Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพจประเทศไทยอยู่ตรงไหน หาคำตอบว่า "จริงๆ คนไทยบริโภคกาแฟสตาร์บัคส์มากหรือน้อยแค่ไหน?" พร้อมบทวิเคราะห์

เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงรู้จักร้านกาแฟสัญชาติอเมริกันยี่ห้อ “สตาร์บัคส์” กันเป็นอย่างดี บางท่านอาจเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่น ขณะที่บางท่านอาจไม่ชื่นชอบสักเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นเรื่องนานาจิตตังของแต่ละคน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่ากาแฟสตาร์บัคส์นั้นได้รับความนิยมไม่น้อยในประเทศไทย ร้านสตาร์บัคส์สาขาต่างๆ พลุกพล่านไปด้วยผู้คนเสมอ หลายครั้งที่เราเห็นคนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ในวันที่จัดโปรโมชั่น

แล้วจริงๆ คนไทยบริโภคกาแฟสตาร์บัคส์มากหรือน้อยแค่ไหน?

การจะวัดว่าคนไทยบริโภคกาแฟสตาร์บัคส์มากหรือน้อยแค่ไหนในเชิงปริมาณนั้นทำได้ยาก (จะนับตามปริมาณหัวกาแฟเท่านั้น หรือปริมาณเครื่องดื่มกาแฟทั้งแก้ว แล้วเครื่องดื่มอื่นๆเช่น ชา หรือ ช็อคโกแล็ต จะนับด้วยหรือไม่ ฯลฯ) ดังนั้นทางหนึ่งที่อาจทำได้คือการวัดขนาดของธุรกิจสตาร์บัคส์ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

จากข้อมูลผลประกอบการประจำปี 2011 ของสตาร์บัคส์สำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา [1] ซึ่งนับข้อมูลจนถึงสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 2 ตุลาคม 2011 พบว่า สตาร์บัคส์มีร้านกาแฟ (Starbucks Store) อยู่ทั่วโลกทั้งหมด 17,003 ร้าน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเองทั้งหมด (Company-operated Stores) และร้านที่สตาร์บัคส์ออกใบอนุญาตให้พาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศบริหารงานแทน (Licensed Stores) โดยสัดส่วนจำนวนร้านทั้งหมดคิดเป็น 53% ต่อ 47% ตามลำดับ

ร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเอง มีจำนวนทั้งสิ้น 9,031 ร้านกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งแบ่งตามประเทศต่างๆได้ดังนี้

สหรัฐอเมริกา 6,705 ร้าน
แคนาดา 846 ร้าน
สหราชอาณาจักร 607 ร้าน
จีน 278 ร้าน
เยอรมนี 150 ร้าน
ไทย 141 ร้าน
อื่นๆ 314 ร้าน

ร้านที่พาร์ทเนอร์บริหารงานแทน นับเฉพาะเฉพาะในเอเชีย มีทั้งสิ้น 2,334 ร้าน แยกตามประเทศได้ดังนี้

ญี่ปุ่น 935 ร้าน
เกาหลีใต้ 367 ร้าน
ไต้หวัน 249 ร้าน
จีน 218 ร้าน
ฟิลิปปินส์ 183 ร้าน
มาเลเซีย 121 ร้าน
ฮ่องกง 117 ร้าน
อินโดนิเซีย 109 ร้าน
นิวซีแลนด์ 35 ร้าน

ร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเองนั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจของสตาร์บัคส์มาก เนื่องจากรายได้ทั้งหมดทั่วโลกมาจากร้านที่บริหารเอง 82% ขณะที่ร้านแบบให้พาร์ทเนอร์บริหารแทนนั้นสร้างรายได้เพียง 9% และอีก 9% มาจากสินค้าอื่นๆ เช่น กาแฟสำเร็จรูป VIA ถ้วยกาแฟ หรือ ของที่ระลึกต่างๆ

จะเห็นว่าไทยมีจำนวนร้านสตาร์บัคส์ใกล้เคียงกับเยอรมนี มากกว่ามาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนิเซีย และเป็นที่น่าสังเกตว่าหากไม่นับจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่พิเศษแล้ว ไทย คือประเทศในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มร้านที่สตาร์บัคส์บริหารงานเอง ซึ่งแม้ประเทศเอเชียอื่นๆอาจมีร้านอยู่ในกลุ่มนี้บ้าง แต่คาดได้ว่ามีจำนวนน้อยจนถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่ม "อื่นๆ” เท่านั้น ไม่ได้แยกออกมาเป็นหนึ่งประเทศโดดๆอย่างไทย

ธุรกิจของสตาร์บัคส์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในไทย และจากข้อมูลข้างต้นก็อาจนับได้ว่าสูงกว่าเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งดูจะสะท้อนลักษณะบางประการของสังคมไทยได้ดีในระดับหนึ่ง เช่น แนวนโยบายที่เปิดกว้างต่อธุรกิจต่างประเทศ หรือการเป็นสังคมที่เปิดกว้างต่อวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก เพราะต้องไม่ลืมว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่มีวัฒนธรรมกาแฟที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ในอดีตเหมือนประเทศในทวีปยุโรป หรือเพื่อนบ้านเราอย่าง เวียดนาม 

ความสำเร็จของสตาร์บัคส์ในประเทศไทยนั้นย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หลายคนอาจมองว่ามันเป็นกระแสฉาบฉวย ฟุ่มเฟือย และทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ หลายคนอาจมองว่าเราเปิดกว้างในทางธุรกิจมากเกินไป (ในประเทศอื่น สตาร์บัคส์ทำได้แค่ออกใบอนุญาตแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ในไทยสามารถดำเนินกิจการเองได้ทั้งหมด) ในทางกลับกัน หลายคนมองว่าสตาร์บัคส์ได้สร้างอุตสาหกรรมกาแฟสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นในไทย สร้างงาน สร้างวัฒนธรรมกาแฟ สร้างเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อ้างอิง

[1] http://investor.starbucks.com/phoenix.zhtml?c=99518&p=irol-reportsAnnual

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net