Skip to main content
sharethis

สรุปบทเรียนกระบวนการต่อสู้คดีของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ข้อเท็จจริงของสภาพปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้น ลงท้ายด้วยบทสรุปความไม่เป็นธรรมจากการฟ้องร้องดำเนินคดีของหน่วยงานรัฐต่อชาวบ้าน

 
 
ปัญหาคดีความที่เกิดจากข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ปรากฏในปัจจุบัน พิจารณาเฉพาะพื้นที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน พบว่า มีชาวบ้านถูกหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 107 ราย จำนวน 29 คดี ทั้งนี้ ไม่นับรวมคดีความของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งมีมากกว่า 400 คดี และที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก
 
คำถามสำคัญคือ ทำไมจึงเกิดคดีความเช่นนี้กับประชาชนที่มีปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิ์กับหน่วยงานรัฐ คำพิพากษาโดยส่วนใหญ่เป็นอย่างไร มีผลกระทบต่อชาวบ้านในฐานะผู้ตกเป็นจำเลยด้านไหนบ้าง และกระบวนการต่อสู้คดีของชาวบ้านในทุกชั้นการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ชาวบ้านผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนบ้าง
 
เรื่องราวข้างต้น ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางในแวดวงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ องค์กรประชาชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานด้านยุติธรรม โดยเฉพาะในช่วงหลังปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา กระทั่งมีข้อเสนอเกี่ยวกับการ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ ในสังคมไทยให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สะท้อนนัยข้อเสนอดังกล่าว
 
จากบทเรียนกระบวนการต่อสู้คดีของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สะท้องให้เห็นข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับสภาพปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านประสบ
 
ข้อเท็จจริงและมูลเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาทางคดี
 
1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทที่ดินของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ทั้งสิ้น 22 กรณี จำแนกเป็นปัญหาพิพาทพื้นที่ป่าไม้ 13 กรณี และปัญหาที่สาธารณประโยชน์ 9 กรณี พบว่า ทุกกรณีชาวบ้านถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ดินของรัฐ กระทั่งเกิดข้อพิพาทกันระหว่างรัฐกับประชาชนในเวลาต่อมา
 
มีหลักฐานตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 สค.1 จำนวน 5 กรณี อยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน 1 กรณี มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 จำนวน 2 กรณี มีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ 13 กรณี และเป็นพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดน ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ จำนวน 1 กรณี ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงร่องรอยการทำประโยชน์ที่ดิน วัตถุพยาน พยานบุคคลที่ปรากฏในพื้นที่พิพาท ซึ่งมีอยู่ในทุกพื้นที่
 
ข้อเท็จจริงเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวบ้านถือครองทำกินมาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ แต่เมื่อนำเข้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม กลับมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า หรือไม่มีน้ำหนักพอสำหรับการหักล้างหลักฐานทางราชการ
 
2.กระบวนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท พัฒนาการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินของชาวบ้าน เริ่มจากการใช้กลไกปกติของทางราชการ ได้แก่ การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการในทุกระดับ เมื่อไม่มีผลปฏิบัติ จึงนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์ ทั้งในระดับกลุ่มปัญหารายกรณี กระทั่งพัฒนาเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ คู่ขนานไปกับการร้องต่อองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบการถูกละเมิดสิทธิ์
 
ในกรณีการชุมนุมเรียกร้อง โดยทั่วไปจะเกิดข้อตกลงในหลักการแก้ไขปัญหา การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาจะมีข้อยุติต้องใช้การตัดสินใจทางนโยบาย โดยมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดความล่าช้า และเป็นเหตุให้หน่วยงานรัฐฟ้องดำเนินคดีในเวลาต่อมา
 
ในหลายกรณี ชาวบ้านใช้มาตรการเข้ายึดพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดการที่ดินขนานไปกับการติดตามปัญหา ทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น กรณีสวนป่าคอนสาร สวนป่าโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น มีบางกรณีที่พยานโจทก์เบิกความต่อศาลว่ามีความเห็นร่วมกันของหน่วยงานโจทก์ว่า ต้องใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่พิพาท ในขณะที่โจทก์ก็เข้าใจและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ซึ่งมีคืบหน้าเป็นลำดับ
 
การฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในกรณีพิพาทที่ดิน
 
จากสภาพปัญหาและกระบวนการติดตามปัญหาดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงจะพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐ โดยกลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการร่วม หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน แต่ไม่มีการเร่งรัดตัดสินใจทางนโยบาย ทำให้สถานภาพทางกฎหมายยังเป็นที่ดินของรัฐ นำมาสู่การดำเนินคดีชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ดังปรากฏตามข้อมูลข้างต้น
 
ในจำนวน 29 คดีของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน พบว่า โจทก์ หมายถึง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ฟ้องชาวบ้านในคดีต่างๆ ทั้งคดีอาญา และความแพ่ง จำแนกตามข้อกล่าวหา ได้แก่ บุกรุกที่ดินของรัฐ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ขับไล่ และเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยสถานะทางคดีในปัจจุบันอยู่ในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน การพิจารณาของศาล และการบังคับคดี
 
บทเรียนสำคัญในการต่อสู้ปัญหาคดีความของชาวบ้าน สามารถสรุปปัญหา อุปสรรคในกระบวนการต่อสู้ได้ ดังนี้
 
1.เจ้าพนักงานสอบสวน พฤติการณ์ในการเข้าจับกุม ควบคุมตัว และแจ้งข้อกล่าวหาชาวบ้าน มีหลายกรณีที่มีพิรุธ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การควบคุมตัวออกมาโดยพลการ โดยอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ซึ่งในทางข้อเท็จจริง พฤติการณ์ของเจ้าพนักงานขาดองค์ประกอบข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ มีการสนธิกำลังกันเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่บางหน่วยมาจากต่างจังหวัดห่างไกลที่เกิดเหตุ ดำเนินการในเวลาเช้าตรู่ ซึ่งชาวบ้านอยู่ระหว่างทำธุระส่วนตัว และไม่มีอุปกรณ์ใดๆ สำหรับทำประโยชน์ การควบคุมตัวดังกล่าวไม่มีหมายจับ หมายค้น และอ้างกับชาวบ้านว่าขอเชิญมาพูดคุยกันที่อำเภอเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่กลับนำตัวมาควบคุมที่สถานีตำรวจ แล้วแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง และอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าดังกล่าวข้างต้น
 
พฤติการณ์เช่นนี้มีลักษณะของการเตรียมการณ์วางแผนอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่รับรู้ เข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับกระบวนการและพัฒนาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิพาทนั้นๆ
 
นอกจากนี้ ในบางกรณีเจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างการสอบสวน เช่น สิทธิ์ในการไม่ให้การ การหาทนายความหรือที่ปรึกษาที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังตลอดการสอบสวน เป็นต้น รวมทั้งมีการเกลี้ยกล่อม โน้มน้าวให้รับสารภาพ เพื่อโทษหนักจะได้เป็นเบา จะไม่ถูกจำคุก มีเพียงโทษปรับเท่านั้น เป็นต้น        
 
2.การพิจารณาสำนวนคดีของพนักงานอัยการ โดยส่วนใหญ่แล้ว คดีที่เจ้าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการจะไม่มีการสอบพยานเพิ่มเติม และจะส่งฟ้องศาลต่อไป ในขณะที่ชาวบ้านได้พยายามเข้าให้ข้อมูล และมีหนังสือแจ้งเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขปัญหา ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีหนังสือมายังอัยการจังหวัด เรื่องให้ชะลอการดำเนินคดีชาวบ้านเครือข่ายไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ โดยให้เหตุผลเรื่องการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความชัดเจน เพื่อดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชนต่อไป
 
3.การพิจารณาคดีของศาล คดีความของชาวบ้านที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาญา ข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายประเภทต่างๆ และที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่เหลือจะเป็นคดีแพ่งที่หน่วยงานในฐานะโจทก์ฟ้องขับไล่ และในพื้นที่ป่าไม้ภายหลังการฟ้องคดีอาญาแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีโลกร้อน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 97 มาดำเนินการ
 
ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าวมีความเห็นเกี่ยวกับแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางแพ่งของนักวิชาการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่ามีความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด โดยมีรายการค่าปรับจากแบบจำลองดังกล่าว คือการทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน ทำให้สูญเสียน้ำออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ ทำให้ดินสูญหาย ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น ทำให้ฝนตกน้อยลง และมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าอีก 3 รายการ รวมแล้วประมาณ 150,000 บาทต่อไร่
 
คดีโลกร้อนดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น 7 คดี จำนวน 21 ราย ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 5 คดี ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง อยู่ระหว่างฏีกา 1 คดี และศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว 1 คดี เพื่อรอฟังผลคดีอาญา
 
ในส่วนคดีอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้อง เนื่องจากการนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีในศาล จะเป็นเอกสารการทำประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่ใช่หลักฐานตามประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งจะมีน้ำหนักในการพิจารณาน้อย เมื่อเทียบกับเอกสารทางราชการของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตตามกฏหมายในการกำกับดูแลพื้นที่นั้นๆ จึงเชื่อได้ว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะหยิบยกมติ คำสั่งในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ หรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลมาเป็นพยานหลักฐานก็ตาม
 
 
ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีของชาวบ้าน
 
คดีความของชาวบ้านในแต่ละเรื่อง ใช้เวลายาวนานบางคดีมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เป็นคนแก่และผู้หญิง จึงมีผู้เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้ในเกือบทุกคดี ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเมื่อโดนคดีแล้วตายเร็วขึ้น แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจ ความวิตกกังวลจากการถูกดำเนินคดีย่อมเกิดขึ้นโดยทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าโดยข้อเท็จจริง ที่ดินที่พิพาทตัวเองเคยถือครองทำประโยชน์มาก่อน ประกอบกับการติดตามปัญหาที่ยืดเยื้อ ยาวนาน ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งมีเรื่องคดีความที่ต้องมีค่าเดินทางไปศาล ค่าเอกสาร ค่าทนาย ค่าหลักทรัพย์ประกันตัว
 
ยังไม่รวมถึงปัญหาทางด้านสังคมที่ถูกผู้คนมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหา สร้างความวุ่นวายให้กับชุมชน และสิทธิการทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทที่ถูกดำเนินคดีย่อมเป็นไปอย่างจำกัด บางกรณีมีการปิดหมายบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ พร้อมรื้อถอนไม้ผล สิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย ยิ่งก่อผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้านหนักมากขึ้น
 
กล่าวโดยสรุป ข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาในสังคมเป็นเวลายาวนาน หรืออาจจะเรียกได้ว่า ปัญหาที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะที่ดินถือเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการผลิต ซึ่งเครื่องมือในการกำหนดความสัมพันธ์ดังกล่าวในทุกสังคมคือ ระบบกรรมสิทธิ์ ในสังคมไทยมีการจำแนกระบบกรรมสิทธิ์เป็นที่ดินของรัฐและเอกชน โดยให้สิทธิ์การบริหารจัดการแต่ละส่วนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การเข้าถึงสิทธิในที่ดินของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกันมาก ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจย่อมเข้าถึงที่ดินเป็นจำนวนมาก เกษตรกรรายย่อย คนยากจนอยู่ในสภาพไร้ที่ดิน ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ หรือมีที่ดินกลับไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิตในแปลงเกษตรของตนเองได้ เพราะกระบวนการผลิตที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเป็นด้านหลัก นำมาสู่ปัญหาหนี้สิน และการเปลี่ยนมือที่ดินในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นพิพาททับซ้อนกับที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ และเกิดเป็นปัญหาคดีความ
 
หากเราใช้มุมมองเรื่องความเป็นธรรม เท่าเทียมมาพิจารณาปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะพบว่า รัฐบาลต้องมีแนวทางนโยบายการปฏิรูปที่ดินและการผลิตที่ครบถ้วน รอบด้าน รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพื่อบรรเทาผลร้ายจากการคุกคามสิทธิในลักษณะต่างๆ และที่สำคัญปัญหาพิพาทที่ดิน เป็นเรื่องนโยบายที่รัฐต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิตามกฎหมาย แล้วนำสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชาวบ้านจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดไป ดังบทเรียนที่ผ่านมา
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net