Skip to main content
sharethis


แถวหน้า: เสาวรส โพธิ์งาม (เสื่อเขียว), สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (เสื้อขาว), สุดา รังกุพันธ์ (เสื้อแดง),
ภรรยาอากง (เสื้อขาว), ภรรยาสุรชัย (เสื้อแดง)

 

25 มี.ค.55 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี  "ปรองดองบนความอยุติธรรม...ทำเพื่อใคร?" หน้าศาลอาญารัชดา โดยมี ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อ.สุดา รังกุพันธ์  ทนายประเวศ ประภานุกูล ทนายเสาวรส โพธิ์งาม รวมทั้งญาติผู้ต้องขัง เช่น ภรรยาอากง ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ร่วมแสดงความเห็นต่อกระบวนการปรองดองของรัฐบาล รัฐสภา และรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า

ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักโทษคดี 112 กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมของสถาบันพระปกเกล้าบางข้อเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ยิงประชาชนเมื่อ 2 ปี ก่อนด้วย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลาคม 2519 และ พฤษภาคม 2535  การนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลาคม19 เป็นการตัดตอนไม่ให้มีการสืบสวนไปถึงคนสั่งฆ่า  ปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การปรองดองจึงเป็นคำพูดสวยหรู เป็นการริเริ่มของฝ่ายอำมาตย์ เพื่อให้เรายอมรับว่าตายฟรี ว่าเผาบ้านเผาเมือง ว่าไม่เอาผิดผู้สั่งฆ่า ให้เรายอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย การปรองดองต้องเกิดขึ้นเมื่อความจริงปรากฏแล้ว คนสั่งยิงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน

เสาวรส โพธิ์งาม ทนายความและอาสาสมัครศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) ซึ่งลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้ถูกจับกุม/ดำเนินคดี ให้ความเห็นต่อการปรองดองว่า ต้องมีความจริงว่า ใครเป็นผู้สังหารประชาชน  ต้องปล่อยนักโทษการเมือง โดยยกเลิกความผิดที่รัฐกล่าวหา เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เกิดจากอำนาจรัฐในเวลานั้นยัดข้อหา  และข่มขู่คุกคามให้รับสารภาพ  จากนั้น ศาลก็หยิบยกคำสารภาพในชั้นสอบสวนไปพิจารณาพิพากษาคดี

“การที่นายอภิสิทธิ์เสนอ(ในเวทีที่จัดโดยกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองแห่งชาติ) ให้นำข้อเท็จจริงในชั้นศาลมาเป็นข้อเท็จจริงของสังคม แสดงว่านายอภิสิทธิ์ไม่รู้เลยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา และเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในปัจจุบัน  ดังนั้น การปรองดองจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และไม่จริงใจพูดเรื่องนักโทษการเมือง”

อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงอำนาจตุลาการว่า มีปัญหาในเชิงรัฐธรรมนูญมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2490 เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้ยึดโยงกับประชาชน แต่ถือตนเองตัดสินในพระปรมาภิไธย และผูกขาดการตีความความยุติธรรม โดยไม่มีอำนาจอื่นตรวจสอบ  กระบวนการยุติธรรมไทยจึงมีกรอบคิดแบบอำนาจนิยม และไม่มีกรอบคิดเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด การรัฐประหาร 19 กันยา ทำให้ทุกอย่างเปิดเผย ทำให้เราเห็นว่าศาลมีความบิดเบี้ยว และเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากเกินไป     

“ธีรยุทธ บุญมี อธิบายว่าการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นก่อนประชาธิปไตย ถ้าประชาธิปไตยบิดเบี้ยว ตุลาภิวัฒน์ก็มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปจัดการ เป็นการอธิบายที่ผิดพลาด เพราะระบบกฎหมายไม่มีความถูกต้องในตนเอง  กรอบคิดเรื่องกฎหมายมี 2 ลักษณะ คือ กฎหมายแบบอำนาจนิยม กรอบคิดแบบนี้ถือว่ารัฏฐาธิปัตย์ออกกฎหมายมา ประชาชนต้องปฏิบัติตาม กับอีกลักษณะหนึ่ง คือ กฎหมายเป็นสัญญาประชาคม เป็นกติกาที่ประชาชนมากำหนดร่วมกัน ดังนั้น กฎหมายที่ชอบธรรมต้องมาจากการร่างของรัฐสภา ถ้าคิดตามกรอบนี้ มีกฎหมายไทยไม่น้อยกว่าครึ่งที่ไม่ถูกต้อง  แต่ผู้พิพากษาไทยไม่เคยตั้งคำถาม โดยเฉพาะ ม.112 ซึ่งแก้ไขล่าสุดโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อปี 19”

อ.สุธาชัย กล่าวสรุปว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความปรองดองจึงเป็นเรื่องใหญ่  แต่รัฐบาลนี้ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะเกรงใจอำมาตย์ ศาล และกองทัพ

อ.สุดา รังกุพันธ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเน้นว่า หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความปรองดอง ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ทั้งที่ถูกจับหรือหลบหนีอยู่ รวมทั้งนักโทษคดี 112 ด้วย ต้องทำให้พวกเขาพ้นผิด กลับสู่สภาพเดิมก่อนรัฐประหาร 19 กันยา

หลังจบเสวนา ผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 50 คน ร่วมกันกล่าวคำปฏิญญา “สังคมไทยจะปรองดองต้องเอาคนผิดติดคุก ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกปล่อยตัว”

ทั้งนี้ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี หน้าศาลอาญารัชดา ทุกวันอาทิตย์ เพื่อรณรงค์ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวนักโทษการเมือง

 

   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net