ปราบดา หยุ่น: ธอมัส เพน เนรคุณตัวพ่อกับ ม. 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“อาจเป็นได้ที่แนวคิดบนหน้ากระดาษถัดจากนี้ไปจะยังไม่อยู่ในกระแสนิยมเพียงพอให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง การละเลยที่จะใคร่ครวญถึงความผิดเพี้ยนของบางสิ่งบางอย่างมาเนิ่นนานจนชาชิน ทำให้เกิดภาพมายาว่าเป็นเรื่องถูกต้อง และส่งผลในเบื้องต้นให้เกิดการโหมระดมลุกฮือปกป้องความเป็นจารีตประเพณีนั้นไว้อย่างรุนแรง ทว่าความสับสนอลหม่านดังกล่าวจะอ่อนพลังลงในที่สุด กาลเวลาเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนได้มากกว่าการใช้เหตุผล”

นั่นเป็นถ้อยคำที่ถูกเขียนขึ้นมาแล้วเกือบสองร้อยสี่สิบปี ในบทนำของบทความขนาดยาวชื่อ Common Sense หรือ “สามัญสำนึก” โดยชายวัยสามสิบเก้า นาม ธอมัส เพน (Thomas Paine) ผู้ได้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าเป็นหนึ่งใน “บิดาผู้สถาปนา” สหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) เป็นหนึ่งในฟันเฟืองตัวสำคัญของการขับเคลื่อนอุดมการณ์และแนวคิดแห่งยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ยุคแสงสว่างทางปัญญาของอเมริกา” (American Enlightenment) ซึ่งเป็นพื้นฐานทางความคิดที่ส่งผลให้ชาวอเมริกันภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรอังกฤษเริ่มเล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไร้เหตุผลที่ตนต้องประสบพบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และยังเป็นต้นแบบของอุดมการณ์ประชาธิปไตยยุคใหม่ที่ยังใช้เป็นตรรกะของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ของความชอบธรรมที่ประชาชนมีในการโค่นล้มรัฐเผด็จการ และเป็นแนวทางพัฒนาสังคมไปสู่ความเสมอภาคอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
 

สองร้อยกว่าปีอาจเนิ่นนานเทียบเท่าหลายชั่วอายุคน ทว่าดูเหมือนจะเป็นเวลาที่ยังไม่เพียงพอสำหรับการเคลื่อนเปลี่ยนสู่ความเสมอภาคและเสรีภาพบนหน้าปัดนาฬิกาแห่งสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ใน “สามัญสำนึก” ธอมัส เพน กล่าวถึงการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของอเมริกาว่าเป็น “ปัญหาของมวลมนุษยชาติ” เพนไม่ได้หมายความว่ามนุษยชาติต้องเป็นเดือดเป็นร้อนไปกับปัญหาของอเมริกา หากแต่เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่อเมริกาประสบนั้น คือปัญหาที่เกิดแก่สังคมมนุษย์โดยทั่วไปอย่างเป็นสากล นั่นคือการตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองและอุดมการณ์ที่ขัดแย้งต่อ “สิทธิขั้นพื้นฐานโดยธรรมชาติ” ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

คำถามที่ว่ามนุษย์มี “อิสระ” หรือเป็น “เสรี” โดยธรรมชาติหรือไม่ อาจเป็นประเด็นที่ยังไม่มีบทสรุปยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในลักษณะที่ “โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์” เป็นข้อมูลที่ปราศจากการโต้แย้งโดยสิ้นเชิงในศตวรรษนี้ (แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นกับตาว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์) และหากไตร่ตรองด้วยหลักการและการตีความคำศัพท์ทั้งหมด (“อิสรภาพ” “เสรีภาพ” และ “ธรรมชาติ”) ด้วยพื้นฐานทางความคิดที่ต่างกัน ความเชื่อหรือบทสรุปที่ตามมาย่อมต่างกันโดยปริยาย ปรัชญาเชิงวัตถุนิยม (Materialism) อาจเห็นว่ามนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ถูกกำหนดประสิทธิภาพและหน้าที่ใช้งานไว้แล้ว ไม่ต่างจากสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ คำว่า “อิสรภาพ” และ “เสรีภาพ” จึงเป็นเพียงมายา เป็นเพียง “ความคิดเข้าข้างตัวเอง” (wishful thinking) ในขณะที่ปรัชญาเชิงอุดมคติ (Idealism) และอัตถิภาวนิยม (Existentialism) เห็นว่ามนุษย์มีพื้นที่ของการ “สร้าง” สิ่งที่ตนต้องการเป็น หรือมีศักยภาพบางอย่างในการ “ข้ามพ้น” ความเป็นสัตว์เดรัจฉานไปสู่บางอย่างที่สูงส่งกว่า ยิ่งใหญ่กว่า และสำหรับบางคน บางอย่างที่ว่านั้นก็คือความเป็นอิสระ ความมีเสรีภาพ ความหลุดพ้นจากกรอบบังคับรอบตัว

แต่ไม่ว่า “ความจริง” จะเป็นเช่นไร ไม่ว่ามนุษย์จะมีสถานะเป็นเพียงสัตว์ที่สำคัญตนผิดหรือเป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์เหนือการควบคุมโดยธรรมชาติ ยังมีความหมายอีกด้านหนึ่งของอิสรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ไม่จำเป็นต้องพาดพิงอยู่กับการถกเถียงทางปรัชญาสามวาสองศอกหรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แม้แต่น้อย เนื่องเพราะ “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นอย่างสากลในสังคมมนุษย์ทุกยุคสมัยก็เป็นรูปธรรมเพียงพอต่อการยอมรับว่ามีอยู่จริง ไม่ต่างจากที่เรายอมรับในความรู้สึกหิวโหย ความอิ่มท้อง ความเจ็บปวด ความโศกเศร้า ความเป็นสุข หรือกระทั่งความรัก นั่นคือการมีอิสรภาพในความหมายของการเป็นไทต่อการกดขี่ของผู้อื่น การมีเสรีภาพในความหมายของการหลุดพ้นจากการถูกข่มเหงโดยอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และความเสมอภาคในความหมายของการได้รับสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทัดเทียมกัน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยปัจจัยอย่าง เพศ ชาติพันธุ์สีผิว สัญชาติ ศาสนา ตำแหน่งฐานะ หรือวงศ์ตระกูล หรือมีเพียงเหตุผลมาจากอคติ ความเชื่อไร้หลักฐาน และการยืนกรานจะรักษาจารีตประเพณีไว้เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเนิ่นนาน แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่บิดเบี้ยวและขัดแย้งต่อการดำรงชีวิตในด้านอื่นอย่างไรก็ตาม

นี่คือหัวใจของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในความหมายของธอมัส เพน

“สามัญสำนึก” ของเพน (ซึ่งเป็นผลงานตีพิมพ์ที่ไม่ลงชื่อผู้เขียน ขายได้ราวสองแสนกว่าเล่มในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ในขณะที่อเมริกามีประชากรเพียงสามล้านคน) มิได้เป็นบทความที่จุดประกายให้เกิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพในอเมริกา ปัญหาระหว่างอเมริกากับราชอาณาจักรอังกฤษคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ “สามัญสำนึก” เปรียบเสมือนการช่วยเรียบเรียงถ่ายทอดความรู้สึกอัดอั้นคับแค้นของผู้คนออกมาเป็นตัวอักษร เป็นคำพูด ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแห่งเหตุและผล ป่าวก้องรองรับความชอบธรรมในการต่อสู้

แม้ในขณะนั้นอังกฤษจะปกครองด้วยระบอบที่ถือว่าค่อนข้าง “ทันสมัย” สำหรับศตวรรษที่สิบแปด บทความของเพนชี้ว่าการปกครองของอังกฤษยังมีปัญหาที่มาจากระดับโครงสร้างและอุดมการณ์การปกครองแบบเผด็จการ สืบเนื่องจากการคงอยู่ของระบอบกษัตริย์และของอำนาจชนชั้นสูงและขุนนาง แม้ว่าแนวโน้มของสังคมอย่างอังกฤษ ที่ซึมซับการมองโลกแบบเป็นวิทยาศาสตร์จากองค์ความรู้ของผู้เบิกทางแห่งปัญญาอย่างไอแซ็ก นิวตัน (Isaac Newton) และเริ่มคุ้นชินกับการตั้งคำถามต่อจารีตประเพณีในแนวคิดและปรัชญาวิมตินิยม (Skepticism) ของเดวิด ฮิวม์ (David Hume) จะก้าวไปสู่การใช้เหตุผลและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ขนบและอุดมกาณ์สนับสนุนระบอบ “เผด็จการล้าหลัง” ยังคงเป็นปัญหาที่ขัดขวางการก้าวสู่การมอบอำนาจ มอบความรับผิดชอบในชีวิตตนเองกับ “มนุษย์” อย่างแท้จริง

หากอเมริกาจะประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ อเมริกาจึงต้องประกาศอิสรภาพจากแนวคิดแบบเดิมที่อังกฤษยังอนุรักษ์ไว้ไปพร้อมกันทันที นี่คือที่มาของการกำเนิดอุดมการณ์ “โลกเสรี” ที่อเมริกายึดถืออย่างภาคภูมิจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าความเป็น “โลกเสรี” และความเป็น “ประชาธิปไตย” ของอเมริกาจะถูกท้าทายและถูกตั้งคำถาม ถูกหยามว่าเป็นเพียงภาพลวงหรือภาพกลวง ก็ยากจะปฏิเสธว่าการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาค รวมถึงการยืนยันยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประวัติศาสตร์ของอเมริกา มีการไต่ขั้นบันไดและปรากฏหมุดหมายของความสำเร็จในทางบวกต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่ยุคสมัยของธอมัส เพน มาจนถึงการเลิกทาส การพลิกผันของการเหยียดสีผิว ความก้าวหน้าของสิทธิสตรี การแพร่ขยายของความหลากหลายทางเพศ ความเสรีในการนับถือศาสนา และที่สำคัญคือการหยิบยื่นให้เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นกับประชาชนทุกคน

หากวิเคราะห์จากแนวคิดและจุดยืนของเพนใน “สามัญสำนึก” คงเป็นเรื่องแปลกประหลาดและ “ขัดธรรมชาติ” อย่างยิ่ง หากเพนจะไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 ในราชอาณาจักรไทย (กระทั่งเขาอาจพึมพำด้วยความหงุดหงิดว่า “กาลเวลาในเมืองนี้ช่างเคลื่อนเฉื่อยช้าเสียจริง เหตุและผลไปมัวรถติดอยู่แถวไหน!”) เนื่องเพราะไม่เพียงกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีขึ้นเพื่อรองรับจารีตประเพณี รองรับอุดมการณ์ประเภทที่เพนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว การบังคับใช้อย่างเกินเลยและพฤติกรรมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของบรรดา “คนดี” ในสังคมที่ไม่เพียงหลีกเลี่ยงที่จะแตะต้องข้องเกี่ยวกับความผิดเพี้ยน บ้างยังรุมประณามการรณรงค์แก้ไขว่าเป็นการสร้างความ “ไม่สงบ” ซ้ำกระตุ้นเร้าอุณหภูมิทางอารมณ์ของผู้คนให้เดือดดาลจนกลายเป็นความรุนแรงขาดสติ ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจนจนมิอาจปฏิเสธได้ เว้นก็แต่ว่าจะเป็นการปฏิเสธโดยยกเอาความเชื่อความศรัทธาเป็นที่ตั้งเหนือการใช้เหตุผล

หากตรรกะรองรับปรากฏการณ์บิดเบี้ยวดังกล่าวมีเพียงแนวคิดทำนองว่า “เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อเช่นนี้” ก่อนอื่นสังคมไทยก็ต้องยอมรับว่าเรามิได้อยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองระบอบ “กฎหมู่เหนือกฎหมาย” ที่อนุญาตให้กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงหรือสับปลับโดยง่าย เพียงเพื่อโอบอุ้ม “ความเชื่อของคนส่วนใหญ่” ไว้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง เราต้องหยุดทึกทักว่าเราเป็นสังคมที่ยกย่องเชิดชู “หลักศีลธรรมอันดี” หากแต่เป็นสังคมที่อนุโลมให้สิ่งที่เราสถาปนาว่าเป็น “ความดี” มีสิทธิและอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดโดยปราศจากข้อกังขา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างทางความยุติธรรมสั่นคลอนพุพังก็ตาม

เนื้อหาสำคัญในการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คือสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านและสื่ออนุรักษ์นิยมสุดโต่งละเลยที่จะทำความเข้าใจ หรือมิเช่นนั้นก็จงใจแสร้งว่าไม่เข้าใจ เพื่อหาข้ออ้างกล่าวหาใส่ความการรณรงค์อย่างสาดเสียเทเสียให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เนื้อหาสำคัญดังกล่าวคือการเรียกร้อง “มาตรฐานทางกฎหมาย” และการนำเสนอ “พื้นฐานที่เป็นธรรม” ให้กับส่วนรวม ห่างไกลจากความเป็นขบวนการ “ต่อต้านโค่นล้ม” หรือตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งที่ “คนส่วนใหญ่” ยึดเหนี่ยว ดังที่ฝ่ายต่อต้านพยายามป้ายสีให้เป็น การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การรณรงค์เพื่อเจาะจงโจมตีบุคคลหรือท้าทายคุณงามความดีอันเป็นที่ศรัทธาของสังคม หากแต่เป็นการพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงอุดมการณ์และเชิงโครงสร้างอันเป็น “ผลพวง” มาจากความศรัทธาบางรูปแบบที่สุดโต่งและไร้คุณธรรมจนผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานของความเป็นธรรม

เปรียบได้กับสิ่งที่ธอมัส เพน เรียกว่าความ “ชาชิน” ที่ “ทำให้เกิดภาพมายาว่าเป็นเรื่องถูกต้อง”

การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหนึ่งมาตราเพื่อความเป็นธรรม การเรียกร้องให้ความสำคัญและความจำเป็นของเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเป็นวาระสำคัญของสังคม (ที่วาดหวังว่ามี) ประชาธิปไตย กลับกลายเป็นการกระทำที่ถูกเมินเฉยหรือกีดขวางโดยองค์กรและสถาบันกระแสหลัก กลับถูกใส่ความ ให้ร้าย ประณามด้วยคำโป้ปดเลื่อนลอยเลอะเทอะ กลับถูกรังเกียจเหยียดหยามราวสภาพการณ์เหยียดสีผิวหรือกดขี่ชาติพันธุ์ กระทั่งถูกทำร้ายร่างกายโดยเจตนา แม้ว่าการรณรงค์จะอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ของงานวิชาการ ของการพบปะสังสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างสันติทั้งสิ้น

ในปี ค.ศ. 1791 ธอมัส เพน พิมพ์ภาคแรกของบทความสำคัญลำดับที่สองของเขา ชื่อ Rights of Man หรือ “สิทธิมนุษยชน” ขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติในฝรั่งเศสที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้นดุเดือด และเช่นเดียวกับหัวใจสำคัญของ “สามัญสำนึก” เพนตอกย้ำความสำคัญของการใช้เหตุผลในการปกครองสังคมด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม มากกว่าการยึดถือขนบนิยมชนชั้นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้น หนังสือของเพนยังเป็นข้อโต้แย้งกับแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ประณามการเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิวัติด้วยข้อหากระด้างกระเดื่องต่อจารีตประเพณีของบรรพบุรุษและลบหลู่ศาสนา (การปกครองระบอบกษัตริย์กับสถาบันศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ลัทธิโรมันคาธอลิกในกรณีของฝรั่งเศสยุคนั้น เป็นสองสถาบันที่พึ่งพากันอยู่อย่างยากจะแยกออก)

เพนเขียน “สิทธิมนุษยชน” ขึ้นหลังจากได้อ่านหนังสือ Reflections on the Revolution in France หรือ “ข้อคำนึงถึงการปฏิวัติในฝรั่งเศส” ของเอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) รัฐบุรุษและนักปรัชญาชาวอังกฤษ อดีตสหายของธอมัส เพน ผู้เคยให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอเมริกาอย่างโจ่งแจ้งมาก่อน วิวาทะเกี่ยวกับการปฏิวัติในฝรั่งเศสระหว่างเบิร์กกับเพนนี้เองที่ครอบคลุมประเด็นพื้นฐานทางการเมืองและสังคมอย่างค่อนข้างครอบคลุม จนกลายเป็นต้นแบบอมตะและเป็นหลักการหนุนหลังวิวาทะระหว่างแนวคิดอนุรักษนิยมกับแนวคิดก้าวหน้า (radical) นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญของเบิร์กคือการให้ค่ากับการสืบสานสถาบันและจารีตประเพณี ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า ขนบธรรมเนียมที่ผู้คนคุ้นเคยและเคารพแล้วย่อมน่าไว้ใจกว่าพฤติกรรมของ “ใครก็ไม่รู้” ที่สังคมไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ เบิร์กเขียนไว้ในวรรคหนึ่งของหนังสือว่า:

“ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพและความผันผวนปรวนแปรง่ายดายไม่มั่นคง ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าความคร่ำครึและการมีศรัทธาที่มืดบอดนับหมื่นเท่า เราจึงได้สร้างรัฐขึ้น และการจะตรวจสอบข้อบกพร่องหรือการฉ้อฉลในโครงสร้างของรัฐเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างรอบคอบระมัดระวัง มิควรมีผู้ใดใฝ่ฝันที่จะเริ่มปฏิรูปรัฐด้วยการโค่นล้มมันลง หากแต่ต้องรับมือกับจุดด่างของรัฐเฉกเช่นการรับมือกับบาดแผลของผู้เป็นบิดา นั่นคือด้วยความเคารพนบนอบและด้วยความเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่งยวด การมีอุปาทานลึกซึ้งเช่นนี้สอนให้เรารู้สึกขยะแขยงเมื่อเห็นประเทศที่คนหนุ่มสาวพร้อมจะชำแหละพ่อผู้ชราภาพของตนออกเป็นชิ้นๆโดยไม่ยั้งคิด จับท่านใส่ลงในกาน้ำวิเศษของนักมายากล ด้วยหวังว่าการใช้สมุนไพรผสมพิษและคาถาอาคมพิลึกพิลั่นจะช่วยให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงเรือนร่างและชุบชีวิตบิดาให้ฟื้นขึ้นใหม่ได้”

สิ่งที่เบิร์กหวั่นกลัวและต่อต้านคือการพังทลายของขนบ เขาไม่มีความเชื่อถือใน “พลังของประชาชน” หากแต่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไร้ศักยภาพในการปกครองตนเอง เขาจึงไม่ไว้วางใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย และไม่เชื่อในการมอบอำนาจให้ “คนส่วนใหญ่” ข้อกังวลของเบิร์กคือสิ่งที่เรียกกันว่า “เผด็จการเสียงข้างมาก” ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยอย่างหมดจด

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสระหว่างช่วงเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิวัติ ทำให้เบิร์กโจมตีแนวคิดเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนอย่างดุดัน ไม่ต่างจากที่คนหลายกลุ่มในสังคมไทยเป็นเดือดเป็นร้อนกับการ “แตะต้อง” กฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยความเชื่อที่ว่าแม้เพียงแตะต้องหรือพูดถึงในทางวิพากษ์วิจารณ์ก็จัดเป็นพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง ลบหลู่ดูหมิ่น กระทั่งแฝงไว้ด้วยนัยยะของความต้องการ “โค่นล้มทำลาย” ทั้งที่มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายข้อหนึ่งที่ประชาชนมีสิทธ์ิมีเสียงตามรัฐธรรมนูญในการเสนอให้ทบทวนแก้ไข คุณสมบัติของการกระทำได้ “ตามรัฐธรรมนูญ” แต่กระทำไม่ได้ตามอารมณ์ความรู้สึก จึงเป็นสภาพการณ์ที่ย้อนแย้งและหยิบยื่นเพียงทางตันให้กับคำว่าเหตุผล รัฐธรรมนูญไม่ควรมีหน้าที่เป็นเพียงเสื้อสูทและเน็กไทที่สวมไว้เพื่อให้ประเทศใดประเทศหนึ่งดู “ราวกับว่า” เจริญแล้วเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่เบิร์กไม่เคยคิดจะย้อนถามตัวเองว่าเหตุใดความรุนแรงจึงเกิดขึ้นภายใต้สังคมที่ปกครองตามจารีตประเพณีอันดี เหตุใดจึงมีผู้คนเดือดร้อน อัดอั้น ทนทุกข์ จนต้องเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติ คนในสังคมไทยบางกลุ่มก็ไม่ไยดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่แยแสต่อผู้ถูกปรักปรำและผู้ต้องโทษจำคุกยาวนานเกินกว่าเหตุด้วยกฎหมายมาตราดังกล่าว บทสรุปยอดนิยมมีเพียงว่าผู้ต้องหาสมควรได้รับโทษแล้วเพราะ “แส่หาเรื่องเอง” “ก่อให้เกิดความไม่สงบ” หรือกระทั่ง “กรรมตามสนอง”

นั่นคือแนวคิดที่ว่าประชาชนเป็นฝ่ายผิดที่แสดงความเห็นต่างจากฝ่ายกุมอำนาจ มิใช่ฝ่ายอำนาจเป็นฝ่ายผิดที่ข่มเหงรังแกประชาชน

นั่นคือความต่างระหว่างจุดยืนของเอ็ดมันด์ เบิร์ก กับธอมัส เพน—เบิร์กยืนอยู่ข้างอำนาจ เพนยืนอยู่ข้างประชาชน เพนประชดประชันความเห็นของเบิร์กว่าเป็นการ “ให้ความเห็นใจกับขนประดับ แต่ไม่รับรู้ถึงเรือนร่างของนกที่กำลังจะหมดลม”

ข้อเขียนตรงไปตรงมาและการยืนอยู่เคียงข้างประชาชน ทำให้ธอมัส เพน ถูกป้ายภาพเป็นนักปฏิวัติหัวรั้นที่สนับสนุนความรุนแรง นักอนุรักษนิยมในปัจจุบันบางคนมอบฉายา “เช เกวาราแห่งศตวรรษที่สิบแปด” ให้กับเขา ทว่าในความเป็นจริง แม้ว่าความคิดของเขาจะขัดแย้งกับความศรัทธากระแสหลักอย่างดื้อดึงเพียงไร ธอมัส เพน ก็เป็นนักคิดหัวก้าวหน้าที่มีเหตุมีผลและยึดมั่นกับหลักอหิงสามากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง เมื่อวัดจากความยึดถือในเหตุผลและความเสมอภาคระหว่างมนุษย์อย่างไม่มีข้อแม้ในแนวคิดของเขา

ในปี ค.ศ. 1792 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นครองบัลลังก์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถูกยึดอำนาจและจับกุมโดยคณะปฏิวัติที่เรียกกันว่า “ปฏิวัติ 10 สิงหาคม” ชะตาของพระเจ้าหลุยส์ถูกแขวนไว้กับแท่นกิโยติน ธอมัส เพน เป็นผู้ออกความเห็นว่าพระเจ้าหลุยส์ไม่สมควรถูกประหารชีวิต หรืออย่างน้อยก็ควรได้รับสิทธิ์ในการขึ้นศาลไต่สวนเสียก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ความกระหายที่จะลงทัณฑ์เป็นอันตรายต่อเสรีภาพเสมอ” และ “ผู้ใดก็ตามที่ต้องการรักษาเสรีภาพของตนไว้อย่างมั่นคง ย่อมต้องคุ้มครองแม้กระทั่งศัตรูของเขาให้พ้นจากการถูกกดขี่รังแก” แม้ว่าข้อเสนอของเพนจะไม่ส่งผลใดๆต่อชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่แนวทางของเขาก็สะท้อนถึงความสม่ำเสมอ ความมีเมตตา และการยืนยันในหลักการให้ความเป็นธรรมกับมนุษย์ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม มิใช่พฤติกรรมของผู้รักความรุนแรงที่มุ่งแต่จะโต้แย้งล้มล้างฝ่ายตรงข้ามตามลักษณะภาพลักษณ์สูตรสำเร็จของ “นักปฏิวัติหัวก้าวหน้า”

ในหนังสือภาคสองของ “สิทธิมนุษยชน” เพนเขียนว่า:

“เสรีภาพถูกไล่ล่าไปทั่วโลก เหตุผลถูกมองว่าเป็นการก่อกบฏ และการตกเป็นทาสของความกลัวทำให้คนเราไม่กล้าที่จะคิด ทว่าสิ่งเดียวที่ความจริงเรียกร้อง สิ่งเดียวที่ความจริงต้องการ มีเพียงเสรีภาพในการปรากฏตัวเท่านั้น และนั่นคือธรรมชาติของความจริงที่ไม่มีสิ่งใดต้านทานได้”

ในทัศนคติของเพน เขาจึงไม่ใช่นักคิดผู้ต้องการผลักดันความเชื่อของตนเอง หรือยัดเยียดสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องให้กับผู้อื่น เขาเพียงเป็นผู้ชวนชี้ให้มนุษยชาติมองดูการปรากฏตัวของความจริง ด้วยความเชื่อมั่นว่าการได้เห็นและทำความเข้าใจกับความจริงนี้เองที่จะให้ประโยชน์กับมนุษยชาติอย่างทั่วถึงที่สุด

กระทั่งในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เมื่อเราพูดถึงคำว่า “เสรีภาพ” และ “สิทธิมนุษยชน” เรายังคงกำลังยกอ้างนิยามและอุดมคติที่ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษรไว้อย่างครบถ้วนในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปดโดยธอมัส เพน เมื่อเราพูดถึง “สิทธิสากลขั้นพื้นฐาน” และเมื่อเราโต้แย้งบรรดาอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยทั้งหลาย ตั้งแต่ระบอบเผด็จการถึงลัทธิกษัตริย์นิยม เรายังคงสามารถถูกเรียก หรือเรียกตัวเองเป็น “สาวก” ทางอุดมการณ์ของธอมัส เพน เมื่อเราวิพากษ์ความเชื่อและศรัทธาในไสยศาสตร์ ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่อง “เหนือธรรมชาติ” ที่ไร้หลักฐานรองรับมากไปกว่าอารมณ์ความรู้สึก หรือเมื่อเราเรียกตัวเองว่า “ผู้ปราศจากศาสนา” เราต่างยังคงเป็นแนวร่วมบนหนทางแห่งปัญญาสายเดียวกันกับธอมัส เพน และเมื่อเราแสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อนโยบายของรัฐ ต่ออุดมการณ์และความประพฤติหมู่ของประเทศที่เราถือกำเนิดและครองสัญชาติ เพื่อลุกขึ้นยืนเคียงข้างบุคคลหรือกลุ่มคนอื่นผู้ถูกกดขี่โดยความอยุติธรรม เพื่อแสดงพลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกข่มเหง แทนการยึดมั่นฝักใฝ่ในการผูกขาดของฝ่ายอำนาจหรืออุดมการณ์รักชาติอย่างมืดบอด เมื่อนั้นเรายังคงมีรอยเท้าและซุ่มเสียงของธอมัส เพน เป็นสัญญาณนำทาง

ธอมัส เพน เป็นนักเขียน เป็นนักปรัชญา นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น เป็นเสรีชน เป็นนักประชาธิปไตย เป็นนักปฏิวัติระดับสากล เป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดแห่งยุคแสงสว่างสู่มวลชน เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอมริกา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกลุ่มคนไร้ศาสนา เป็นคนอังกฤษที่สนับสนุนเอกราชของอเมริกา ย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนอเมริกัน ตัวหนังสือของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการต่อสู้ที่นำทัพโดยจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ทว่าต่อมาเขาตั้งคำถามโจมตีวอชิงตันว่าทรยศต่อมิตรภาพของเขาและเรียกวอชิงตันว่า “นักต้มตุ๋น” เพนให้ท้ายการปฏิวัติมวลชนในฝรั่งเศสและเป็นปัญญาชนคนสำคัญของขบวนการปฏิวัติถึงขั้นที่ทำให้เขาได้รับสัญชาติฝรั่งเศสโดยกิตติมศักดิ์ ต่อมาเพนยังมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับนโปเลียนเกี่ยวกับการทำสงครามกับอังกฤษ แต่เมื่อนโปเลียนเริ่มริบริหารอำนาจโดยวิถีเผด็จการ เพนประณามนโปเลียนเป็น “คนปลิ้นปล้อนหลอกลวงสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

ธอมัส เพน เป็นผู้ยึดมั่นในเหตุผล ความเป็นธรรม ความถูกต้อง ความเท่าเทียมของสิทธิเสรีภาพระหว่างมนุษย์ทุกเชื้อสายและชาติพันธุ์ แม้ว่าอุดมการณ์ของเขาจะขัดหรือขาดกับความเห็นของเพื่อนฝูง ของสังคมกระแสหลัก ของชาติ ของอำนาจปกครอง แม้ว่าตัวหนังสือและฝีปากเผ็ดร้อนทิ่มแทง กระตุ้นเร้า ตรงไปตรงมา จะสร้างศัตรูให้เขาตลอดชีวิต ทำให้เขาโดนจำขังและเกือบต้องโทษประหาร ทำให้ถูกตราหน้าเป็น “บุคคลน่ารังเกียจ” ถูกประวัติศาสตร์ล้อเลียนและหลงลืมว่าเขาเป็นหนึ่งใน “บิดา” แห่งเสรีนิยมและประชาธิปไตย ผู้มีอิทธิพลสืบเนื่องนับตั้งแต่การปฏิวัติอเมริกามาจนถึงการปฏิวัติต่อต้านเผด็จการโดยมวลชนชาวอาหรับในปัจจุบัน แม้ว่าพิธีศพของเพนในปี ค.ศ. 1809 จะมีผู้มาไว้อาลัยเพียงหกคน และแม้ว่าข่าวมรณกรรมในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งจะรายงานว่าเขา “อายุยืนยาว กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไว้บ้าง แต่ก็ทำเรื่องที่เป็นโทษไว้มากมาย”

หากความยึดมั่นยืนกรานที่จะยืนเคียงข้างความเป็นธรรมและความถูกต้อง จะทำให้ถูกตราหน้าว่าเป็นปรปักษ์ต่อสังคม หากการเห็นแย้งต่อพฤติกรรมอันเหลื่อมล้ำ มืดบอด ไร้ตรรกะ และโหดร้ายรุนแรงของญาติมิตร ของชาติ ของศาสนา จัดอยู่ในหมวดของความอกตัญญูหรือเนรคุณ ก็อาจเรียกได้ว่าธอมัส เพน เป็นนักเนรคุณตัวพ่อ

บนกำแพงสาธารณะแห่ง สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมระหว่างมนุษย์ การขีดเขียนหรือพ่น ฉีดคำประกาศว่า “ธอมัส เพน พ่อทุกสถาบัน” จะเป็นความเห็นที่ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงไปมากนัก แต่ก็จะไม่เป็นที่น่าแปลกใจเช่นกัน หากมันจะถูกลบล้างหรือทาทับซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกลุ่มคนที่ไม่ยินดีปรีดากับจุดยืนของ “บุคคลน่ารังเกียจ” ผู้นี้

ธอมัส เพน ไม่ใช่นักปฏิวัติโรแมนติกใสซื่อบริสุทธิ์เขามีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ไม่ด้อยไปกว่านักปราชญ์ผู้เฝ้ามองดูโลกอย่างพินิจ เมื่อเขากล่าวไว้แต่แรกว่า “กาลเวลาเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนได้มากกว่าการใช้เหตุผล” เพนสะท้อนถึงความตระหนักรู้ว่าศรัทธาและความเชื่อบางอย่างที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ต้องใช้เวลายาวนานบนหนทางยาวไกล ก่อนที่แสงสว่างแห่งเหตุผลจะทอดทอลงมาชะล้างให้มันเจือจางลง

แต่ที่สำคัญ คือในที่สุดแล้ว เหตุผลจะไม่เนรคุณต่อกาลเวลา

 

 

 

 

//////////////

ข้อมูลอ้างอิงจาก

Reflections on the Revolution in France โดย Edmund Burke ฉบับพิมพ์โดย Oxford University Press, 2009

Rights of Man, Common Sense and Other Political Writings โดย Thomas Paine ฉบับพิมพ์โดย Oxford University Press, 2008

Thomas Paine’s Rights of Man โดย Christopher Hitchens พิมพ์โดย Grove Press, 2006

Thomas Paine โดย Craig Nelson พิมพ์โดย Penguin Books, 2007

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในงานแขวนเสรีภาพของคณะนักเขียนแสงสำนึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท