“ศีลธรรมแบบเห็นแก่ตัว” ในพุทธศาสนาแบบไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชาวพุทธแบบไทยๆ มักวิจารณ์ว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของตะวันตกเป็นแนวคิดแบบเห็นแก่ตัวเพราะก่อให้เกิด “ลัทธิปัจเจกชนนิยม” (individualism)ที่ให้คุณค่าสูงสุดกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือเน้นความมี “ตัวตน” ของปัจเจกบุคคล

เมื่อมี “ตัวตน” ก็ยึดถือตัวตนจึงทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวและเมื่อเห็นแก่ตัวก็ยึดถือผลประโยชน์ส่วนตนในการตัดสินถูก-ผิดทางศีลธรรมคือถ้าการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองก็บอกว่าเป็นการกระทำที่ดี
ดังที่เรามักเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบ่นๆกันทำนองว่า “คนทุกวันนี้มันเห็นแก่ตัวเอะอะอะไรก็เรียกร้องสิทธิเสรีภาพแต่ไม่ถามบ้างว่าหน้าที่ของตนคืออะไรจะเอาแต่สิทธิเสรีภาพแต่ไม่ยอมทำหน้าที่”

และแล้วพวกเขาก็เทศนาต่อทันทีว่า “แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพอาจไม่เหมาะกับสังคมไทยเพราะทำให้คนเห็นแก่ตัวไม่รู้จักหน้าที่สังคมไทยเรามีลักษณะพิเศษคือให้ความสำคัญกับหน้าที่มากกว่าสิทธิเสรีภาพเช่นหน้าที่ของพ่อแม่ครูอาจารย์หน้าที่ของลูกลูกศิษย์หน้าที่ของผู้ปกครองผู้ใต้ปกครองหน้าที่ของทุกคนที่ต้องจงรักภักดีต่อสถาบันชาติศาสน์กษัตริย์เป็นต้นถ้าแต่ละคนทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องบ้านเมืองก็สงบสุข”

แต่อันที่จริงตามแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของตะวันตกนั้นเราไม่สามารถแยกสิทธิเสรีภาพของเราออกมาจากสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ แล้วให้ความหมายพิเศษปกป้องมันอย่างเป็นพิเศษเหนือสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ได้
หมายความว่าเมื่อเราพูดถึงสิทธิเสรีภาพของปัจเจกแต่ละคนเท่ากับพูดถึงสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในฐานะที่เขาเป็น “มนุษย์” และความเป็นมนุษย์ของทุกคนย่อมเสมอภาคกันฉะนั้นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนมีภายใต้ระบบสังคม-การเมืองจึงต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน

เราจึงไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ และสิทธิเสรีภาพของเราจะมีได้ก็ต่อเมื่อได้รับการเคารพโดยคนอื่นๆ เช่นกันพูดง่ายๆ คือสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนจะมีได้ก็เพราะว่าทุกคนมี “หน้าที่” เคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้การปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองย่อมเท่ากับปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ด้วยและ/หรือการปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ก็เท่ากับปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองด้วยเพราะเท่ากับเป็นการปกป้อง “หลักการ” คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทุกคนให้คงอยู่

ฉะนั้นตามแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพแบบตะวันตกแม้จะเน้นตัวตนหรือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” ของปัจเจกบุคคลก็สรุปไม่ได้ว่าเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวที่แต่ละคนต่างก็จะเอาแต่สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่คำนึงถึง “หน้าที่” ดังความเข้าใจอย่างผิดๆ ข้างต้น

แท้ที่จริงปัญหาที่ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคือการปลูกฝังศีลธรรมใน “พุทธศาสนาแบบไทยๆ” ที่อ้างว่าเป็นศาสนาที่สอนความเป็น “อนัตตา” ให้ละตัวกูของกูหรือละความเห็นแก่ตัวต่างหากที่เป็นการ “ปลูกฝังความเห็นแก่ตัว” อย่างซึมซับเข้าไปใน “จิตใต้สำนึก” เลยทีเดียว

เช่นที่พระสอนกันว่ารักษาศีล5เพื่อให้ได้รับอานิสงส์คือความร่ำรวย (สีเลนโภคสัมปทา) เพื่อไปสู่สุคติหรือสวรรค์ (สีเลนสุคะติงยันติ) เพื่อบรรลุนิพพาน (สีเลนนิพพุติงยันติ)

เห็นไหมว่าความร่ำรวยสวรรค์นิพพานล้วนแต่เป็น “ความสุขส่วนตัว” ฉะนั้นเหตุผลของการรักษาศีลตามที่สอนกันในพุทธศาสนาแบบไทยๆจึงไม่ใช่เหตุผลเพื่อ “ความสุขของส่วนรวม” แต่เป็นเหตุผลเพื่อ “ความสุขส่วนตัว” เวลาคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมรักษาศีลก็นึกถึงตัวเองว่าทำไปแล้วตัวเองจะได้อะไรตอบแทนแทบไม่ได้ถูกชี้แนะให้นึกถึงคนอื่นๆหรือสังคมเลย

จริงหรือไม่ว่า ชาวพุทธแบบไทยๆ แทบไม่ได้รับการปลูกฝังว่า การรักษาศีลหมายถึงการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของคนอื่นๆ หรือปกป้องความสงบสุขของสังคมเลย

ถ้าพิจารณาตาม “แบบแผน” ของการปลูกฝังศีลธรรมแบบนี้ก็หมายความว่าการกระทำความดีหรือการเป็นคนดีมีศีลธรรมจะส่งผลให้ได้รับ “ความสุขส่วนตัว” เท่ากับเป็นการทำความดีเพื่อหวัง “รางวัลตอบแทน” ส่วนตัวทั้งนั้น
และหากเป็นคนช่างคิดหน่อยก็จะเห็นว่า “รางวัลตอบแทน” ส่วนตัวนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับรางวัลจากการ “ถูกหวย” เพราะดูเหมือนว่าระหว่าง “การกระทำความดี” กับ “รางวัลตอบแทน” จะไม่มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลแก่กันเลยเช่นรักษาศีล5จะเป็นสาเหตุให้ร่ำรวยได้อย่างไร (ถ้าไม่ทำธุรกิจหรือ ฯลฯ) จะเป็นสาเหตุให้ไปเกิดในสวรรค์อย่างไร (พิสูจน์อย่างไร)

และยิ่งเมื่อพิจารณาดูการโปรโมทการทำ “ความดี” ในพุทธแบบไทยๆ นั้นล้วนแต่สามารถจะมีอานิสงส์ยิ่งกว่า “ถูกหวย” ด้วยซ้ำเพราะการทำความดีด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนานั้นย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์หรือรางวัลตอบแทนส่วนตัว “อย่างวิจิตรพิสดารยิ่ง”

เช่น ทำความดีด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาแล้วจะส่งผลให้รวยสวยหล่อหรือเจริญด้วยรูปสมบัติทรัพย์สมบัติสวรรค์สมบัติหรือได้ยศถาบรรดาศักดิ์เกียรติยศชื่อเสียงมีคนรักคนเมตตาเงินทองไหลมาเทมา ฯลฯ (หุหุ...เสียงขำในใจเพราะ “งึด” หลาย)

ซึ่งเราไม่มีทางอธิบายได้ว่าระหว่างการทำความดีด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนานั้นมันมี “ความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผล” กับความสวยหล่อร่ำรวยยศถาบรรดาศักดิ์เงินทองไหลมาเทมา ฯลฯ อย่างไร

ทว่าเรากลับได้เห็นความไร้เหตุผลต่างๆ นั้นพร้อมๆ กันกับได้ฟังการโปรโมทตลอดเวลาว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลเป็นศาสนาแห่งปัญญาเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้” (ส่วนที่ “พระเซเล็บ” บอกว่า “คนสมัยก่อนเขาเหาะเหินเดินหาว” และ “อย่างมงายในวิทยาศาสตร์” นั้นก็ทำเอา “แฟนคลับ” จำนวนมากน้ำหูน้ำตาไหลตามๆกันนี่แหละ “พุทธหลายเวอร์ชั่น” นะโยมนะ)

แต่เมื่อพิจารณาแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพแบบตะวันตกเราจะเห็นความเป็นเหตุเป็นผลว่า “การทำความดี” ด้วยการเคารพปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองและของกันและกันและ/หรือการปรับใช้หลักสิทธิเสรีภาพกับทุกคนอย่างเท่าเทียมย่อมก่อให้เกิด “ผลดี” คือ “ความยุติธรรม” ทางสังคม-การเมือง

ซึ่งความยุติธรรมทางสังคม-การเมืองดังกล่าวนี้คือมาตรฐานขั้นพื้นฐานหรือ “ขั้นต่ำสุด” ในการปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ของเราหมายความว่าหากเรามีความเป็นมนุษย์ในมาตรฐานขั้นต่ำสุดนี้แล้วเราก็สามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ ให้งอกงามต่อไปได้ง่ายขึ้น

แต่ภายใต้แบบแผนการปลูกฝังศีลธรรมของพุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่อ้างว่าเป็น “ศีลธรรมแห่งการละความเห็นแก่ตัว” นั้นโดยข้อเท็จจริงแล้วกลับเป็นศีลธรรมที่มุ่งทำความดีเพื่อความสุขส่วนตัวและหวังผลจากการทำความดีแบบ “ถูกหวย” หรือเกินจริงอย่างยิ่ง

เพราะผลแห่งการทำความดีไม่ใช่มุ่งหมายให้สังคมดีหรือมีความยุติธรรมแบบแนวคิดตะวันตกแต่เป็น “ผลตอบแทนส่วนตัว” ที่วิจิตรพิสดารยิ่งตั้งแต่สวยรวยหล่อยศเกียรติปราศจากโรคาพยาธิกระทั่งไปเกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตรมีนางฟ้า500เป็นบริวาร (แต่ไม่ยักได้เกิดเป็นนางฟ้ามีเทพบุตร 500 เป็นบริวารแฮะ)

ฉะนั้นที่กล่าวหาว่าศีลธรรมแบบตะวันตกที่เน้นสิทธิเสรีภาพเป็นความเห็นแก่ตัวนั้นน่าจะไม่ถูกนักศีลธรรมในพุทธศาสนาแบบไทยๆต่างหากที่เป็น “ศีลธรรมแบบเห็นแก่ตัว” และยังเป็น “ความเห็นแก่ตัวอย่างไร้เหตุผล” อีกด้วย

นึกๆ ดูพุทธะสลัดทิ้งทุกสิ่งเพื่อแสวงหาสัจธรรมและอิสรภาพของชีวิต (“การทำความดี” ของพุทธะ= “การใช้ชีวิตแสวงหาสัจธรรม” และ “ผลตอบแทน” = “อิสรภาพของชีวิต”)

แต่พุทธศาสนาแบบไทยๆ กลับ “อ้างอิง” สิ่งที่พุทธะสลัดทิ้งแล้วเช่นความมั่งคั่งยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ มาเป็น “อานิสงส์” หรือผลตอบแทนของการทำ “ความดี” (การทำความดี=means ไปสู่ end ที่เป็น “พันธนาการของชีวิต”)

นี่คือความผิดเพี้ยนของศีลธรรมและพุทธศาสนาแบบไทยๆ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท