เรียนรู้ ‘ฮอด’ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 2)

 

‘ฮอด’ คือเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
พ่อครูจงกล นามเทพ ปราชญ์ท้องถิ่นของฮอด ได้บอกเล่าเอาไว้ว่า มีผู้เฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายและทำแผนที่ไปประเทศพม่า พอเกิดสงครามจริงก็เห็นทหารญี่ปุ่นลอยเรือมาตามลำน้ำแม่ปิง แล้วมาขึ้นวังในเขตพื้นที่ตำบลฮอด เดินทางขึ้นเขาไปทางดอยเหลี่ยม ผ่านไปอำเภออมก๋อย มุ่งสู่ประเทศพม่า ต่อมา พอญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นก็แตกทัพลงมาทางอำเภอฮอด แล้วล้มตายจำนวนมาก

ว่ากันว่า บริเวณทางทิศใต้ของวัดพระเจ้าโท้ของฮอดนั้น เคยเป็นป่าช้าของทหารญี่ปุ่นมาก่อน

เช่นเดียวกับ พ่อหนานนาค  ใจเขียว ชาวบ้านจากฮอด บอกเล่าให้ฟังว่า “สมัยเมื่อตนเองอายุสิบกว่าปี มีทหารญี่ปุ่นเข้ามาพักบ้านของเราเป็นหลังๆ ซึ่งบริเวณที่พัก คือ บ้านหลวงเก่า ตอนที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามานั้น เขาก็ไม่ทำอะไร  แต่เรากลับมีรายได้จากการขายอาหารให้กับทหารญี่ปุ่น เดินทางผ่านบ้านวังลุง ขึ้นมาพักที่บ้าน พวกเขามาอยู่บ้านเราประมาณครึ่งเดือนแล้วก็เดินทางต่อ บ้านของเราเป็นเพียงทางผ่านของทหารญี่ปุ่น ต่อมา ทหารญี่ปุ่นก็เกิดการล้มตาย ก็ได้นำมาฝังไว้ที่โรงเรียน ซึ่งสาเหตุการตายของทหารญี่ปุ่น คือ ตายเพราะเป็นพยาธิ ตายเพราะความหิวโหย ไม่ได้กินอะไรนั่นเอง”

“ตอนนั้น ทหารญี่ปุ่นจะมาพร้อมๆ กัน เดินทัพกันมาเป็นกองทัพ และวังลุงก็จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ ผมอยู่กับแม่ ซึ่งตอนนี้แม่ก็อายุ 91 ปีแล้ว แม่ก็ได้ช่วยเหลือทหารญี่ปุ่น  พ่อก็ได้ของจากทหารญี่ปุ่น จากการบอกเล่ามา ญี่ปุ่นจะเอาปืนมาแลกข้าว มาแลกกล้วย หรืออะไรที่สามารถเป็นอาหาร  เพราะว่าข้างบนดอยไม่มีอะไรกิน เวลานอนมดไต่เต็มหน้าตาก็มี ซึ่งตอนนั้นเองแม่ได้เข้าไปช่วย ซึ่งตอนกลางคืน ฝนก็ตก ตอนนั้นเองก็ได้ชวนแม่ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะแม่เองก็ยังเป็นสาว มีป้าปุ๋น ที่สมัยนั้นเป็นคนที่งาม หน้าตาดี แม่ทัพญี่ปุ่นก็จะพาแกไปทุกที่เลย ฉะนั้น สถานที่ที่วังลุง จึงเป็นสถานที่เดินทัพของทหารญี่ปุ่น แล้วก็มาตายที่วังลุงกันเป็นจำนวนมาก ฮอดเราจึงเป็นเมืองผ่านของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ก็ขึ้นไปทางเส้นสายปาย สายห้วยน้ำดัง ซึ่งสามารถข้ามไปพม่า” นายพิชิต อุดธิ สมาชิก อบต.วังลุง ตำบลฮอด เล่าให้ฟัง

มีหลักฐานที่ยืนยันมากมายว่า ทหารญี่ปุ่นได้เดินทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ การขุดพบซากของมีด ปืน ของทหารญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบัน ชาวบ้านบอกว่าจะไม่ค่อยพบเห็นกันแล้วก็ตาม                                    

“เพราะสุดท้าย เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นก็กลับมาเอาศพ คือมาเอากระดูก  ส่วนเรื่องปืน หรือว่าอาวุธ คนที่รวยๆ ก็จะได้มาก สุดท้ายเขาก็เอาไปขายให้คนรวย” พ่อหนานนาค  ใจเขียว บอกเล่าให้ฟัง

ฮอด เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ แผ่นดิน แม่น้ำและป่าไม้

ฮอด ยังถือว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งมีทั้งคนพื้นเมือง หรือไทยวน และคนกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ต่างมีวิถีชีวิตสงบและเรียบง่าย อยู่ร่วมกับผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำมาอย่างยาวนาน                                                                                                  

พ่อครูจงกล นามเทพ เขียนบันทึกคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ชุมชนตำบลฮอด ในยุคหลัง ช่วงคาบเกี่ยวปีพุทธศักราช 2400 เป็นต้นมา ผู้คนประกอบสัมมาชีพด้วยการหาปลา ทำนา ทำไร่ ไปตามอัตภาพ การทำนาอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่ฮอด เข้าสู่ลำเหมือง มีเนื้อที่ทำนาประมาณ 1,500 ไร่ ลำน้ำแม่ฮอดเดิมมีน้ำไหลตลอดปี ต้นน้ำอยู่บริเวณดอยคำเป็นป่าทึบ ลำน้ำแม่ปิง เมื่อก่อนนี้ในฤดูฝน น้ำจะเจิ่งนองเต็มฝั่ง ต่อมา บริษัทฝรั่งเข้ามาสัมปทานไม้สัก แล้วชักลากให้ไหลไปตามน้ำปิง แล้วบริษัทไปดักเอาไม้สักที่ปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์                                                               

ฮอด คือเมืองท่า แลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญ


นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนนั้นมีการเดินทางด้วยทางน้ำ การค้าขายก็ทางน้ำ ซึ่งฮอดเองก็เป็นจุดที่เป็นเมืองท่า มีการเอาสินค้าจากเชียงใหม่หรือจากแม่แจ่ม ผ่านทางลำน้ำแจ่มมาพัก ณ  จุดนี้  ถ้ามาถึงที่เจดีย์สูง ก็รู้แล้วว่ามาถึงเมืองฮอดแล้ว”

แต่เดิมนั้น ตำบลฮอด แบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 เป็นหมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านแควมะกอก หมู่ที่ 1 ,บ้านหลวงฮอด หมู่ที่ 2,บ้านวังลุง หมู่ที่ 3, บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ51ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 31,875 ไร่ และมีอาณาเขตดังนี้                 

ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก ติดติดต่อกับตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดติดต่อกับตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ตัวอำเภอฮอด ตั้งอยู่ที่บริเวณ หมู่ที่ 2 บ้านหลวงฮอด ตำบลฮอด มีสถานที่ราชการตั้งอยู่ เช่น ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ เป็นต้น จึงถือว่าพื้นที่ตำบลฮอด เป็นศูนย์กลางของราชการและเป็นศูนย์รวมของความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ วิถีความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในการสืบทอดดำรงอยู่ของคนฮอดมาช้านาน

พ่อหนานไล อุ่นใจ ได้ร่วมกันรื้อฟื้นและบอกเล่าถึงชุมชนบ้านหลวงฮอดในอดีตให้ฟังว่า หลวงฮอดนั้นเป็นบ้านเก่า เรียกว่า มีมาตั้งแต่เดิม ผังบ้าน ผังเมืองอยู่กลางหมู่บ้าน  วัดตั้งอยู่ใต้ผังเมือง โรงเรียนตั้งอยู่ทางตะวันตก วัดหลวงฮอดนั้น เมื่อก่อนเป็นที่ว่าการอำเภอฮอดมาตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว                                                  

พ่อนาค  ใจเขียว บอกเล่าให้ฟังว่า “พ่อหลวงบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายปวน โกฏิธิ อาชีพที่ทำมาตั้งแต่อดีตนั้น ก็คือ ทำนา  ไถนา โดยการใช้ควายไถนา และหาปลา คนสมัยก่อนมีความสามัคคีช่วยเหลือกัน ประเพณีสมัยดั้งเดิม ที่จำได้ก็มีการเก็บผักตบชวา เอามาแกงใส่ปลาแห้งเลี้ยงกัน เวลามีการบอกบุญ งานบวช  ก็มีการทำขนมปาดมาเลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน”     

เช่นเดียวกับหมู่บ้านแควมะกอก ก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และยาวนาน

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่าว่า เมื่อก่อนจะเรียกกันว่า “แคภูทอก”  พอผู้คนพากันมาสร้างบ้าน ชื่อ “แคภูทอก” ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น “แควมะกอก” เนื่องจากการพูดคุยการสื่อสารนั้นผิดเพี้ยนไป

หมู่บ้านแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในสมัยพ่อหลวงแก้ว  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมา สมัยพ่อหลวงชุ่มเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน  มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมา 60-70 หลังคาเรือน พร้อมทั้งมีการก่อสร้างวัดวาอารามขึ้นมาในช่วงสมัยนั้น แต่ไม่มีพระมากราบไหว้บูชา ชาวบ้านก็เลยหาถาวรวัตถุมาปั้น คือ ดินกี่ จนมีมาถึงปัจจุบันนี้ จากนั้น ชาวบ้านก็ไปนิมนต์หนานคำ เข้ามาอยู่ที่วัด และมีการตั้งชื่อวัด คือ วัดคัมภีราราม ซึ่งเป็นที่มาจากนามขอพระครูคัมภีรธรรม

เมื่อสืบค้นข้อมูลก็พบว่า ในพื้นที่บริเวณนี้ มีการสร้างวัดวาอาราม โบราณสถานเก่าแก่ให้เห็นร่องรอยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ 3 วัด  คือ วัดพระบาทแก้วข้าว มีอายุหลายร้อยปี ถือว่าเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สร้างขึ้นตั้งแต่บ้านแควมะกอกยังไม่มาก่อตั้งเสียอีก

“วัดเจดีย์หน้อย มีการใส่บาตรที่นั่น  เมื่อก่อนก็มีพระมาเดินดง  มีขะโยม (เด็กวัด) ติดตามมาด้วย 1 คน มาถึงดอยซ้อม จะเป็นที่ที่พระได้มากินข้าว นำเอาผ้ามาตักน้ำเพื่อรองบาตรมาตักน้ำไปกิน” คนเฒ่าคนแก่บ้านแควมะกอก บอกเล่าให้ฟัง

บริเวณบ้านวังลุงในอดีตนั้น ก็ถือเป็นอีกศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของฮอด มีการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างฮอดไปจนถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์เลยทีเดียว

“กลุ่มที่อยู่บนดอยก็ลงมาซื้อของที่วังลุง  ของสินค้าที่มาจากปากน้ำโพก็มาถึงที่นี่ สมัยนั้นสินค้าจะขึ้นมาทางเส้นน้ำ และวังลุงเป็นจุดที่เหมาะสำหรับการค้าขาย คือ หันหลังชนฝา หันหน้าเข้าหาน้ำ วังลุงจึงมีความหลากหลาย  มีแขก หรือคนฮอดบ้านเราเรียกกันว่า  กุลา มีคะฉิ่น และอีกหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในวังลุง คนจีนก็มีมากในตอนนั้น ส่วนเชื้อสายของผมเองเป็นขมุ  ผมเองยังเป็นลูกครึ่งระหว่างหลวงฮอดกับวังลุง  เพราะว่าวังลุงมีการแยกจากหลวงฮอดไป นาคอเรือก็แยกจากวังลุงไป แต่พื้นที่ก็ยังอยู่พื้นที่เดียวกัน”

นั่นเป็นการบอกเล่าของชาวบ้านเก่าแก่ดั้งเดิมของฮอด ที่บ่งบอกว่า ฮอด มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยน และเชื้อชาติเผ่าพันธุ์                                                                                               

ฮอด ยังขึ้นชื่อในเรื่อง ‘คนหาปลา’

แน่นอน อาชีพหาปลา เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สำคัญของผู้คนฮอดเมื่อนานมาแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอด ก่อนนั้นจะมีอาชีพทำนา ครั้นเมื่อว่างจากฤดูทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะหันมาหาปลากันเป็นอาชีพเสริม 

คนฮอดสมัยก่อน จะเริ่มออกหาปลาตั้งแต่ตอนยังเด็ก ไปกับพ่อแม่ วิธีหาปลาก็ได้เรียนรู้มาจากพ่อแม่  เนื่องจากแต่ละชุมชนนั้นตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปิง แม่น้ำและสัตว์น้ำจึงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก           

นายนิวัฒน์ แสงสุวรรณ์ สมาชิก อบต.หมู่ 2 บ้านแพะดินแดง บอกเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่มและแต่งงานในช่วงอายุ 21 ปี ก็ยึดอาชีพการหาปลามาตลอด ส่วนการทำนาก็ยังทำอยู่ เพราะส่วนมากจะทำนาปลูกข้าวเอาไว้กิน ไม่ได้ทำไว้ขาย ส่วนการหาปลานั้นก็จะดีกว่าการที่จะต้องไปรับจ้างข้างนอก

“รายได้จากการขายปลานั้นจะได้มากกว่า  เมื่อก่อนนั้น การรับจ้างรายวันจะได้ประมาณ 70 บาท แต่การหาปลาจะได้มากกว่า วันหนึ่งขายปลาได้หลายร้อยบาท บางวันหาปลาได้เยอะ ก็ขายปลาได้เงินหนึ่งพันสองพันกว่าบาทก็มี”

การหาปลาของคนฮอดสมัยก่อนนั้น พอว่างจากการงานก็จะออกไปหาปลากันทุกวัน โดยส่วนใหญ่จะไปหาปลากันในหลายๆ พื้นที่ เช่น  บริเวณบ้านแพะดินแดง บ้านแควมะกอก วังลุง ซึ่งเมื่อก่อนเคนหาปลาแต่ละคน จะใช้เรือพาย เรือถ่อ

“เราจะใช้เรือพาย แต่ก็จะไปถึงแค่วังลุง  จะไปไกลไม่ได้  เพราะเรือนั้นเป็นเรือพาย ต้องถ่อไป จะทำให้เหนื่อย ไปไกลก็ไม่ได้ พอตอนใกล้จะค่ำก็ต้องรีบกลับ”

ที่น่าสนใจก็คือ คนฮอดสมัยก่อน รู้จักคิดพลิกแพลง ค้นหาวิธีการในการหาปลาหลายวิธีด้วยกัน

“มีการตึดแค ทอดแห  ลากหงาย  คือ  การเอาใบลานมามัดเป็นสร้อยอย่างสวยงาม  คนเมืองฮอดเขาเรียกว่า  หงาย  แล้วเอาแหเข้าเขิ้ง และเอาหงายเข้าตบ ลากปลา ปลาก็กลัวหงาย ปลาก็ว่ายหนี ผลสุดท้ายก็เข้าไปติดร่างแห”

หงาย เป็นตัวล่อปลา เมื่อนำไปแกว่งในน้ำ จะให้ปลาเกิดความกลัว

“เหมือนกับที่คำโบราณบอกว่า จะใช้หงายก็เฉพาะเวลาช่วงฤดูแล้ง จะเอาไปหลอกปลา ยามพรรษาก็จะเอาไปหลอกคนเฒ่า เพราะว่ามันขาว คนเฒ่าชอบสะดุ้งเข้าใส่  คือพอหน้าแล้งต้องเอาไปลงที่น้ำใส ถ้าเป็นน้ำขุ่นก็ไม่ได้  ทีนี้ปลาไปเห็นเข้า ก็ว่ายหนี สุดท้ายก็เข้าไปในแหที่เขิงไว้” นายนิวัฒน์ บอกเล่า

ว่ากันว่า การใช้หงายล่อปลาเช่นนี้  วันหนึ่งสามารถหาปลาได้มากถึง 100 กิโลกรัมเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ปลาในสมัยก่อนนั้นมีมากกว่าเงินทองเสียอีก โดยดูได้จากวัฒนธรรมคนฮอดเวลาช่วยเหลืองานบุญก็ทำด้วยการลงแรงหาปลามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ขัดสนในยามยาก

“ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นงานศพของคนยากคนจน คนที่ไม่มีเงิน หรือคนที่มีเงินก็ตาม หากญาติๆ เขาขอให้ชาวบ้านไปช่วยกันสุ่มแห เราก็พากันไป เอาคนที่เก่งไป เอาเรือออกไป 10 ลำ แต่ถ้ามีการขอจากเจ้าภาพก็จะมีทุกงานทุกศพ ที่เราจะพากันออกไปหาปลามาให้เจ้าภาพเขา”

ชาวบ้านบอกว่า เมื่อก่อน ปลาในแม่น้ำปิงนั้นมีมากมายหลายชนิด อาทิ ปลาปวน  ปลาสวายหมู  ปลายาง  ปลาเริง ปลาสะบ๊ากเหมือง ปลากลม(ตัวเท่าแขน แต่หางดำ)  รวมไปถึง ปลาแค้ ซึ่งลำตัวลายเหมือนเสือ แต่เป็นปลาหนัง ชาวบ้านบอกว่า ปลาแค้ เป็นปลาที่มีความอร่อยมากที่สุด เนื้อเหลือง เอามาลาบ แกงได้สารพัด    

ครั้นเมื่อหาปลามาได้เยอะจนกินขายยังไม่หมด ชาวบ้านก็นำมาถนอมอาหาร อย่างเช่น เอามาย่างไฟ เอามาดองไว้ทำปลาร้า ส่วนใหญ่เป็นประเภทปลาสร้อย ส่วนขี้ของมันก็เอามาดองเก็บไว้ได้อีก 

ว่ากันว่า หมู่บ้านแพะดินแดง จะเป็นชุมชนคนหาปลามากที่สุด เฉลี่ยก็แทบจะทุกหลังคาเรือนที่ยึดอาชีพในการหาปลา

นั่นถือว่า ชุมชนในตำบลฮอดนั้นมีอาชีพทำนา ทำสวน และการหาปลามาเพื่อยังชีพและเพื่อค้าขายกันนานหลายชั่วอายุคนมาแล้ว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สงบ ปกติสุข เป็นสังคมแห่งสันติสุข รักใคร่กลมเกลียวกันมาโดยตลอด    

ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงในชีวิตของคนฮอดในเวลาต่อมา...นั่นคือ การสร้างเขื่อนภูมิพล

0 0 0

ข้อมูลประกอบ

ข้อมูลพื้นที่ทั่วไปของตำบลฮอด องค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์สงครามโลก อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

 

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท