่ว่าจะมาจากสถาบันระดับสูง และ/หรือสถาบันนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารบ้านเมือง ที่อัดฉีดแคมเปญต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคจอมพลป. ที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เป็นวิถีการเมือง “บนลงล่าง รองรับด้วยโครงสร้างชนชั้นในสังคมวิถี “ไพร่-ผู้ดี-สมมุติเทพ” ที่ให้ค่าและความสำคัญกับชนชั้นสูงมากกว่าประชาชนทั่วไป
 
ดูได้จากคำกล่าวของทักษิณที่นั่งเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัว และได้รับการต้อนรับอย่างหรูหราในทุกประเทศที่ไปเยือน แล้วบอกว่า "ผมคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด" นี่คือตัวอย่างของการให้คุณค่าตัวเองของผู้นำ
 
ซึ่งภาพที่ได้เห็นมันต่างกันอย่างสุดขั้วกับภาพของประชาชนที่ออกมาต่อสู้จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 หลายคนเสียสละเงินทองกันจนหมดเนื้อหมดตัวเพื่อการต่อสู้ แม้จะยากจนกว่าทักษิณหลายร้อยหลายพันเท่า
 
หลายคนต้องสูญเสียชีวิต บางคนเสียหัวหน้าครอบครัว และยังมีอีกนับร้อยที่ "สูญเสียอิสระภาพอยู่ในเรือนจำ" และ "อีกไม่ทราบจำนวนที่ต้องลี้ภัยในต่างแดน" เป็นการอยู่ที่ต่างแดนยากลำบากแสนสาหัสกว่าผู้ที่อ้างว่า "ได้รับผลกระทบมากที่สุด" เสียด้วย
 
ถ้าจะพูดแรงๆ ก็คงขอบอกว่าทักษิณพูดโดยไม่มีความรับผิดชอบมากๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้นำมวลชนที่มีวุฒิภาวะ จะไม่มีทางอ้างว่า "ผมได้รับผลกระทบที่สุด" เพราะ ความสูญเสียของประชาชนที่ไม่มีอะไรจะเสีย แต่ยอมเสีย มันเป็นอะไรที่ผู้นำต้องตระหนักถึงก่อนเสมอ
 
การเมืองชนชั้นสูงและนายทุนของไทย จึงเป็นการเมืองที่หล่อเลี้ยงประชาชนด้วยความฝัน ให้อยู่ด้วยการฝากความหวัง และรอคอยความช่วยเหลือไว้ ภายใต้วิถีการเมืองระบอบ “พ่อขุนอุปภัมภ์เผด็จการ” ที่ อ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้คำนิยามนี้ไว้ดียิ่ง
 
วิถีคิดแบบนี้มันควรจะเปลี่ยนได้แล้วในทศวรรษที่ 21 ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีได้หลายทาง และก็ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรจะต้องขวนขวายศึกษาและทำความเข้าใจสังคมและการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากการรับเพียงชุดข้อมูลด้านเดียวที่ถูกยัดเยียดให้ เพื่อการหวังผลทางการสร้างมวลชนสนับสนุนของผู้มีอำนาจ
 
อีกทั้งไม่ต้องพูดกันถึงลักษณะของข้อมูลที่แทบจะไม่เคยตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนระดับล่างที่ไม่ยอมจำนน
 
การนำเสนอของกระแสหลักทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชน ทั้งหมดทั้งมวลพุ่งไปที่ความสูญเสีย(ในผลประโยชน์และอำนาจ) ของชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น
 
เป็นการเมืองที่ไม่ว่า “ทักษิณจะไป อภิสิทธ์จะมา” หรือไม่ว่า “อภิสิทธิ์จะไป ยิ่งลักษณ์จะมา” ประชาชนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายอยู่ดี
 
หนังสือเรื่อง "แรงงานอุ้มชาติ" เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวของความเดือดร้อน การต่อสู้ และการไม่ยอมจำนนต่อนายทุน และรัฐ (รัฐบาลและลูกจ้างรัฐ) ของคนที่ถูกเรียกว่าชนชั้นล่าง - คนงาน กรรมกร ชาวไร่ชาวนาตาสีตาสา - จากบทเรียนการทำงานกว่ายี่สิบปี
 
และเป็นเรื่องราวที่เล็กได้เขียนไว้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องอาจจะผ่านตาผู้อ่านแล้ว แต่หลายเรื่องมั่นใจว่าผู้อ่านยังไม่เคยเห็น
 
และยิ่งไม่นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่รวมข้อเขียนกว่า 30 เรื่องไว้ด้วยกัน ที่หนาถึง 430 หน้า ซึ่งจริงๆ ควรจะตั้งราคาขายที่สูงกว่านี้ แต่ด้วยเราไม่ใช่ต้องการค้ากำไรเกินควร และต้องการร่วมแสดงสัญลักณ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จึงตั้งราคาแค่ 300 บาท
 
ถ้าคนงานไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาจะเข้าใจได้ทันทีว่า “การทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้นั้น จะได้มาด้วย “การรวมตัวต่อรองทั้งกับนายจ้างและรัฐ ไม่ใช่ได้มาด้วยการร้องขอ” และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็มาจากการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ ทุนและนักการเมืองมาโดยตลอด
 
2. มีนักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักแรงงานที่เกลียดกลัวทักษิณและคนเสื้อแดงซะส่วนมาก เลยพลอยหันไปสนับสนุนเผด็จการ คุณจรรยาน่าจะเป็นเพียงในไม่กี่คนที่โปรประชาธิปไตย อะไรคือความแตกต่างและมีผลสะเทือนอย่างไรตามมา
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ใช่ค่ะ เล็กตัดสินใจไม่ร่วมกับ NGOs ที่มีการประชุมกันเมื่อปลายปี 2548 ว่าควรจะเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนของสนธิ ลิ้มทองกุล เพราะ “สนธิมีมวลชน” และก็ตัดสินใจไม่ร่วมกับกลุ่มที่ก่อร่างมาเป็น นปช. ในปี 2552 ที่บอกว่า “ต้องรวมตัวกับค่ายเพื่อไทยเพราะมีมวลชน”
 
แต่สุดท้ายทั้งสองทางเลือก ก็ใช้วิถีการโฆษณาและระดมมวลชนแบบเดียวกัน คือการอัดฉีดความดี และความเป็นสุดยอดมนุษย์ ของคนๆ เดียว ที่แต่ละฝ่ายเชิดชู และ/หรือชูและเชิด
 
ทั้งสองฝ่ายอ้าง “เพื่อประชาธิปไตยคนดี” กับ “เพื่อประชาธิปไตยคนเก่ง” แต่ไม่ได้พยายามกันเลยที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมแห่งการหล่อหลอมหลักการ "ประชาธิปไตยประชน"
 
อีกทั้งการประท้วงก็ใช้รูปแบบรวมศูนย์ ด้วยเวทีปราศรัยของแกนนำ และสั่งการเคลือนไหวจากแกนนำเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้งแกนนำโดยมวลชน ไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ในที่ชุมนุม
 
พันธมิตรนี่ไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ นปช. ก็เป็นการตั้งกันเองช่วงแรก พอถูกดันหนักขึ้นมาประกาศเลือกตั้งประธาน นปช. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ล็อคสเปคชิงเลือกตั้งแกนนำระดับชาติก่อนแบบไร้คู่แข่งขัน (อ. ธิดา) แทนที่่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งแกนนำระดับฐาน (หมู่บ้าน จังหวัด) ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งแกนนำระดับชาติ ตามครรลองประชาธิปไตย “ล่างขึ้นบน” ที่ควรจะส่งเสริม
 
การเมือง 6 ปี ที่ผ่านมา จึงน่าเสียดายตรงที่การจัดตั้งหรือนำมวลชน เลือก “ยุทธวิธีทางการเมือง” มากกว่า “การเมืองหลักการ” เป็นการเมืองที่มุ่งจัดตั้งมวลชนขนาดใหญ่ และแม้ว่ามวลชนร่วมลงขันมาต่อเนื่องตลอดหลายปี แต่่แกนนำก็ไม่เคยวางใจและดูถูกมวลชนมาแบบเดียวกันนี้ทุกยุค ทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลง
 
ที่สำคัญไม่น่าเชื่อว่า นปช. ที่ดึงมวลชนใส่เสื้อแดงได้มากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ กลับไม่สามารถหล่อหลอมวิถี “การเมืองประชาธิปไตยแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน” และเลือกยุทธวิธีการทำงานเป็นกองกำลังของพรรคเพื่อไทย อย่างแยกไม่ออก
 
ผลสะเทือนและเป็นจุดหักเหของตัวเอง คือ การสังหารประชาชนเดือนเมษาและพฤษภา 2553 ที่ทำให้เล็กลุกขึ้นมาเขียนบทความ “ทำไมถึงไม่รักXXX” แล้วมีปฏิกริยาของทั้งคนรอบตัว และคนอ่านค่อนข้างแรงทั้งในด้านบวกและด้านลบ
 
จนต้องตัดสินใจลาออกจากงานทั้งๆ ที่ไม่มีงานใหม่รองรับ ตัดสินใจไม่ติดต่อครอบครัวอีกต่อไป และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยจากต่างแดน ที่ให้พื้นที่เสรีภาพในการคิด เขียน และพูด ได้ดีกว่า “ยอมลำบากกาย แต่มีอิสระทางความคิด”
 
เล็กมองว่าประเทศจะก้าวหน้า วิถีการเมืองของทุกฝ่ายจะต้องไม่ผูกติดแค่ว่า "คนดีแต่ไม่เก่ง ไม่เป็นไร" หรือ "คนโกงแต่เก่ง ไม่เป็นไร" เราบอกไม่ได้ว่าคนดีนั้นดียังไง คนโกงนั้นโกงจริงหรือเปล่า คนเก่งนั้นเก่งอะไร เก่งแค่ไหน เรื่องพวกนี้มันกลายเป็นเหมือมายาคติมากกว่าที่จะยืนอยู่บนการตรวจสอบ และมาตรฐานด้านกระบวนการศาลสถิตยุติธรรมของไทยก็ถูกตั้งคำถามอีกเช่นกัน
 
เพื่อวิถีการเมืองที่จะหลุดพ้นจากวงจรอุบาดเดิมๆ สังคมต้องพร้อมที่ยอมรับว่า
 
1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนประเทศ และต้องไม่มีกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งหลาย โดยเฉพาะข้อเขียนในรัฐธรรมนูญที่ต้องไม่ละเมิดความเสมอภาคของประชาชน และมาตรา 112 ต้องถูกยกเลิก - ต้องไม่มีนักโทษการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าประเทศเปิดรับฟังความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน
 
2. สิทธิในการรวมตัวในนามสหภาพแรงงาน องค์กร สมาคม และสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างหรือกับรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม และการประท้วงของทั้งคนงานและเกษตร ไม่ใช่เรื่อง “ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายต่อนายทุน” เช่นที่รัฐบาล รัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งสื่อต่างๆ พยายามจะโจมตีทุกครั้งที่คนงานหรือเกษตรกรประท้วง
 
3. การยอมรับและส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเข้ามาต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตยในรัฐสภาตัวแทนของประชาชน
 
4. ปรับปรุงคุณภาพ ศักยภาพและการควบคุมราคาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งวางระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นต่อประชาชน ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคนในประเทศ
 
5. ประเทศไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันและเคารพกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมือง และบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองประชาชน ไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน อาทิ พรก. ฉุกเฉิน และ พรก. ความมั่นคง
 
6. จำเป็นที่จะมีการปฏิรูปการศึกษา การศาสนา การทหาร สถาบันข้าราชการ สถาบันการเมือง และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมมานับตั้งแต่ 2549 ให้สอดรับกับอารยประเทศทั้งหลาย
 
7. การเมืองที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และสังคมต้องถูกหล่อหลอมให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และการต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
 
8. ต้องให้คำนิยามร่วมกันของคนในชาติใหม่ในเรื่อง "ชาติ" และ "ความมั่นคงของชาติ" ที่ปัจจุบันผูกขาดคำนิยามโดย "ทหาร" และ "ชนชั้นสูง" เท่านั้น
 
ฯลฯ
 
3. ทราบว่าได้ลี้ภัยการเมือง(self exile)ในต่างประเทศตั้งแต่ 19 พฤษภา 53 ไปอยู่ต่างประเทศ ฟังแล้วก็น่าจะดูดีเพราะไปอยู่ทางยุโรปคงสุขสบายดี ตอนนี้ยังทำงานในตำแหน่งเดิมก่อนลี้ภัยไหม หรือมีองค์กรใดสนับสนุนการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิืปไตยบ้าง หรือมีผลกระทบต่อเรื่องการงาน การเงิน ครอบครัวอย่างไรบ้าง
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: มันเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยว่าการอยู่ยุโรปนั้นสุขสบายดี เพราะยุโรปดูพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง คนที่นี่จำนวนมากอิจฉาคนไทยที่ “โยนเมล็ดพืชผักอะไรตรงไหนก็งอกงาม” และ “มีอาหารกินกันอย่างหลากหลายเหลือเฟือ” ไม่นับว่าเล็กอยู่ที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ค่าครองชีพแพงอันดับสามในยุโรปได้กระมังตามการสังเกตของตัวเองที่เดินทางทั่วยุโรป (รองจาก นอรเวย์ และสวิสเซอร์แลนด์)
 
แน่นอนว่าสองปีที่ผ่านมาเล็กต้องเผชิญกับความยุ่งยากและลำบากมากมาย ทั้งเรื่องอยู่เรื่องกิน และเรื่องขอวีซ่าอยู่ยุโรป ในขณะที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาการล้มละลาย และความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมา เล็กก็ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวในทุกทางที่สามารถทำได้ ทั้งทำการศึกษาและเขียนบทความการเมืองไทยต่อเนื่อง ทั้งติดตามปัญหาคนงานไทยที่ถูกพามาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ จัดผลิตสารคดีหลายเรื่องด้านแรงงานและการเมือง
 
และไม่นับว่าช่วยดูแลเวบไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกสองสามแห่งโดยเฉพาะ www.timeupthailand.net อีกทั้งยังได้พยายามทำงานกับกลุ่มคนไทยที่ยุโรป และจัดรายการวิทยุทางอินเตอร์เนทอีก ทำให้ไม่มีเวลาไปทำงานหารายได้อื่นๆ
 
และนี่ก็เป็นปัญหาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้คือการไม่สามารถผ่อนส่งคืนเงินกู้กับธนาคารได้ จนธนาคารที่ประเทศไทยกำลังดำเนินเรื่องยึดทรัพย์ สมบัติชิ้นเดียวที่มีคือ "ไร่เปิดใจ" และก็เป็นที่มาของการต้องผลิตหนังสือเรื่อง “แรงงานอุ้มชาติ” เล่มนี้ เพื่อขายสร้างรายได้ทำกิจกรรมการเมืองเช่นที่ทำนี้ต่อไป และหวังว่าจะมีรายได้มากพอจะทำให้ไปจ่ายธนาคารไม่ได้ยึดบ้านตัวเองได้
 
และคงต้องขออนุญาตใช้โอกาสนี้ กล่าวขอบคุณคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนไม่น้อยเลย ทั้งที่เมืองไทยและที่ต่างประเทศ ทั้งคนไทยและเพื่อนฝูงคนต่างชาติ ที่ช่วยกันลงขันและสนับสนุนด้านการเงินมาบ้าง (เป็นการช่วยของผู้รักประชาธิปไตย โดยไม่มีนายทุนใหญ่ใดๆ หนุนหลังทั้งสิ้น) และแม้จะไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ก็ทำให้อยู่และทำงานได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
ก็ต้องขอกราบขอบคุณทุกท่านที่อาจจะไม่สามารถเอ่ยนามได้มา ณ ที่นี้ด้วย
 
แม้แต่หนังสือเล่มนี้ก็ต้องขายแบบ "สั่งจองและจ่ายเงินล่วงหน้า" เพราะเล็กไม่มีเงินจ่ายค่าพิมพ์หนังสือ ต้องรวบรวมเงินจากผู้สั่งจองไปจ่ายค่าพิมพ์ เป็นการทำงานที่พึงพิงมวลชน (ไม่ใช่นายทุน) อย่างแท้จริง
 
ก็หวังว่าการตอบรับหนังสือจะเป็นไปด้วยดี ไม่ใช่เพราะต้องช่วยเล็ก แต่เพราะว่าหนังสือเรื่องแรงงานที่ให้ภาพองค์รวมของปัญหาแรงงานและโยงถึงต้นตอของการเมืองไทยเช่นนี้ ไม่ค่อยมีการผลิตออกมา การต่อสู้ของแรงงาน ปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจของทั้งสาธารณชนและรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมสหภาพแรงงานไม่ได้รับการส่งเสริมในประเทศไทย
 
4. มีคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับคุณจรรยามากไหม ที่ยังกลับประเทศไม่ได้ และต้องการหนุนช่วยอย่างไรบ้างจากองค์กรต่างๆ หรือเพื่อนมิตร
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เท่าที่ทราบและติดต่อกันอยู่บ้าง ก็มีกว่าสิบคน ทุกคนลำบากกันถ้วนหน้า ทั้งเรื่องการทำเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ก็ไม่ได้ง่าย เรื่องการขอวีซ่าอยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศที่เขาเลือกอยู่ก็ยุ่งยาก เรื่องเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง ต้องขายบ้าน ขายรถ และทรัพย์สินที่ขายได้เพื่ออยู่กินที่เมืองนอก หลายคนอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเล็กมาก – ฟังเรื่องของเขาแล้ว ไม่บ่นเรื่องตัวเองเลยค่ะ สงสารพวกเขาแทน
 
อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจช่วยกันตั้งกองทุนอะไรซักอย่างเพื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองของประเทศไทย มันจำเป็นยิ่งที่การเมืองไทยยังไม่สามารถปล่อยวางได้ ที่จะมีกองทุนตรงนี้ ให้คนกลุ่มนี้ที่ลี้ภัยสามารถทำงานเพื่อประชาธิปไตยของไทย แม้ว่าต้องอยู่ต่างแดนก็ตาม
 
ไม่ใช่ให้พวกเขาต้องอยู่อย่างปิดตัวและความวิตกกังวลว่าจะเอาชีวิตรอดที่ต่างแดนได้อย่างไร ในสภาพที่หลายคนไม่เคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก และภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง และที่สำคัญเล็กมองพวกเขาเป็น "ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งกับประเทศไทย" ที่ควรสนับสนุนให้ได้ทำงานเพื่อสร้างการตื่่นรู้ทางการเมืองไทยกันต่อไป
 
เสียดายทุกครั้งที่เวลาและสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกใช้คุ้มค่ากับสิ่งที่เขาควรจะทำ และถูกใช้ไปเฉพาะความสุขส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อความสุขของมนุษยชาติ
 
5. ในอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ใช้ฐานในต่างประเทศรณรงค์ปฏิวัติใหญ่ทั้งยุคเลนิน ซุนยัดเซ็็น โฮจิมินห์ รวมทั้งปรีดี พนมยงค์กับคณะราษฎร์ คิดว่าเวลานี้ขบวนทำนองนี้ของไทยมีหรือไม่และมีศักยภาพเพียงใด
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กคิดเรื่องนี้อยู่มากเช่นกัน และคิดว่าจะทำได้ไหมในศตวรรษที่ 21
 
ข้อสรุป ณ ตอนนี้ คือ การจัดตั้งจากต่างประเทศในยุคนี้ไม่ประสบความสำเร็จแน่ เพราะว่านักการเมืองแบบพรรคนายทุน และพรรคชนชั้นสูงก็รู้เกมส์นี้ และใช้การจัดตั้งมวลชนคนไทยจากต่างแดนเป็นฐานหนุนวิถีการเมืองของพรรคพวกตนเช่นกัน และพวกเขามีทุนมากกว่า และทำได้สำเร็จกว่า และไม่ปล่อยให้คนไทยในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเป็นอิสระจากวิถีการเมืองของเขา
 
เล็กได้เดินทางไปพบคนไทยที่ยุโรปในหลายประเทศ เพื่อพูดคุยกันเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย ทั้งยังได้พยายามเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งที่ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมัน แต่ก็พบสภาพที่ว่าคนไทยในต่างประเทศก็ไม่ต่างจากในประเทศนักคือมีกลุ่ม “รักทักษิณ” มีเงินทุนจัดตั้งดีกว่า และมีทักษิณเป็นตัวพรีเซนเตอร์ จึงเป็นขบวนใหญ่กว่ากลุ่มที่เอาเรื่องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมจากประชาชน
 
ต้องยอมรับว่าคนไทยที่มาตั้งรกรากหรือทำงานที่ยุโรปมีฐานครอบครัวมาจากชนบท โดยเฉพาะจากอีสาน พวกเขาก็ฝากความหวังไว้กับทักษิณเยอะว่า อาจจะช่วยดันหรือเทงบประมาณมาช่วยพวกเขาสร้างเศรษฐกิจที่ยุโรปด้วย โดยเฉพาะทำร้านอาหารไทย นอกเหนือไปจากเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
กระนั้น เล็กก็เชื่อว่า การก่อร่างของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการเมืองไทย ได้เริ่มขึ้นแล้วและต่อเนื่องที่ประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และเป็นการก่อตัวของกลุ่มการเมืองที่มีจำนวนไม่ใช่ไม่กี่คนเหมือนอดีต
 
ไม่ใช่การนำด้วยนักคิดที่โดดเด่นคนใดคนหนึ่งเช่นในอดีต แต่มีมากมายมหาศาลมากกว่าที่ผ่านมา และแต่ละกลุ่มก็เลือกยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นยุทธวิถีของตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง
 
เป็นการผลักดันให้การเมืองประเทศไทยหลุดพ้นจากวิถี “การเมืองเรื่องบุคคลและตระกูล” สู่ “การเมืองเรืองระบอบและหลักการ” และจากคนหลากหลายแนวคิดมาก และไม่มีตัวผู้นำโดดเด่นคนใดคนเดียว แต่เป็นขบวนการผู้ให้แนวคิดทางความรู้มากกว่า
 
เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ควรจะเป็น และสอดคล้องกับยุคสมัยแห่งโลกศตวรรษที่ 21 ที่วุฒิภาวะของคนส่วนใหญ่ในสังคมหลุดพ้นจากวิถีการเมืองผู้นำเผด็จการไปกันมากแล้ว และกระแสเทพนิยายและสมมุติเทพก็เป็นเพียงนิทานก่อนนอน ที่ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านให้ลูกฟังกันก่อนนอนกันแล้วเช่นกัน
 
สังคมต้องการความเป็นเหตุเป็นผล เป็นประชาธิปไตย มีความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างกันได้
 
และการเปลี่ยนแปลงก็ได้เริ่มแล้วมากมาย จากหลายกลุ่ม อาทิ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ การรณรงค์ของครอบครัวและเพื่อนนักโทษการเมือง และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องร่วมสองปีของกลุ่มญาติวีรชน 2553 ฯลฯ
 
มันเป็นวิถีการปูทางลงของการเมืองผู้นำเทวดา ตามวิถีสมมติเทพที่มีอัตตาสูงเทียบเขาพระสุเมรุ อย่างไม่หักโค่น เป็นการพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาจากชุดข้อมูลความรู้ของประเทศอื่นๆ “ถ้าอำมาตย์ไม่ลงตอนนี้ก็ถึงคราวแตกหัก” ซึ่งไม่มีใครต้องการให้ไปถึงขั้นนั้น
 
เพราะมันจะต้องมีคนล้มตาย และไม่มีใครอยากเห็นและเจ็บปวดไปกับการเสียชีวิตในประเทศไทยอีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีบทเรียนการยอมรับการเมืองวิถี "คนเท่ากัน" ด้วยสันติวิธี ในหลายประเทศให้เห็นและศึกษาเป็นตัวอย่าง
 
6. คุณอยากบอกอะไรที่สุดในเวลานี้
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ในฐานะของคนทำงานเขียน ก็คงบอกว่าอยากให้หนังสือขายได้ ฮา . .
 
ต้องขอบคุณทนายประเวศ ประภานุกูลมา ณ ที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง ที่รับอาสาโดยไม่เอาค่าใช้จ่ายในการติดตามเรื่องคดียึดบ้าน และเปิดบัญชีให้เพื่อใช้ในการขายหนังสือเล่มนี้ และดูแลค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นที่เมืองไทยให้
 
อยากบอกว่า สองปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองหยุดนิ่ง ศึกษา และวิเคราะห์บทเรียนและข้อมูลต่างๆ ที่ตัวเองสั่งสมมาตลอดกว่า 20 ปีของการเป็นคนทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่ได้มีโอกาสมากกว่าคนจำนวนมาก ในการเดินทางลงศึกษาปัญหาและการพัฒนาในร่วม 70 จังหวัดทั่วประเทศไทยและหลายสิบประเทศทั่วโลก
 
ซึ่งเมื่อคิดในแง่นี้ เล็กก็ใช้ทรัพยากรโลกไปเป็นจำนวนมาก เพื่อการศึกษาเรียนรู้ และก็ควรจะใช้มันอย่างคุมค่า และจำเป็นจะต้องร่วมเป็นหนึ่งในประชากรไทยและประชากรโลก ที่ร่วมใช้สมอง สองมือและสองเท้า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การละเมิดสิทธิ และการเอารัดเอาเปรียบคนชั้นล่างในสังคม หรือที่เรียกว่าประชาชนกลุ่มใหญ่ "กลุ่ม 99%"
 
เล็กทำงานด้วยความเชื่อว่า "จะต้องไม่ทำตัวเป็นผู้นำ" แต่เป็นคนทำงานการศึกษาให้ประชาชนเห็นปัญหาและตัดสินใจหาทางแก้ปัญหาร่วมกันตามวิถีการศึกษามวลชนของเปาโล แฟร์ นักปฏิวัติชาวบราซิล และก็ไม่ได้เชื่อว่าชาวบ้านบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่เล่นเกมส์ไปกับการเมืองด้วย
 
จากบทเรียนการคลุกคลีและทำงานต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านและคนงานมากมาย ทำให้ตระหนักว่า ประชาชนหรือคนที่ถูกเรียกว่าชาวบ้านนั้นฉลาดและเล่นเกมส์การเมืองต่อรองกับอำนาจตลอดเวลา ด้วยวิถีของเขา คือ "เมื่อการต่อรองและพูดกันตรงๆ มันมาด้วยลูกปืน พวกเขาก็ใช้ยุทธิวิถีขอความเมตตา ขอความช่วยเหลือ"
 
แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ ประชาชนคนไทยเปลี่ยนวิถีการต่อรองกับอำนาจเบื้องบนด้วย วิถีการร้องขอ ฟูมฟาย และปรักปรำกันไปมา แบบนี้เสีย ซึ่งเป็นวิถีที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการประเทศในระยะยาวและอย่างยั่งยืน
 
จากบทเรียนการพบเห็นบรรยากาศการเมืองในหลายประเทศ ทำให้ตระหนักว่าเพื่อประเทศก้าวหน้าและพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน "การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีวุฒิภาวะ และอย่างเสรี" คือ หัวใจของการพัฒนาที่แท้จริง
 
ประชาชนต้องหยุดกันตัวเองออกจากความรับผิดชอบในการบริหารประเทศมาสู่การคิดแบบใหม่ ที่ “ต่อรอง นำเสนอข้อเรียกร้อง และร่วมรับผิดชอบในทิศทางการพัฒนาของประเทศ" ไม่ใช่ลอยตัวทุกครั้งที่มีปัญหาด้วยข้ออ้างว่าเป็นเพราะ “ผู้นำไม่เก่ง นักการเมืองคอรัปชั่น หรือเพราะข้าราชการโกงกิน”
 
เป็นการเมืองที่คนทั้งประเทศก็ร่วมเหนื่อยด้วย สนุกด้วย และไม่ได้ฝากภาระการคิด การลงมือทำ การนำพาประเทศไว้กับผู้นำ และนักการเมือง หรือข้าราชการเท่านั้น
 
การทำให้คนในสังคมอยู่ได้อย่างเคารพศักดิ์ศรีในตัวเอง และศักดิ์ศรีของคนอื่นอย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนในสังคมต้องอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เคารพกติกาประชาธิปไตย และต้องขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา
 
และไม่ใช่ไม่มีคน "รู้ทันชาวบ้าน" และ ยังหลงคิดว่าชาวบ้านใสซื่อบริสุทธิ์และเดียงสา เช่นที่ NGOs หรือคนโปรชาวบ้าน เอาชาวบ้านเป็นฐานกิจกรรมทั่วไปมักจะนำเสนอภาพชาวบ้านกันแบบนั้น
 
 
อาจจะไม่ถูกใจคนอ่านเหมือนกันว่าถ้าจะบอกประชาชนคนไทย "ที่ไม่สี" หรือ "สีใด" ก็ตามว่า “หยุดเล่นการเมืองลอยตัวเหนือปัญหาและไม่ต้องรับผิดชอบ” แล้วลงมาร่วม "รับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ” กันเสียที เพื่อรวมกันนำพาประเทศไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมกันโดยทุกคนในประเทศไทย
 
ท้ายนี้ อยากบอกนักศึกษา คนงาน นักสหภาพ หรือผู้ขายหนังสือทางเลือกและร้านขายหนังสือทางเลือกว่า ถ้าการรับหนังสือไปขายว่าให้ติดต่อสั่งจองมาได้เลย และท่านจะได้รับส่วนลด 40% เช่นเดียวกับสายส่งไปยังร้านทั่วไป
 
 
 
หนังสือต้องอ่านโดยนักเขียนต้องห้าม-จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองพิกลพิการในต่างประเทศเขียน หนังสือ"ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน ท่านสามารถสนับสนุนนักสู้ที่อุทิศตัวเพื่อการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยให้อยู่ ได้อย่างยืนหยัด

สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ โดยโอนจ่ายผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาบิ๊กซีรามอินทรา เลขที่864-2-07040-2 ชื่อบัญชี ประเวศ ประภานุกูล จำนวน 330 บาท (หนังสือราคา300 บวกค่าจัดส่ง30บาท) และส่งอีเมลแจ้งรายละเอียดที่อยู่และการสั่งจองไปที่ ACT4DEM@gmail.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท