ชนเผ่า-คนไร้สัญชาติ ค้างคืนข้างทำเนียบ เดินหน้าดัน "เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ"

เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง เข้ากรุงฯ หวังดันนโยบายเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ผิดหวังยิ่งลักษณ์ไม่มารับเรื่อง เหตุเพิ่งกลับจากต่างประเทศ-กำหนดงานยาว

 
 
ภาพบรรยากาศการชุมนุมโดย: มูลนิธิ ชุมชนไท
 
29 มี.ค.55 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 800 คน รวมตัวผลักดันนโยบายเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนเปิดเสรีอาเซียน เพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขระดับนโยบายต่อรัฐบาล รวมทั้งเป็นการรณรงค์เพื่อผลักดันข้อเสนอต่อสังคม
 
สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมากลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาที่ไม่สมดุล ถูกละเลย ถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกละเมิดสิทธิชุมชน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นอย่างมาก ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองถึง 36 เผ่า มีประชากรรวมกันมากกว่า 1,200,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ไร้สัญชาติถึง 400,000 คน ทั้งที่ผลการศึกษาระบุว่าส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้อาศัยมายาวนาน บางกลุ่มตั้งถิ่นฐานกว่า 300 ปี
 
ในปี 2553 มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับ แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมจำเพาะเหล่านี้ ให้ครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้าน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเพราะปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง
 
 
ภาพบรรยากาศการชุมนุมโดย: มูลนิธิ ชุมชนไท
 
ทั้งนี้ ข้อเสนอของเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการแก้ปัญหา คือ
1.ให้มีมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ” โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน คือ ผู้แทนชนเผ่า องค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมดำเนินงาน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
 
2.ให้มีมติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งกอง “แก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” โดยสนับสนุนงบประมาณอย่างน้อยปีละ 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน การศึกษาวิจัย การฟื้นฟูวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพ รวมทั้งการแก้ปัญหาอื่นๆ ฯลฯ โดยให้กองทุนอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาฯ
 
3.เสนอให้คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาฯ เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 เรื่องการแก้ปัญหาชาวเลและกะเหรี่ยง โดยเร่งประกาศพื้นที่นำร่อง “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ” ชุมชนชาวเล 8 พื้นที่ และกะเหรี่ยง 4 พื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกิน เป็นลำดับแรก พร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัย สำรวจรวบรวมข้อมูลของพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาระยะยาว
 
อีกทั้ง ให้คณะกรรมการดังกล่าวสนับสนุนการศึกษาพัฒนาให้เกิดการจัดตั้ง “องค์กรหรือสถาบัน” ที่ดูแลคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามแนวทาง “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ” ภายใน 6 เดือน และหาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน ในกรณีความขัดแย้งในปัญหาที่ดินอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน เรื่องสัญชาติ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเท่าเทียม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมมีการตั้งเวทีด้านข้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และได้จัดกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ สลับกับการปราศรัย โดยมีกำหนดการค้างคืนที่ข้างทำเนียบ และเตรียมขบวนแต่งชุดประจำชนเผ่าเดินทางเข้าร่วมเวทีวิชาการและตลาดนัดในงานสมัชชาชาติที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
 
ขณะที เว็บไซต์ข่าวคมชัดลึกรายงานว่า การชุมนุมในวันนี้ (29 มี.ค.55) ตัวแทนเครือข่ายฯ 15 คน ได้เข้าหารือภายในทำเนียบรัฐบาล กับ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ถึงปัญหาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ และชนเผ่าอย่างกว้างขวาง ตัวแทนชนเผ่าพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลที่อยู่ดั้งเดิมของแต่ละชนเผ่าในพื้นที่ ซึ่งพวกตนอยู่มาก่อนนับร้อยปี แต่ถูกกลุ่มนายทุนรุกล้ำ ทำลายทรัพยากร และไม่สามารถต่อกรอะไรได้ อีกทั้งยังถูกภาครัฐใช้กฎหมายบีบคั้นในหลายด้านเนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดสัญชาติ และสิทธิพื้นฐาน และการเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาที่เรียกร้องเป็นปัญหาเก่าค้างมาหลายรัฐบาล แต่ขาดการเหลียวแล จึงต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับเรื่องด้วยตนเอง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจ
 
ด้าน นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยอมรับว่าไม่ทราบปัญหาในเชิงลึก ซึ่งต้องขอศึกษาดูก่อน และจากนั้นจะนำเรียนนายกฯให้ แต่หากจะให้นายกฯ ออกมาพบในวันนี้เลยคงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากนายกฯ เพิ่งกลับจากต่างประเทศ และมีภารกิจต้องประชุม ครม. อีกทั้งกำหนดงานของนายกฯ ยังแน่นยาวเหยียดตลอดทั้งวัน คงไม่สามารถมารับเรื่องด้วยตัวเองได้จึงมอบหมายให้ตนมาเป็นตัวแทน และยืนยันว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรม เพราะอะไรที่เกี่ยวกับคนจนเราจะต้องดำเนินการให้เต็มที่    
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท