Skip to main content
sharethis

 


 

หลายคนอาจได้ยินข่าวการสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง" หนังประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่กำลังเร่งระดมทุนจากประชาชนผู้สนใจมาบ้างแล้ว แต่สำหรับผู้กำกับผู้ที่จะอยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ตลอดการผลิต เขาเปิดตัว เปิดใจ ที่นี่เป็นครั้งแรก

แม้ ธัญสก (อ่านว่า ทัน-สะ-กะ)  พันสิทธิวรกุล จะไม่ใช่ผู้กำกับที่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยทั่วไป แต่ในวงการหนังสั้น หนังแนว ย่อมรู้จักเขาเป็นอย่างดี เพราะความแรงในหนังของเขาที่ไม่ปิดบังเรื่องเซ็กส์ เกย์ กระทั่งอวัยวะเพศ แน่นอน หนังประเภทนี้ย่อมไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในเมืองไทย แต่กลับได้รับรางวัลมากมายในต่างประเทศ และได้ฉายในเทศกาลสำคัญๆ ของโลกนับร้อยแห่ง ล่าสุดคือเรื่อง The Terrorists ที่ถูกฉายในหลายเทศกาลหนังของหลายประเทศ รวมถึงในเทศกาลหนังที่เบอร์ลินเมื่อปีกลาย (ดูคลิปตัวอย่างด้านล่าง) นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ เมื่อปี 2550

การเมืองไทยช่วงไม่กี่ปีนี้ได้เปลี่ยนอะไรไปหลายอย่าง เช่นเดียวกับชีวิตของเขา ธัญสกนิยามตัวเองว่าเป็นสลิ่มตัวแม่ที่เริ่มมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังในช่วง 3-5 ปีนี้  โดยเริ่มต้นจาก “ความสงสัย” ในความจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เคี่ยวข้น

จาก “นักไต่ลวด” ซึ่งแต่เดิมจะเล่นกับประเด็นทางศีลธรรมและเรื่องต้องห้าม เช่น เรื่องเพศ โดยนับเป็น “การต่อสู้” ชนิดหนึ่ง เวลานี้เขาเริ่มไต่ลวดเส้นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ประชาธิปไตย และเสรีภาพ โดยเฉพาะเมื่อเป็นนักไต่ลวดอิสระที่ทำงานศิลปะของตัวเองเป็นหลัก และยังชีพด้วยการ “รับจ้าง” (เฉพาะงานที่อยากรับ) ไม่ใช่คนในระบบ จึงยิ่งขับเน้นความพร้อม (ระดับหนึ่ง) ในการลงสู่สนามแห่งความขัดแย้งและแรงเสียดทาน  

อย่างไรก็ตาม มันคงไม่มากเกินไป หากจะกล่าวว่านี่เป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ เมื่อผู้กำกับแนวนี้รับกำกับหนังซึ่งเขียนโครงเรื่องและบทโดยนักเขียนใหญ่อย่างวัฒน์ วรรลยางกูร อดีตนักศึกษาที่เคยหนีเข้าป่า และโด่งดังจากการเขียนนิยาย เรื่องสั้น เพื่อชีวิตที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายลูกทุ่ง ร่วมกับ ทองขาว ทวีปรังสีนุกูล ที่เคยเขียนบทละครดังหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสามหนุ่ม สามมุม

ธัญสกยืนยันว่า แม้จะคนละสไตล์ แต่ทั้งสามรวมกันได้อย่างดีภายใต้ความรู้สึกร่วมบางอย่าง และ “ความฝัน” ที่คล้ายคลึงกัน และหนังเรื่องนี้จะเป็น “หลักไมล์ทางประวัติศาสตร์” ทั้งในแง่การเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแบบที่ไม่มีในบทเรียน และทั้งในแง่ความพยายามจะขยับเพดานของการพูดเรื่องสังคมการเมืองไทยครั้งสำคัญ

ที่สำคัญ มันยังเป็นหนังที่มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะในแง่(หา)ทุน 3 ล้านแบบหืดขึ้นคอ

ดูรายละเอียดในไฟล์แนบด้านล่าง หรือ https://www.facebook.com/pages/Redmovie-Team/274811049262920

 000000

 

เข้าไปมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์นี้ได้ยังไง

โปรเจ็กต์นี้เริ่มก่อนเรา มีการติดต่ออีกหลายคนที่เป็นคนทำหนังในฝั่งนี้ เคยคุยกันแล้วก็หายกันไปนานมาก จนประมาณปลายปีที่แล้วก็มีการติดต่อมาใหม่ บอกว่าเขาสนใจเรา ขอนัดเจอกันหน่อย มันเป็นหนังฝั่งประชาธิปไตย ก็ลองไปคุยดู พอคุยกันแล้วหลายๆ อย่างมันค่อนข้างลงตัว ถูกใจกันพอสมควรในหลายเรื่อง จึงประชุมกันเรื่อยมา จนเริ่มทำงบ

ตอนแรกทุกคนต่าง blank มากว่างบมันควรจะเท่าไหร่ ซึ่งว่ากันจริงๆ สเกลที่ใหญ่พอสมควรแบบนี้มันน่าจะอยู่ที่ 5-10 ล้าน นี่เรียกว่าถูกแล้วนะสำหรับสเกลขนาดนี้ มีคนเยอะ เรื่องเยอะแยะมากมาย กองถ่ายมันใหญ่มาก เมื่อก่อนถูกสุดน่าจะอยู่ที่ 15-30 ล้าน แต่นั่นมันหนัง commercial แต่ยุคนี้ ยุคดิจิตอลอะไรหลายๆ อย่างมันก็ถูกลง แต่สุดท้ายแล้วมันจะฉายโรงหรือไม่ แค่ไหนนี่ก็ยังไม่มีใครแน่ใจ เราพยายามคิดงบโปรดักชั่นเท่านั้น และใช้วิธีถัวๆ กัน ก็ต้องยอมรับว่าเรากำลังทำหนังส่วนตัวเราด้วย ได้งบจากเยอรมัน โปรดิวเซอร์คนเดิมกับเรื่องที่แล้ว แล้วเราใช้วิธีดีลสองโปรเจ็กต์พร้อมกัน คือ เราใช้ทีมงานเกือบจะร่วมกัน เพื่อให้ cost มันถูกลง ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้หรอกใน 3 ล้าน 


อะไรทำให้ตัดสินใจเข้ามาร่วมทำหนังเรื่องนี้

มันหลายๆ อย่าง ตอนที่เราอ่านบท เราชอบนะ มันมีความแฟนตาซีบางอย่างที่ฉลาด แล้วก็ตลก แล้วก็ชาวบ้าน เราไม่รู้จะพูดว่าอะไร มันมีความซื่อ ตรงไปตรงมา และฉลาดในการที่จะเล่า ตอนเราอ่านเราก็ชอบแหละ แต่มันก็มีส่วนที่ไม่แน่ใจว่าที่สุดแล้วมันจะฉายได้จริงๆ ไหม เพราะเรื่องมันเปรียบเปรยอย่างตรงไปตรงมามาก แต่นั่นเป็นขั้นตอนต่อไปที่ต้องคุยกัน

แน่นอนว่า คนทำหนังมันก็มีอีโก้ของตัวเองอยู่แล้ว เราก็เลยใช้วิธีดีลว่า หนังนี่ถือว่าเป็นหนังของเขา พี่วัฒน์ พี่ทองขาว เป็นคนเขียนบท แล้วก็มีสิ่งที่เขาอยากได้เต็มไปหมด ขณะเดียวกันถ้าเป็นเราต้องยอมรับว่าเรามีอีโก้บางอย่าง เราอาจไม่ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนี้ ฉะนั้น ถ้าให้สบายใจทั้งสองฝ่าย ก็ถือว่าเราเป็นแขนขาแล้วกัน เขาต้องการอะไร เราก็จะคิดให้เพื่อให้มันได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เราจะไม่ไปยุ่งกับเรื่องบท ไม่อย่างนั้นมันจะยาวนานมาก แต่ก็ไม่ใช่เราจะเสนอความคิดเห็นไม่ได้

อีกด้านหนึ่งคือ เรากึ่งๆ จะเป็น line producer  ประมาณว่าจัดการนั่น นู่น นี่ ควบคุมการผลิต ขณะเดียวกันหน้าที่ของเราคือ เราอาจต้องคอย fight ว่า เฮ้ย ตรงนี้มันแรงไปปะ ตอนแรกเรามีการเถียงกันขนาดว่าตัวละครจะใส่หน้ากากเล่นเลยมั้ย ให้เซอร์แดกกันไปเลย เราแค่กำลังนึกถึงว่า ละครคาบูกิ ละครงิ้ว ที่เราไม่ได้เห็นหน้าตัวละครจริงจัง หรือใช้หน้ากาก คนก็ยังอินได้ ถ้าเราจะทำแบบนั้นบ้าง แล้วเรื่องมันก็รองรับความเป็นแฟนตาซีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้คงเลือกแล้วว่าต้องการให้คนเห็นหน้า ก็เอาตามนั้น แล้วค่อยไปแก้ปัญหากันทีหลัง


ขอโฟกัสที่บท ถ้าไอเดียหลักๆ มาจากวัฒน์ และทองขาว โดยสไตล์วัฒน์ คนก็จะนึกถึงแนวเพื่อชีวิต ผสมกลิ่นอายลูกทุ่ง

เราก็เพื่อชีวิตนะ (หัวเราะ) 


ถ้ามาผสมกับธัญสกมันจะไปกันได้หรือ

ได้ เราถึงได้บอกไงว่า หนังเรื่องนี้แทบจะเป็นของพี่วัฒน์กับพี่ทองขาวเลย ถ้าเป็นเราทำเราคงไม่ทำแนวนี้ ไม่ใช่เราไม่ชอบ เราชอบ แต่นึกออกหรือเปล่าว่ามันไม่ใช่สไตล์เรา เรามีงานแบบของเรา แต่แม้เป็นหนังเขา เราก็ทำเต็มที่ เพราะว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำ มันคือ เรารู้สึกว่าเวลาที่คุยกับพวกเขาแล้ว เขามีความฝันบางอย่างที่เรารู้สึกได้ว่า เวลาช่วงวัยหนึ่ง (หัวเราะ) พูดยังกับว่าเราแก่นักหนา เรากำลังนึกถึงว่าเรามีความรู้สึกร่วมกันมากกว่าว่ามันมีฝันที่อยากทำ แต่จะทำได้แค่ไหนในสถานการณ์จริง

วิธีการเล่าเรื่องดูเหมือนจะแตกต่างกันมาก

จริงๆ ถ้าเป็นหนังยุคทองปาน มันก็จะเล่าเรื่องต่างไป ยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนสนใจเรื่องการเมือง หนังในช่วงเวลานั้นจะพูดภาพกว้างเพื่อจะมองไปยังคนเล็กๆ แต่เมื่อเราอยู่ยุคดิจิตอล เราใช้มือถือก็ได้ คุณภาพชัดพอจะฉายบนจอใหญ่ เทคโนโลยีมันเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน คนไปคุยกันบนเฟซบุ๊ก หนังในยุคนี้มันจึงพูดเรื่องตัวเอง เราเล่าเรื่องตัวเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและกำลังเล่าภาพกว้างผ่านตัวเรา เล่าเรื่องตัวเองเพื่อสะท้อนว่าโดนสังคมกระทำอย่างไร หรือสังคมรอบข้างเรามันเป็นอย่างไร


ซึ่งแนวนี้เป็นแนวที่ถนัด

ใช่ ตอนนี้ก็ยังเล่าเรื่องตัวเองอยู่ แต่มันกว้างมากขึ้นว่าเรารู้สึกยังไงกับสังคม

ส่วนกับหนังเรื่องนี้เราเชื่อว่าคนที่ทำงานด้านนี้มีสิ่งที่อยากทำตลอดเวลา แต่อยู่ที่ว่าจะทำมันออกมาได้ยังไง เพราะ ณ เวลานี้ ถ้าเป็นดาราหรือผู้กำกับทำหนังแบบนี้ก็จะต้องโดนเล่น  เรามีความรู้สึกร่วมกันตรงนี้ด้วยเพราะเราก็โดนเหมือนกัน แม้ไม่ได้รับแรงกดดันขนาดเขาเพราะไม่ได้ทำงาน commercial  แต่เราเชื่อว่าโปรเจ็กต์แบบนี้ถ้าหาคนอื่นมากำกับมันก็ยาก (หัวเราะ) มันต้องพร้อมมากที่จะต้องโดนเยอะ

ขนาดที่ผ่านมาก็โดนสาหัสทีเดียว เราพยายามทำตัว low profile พอสมควร ไม่ได้เล่นตัวอะไรเลย แต่เหมือนกับเราต้องอยู่ให้ได้ด้วยในการจะทำงานของเรา เลยต้องทำตัว low profile


ที่ผ่านมาโดนอะไร และกังวลว่าจะโดนอะไรต่อไป

เราโดนให้ออกจากมหาวิทยาลัยที่สอนอยู่ เราโดนเอาชื่อไปลงใน ASTV ช่วงล่าแม่มด แต่เราพยายามไม่ให้เป็นประเด็น ไม่เถียง โชคดีที่มันก็เงียบๆ ไป ส่วนเรื่องย้ายมหาวิทยาลัยนี่เป็นเรื่องงี่เง่าที่สุดในชีวิตแล้วที่เคยเจอมา เราไม่สามารถจะพูดข้อเท็จจริงบางประการได้ ขณะเดียวกันในฐานะที่เราเป็นครู เราค่อนข้าง อะไรดีวะ รู้สึกแย่กับสังคมแบบนี้ เราหลอนให้คนรุ่นต่อจากเราอยู่ในความเชื่อแบบที่มันไม่ถูกแล้วเราไม่มีสิทธิพูดความจริง ตอนนี้เราเลยย้ายไปอยู่หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (หัวเราะ) ซึ่งน่าแปลกใจมากเขาไม่ได้มาวุ่นวายอะไรกับเราเลย  เทอมหน้าก็จะสอนที่หอการค้าอีกที่หนึ่ง
 

ถ้าเปิดตัวมากับหนังเรื่องนี้ คาดการณ์ไหมว่าจะเจอแรงเสียดทานอะไรบ้าง

ไม่รู้ เราก็ไม่รู้ คือมันมีอีกเรื่องหนึ่งไม่รู้เกี่ยวกันไหม บางอย่างเองเราก็อยู่ในภาวะที่ไม่ฉลาดพอในช่วงเวลาหนึ่งเหมือนกัน จะพูดยังไงดี เราเป็นคนที่อะไรก็ตามที่เรารู้สึกไม่ยุติธรรม เราก็จะพูดมันตรงไปตรงมาเลย สองปีที่แล้ว ที่เขาเอาเงินมาให้คนทำหนังทั่ววงการในยุทธจักร พอดีช่วงนั้นเราได้รางวัลศิลปาธร กระทรวงวัฒนธรรมก็เอ็นดูเราอยู่พักหนึ่ง เขาก็เลยยื่นโปรเจ็กต์มาให้ว่าเขาต้องการให้ทำหนังโดยการใช้แนวคิดของในหลวง เขาส่งให้คนทั่ววงการ และเน้นที่ศิลปาธรเสียส่วนใหญ่ก่อน เขาก็โทรมาว่าจะทำไหม ให้เอาเศรษฐกิจพอเพียงมา adapt ให้เวลา 10 นาที ให้ 1 ล้านบาทจากเงินไทยเข้มแข็ง แต่เราจะทำได้ไง ในเมื่อเราไม่เชื่อในแนวคิดนี้ เราก็เลยบอกว่าเราไม่ว่าง แล้วเขาก็ต้องการจดหมายยืนยันว่าเราไม่ว่างเพราะอะไร เราเลยอีเมลบอกไปตรงๆ หลังจากนั้นกระทรวงก็ไม่ติดต่ออะไรเราอีกเลย
 
ต้องยอมรับเป็นเรื่องที่ตัดสินใจอยู่นาน ตอนที่จะรับว่าจะทำเรื่องนี้ ถ้าพูดตรงๆ เราอายุ 39 แล้วปีนี้ แล้วคนเราก็อยู่ได้ไม่นานหรอก เราคิดว่ามันไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่แล้ว แล้วถึงวันนึงทุกคนก็ต้องตาย ที่ผ่านมาเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับจิตใจ กับชีวิต ทั้งโดยส่วนตัวเราและหลายๆ คนมากๆ ซึ่งเรารู้สึกว่า มันเหมือนเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง แล้วมันมีคนที่เขาตายกันอีกมากมาย แม้แต่ในเรื่องนี้เรากำลังเล่าถึงคนที่ตายด้วยความอยุติธรรมอันนี้...ทำไมเราจะพูดไม่ได้วะ ฉะนั้น มันเลยเหมือนกับว่ามันไม่ใช่แค่เราที่ต้องมารับแรงกดดันนี้ และถ้าจะเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วมันน้อยกว่ามากๆ กับคนที่ต้องมาเสียชีวิต ติดคุก หรืออะไรก็ตาม เราเลยแบบ เอาเหอะ ถ้าจะโดนก็โดน (หัวเราะ)

เลยเป็นคำตอบสำหรับเมื่อกี๊ว่ามันจะเข้ากันได้ยังไง เรามีหนังสไตล์เรากับหนังสไตล์เขา มันมีความรู้สึกร่วมกันตรงนี้ เราเลยรู้สึกว่า โอเคพี่ เราทำได้
 

กลับมาที่บท แสดงว่าหนังเรื่องนี้จะต้องพูดถึงอะไรที่พูดลำบากมากพอสมควร

ตอนมันเป็นบทมันก็เต็มที่แหละ ถึงเวลาเราต้องมาคุยกันอีกเยอะ
 

เพราะเป้าอยากจะฉายตามโรงทั่วไปด้วย

เป้าแรกสุด ใช่ แต่ตอนนี้มันก็อยู่ที่ดีลว่าเราต้องการแค่ไหน อย่างเช่น ตอนนี้เราเสนอว่า ถ้าจะฉายโรงเราอาจต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง อาจต้องตัดบางอย่างออก แต่จะตัดโดยที่เรียลไทม์ คือ เป็นฉากดำ เหมือนเวลาที่เราอ่านหนังสือแล้วขีดคำออก ให้รู้ว่าตัดอะไรออกไปบ้าง แต่วิธีแบบนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำ หนังพี่เจ้ยเรื่องแสงศตวรรษก็ใช้วิธีแบบนี้อยู่
 

ต้องผ่านกรรมการเซ็นเซอร์ด้วย

ใช่ ก็ไม่รู้จะได้แค่ไหน แต่เราเชื่อว่าทุกประเทศมีปัญหาอยู่แล้ว อย่างอิหร่านก็มีปัญหาการเมืองของเขาเต็มไปหมด ประเทศใดก็ตามเมื่อมีปัญหาความไม่เป็นธรรม คนมันมีทางออก เราอาจจะพบว่าหลังจากเรื่องนี้ อาจมีหนังอีกหลายๆ ที่กล้าที่จะพูดอะไรแบบนี้มากขึ้นก็ได้ เราก็ไม่รู้ว่า รัฐไทยจะพยายามห้ามไปทำไม ในเมื่อรู้อยู่ว่ายิ่งห้าม ยิ่งเป็นประเด็น ยิ่งห้าม ยิ่งมีคนอยากทำ


ได้ข่าวว่ามันไม่ใช่เฉพาะประเด็นลุงนวมทอง แต่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกบฏหมอเหล็ง ยัดเข้าไปได้ยังไงชั่วโมงครึ่ง จะเครียดนรกเลยไหม

ไม่ เขาเล่าแบบตลก มัน radical แต่ไม่ได้ radical แบบเหยียดหยามนะ อาจจะเหยียดหยามตัวเองมากกว่า เหมือนเย้ยชะตากรรมว่าทำไมชีวิตพวกกูถึงได้ซวยกันแบบนี้วะ แล้วก็รวมเอาคนที่มีชะตากรรมแบบนี้ในอดีตมารวมกัน ลุงนวมทองในเรื่องนี้แทบจะเป็นสมาชิกใหม่ของโลกในเรื่อง เพื่อที่เขาจะต้องเลือกอะไรบางอย่าง ต้องไปดูกันว่าเขาต้องเลือกอะไร แล้วเขาก็ย้อนกลับไปว่าสมาชิกเก่าๆ ที่มาต้อนรับเขาเจออะไรมาบ้าง มันน่าสนใจว่า มันทำให้คนฉุกคิดว่า ความอยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นมาช่วงไม่กี่ปีนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาในช่วงที่มีทักษิณ แต่มันอาจเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 80 ปีมาแล้วก็ได้
 

ดีไม่ย้อนถึงพระเจ้าตาก

ไม่แน่นะ บทยังไม่เสร็จ (หัวเราะ)
 

หนังเรื่องนี้คนก็จะตีตราว่ามันเป็นหนังเสื้อแดง คิดต่อเรื่องนี้ยังไง

จะพูดว่าไงดี สมมติว่า ตัวเราเอง คนที่เสื้อแดงมากๆ ก็อาจจะมองว่าเราโคตรสลิ่มเลย คนที่เหลืองๆ ก็จะมองว่าเราโคตรแดงเลย แต่เราไม่แคร์อยู่แล้วว่าใครจะมองเรายังไง เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร คนไทยมันชอบสร้างวาทกรรมบางอย่างว่า เสื้อแดงเป็นควาย โง่ เราเชื่อว่าถ้าใช้สมองคิดจะรู้ว่าเขาไม่ได้โง่ คนอายุเยอะขนาดนี้ แล้วมารวมกันมากมายขนาดนี้ แล้วก็มีคนหลายระดับขนาดนี้ จะมาครอบงำกันได้ง่ายๆ หรือ แล้วตัวเราเองก็ไม่ใช่เด็กๆ แล้ว ไม่ใช่เพิ่งจบใหม่แล้วอยากทำหนังถึงจะไปโดนหลอกให้ทำ พูดตรงๆ ถ้ามีคนมาจ้างเราร้อยล้านทำหนังที่เราไม่อยากทำ เราก็ไม่ทำ แต่อันนี้ งบมันต่ำกว่าเกณฑ์มาก แต่ในเมื่อเราอยากทำ เราก็ต้องดิ้นรนทำ
 

แล้วคิดว่ามันจะเจาะใจ เข้าถึงคนในสังคมที่ไม่ใช่เสื้อแดงได้ไหม หรือว่านั่นไม่ใช่ประเด็นที่แคร์

เราพูดจริงๆ เราไม่รู้หรอก พูดอย่างตรงไปตรงมา เท่าที่เราอ่าน เราคิดว่าคนเสื้อแดงจะชอบ ขณะเดียวกันคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ก็น่าจะชอบ แต่เราไม่แน่ใจเลยว่า คนอีกฝั่งที่เขาไม่ได้สนใจ หรือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์จริงจังหรือถูกครอบงำบางอย่าง เขาอาจจะไม่สนใจก็ได้ เขาดูแล้วอาจจะด่าทอก็ได้ แต่ ณ เวลานี้น่ะ เรามีหนังอีกด้านหนึ่งเต็มไปหมด มันเยอะเกินไปแล้ว สองปีที่แล้ว ในรัฐบาลที่แล้วให้เงินงบไทยเข้มแข็งกับคนทำหนังทำหนังออกมาเยอะมากซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์อันใดกับประชาชน เนื้อหายังคงครอบงำแบบเดิมๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ เราไม่ได้ว่าวัฒนธรรมแต่เดิมเราเป็นสิ่งเลวทราม แต่ในโลกนี้มันมีวัฒนธรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา มันมีคนหลายกลุ่มที่เราต้องยอมรับมากขึ้นว่า เขาคิดไม่เหมือนเรา  เอ๊ะ ฉันตอบคำถามไหมนะ
 

ตอบว่ามันอาจจะไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มอื่น

จะสรุปอย่างนั้นไม่ได้เหมือนกันนะ เราแค่จะบอกว่า เราไม่รู้ เอางี้ เราเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราอยู่อีกข้างนึง เราไม่สนใจเรื่องการเมือง แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไม่ชอบทักษิณ ไม่ได้บอกว่าเราชอบมากขึ้น แต่เรามองอีกมุมนึง เวลานั้นเราไม่ชอบทักษิณเพราะมีการปลุกความคิดให้เกลียดทักษิณ โดยที่เราไม่สนใจด้วยว่าเพราะอะไร ไม่เคยไปอ่านเหี้ยห่าอะไรเลย (หัวเราะ) ก็แค่เขาบอกกันว่าทักษิณมันเลว แต่เอาเข้าจริงเราไม่สนใจการเมืองเลย แล้วเราก็ค่อนข้างซาบซึ้ง จนกระทั่งทุกๆ อย่างมันชัดมากขึ้น

สิ่งแรกที่ทำให้เรารู้สึก “สงสัย” บางอย่างอย่างแรงกล้า หลังจากเริ่มสนใจการเมืองบ้างแล้ว คือ วันหนึ่งเราตื่นเช้ามาก ประมาณตีสี่ ช่วงนั้นคือสงกรานต์เลือด (2552) เปิดทีวีมาดู ทุกช่องเป็นแบบเดียวกัน ถ่ายภาพไกลๆ เห็นอนุสาวรีย์ชัยมีไฟไหม้ แล้วบอกว่าพวกเสื้อแดงมาบุกเมือง เตรียมรถแก๊สจะมาเผาโน่น นั่น นี่ เราก็ เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นวะ แล้วในเฟซบุ๊กก็มีคลิปผู้หญิงเสื้อแดงที่ถูกกระชากผม (บริเวณถนนราชปรารภ) ก็มีการด่าทอกันไปมาสองฝั่งบนหน้าวอลล์ เราก็ไม่ได้อะไร อาจเข้าไปโต้เถียงบ้างว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปกัน แล้วเราก็ได้เห็นคลิปทั้ง 2 อัน อันที่ตัดต่อแล้วแล้วอยู่ในทีวี ประมาณว่าเสื้อแดงมันก้าวร้าว มันด่า มันถุยน้ำลาย จนเขาทนไม่ไหวต้องกระชากผมมัน แต่คลิปที่ได้ดูเต็มๆ ที่ปรากฏในยูทูปและคนรู้จักเราเองที่เป็นคนถ่าย โดยที่วันหนึ่งมันก็ต้องลบเพราะกลัวโดนล่าแม่มด แต่เราได้ทันดูพอดี คือ ก่อนหน้านั้นมันเป็นภาพของผู้หญิงคนนี้ เขาร้องแบบตกใจมากว่าเมื่อเช้ามันเกิดเรื่องรุนแรงมาก เราเป็นคนทำหนัง โดยเฉพาะหนังสารคดี พูดตรงๆ ไม่ได้อยากจะอวด คนทำหนังสารคดีจะมี sense อย่างหนึ่งว่า เวลามีกล้องอยู่ คนจะมีพฤติกรรมยังไง คนมักจะเข้าใจว่าการสัมภาษณ์หรือการถ่ายทอดเรื่องราวสารคดีหรือข่าวคือการพูดตรงไปตรงมา มันไม่ใช่ ทุกครั้งที่มีอะไรมาจ่อเราแล้วบันทึก เราต้องสร้างภาพเสมอ มันคือความจริงที่เราอยากให้คนอื่นรู้ แต่ว่าภาพที่เราเห็นอันนั้น มันเป็นภาพที่..มันเป็นความรู้สึกที่รุนแรง ไม่สนใจอีกแล้วว่ากล้องจะจับอยู่ แล้วก็รู้สึกมากๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ความรู้สึกแบบนี้มันแสดงกันไม่ได้ คนทำหนังถ้าได้ดูคลิปพวกนี้น่าจะดูออกว่าอะไรที่มันตอแหล อะไรที่มันจริง ตอนนั้นเรารู้สึกเกิดความสงสัยว่า เขาเจออะไรมา เขาถึงพูด แสดงออกมา แล้วทำไมเขาถึงต้องโดนแบบนี้ ประกอบกับคลิปที่เห็นในข่าวมันเป็นอีกเรื่องนึง จุดนี้เป็นตัวที่เราแทบจะกระโดดสู่อีกโลกนึงเลย

ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ก็เริ่มสนใจแล้ว เพราะมีอะไรหลายอย่างไม่ชอบมาพากล แต่ไม่ได้อะไรมาก จนกระทั่งเจอคลิปนี้ และเหตุการณ์สงกรานต์เลือดแล้วมันก็กระโดดไปเลย มันเหมือนจิ๊กซอว์ที่มันหายไป แล้วมันเจอ มันก็เลยหยุดไม่ได้

อีกเรื่องที่ทำให้เราเฮิร์ตหนักมากคือเรื่องพี่เหน่ง (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ-พ่อน้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553) หลัง 10 เมษาเรายังเจอกันอยู่เลย ลูกพี่เหน่ง ทำกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ เรายังถ่าย Terrorists อีกแบบหนึ่งอยู่เลย ตอนแรกเราไม่ได้ทำแนวการเมือง เพราะเราเบื่อการเมืองแหละ (หัวเราะ) สลิ่มมั้ย แต่พอหลัง 10 เมษาอะไรหลายอย่างมันบอกเราว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว เราเลยเขียนเมลไปบอกแหล่งทุนว่าเราขอเปลี่ยนโปรเจ็กต์แหละ เราไม่อธิบายอะไรด้วย แต่เราขอเปลี่ยนมาพูดเรื่องการเมือง จากนั้นอีกไม่ถึงอาทิตย์ก็มารู้ข่าวว่า น้องเฌอเสียชีวิต ...คือ..เราไม่รู้จะพูดว่าอะไรดี จะบอกว่าการเมืองไม่มีผลกระทบกับเราไม่ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรมันล้อมรอบตัวเราไปหมด อะไรก็ตาม เราไม่โกรธเท่าใครก็ตามที่โดนฆ่า มันแย่ มันน่าขายหน้า น่าตลกมาก ที่ประเทศไทยสอนว่าเราเมืองพุทธ ไม่ควรฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราสงสารเหลือเกินหมาแมวโดนทำร้าย แต่พอเวลาคุณเห็นว่ามีคนเห็นต่างกับคุณ คุณกลับลุกฮือมาบอกว่า “ฆ่ามันๆ” ล่าแม่มดมัน
 

ในหมู่เสื้อแดงเองก็มีคนหลายเฉด หลายแบบ รสนิยมก็แตกต่างกันพอสมควร เอาง่ายๆ แค่มวลชนส่วนใหญ่ที่เป็นเสื้อแดงรากหญ้ากับพวกคนชั้นกลางในเมืองที่เถียงกันในเฟซบุ๊กก็น่าจะมีความชอบ มีสไตล์ที่ต่างกัน ฉะนั้นหนังเรื่องนี้จะอยู่ตรงไหน

เราเชื่อว่า คนที่เขามีจิตใจประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นกลางหรืออะไร เขาค่อนข้างมีใจเปิดกว้าง ตอนเราอ่านบทเรื่องนี้เรารู้สึกว่ามันชาวบ้านมากๆ แต่ไม่ใช่แบบที่ต้อง อี๋ เราจะพูดยังไงดี หลังจากที่เราเริ่มตาสว่าง เรารู้สึกว่า “ชาวบ้าน” ฉลาดกว่าพวกเราอีก เขารับรู้ และเจออะไรแบบนี้มาก่อนเรา แล้วเราเชื่อว่าคนที่ใจประชาธิปไตยเข้าใจได้ไม่ยากหรอกกับเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้

เท่าที่เราอ่าน มันมีความร่วมสมัยหลายอย่างในวิธีการเล่า ค่อนข้างทันสมัยเลยทีเดียว นี่พอจะรู้ใช่ไหมว่ามันแฟนตาซี
 

รู้มาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าแฟนตาซียังไง

มันเหมือนการคุยกันในร้านเหล้า แล้วก็ก้มมองใต้หว่างขาแล้วเห็นโลกอีกโลกหนึ่ง มันเป็นภาพเปรียบเทียบด้วยเพราะเมื่อคุณมองลอดใต้หว่างขา มันเป็นความเชื่อว่าคุณจะเห็นผี ขณะเดียวกันในเชิง visual ก็เห็นว่าอนุสาวรีย์มันกลับหัว แล้วเราจะพบว่าความจริงเมื่อย้อนกลับไปมันกลับตาลปัตรอย่างยิ่ง เราเลยรู้สึกว่ามันฉลาดมากที่จะเปรียบเทียบ ขณะเดียวกันเรื่องที่เล่ามันก็ชาวบ้านมากๆ เราเลยคิดว่ามันน่าจะโดนใจหลายกลุ่ม แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็คือหนังเรื่องนึง ก็ย่อมมีคนชอบ และไม่ชอบ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นหลักไมล์อย่างนึงว่าเรากำลังเริ่มที่จะทำ ไม่ใช่ก่อนหน้านี้มันไม่มี มีแต่มันก็หลบๆ ซ่อนๆ แล้วก็หวังว่าจะมีหนังที่จะสามารถพูดได้มากขึ้น

ประเทศอื่นเขามีหนังเยอะแยะมากมาย บ้านเรายังล้าหลังอยู่มาก ยังคงอยู่กับโลกของตัวละครที่ flat แบนมากๆ ขณะที่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

ช่วงนี้มันเป็นช่วงการเรียนรู้ของคนไทยเลยแหละว่า อะไรคือประชาธิปไตย อะไรไม่ใช่ แม้แต่เราเองก็ตามที่กำลังเรียนรู้อะไรมากขึ้น แม้ว่าอายุขนาดนี้ จะตายห่าอยู่แล้วเนี่ย (หัวเราะ) มันน่าเศร้าเหมือนกันที่เราอยู่ในประเทศที่หลอนคนกันมาชั่วชีวิต
 

โดยเฉพาะพวกทำงานศิลปะด้วยใช่ไหมที่จะ sensitive กับเรื่องนี้

คนทำงานศิลปะประเทศนี้น่ารังเกียจที่สุดในโลกแล้ว คนทำงานศิลปะประเทศอื่น รับเงินรัฐ เพื่อจะมาด่ารัฐ แต่คนทำงานศิลปะประเทศนี้รับเงินรัฐเพื่อเลียแข้งเลียขารัฐ ไม่เคยเห็นประเทศไหนน่ารังเกียจเท่าศิลปินประเทศนี้ อันนี้ขอลง
 

คิดว่าเรื่องนี้เป็น propaganda ของเสื้อแดงไหม

เป็นคำถามที่ตอบยากมาก คำว่า propaganda ในที่นี้มันขึ้นอยู่กับว่าคนเชื่อว่าอะไร โฆษณาชวนเชื่อเนี่ยมันเกิดขึ้นเพื่อทำให้เชื่อเรื่องๆ หนึ่งอย่างมากๆ ทำทุกอย่างให้คนเชื่อ ในด้านหนึ่งทุกวันนี้ทั้งสองฝั่งมันถูกทำให้เป็นความเชื่ออยู่แล้ว ฝั่งเราแทบจะดูเหมือนไม่มีหลักฐาน หรือพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งที่มีหลักฐาน อยากพูด แต่พูดไม่ได้ เพราะกฎหมายหรืออะไรก็ตามมากดไว้ ดังนั้น มันก็อาจจะยังเป็นโฆษณาชวนเชื่อสำหรับใครอยู่ดี แต่ไม่ว่ามันจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือเปล่า มันเป็นการเริ่มที่จะทำ แค่เริ่มทำ เพราะอีกฝั่งมี propaganda เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง อย่างน้อยมันก็พยามยามสร้างทางเลือก

แล้วยิ่งน่ารังเกียจใหญ่ ตอนเงินไทยเข้มแข็งเมื่อสองปีที่แล้ว รัฐบาลให้เงินส่วนหนึ่งมาทำหนัง propaganda ด้วยซ้ำ กฎแรกๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรมเขียน มันเข้าข่าย propaganda ทั้งนั้น ห้ามทำโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับศาสนา การเมือง และเป็นภัยต่อความมั่นคง ห้ามพูดอะไรก็ตามที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงของชาติ  คือคุณมี agenda อยู่แล้วว่าอะไรคือความมั่นคงของชาติ แล้วคุณให้เงินจำนวนนี้ เยอะมาก ถ้าจำไม่ผิด 250 ล้านให้กับพระนเรศวร ส่วนงบที่เหลืออีก 250 ล้านให้ถัวเฉลี่ยไปกับหนังเล็กหนังน้อย ทีวี และเกมส์ ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องอยู่ในหลักคุณงามความดีอันดีงามที่ทึกทักเอาเองว่าสิ่งนี้ดี ลองมองประเทศอื่นที่เขาให้ทุนทำหนัง มันท้าทายมาก เพราะสิ่งที่เขาทำคือเขาสามารถวิจารณ์ประเทศตัวเองได้

ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ เราแทบไม่รู้จักมาก่อนเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราเพิ่งมารู้จักหลังปี 1993 เพราะก่อนหน้านั้นเกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารอยู่ 40 ปี พัฒนาการของเกาหลีไม่มีอะไรคืบหน้าเลย แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้จักดี แล้วเราเพิ่งไปเทศกาลหนังของเกาหลี ฉายที่หมู่บ้านรอยต่อระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ โดยที่เรื่องทั้งหมดต้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย เราก็ไปฉายเรื่อง Terrorists เขาเปิดกว้างมากในการให้ทำหนังที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ ในปี 93 สาเหตุที่มันเริ่มเป็นประชาธิปไตย เพราะมีประธานาธิบดีที่มาจากพลเรือนเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นพลเรือนฝ่ายขวาอยู่ดี แต่ว่าก็ค่อนข้างจะรับฟัง เช่น ในวงการหนัง มันระดมคนในวงการทั้งหมดมาร่วมคุยกันว่าจะเอายังไงกับวงการภาพยนตร์ ตอนนั้นเกาหลีมีเรื่องขายหน้าอยู่เรื่องนึงคือเทศกาลหนังปูซาน ซึ่งเพิ่งจัดมาสิบกว่าปี แต่ตีตลาดมาก ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่เกาหลีก็มีเรื่องขายหน้า เพราะแบนหนัง 3 เรื่อง เป็นหนังเกย์ล้วนๆ จบเทศกาล นักข่าวก็เขียนโจมตีกันใหญ่ว่าล้าหลัง สุดท้ายต้องระดมคนในวงการหนังมาเขียนกฎหมายใหม่ ไม่ให้อายชาวโลก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนไปทันที เปิดกว้างมาก ขนาดมีฉายหนังเกย์โดยเฉพาะเลย ถามว่ามีคนต่อต้านไหม มีอยู่ตลอดเวลา มันก็มีคนประท้วงไม่เห็นด้วย แต่เขามีการประชุมแล้วรับฟังกัน แต่บ้านเรามันพูดไม่ได้เลย แม้แต่หนังที่เคยทำซึ่งด่าทักษิณด้วยซ้ำเรื่องตากใบแต่ก็ถูกห้ามฉาย เพราะไปแตะทหาร (This Area is under Quarantine)

เราเป็นศิลปาธร เคยเข้าประชุมหลายหน ประเด็นที่ได้ยินบ่อยมากคือ ทำยังไงถึงจะสู้เกาหลีได้ มองแค่ว่าจะขายของสู้เขายังไง แต่ไม่เคยมองเลยว่าเพราะเขาเป็นประชาธิปไตยไงเขาถึงทำได้ ถ้าแก้ให้เป็นประชาธิปไตย สามารถรับฟังคนได้ทั้งหมดทั้งมวล พูดคุยกันได้ คุณทำได้ไปตั้งนานแล้ว แต่ดันเสือกมาหมกมุ่นเรื่องโง่ๆ และมองว่าจะขายของยังไงซึ่งเป็นปลายเหตุ มองว่าคนมาเมืองไทยเพราะเป็น land of smile มีผ้าไหม อะไรแบบนี้

หรืออย่างพม่า ตอนนี้เขาก็ก้าวไปเร็วมาก น่าสนใจมาก โอเค ในด้านหนึ่งเราก็พอจะรู้ว่าพม่าเพิ่งเปิดประเทศก็ต้องเอาใจทุกฝ่าย ต้องแสดงภาพว่าเป็นประชาธิปไตย แต่มันกำลังไปสู่เกาหลีใต้แรกๆ ที่ผ่านมาเพิ่งจะมีเทศกาลหนังที่ค่อนข้างเปิดกว้างจริงๆ พูดเรื่องประชาธิปไตย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จัดโดยนักแสดงตลกคนหนึ่งที่โดนขังคุกตั้งแต่ช่วง 8888 เพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อปีที่แล้ว คนให้รางวัลคือ ออง ซาน ซู จี แถมหนังในเทศกาลก็ไม่ต้องส่งให้เซ็นเซอร์ด้วย มันน่าสนใจไหมล่ะ ประเทศเราด่าว่าพม่าล้าหลังไม่ได้แล้ว ขนาดที่มึงกำลังเซ็นเซอร์หนังตลอดเวลา แล้วเสแสร้างเป็นประชาธิปไตย  อีกหน่อยจะสู้พม่าไม่ได้ หนังเขาก็น่าสนใจมาก อันหนึ่งคือพูดถึงกระบวนการเซ็นเซอร์ในพม่าว่ามันโง่เง่ายังไง เป็นหนังล้อเลียนตลกๆ หรือเรื่องเกี่ยวกับการประท้วงของพระพม่า สามารถดูได้ในยูทูปทุกเรื่องเลย เพราะรัฐบาลพม่าเพิ่งเลิกบล็อคยูทูป สิ่งเหล่านี้ก็อยู่บนนั้นหมด คนเข้าดูได้หมด มีซับอังกฤษให้คนดูรู้เรื่องด้วย
 

คำถามเบาๆ  จะเปิด casting-คัดเลือกดาราไหม

เปิดๆ กล้ามั้ยล่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกถึงกับเถียงว่าจะใส่หน้ากากไหม เพราะไม่รู้จะมีผลกระทบอะไรไหม แต่สำหรับคนดูเขาย่อมคาดหวังจะเห็นดารา แบบ ดารา เลยอยู่ในหนัง คำถามคือ จะมีใครกล้าเล่นป่าววะ อันนี้ก็ต้องรอดู พิสูจน์ใจ แต่ยังบอกไม่ได้ ยังไงก็ตามเราก็ต้องการคนธรรมดานะ มันเปิดพื้นที่อยู่แล้ว

 

0000000

หมายเหตุ ต้องการร่วมระดมทุน สามารถโอนเงินเข้าบัญชีชื่อ: นายอภิรักษ์ วรรณสาธพ และนายอานนท์ นำภา และนายปณัท นิตย์แสวงเลขที่บัญชี: 691 – 0 – 10054 – 9 ธนาคารกรุงไทย สาขาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

 

 

ตัวอย่างบางส่วนของหนังเรื่อง "ก่อการร้าย" (The Terrorists)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net