Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบจะดับมอดลงอย่างราบคาบ เมื่อระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน หรือที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย ได้เข้ามาแทนที่ แต่กระนั้น ยังมีบางประเทศที่ยังคงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้อยู่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามมากขึ้นทุกวัน จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด เช่นที่ปรากฏในประเทศเนปาล เป็นต้น

บทความของผมฉบับนี้ ต้องการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่นำไปสู่การคงอยู่หรือการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย คำถามหลักของผมก็คือ สถาบันกษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมี “ความร่วมสมัย” หรือ relevance กับสภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ และสถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ สถาบันกษัตริย์ถูกกำจัดไปส่วนหนึ่งด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ กาลเวลา และพัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศ นับตั้งแต่พม่า เวียดนามและลาว เป็นต้น ในปัจจุบัน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จากทั้งหมดจำนวน 10 ประเทศ) ยังคงมีสถาบันกษัตริย์หลงเหลืออยู่และมีระดับของความสำคัญทางด้านการเมืองและการครอบงำอำนาจที่ต่างกันไปด้วย จากระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในกรณีของไทยนั้น สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่คู่สังคมมาช้านาน ในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นับเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด (และยังคงครองราชย์อยู่) ในโลก สถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นศูนย์กลางชีวิตทางการเมือง และเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่บนยอดของโครงสร้างทางการเมืองของไทยที่ได้รับการค้ำจุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มราชานิยม และกองทัพ ด้วยดีเสมอมา

สำหรับประเทศบรูไนนั้น สุลต่านฮาสซานาล โบลเกียห์ ยังคงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการคงไว้ซึ่งความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่บรูไนเองเป็นประเทศที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่เป็นประชาธิปไตย ในส่วนของกัมพูชานั้น พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี มีบทบาทในเชิงพิธี (ceremonial) เท่านั้น แต่ก็นับว่ามีเป็นปัจจัยหนุนทางการเมือง รวมถึงในด้านการเป็นผู้ปกป้องสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของกัมพูชา

ที่แตกต่างออกไปเลยก็คือระบอบการปกครองของมาเลเซีย ที่ยังมีการเลือกตั้งกษัตริย์และยังมีวาระของการอยู่ในอำนาจที่ระบุเด่นชัด ตำแหน่งนี้มาเลเซียเรียกว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง (Yang di-Pertuan Agong) ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่มีตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์มาเลเซีย ยังดี เปอร์ตวน อากง องค์ปัจจุบัน ได้แก่ สุลต่านอับดุลฮาลิม (Sultan Abdul Halim) จากรัฐเคดาห์ ที่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อเดือนธันวาคม 2554 หากมองย้อนหลังไปในการเลือกตั้งในมาเลเซียเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียที่นั่งในสภานิติบัญญัติของพรรคการเมืองที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของมาเลเซีย นั่นคือ พรรคอัมโน หรือ United Malays National Organization ซึ่งต่อมาได้มีความพยายามตอบโต้พรรคฝ่ายค้านโดยใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือ โดยกล่าวหาว่า พรรคฝ่ายค้านขาดความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียหันมาต่อต้านพรรคฝ่านค้านเหล่านั้น

ที่อื่นๆ ทั่วไปในโลกนั้น สถาบันกษัตริย์ถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าหลังทางการเมือง วัตถุโบราณ หรือมองไปถึงการเป็นสถาบันที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ยังมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยังมีสถาบันกษัตริย์หลงเหลืออยู่ คำถามที่จำเป็นต้องได้รับคำตอบก็คือ สถาบันกษัตริย์จะคงอยู่อีกนานเท่าใด และปัจจัยใดที่จะนำไปสู่ความอยู่รอดหรือการล่มสลาย

เรามาเริ่มจากกรณีของไทยก่อน วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2549 นำไปสู่การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มรักเจ้าใช้สถาบันกษัตริย์เป็น “ตัวประกัน” ในการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ความพยายามกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยใช้สถาบันกษัตริย์เป็นอาวุธนำไปสู่ความสั่นคลอนของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ด้วยวิธีนี้ ส่งผลให้หรือกระตุ้นให้สาธารณชนหันมามองบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต่อพัฒนาการทางการเมืองมากขึ้น นำไปสู่คำถามที่ว่า หากสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองแล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองนั้นได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่กระทบต่อวิถีชิวิตของทุกคน และประชาชนย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็นต่อตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยในปัจจุบันอยู่ที่ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มรักเจ้าและกองทัพ มีความเห็นแก่ประโยชน์ตนสูงและมองข้ามธรรมชาติและพัฒนาการทางการเมืองของไทย ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ให้มีการวิจารณ์การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ วิธีปฏิเสธหรือต่อต้านก็โดยการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ในการหักล้างกับฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ลืมไปว่า สังคมไทยเติบโตและมีวุฒิภาวะขึ้นมาก กระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในโลกและในภูมิภาคได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ไทยเช่นกัน การสร้างกำแพงปิดกั้นพัฒนาการทางประชาธิปไตยนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ในส่วนของบรูไนนั้น สุลต่านโบลเกียห์และผู้สนับสนุนรอบข้าง ได้พยายามสร้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์บนพื้นฐานของการยึดมั่นในศาสนาอิสลาม อุดมการณ์ที่เรียกว่า Melayu Islam Beraja หรือความเชื่อมั่นในความเป็นมาเลย์ คำสอนของอิสลาม และระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (a blend of Malay language, culture and Malay customs, the teaching of Islamic laws and values and the monarchy system which must be esteemed and practiced by all) ถูกนำมาผูกยึดติดกับบทบาทของอิสลามทางการเมือง แต่การยึดมั่นในอุดมการณ์นี้กำลังเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มคนที่มิใช่มาเลย์และอิสลามในบรูไน กลุ่มคนเหล่านี้มองว่ากำลังถูกโดดเดี่ยวจากรัฐ และเห็นว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนสร้างความแตกแยกทางสังคม

ปัญหาข้างต้นยังไม่รวมถึงเรื่องอื้อฉาวอีกมากที่เกิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ สร้างความเอือมระอาต่อพสกนิกรในประเทศนั้นๆ อาทิ กรณีของพระเชษฐาของสุลต่านบรูไน (เจ้าชาย Jefri) ที่ถูกกล่าวหาในกรณีการคอร์รัปชั่นมากกว่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบรูไนเป็นเวลา 13 ปี หรือในกรณีที่อดีตยังดี เปอร์ตวน อากง Mahmud Iskandar Al-Haj ibni Ismail Al-Khalidi (2527-2532) ที่ได้ก่อหลายคดีความที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายก่อนที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งยังดี เปอร์ตวน อากง ทางด้านกัมพูชานั้น กษัตริย์สีหมุนีก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือรับใช้ของระบอบฮุนเซน เป็นต้น

จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนชี้นำสังคมทั้งในทางบวกและทางลบ ดังนั้น ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์จึงขึ้นอยู่กับไหวพริบส่วนตัวของกษัตริย์เองในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่พฤติกรรมและสถานะทางการเมือง หรือกล่าวโดยสรุป สถาบันกษัตริย์ (และผู้รับใช้สถาบันกษัตริย์) จะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่บีบบังคับให้ประชาธิปไตยปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์ ความสามารถในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ตามการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า reinvention ถือเป็นหัวใจสำคัญของความอยู่รอด โดยการปรับตัวนี้ ต้องทำใน 2 ระดับควบคู่ไป ทั้งในระดับปัจจเจกบุคคลและระดับชาติ

ในระดับปัจเจกบุคคลนั้น พระมหากษัตริย์ต้องมีความพร้อมในการแสดงโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคม และยอมรับในสถานะที่ได้รับมอบหมาย การเป็นองค์อุปถัมภ์ให้กับศาสนาต่างๆ รวมถึงการเป็นแบบอย่างของการประพฤติดี (ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการปฏิบัติตนเยี่ยง “ธรรมราชา”) จะส่งผลต่อความจงรักภักดีของพสกนิกรตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการบังคับให้ยอมรับนับถือ หรือรักสถาบันกษัตริย์โดยอาศัยเครื่องมือของรัฐ ในจุดนี้ ขอเน้นย้ำว่า “ธรรมราชา” มีความแตกต่างอย่างยิ่งจาก “เทวราชา” ในขณะที่คอนเซ็ปท์แรกเน้น “ความเป็นมนุษย์” ที่จักต้องมีการตรวจสอบได้ คอนเซ็ปต์หลังเน้น “ความเหนือมนุษย์” ที่อยู่นอกเหนือการวิพากษ์วิจาณ์ (และเป็นภัยต่อประชาธิปไตย)

ประเด็นเรื่องการประพฤติตนในฐานะธรรมราชา (มิใช่เทวราชา) มีความสำคัญยิ่งยวด ความเกี่ยวโยงระหว่างความเป็นกษัตริย์ (kingship) และศาสนา หากนำไปใช้อย่างมีไหวพริบและตามธรรมครรลอง ก็จะมีส่วนสร้างพลานุภาพให้กับสถาบันกษัตริย์ได้ การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเนปาลภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Gyanendra Bikram Dev นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาด “ความชอบธรรมทางศาสนา” รวมถึงเรื่องอื้อฉาวที่เกิดมาจากการสังหารหมู่พระบรมวงศานุวงศ์โดยน้ำมือของพระบรมโอรสาธิราชของเนปาลเอง

ในระดับชาตินั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป (อย่างผิดๆ) ว่า ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ขึ้นกับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นที่มีกับกองทัพ ในเรื่องนี้ กองทัพเองก็ได้รับประโยชน์จากการปกป้องสถาบันกษัติรย์ โดยมักจะอ้างความจำเป็นของการคงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ (ที่น่าแปลกก็คือ แม้แต่ในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์กลับได้รับการยกย่องให้เป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดของประเทศ มิใช่สถาบันประชาชน) การก่อรัฐประหารโค่นล้มระบอบทักษิณฯ ส่วนหนึ่งมาจากข้ออ้างของกองทัพที่ว่า คุณทักษิณฯ ขาดความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และทำตัวเป็น “ภัย” ต่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ จึงสมควรได้รับการกำจัดด้วยวิถีทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การกล่าวอ้างเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการปกปิดจุดมุ่งหมายและภารกิจที่แท้จริงของกองทัพ นั่นคือ การคงไว้ซึ่งสถานะทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และสถาบันทหาร ขณะเดียวกัน ภารกิจของกองทัพได้แปรผันไป จากการเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับศัตรูที่รุกรานประเทศและการปกป้องความมั่นคงของประชาชน ไปสู่การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก มิหนำซ้ำ กองทัพยังเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ใช้มาตรา 112 ในการจัดการกับ “ประชาชน” ที่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

แต่ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้มีส่วนบ่อนทำลายพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่สถาบันกษัตริย์มีความเข้มแข็งมากขึ้น สถาบันประชาธิปไตยกลับมีความอ่อนลง ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยนี้เองจะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวและผลัดกันเพื่อให้อำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์จริงๆ จึงอยู่ที่ความรู้จักบริหารความสัมพันธ์ที่มีกับองค์กร หน่วยงานของรัฐ และภาคประชาชนอย่างเหมาะสมและภายใต้กรอบของประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ในสังคมไทยทุกวันนี้ ยังมีปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงจำกัดบทบาทนั้นๆ หรือแม้แต่เป็นสิ่งท้าทายต่อสถาบันกษัตริย์ อาทิ ความรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นต้น การใช้เครื่องมือที่ไร้ความชอบธรรมในการปกป้องสถาบันกษัตริย์เพื่อต่อต้านปัจจัยใหม่เหล่านี้ เช่น การใช้มาตรา 112 ปราบปรามผู้คิดต่าง ถือเป็นเป็นการกระทำที่จะส่งผลลบมากกว่าผลบวก (counterproductive)

สถาบันกษัตริย์มีความเป็นมานับร้อยๆ ปี ดังที่ปรากฏในหลายประเทศในยุโรป ความอยู่รอดขึ้นอยู่กับความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยในฐานะมิตร ขณะที่การล่มสลายจะขึ้นอยู่กับการเป็นศัตรูของประชาธิปไตยนั่นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net