Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศาลอาญานัดไต่สวนคดีการตายเสื้อแดงจากการชุมนุมการเมือง เพิ่ม 3 ราย พาดหัวข่าวของมติชนออนไลน์ กรณีการเสียชีวิตจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง (ดูได้ที่ http://www.matichon.co.th) โดยในข่าวสรุปได้ว่า จะมีการไต่สวนการตายโดยศาลอาญากรุงเทพใต้จำนวน 3 คดี คือ การเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ในวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. การตายของนายประจวบ ประจวบสุข และนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล ถูกยิงที่บริเวณถนนพระราม 4 ใต้ทางด่วนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลทั้งสองคน ศาลนัดไต่สวนวันที่ 28 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ทั้ง 3 ราย อัยการอาญากรุงเทพใต้ 1 ระบุว่า เชื่อว่าการตายของผู้ตายเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติอันเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงส่งสำนวนยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตายของผู้ตายตามกฎหมาย

การไต่สวนการตายโดยศาลดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม โดยกฎหมายกำหนดว่า ในกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งใน 2 กรณี คือ

ในกรณีโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กรณีเช่นนี้ ได้แก่ การวิสามัญฆาตกรรม คนร้ายที่ยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจขณะทำการจับกุม หรือกรณีที่เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงใส่ชาวบ้านที่ปัตตานี ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ โดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานอ้างว่า มีคนร้ายหลบซ่อนอยู่ในรถกระบะที่ถูกยิง หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงใส่รถแจ๊สสีขาว โดยเข้าใจว่าเป็นรถคนร้ายขนยาเสพติด เป็นต้น หรือ

การตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กรณีดังกล่าวเช่น ผู้ต้องหาอยู่ในควบควบคุมของตำรวจเสียชีวิตในห้องขัง หรือผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำ เป็นต้น

ทั้งสองกรณีต้องมีการไต่สวนการตายโดยศาล สำหรับกรณีของคนเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนี้ เป็นการเสียชีวิตเพราะการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

มาตรา 150 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้ บัญญัติขึ้นโดยมีความมุ่งหมายในการให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และญาติของผู้เสียชีวิตเพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เพื่อต้องการให้มีการพิสูจน์จากคนกลาง คือศาล ในการนำหลักฐานมาเปิดเผยในศาลว่า การปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้น กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายอนุญาต ด้วยความสุจริต ส่วนญาติผู้ตายก็ต้องหาหลักฐานมาโต้แย้งหรือแสดงให้เห็นว่า ยังไม่เชื่อมั่นหลักฐานของเจ้าหน้าที่ที่นำมาเสนอต่อศาล จึงต้องแต่งทนายความเข้ามาซักค้านและนำสืบพยานหลักฐานของตน ดังนั้นในการดำเนินการเพื่อให้ได้ความจริงดังกล่าว จึงมีบุคคลหลายฝ่ายเข้าร่วมด้วย กล่าวคือ

ขั้นตอนแรกเมื่อมีกรณีการตายตามความหมายดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ฝ่าย ร่วมกันทำการชันสูตรพลิกศพ คือ 1.พนักงานอัยการ 2. พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัด อำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ 3. พนักงานสอบสวน และ 4. แพทย์ ** โดยเฉพาะแพทย์นั้นกฎหมายระบุให้ต้องเป็นแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา เพราะเหตุว่า สาเหตุการตายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพิสูจน์ศพ ว่าผู้ตายนั้น เสียชีวิตจากอาวุธหรือวัตถุใด วิถีของอาวุธหรือลักษณะของอาวุธน่าจะเกิดจากอะไร ในทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น แพทย์สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ หากมีข้อสงสัยสาเหตุการเสียชีวิต ก็ต้องทำการผ่าศพในภายหลัง แต่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ไม่มีแพทย์ทางนิติวิทยาศาสตร์หรือมีแต่ไม่สามารถปฏัติหน้าที่ได้ กฎหมายก็อุดช่องว่างไว้โดยให้สามารถใช้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐหรือแพทย์สาธารณสุขหรือแพทย์โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ได้ ซึ่งทนายความของผู้ตายต้องซักค้านพยานของเจ้าหน้าที่ว่าได้สอบสวนแล้วมีการดำเนินการให้ลงชื่อในการชันสูตรพลิกศพร่วมกันในขณะที่ตรวจศพจริง ไม่ใช่มาลงชื่อในภายหลัง ที่สำคัญรายงานการตรวจศพของแพทย์ต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า สาเหตุการตายเกิดจากอะไร มิใช่บันทึกลอยๆว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ แต่ควรระบุด้วยว่าทำไมจึงขาดอากาศหายใจ หรือเขียนเพียงว่า “ตายเพราะไม่หายใจ” แต่รายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม เช่น “จากการชันสูตรพลิกศพพบบาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำตามร่างกาย กับกระดูกซี่โครงที่หัก เกิดจากร่างกายของผู้ตายถูกกระแทกด้วยของแข็ง ทำให้กระดูกซี่โครงหัก แล้วกระดูกซี่โครงข้างขวาของผู้ตายที่หักได้ไปแทงเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วออกจากปอด อันเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย” (รายงานการชันสูตรพลิกศพอิหม่ามยะผา กาเซ็ง)

ขั้นตอนที่สอง เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้วให้พนักงานสอบ สวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้วส่งไปยังพนักงานอัยการ (ภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบเรื่อง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน)

ขั้นตอนที่สาม เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

ดังนั้นการไต่สวนการตายโดยศาลจึงเป็นไปตามนัยนี้ เพื่อให้ศาลตรวจสอบว่าความตายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้น ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร หากตายโดยเจ้าหน้าที่ก็ให้บอกว่าใครเป็นคนทำ กฎหมายจึงอนุญาตให้ญาติผู้ตายสามารถแต่งทนายความเข้ามานำสืบพยานหลักฐาน พยานบุคคล และซักค้านพยานของพนักงานอัยการ ซึ่งคำสั่งศาลจากการไต่สวนในคดีนี้ ไม่ใช่การนำเจ้าหน้าที่ผู้กระทำตามหน้าที่มาลงโทษ หรือต้องรับผิดชอบทางคดี กรณีจะเป็นข้อหาในคดีอาญาก็ต่อเมื่อ ผลจากคำสั่งศาลแสดงว่าเจ้าหน้าที่กระทำให้ตาย โดยไม่ใช่การปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อนั้นพนักงานสอบสวนต้องจัดทำสำนวนเป็นคดีขึ้นใหม่ และดำเนินการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้น หรือกลุ่มนั้นในคดีอาญา นี่เองจึงเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกรงกลัว ว่าศาลจะมีคำสั่งไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง การไต่สวนการตายโดยศาลจึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

สำหรับการตายของคนเสื้อแดง และประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย นั้น ต้องมีการติดตามการไต่สวนให้ดี เพราะมีแนวโน้มในหลายกรณีที่เมื่อศาลมีคำสั่ง ว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อญาติผู้ตายและยินยอมเจรจาชดใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงิน เพื่อให้ไม่ต้องไปรับผิดชอบทางคดี ซึ่งการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นภัยคุกคามความสงบสุขในสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

 

มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงาน สอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับ วุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวง สาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตร พลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป ตามมาตรา 156

ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการ ชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบ สวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้ พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัด อำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิก ศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำ บทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้วให้พนักงานสอบ สวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้วส่งไปยังพนักงานอัยการภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะ เวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึก เหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวน ชันสูตรพลิกศพ เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ สำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลา ทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และ วรรคห้า ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่ จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของ ผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัด ไต่สวน ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐาน ทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ

เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่น คำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และ นำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิ แต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับ การแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้น เพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย

เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความ เห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

คำสั่งของศาลตาม มาตรานี้ ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึง สิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงาน อัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้อง หรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น

เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยัง พนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

แพทย์ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตาม มาตรานี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรนี้ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้ง ตามมาตรา 173

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net