แอมเนสตี้ ชี้ไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังใช้โทษประหารชีวิต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานการลงโทษประหารชีวิตของปี 2554 พบไทยยังเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต พบสถิติการประหารชีวิตในตะวันออกกลางสูงขึ้นราวร้อยละ 50 ในขณะที่จีนมีสถิติการประหารชีวิตสูงที่สุดในโลก

 
ที่มาภาพ: http://www.amnesty.or.th/en/component/k2/item/208

 

แม้ว่า 141 ประเทศทั่วโลกหรือกว่าสองในสามของทุกประเทศได้ยกเลิกโทษประหารทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว แต่ระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยยังคงกำหนดให้ใช้โทษประหารสำหรับความผิดต่างๆ กัน รวมทั้งความผิดด้านยาเสพติด

ในรายงาน “การลงโทษประหารและการประหารชีวิตในปี 2554” (Death Sentences and Executions in 2011) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ พบว่ามีเพียง 20 ประเทศที่ทำการประหารชีวิตในปี 2554 หรือคิดเป็นเพียง 10% ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เราจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนของการยกเลิกโทษประหารในเอเชีย ที่ญี่ปุ่นไม่มีข้อมูลการประหารชีวิตในปีที่แล้วเลย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี รวมทั้งที่สิงคโปร์ก็ไม่มีข้อมูลการประหารชีวิต ส่วนมองโกเลียได้ให้ภาคยานุวัติกับพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายยกเลิกโทษประหาร

“เราจะเห็นแนวโน้มที่ต่อต้านโทษประหารอย่างชัดเจน รัฐบาลไทยควรเข้าร่วมกับขบวนการยกเลิกโทษประหารนานาชาติ” นส. ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว

แม้แนวโน้มทั่วโลกจะมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร แต่ก็มีประเทศบางกลุ่มที่ยังคงประหารชีวิตบุคคลในอัตราที่น่าตกใจในปี 2554 จำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกันปีต่อปี ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะอัตราการประหารชีวิตที่สูงอย่างยิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และอิรัก

จีนประหารชีวิตบุคคลหลายพันคน แต่ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นความลับทางราชการ และเป็นการประหารชีวิตสำหรับความผิดที่กว้างขวางรวมทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และเป็นผลจากการไต่สวนคดีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการไต่สวนคดีที่เป็นธรรม

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่วนน้อย 57 ประเทศทั่วโลกที่ยังใช้โทษประหาร ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ศาลมีคำตัดสินลงโทษประหาร 40 คดีในปี 2554 โดยมีคดีที่เกี่ยวกับความผิดด้านยาเสพติด 9 คดี ในประเทศไทยมีนักโทษประหารขั้นเด็ดขาดเป็นชาย 81 คนและผู้หญิง 6 คน ในปลายปี 2554

เกือบสองในสามของนักโทษประหารในไทยหรือ 55 คน ถูกลงโทษสำหรับความผิดด้านยาเสพติด แต่ปีที่แล้วเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในประเทศไทย

ระหว่างปี 2546-2552 เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความหวังสำหรับกลุ่มรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารและภูมิภาคเอเชียโดยรวม แม้จะยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายไทยอย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทยเลย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ก็เริ่มมีการประหารชีวิตในไทยอีกครั้ง โดยการฉีดยาเพื่อประหารนักโทษชายสองคนที่เรือนจำบางขวางในข้อหาลักลอบค้ายาเสพติด ตามกติกา ICCPR ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและต้องปฏิบัติตาม มีการจำกัดให้ใช้โทษประหารได้เฉพาะกับ “อาชญากรรมร้ายแรงสุด” ซึ่งหมายถึงคดีที่มีเจตนาฆ่าและส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิต แต่ไม่ใช่ความผิดด้านยาเสพติดแบบที่กำหนดในกฎหมายของไทย

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุลกล่าวว่า “ประเทศไทยควรเข้าร่วมกับมติมหาชนที่เพิ่มขึ้น และระหว่างที่รอให้มีการยกเลิกโทษประหารอย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยควรลดจำนวนความผิดที่มีการลงโทษด้วยการประหารชีวิตโดยเฉพาะความผิดด้านยาเสพติด ทั้งยังควรประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการโดยทันที และให้มีการเปลี่ยนโทษประหารสำหรับผู้ต้องโทษที่มีอยู่โดยทันที

“ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”

เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2 สำหรับช่วงปี 2552-2556 ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ตามแผนการดังกล่าวจะต้องมีการยกเลิกโทษประหาร และให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนภายในปี 2556

ในปี 2553 ประเทศไทยได้งดออกเสียงต่อคำประกาศให้ยุติโทษประหารชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับการออกเสียง “ไม่รับรอง” ในมติเดียวกันเมื่อปี 2550 และ 2552” ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุลอธิบาย “ตอนนี้ควรมีการดำเนินการต่อ โดยในขั้นแรกควรยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดด้านยาเสพติด”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่า ประเทศไทยกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามสัญญาและการให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตมนุษย์ทุกคน ทั้งนี้เพราะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เลยถึงความเชื่อมโยงระหว่างโทษประหารกับการลดลงของอาชญากรรม


สถานการณ์โทษประหารชีวิตในทวีปอื่นๆ

ทั้งนี้ รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า ประเทศต่างๆ ที่ยังมีการประหารชีวิตในปี 2554 มีอัตราการประหารชีวิตที่น่าตกใจ แต่ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารได้ลดจำนวนลงกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับหนึ่งทศวรรษที่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลในรายงานประจำปีเกี่ยวกับโทษประหารและการประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

มีเพียง 10% ของประเทศต่างๆ ในโลกหรือ 20 จาก 198 ประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา
มีคนที่ถูกประหารชีวิตและถูกลงโทษประหารด้วยความผิดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์แบบวิตถารในอิหร่าน การหมิ่นศาสนาในปากีสถาน ไสยศาสตร์ในซาอุดิอาระเบีย การลักลอบค้ากระดูกมนุษย์ในสาธารณรัฐคองโก และความผิดด้านยาเสพติดในกว่า 10 ประเทศ

การประหารชีวิตในปี 2554 เกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ กัน เช่น การตัดศีรษะ การแขวนคอ การฉีดยาและการยิงเป้า จนถึงปลายปี 2554 มีผู้ต้องโทษประหารประมาณ 18,750 คน และมีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 676 คนทั่วโลก แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าเกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งมีการปกปิดข้อมูล ทั้งยังไม่รวมการใช้โทษประหารของอิหร่าน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีการประหารชีวิตหลายครั้งซึ่งทางการไม่ยอมรับ

“ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเริ่มหันหลังให้กับโทษประหาร” ซาลิล เช็ตตี (Salil Shetty) เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“เรามีความประสงค์จะแจ้งอย่างชัดเจนต่อผู้นำประเทศกลุ่มน้อยที่ยังประหารชีวิตว่า พวกคุณล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกในเรื่องนี้มาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการเพื่อยุติการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี

ในตะวันออกกลาง มีข้อมูลการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึงเกือบ 50% โดยเฉพาะในสี่ประเทศได้แก่ อิรัก (ประหารชีวิตอย่างน้อย 68 ครั้ง) อิหร่าน (อย่างน้อย 360 ครั้ง) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 82 ครั้ง) และเยเมน (อย่างน้อย 41 ครั้ง) ซึ่งคิดเป็นจำนวนข้อมูลการประหารชีวิต 99% ของจำนวนทั้งหมดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เฉพาะการเพิ่มขึ้นของการประหารชีวิตที่อิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ทำให้ยอดการประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 149 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2553

ที่จีนในปี 2554 มีผู้ถูกประหารหลายพันคน มากกว่าการประหารชีวิตของทั้งโลกรวมกัน ทางการจีนยังถือว่าตัวเลขการลงโทษประหารชีวิตเป็นข้อมูลลับของราชการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยุติการเก็บข้อมูลตัวเลขจากแหล่งข่าวสาธารณะของจีน เพราะมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าตัวเลขที่แท้จริงมาก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังท้าทายอีกครั้งให้ทางการจีนตีพิมพ์ข้อมูลการประหารชีวิตและการลงโทษประหาร ทั้งนี้เพื่อยืนยันตามคำกล่าวอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและการปฏิบัติหลายส่วน ทำให้การตัดสินลงโทษประหารในประเทศลดลงอย่างมากในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

ในอิหร่าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่ามีการประหารชีวิตแบบลับหรือที่ไม่สามารถยืนยันได้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะมากกว่าตัวเลขที่ทางการระบุเป็นสองเท่า

โดยมีผู้ถูกประหารอย่างน้อยสามคนในอิหร่านที่ถูกประหารสำหรับความผิดที่กระทำขณะที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งถือว่าขัดกับกฎบัตรสากล ทั้งยังมีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตผู้เยาว์อีกสี่คนที่อิหร่าน และอีกหนึ่งคนที่ซาอุดิอาระเบีย แม้จะไม่สามารถยืนยันได้

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศเดียวในทวีปในอเมริกา และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มสมาชิกประเทศอุตสาหกรรม G8 ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงประหารชีวิตนักโทษอยู่ โดยมีการประหารชีวิต 43 ครั้งในปี 2554 ไม่มีการลงโทษประหารในยุโรปและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเลย เว้นแต่เบลารุสที่มีการประหารชีวิตสองคน ภูมิภาคแปซิฟิกก็ไม่มีการลงโทษประหารเลย เว้นแต่การลงโทษประหารชีวิตห้าคนในปาปัวนิวกินี
ที่เบลารุสและเวียดนาม นักโทษจะไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการประหารชีวิต รวมทั้งครอบครัวหรือทนายความด้วย ทราบกันว่ามีการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลต่อสาธารณะที่เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย โซมาเลีย และอิหร่าน
ในประเทศส่วนใหญ่ที่มีการลงโทษประหารหรือมีการประหารชีวิต การไต่สวนคดีไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานการไต่สวนคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ ในบางกรณี มีการใช้หลักฐานที่ได้มาจาก ‘คำรับสารภาพ’ อันเป็นผลมาจากการทรมาน หรือการกดดันอย่างอื่น ทั้งในประเทศจีน อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ และซาอุดิอาระเบีย

มีการจงใจเลือกใช้โทษประหารโดยเฉพาะกับพลเมืองต่างชาติ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

แม้ในประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิต แต่ก็มีความก้าวหน้าในระดับที่สำคัญมากมายในปี 2554 ในจีน รัฐบาลได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดของ ‘นักธุรกิจ’ 13 ประเภท และมีการเสนอมาตรการต่อสภาประชาชนแห่งชาติเพื่อลดจำนวนการทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ส่งเสริมบทบาทของทนายฝ่ายจำเลย และดูแลให้ผู้ต้องสงสัยในคดีที่มีโทษถึงประหารให้มีตัวแทนด้านกฎหมาย

ในสหรัฐฯ จำนวนการประหารชีวิตและการลงโทษประหารใหม่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน รัฐอิลลินอยส์เป็นรัฐที่ 16 ที่ยกเลิกโทษประหาร ส่วนที่รัฐโอเรกอน มีการประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราว และผู้เสียหายจากอาชญากรรมรุนแรงก็ยังออกมาพูดต่อต้านโทษประหาร

“แม้ในบรรดาประเทศกลุ่มเล็กๆ ซึ่งยังคงประหารชีวิตในปี 2554 เราก็ยังเห็นความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง ถึงจะเป็นก้าวย่างเล็กๆ แต่มาตรการสะสมเช่นนี้กำลังส่งผลนำไปสู่การยุติโทษประหารในที่สุด” ซาลิล เช็ตตีกล่าว

“มันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้ในชั่วข้ามคืน แต่เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะได้เห็นวันที่โทษประหารกลายเป็นซากอดีตของประวัติศาสตร์”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะมีสภาพการกระทำความผิดอย่างไร โดยไม่คำนึงถึงบุคลิกลักษณะของผู้กระทำผิด หรือวิธีการที่รัฐใช้เพื่อประหารชีวิตบุคคล โทษประหารละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด


สรุปตามรายภูมิภาค

ทวีปอเมริกา
สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศเดียวที่มีการประหารชีวิตในทวีปนี้ โดยมีข้อมูลการประหารชีวิตจำนวน 43 ครั้งใน 13 จาก 34 รัฐที่ยังมีโทษประหารอยู่ ซึ่งลดลงประมาณหนึ่งในสามนับแต่ปี 2544 และมีข้อมูลการตัดสินลงโทษประหาร 78 คดีในปี 2554 ลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2544

แคริบเบียน

เป็นภูมิภาคที่ไม่มีการประหารชีวิตเลย และจำนวนประเทศที่มีการลงโทษประหารดูเหมือนจะลดลง มีเพียงสามประเทศที่ยังสั่งลงโทษประหาร 6 คดีได้แก่ที่ กายอานา เซนต์ลูเซีย และตรินิแดดและโตเบโก

เอเชีย-แปซิฟิก

มีสัญญาณในเชิงบวกที่ท้าทายความชอบธรรมของการลงโทษประหารอย่างชัดเจนตลอดทั่วทั้งภูมิภาคในปี 2554 โดยไม่นับรวมการประหารชีวิตหลายพันครั้งซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน มีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 51 ครั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทราบกันว่ามีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตอีกอย่างน้อย 833 คดีใน 18 ประเทศในภูมิภาคนี้ ในอนุภูมิภาคแปซิฟิกล้วนเป็นประเทศที่ปลอดจากการลงโทษประหาร ยกเว้นการลงโทษประหารใน 5 คดีของปาปัวนิวกินี ไม่มีข้อมูลการประหารชีวิตในสิงคโปร์ และญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี ทางการในประเทศทั้งสองได้เคยแสดงความสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อการลงโทษประหาร

แอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะลทรายซาฮารา
มีความก้าวหน้าอย่างมากในปี 2554 เบนินออกกฎหมายให้สัตยาบันสนธิสัญญาสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหาร ในขณะที่เซียร่าลีโอนได้ประกาศ และไนจีเรียได้ยืนยันคำประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และคณะกรรมาธิการชำระร่างรัฐธรรมนูญที่กานามีข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหาร มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างน้อย 22 ครั้งในสามประเทศในแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะลทรายซาฮารา ได้แก่ โซมาเลีย ซูดาน และซูดานใต้ โดยมีเพียง 14 จาก 49 ประเทศในภูมิภาคนี้ซึ่งจัดว่ายังเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารอยู่ต่อไป

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ยืนยันได้ว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 558 ครั้งในแปดประเทศ และยืนยันได้ว่ามีการลงโทษประหารอย่างน้อย 750 ครั้งในปี 2554 ใน 15 ประเทศ ความรุนแรงที่ยืดเยื้อในปี 2554 ของประเทศต่างๆ อย่างเช่น ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ทำให้การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทษประหารในภูมิภาคนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินลงโทษประหารโดยศาลในลิเบียเลย และไม่มีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลในปีที่ผ่านมาหรือไม่ แต่ในทางกลับกันมักมีการสังหารนอกระบวนการกฎหมาย การทรมาน และการควบคุมตัวโดยพลการ

ที่อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน การประหารชีวิตในสี่ประเทศนี้คิดเป็น 99% ของข้อมูลการประหารชีวิตทั้งหมดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ทางการในแอลจีเรีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน โมร็อกโก/ซาฮาราตะวันตก และการ์ตา ได้สั่งลงโทษประหาร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประหารชีวิตบุคคลใด

ยุโรปและเอเชียกลาง
เบลารุสเป็นประเทศเดียวในยุโรปและอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นประเทศเดียวในองค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE) นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่มีการประหารชีวิตในปี 2554 โดยเป็นการประหารชายสองคน

 

ดาวน์โหลดและอ่านเอกสารประกอบเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท