Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในที่สุดธีรยุทธ บุญมี ก็รีเทิร์น มาในมาดว่าที่ศาสตราจารย์ใหม่ แต่ยังสวม “เสื้อกั๊ก” ตัวเดิม ในการแถลงข่าวเรื่อง การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่18 มีนาคม 2555

ผมติดใจข้อสรุปของธีรยุทธ และขอวิจารณ์เฉพาะส่วนท้ายการแถลงข่าวที่เขาสรุปว่า (ดูมติชนออนไลน์)

“...ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”

ข้อสรุปดังกล่าว มาจากข้ออ้างที่ว่า “ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

จะเห็นได้ว่า ข้อสรุปและข้ออ้างของธีรยุทธ สะท้อนถึงการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองในระดับ “ปรากฏการณ์” และเป็นปรากฏการณ์ที่เลือกเน้นให้เห็นความผิดเฉพาะทักษิณเป็นด้านหลัก แต่ละเลยที่จะพูดถึงความผิดของฝ่ายอำมาตย์

ซึ่งเท่ากับธีรยุทธยังยืนยันแบบเดิมๆ ว่า ข้อกล่าวหาว่าทักษิณกระทำผิดต่างๆ นั้น คือ “เหตุผลอันสมควร” ในการทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 และรัฐประหารนั้นก็มี “ความชอบธรรม”

แต่อย่างไรก็ตาม หากมองเผินๆ ดูเหมือนธีรยุทธจะพูดถึง “หลักการ” อยู่เหมือนกัน เช่นที่บอกว่า “ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ” หรือ “ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน” หรือ “...มากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

ประโยคตัวอย่าง (เป็นต้น) นี้ ดูเหมือนธีรยุทธกำลังเรียกร้อง “การสร้างประชาธิปไตยรากหญ้า” เรียกร้อง “โครงสร้างที่ยั่งยืน” หรือเรียกร้อง “ให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

แต่การยืนยันหรือการเรียกร้องเชิงหลักการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการยืนยันบนฐานของการกล่าวหาว่า ทักษิณไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย และไม่ได้คิดที่จะทำ สิ่งที่ทักษิณทำจริงๆ คือ “อ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่า”

ฉะนั้น ธีรยุทธจึงสรุปว่า “...ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”

ข้อสรุปของธีรยุทธจึงชวน “ขบขันอย่างยิ่ง” มันชวนขบขันเพราะว่า เขาอ้างอิง “หลักการ” เพียงเพื่อจะดิสเครดิตทักษิณเท่านั้น แต่เขาไม่ apply หลักการเดียวกันนี้กับ “อำนาจนอกระบบ” คือถ้าเขายืนยัน “ประชาธิปไตย” และเขาซื่อสัตย์/เคารพในสิ่งที่ตนเองยืนยันจริงๆ ทำไมเขาไม่อ้างอิงหลักการประชาธิปไตยในการวิจารณ์อำนาจนอกระบบหรืออำมาตย์ใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับที่วิจารณ์ทักษิณ

เช่น ทำไมเขาไม่กล้าพูดว่า อำมาตย์ทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำลายระบอบประชาธิปไตย และการกระทำเช่นนั้นมันสะท้อนว่า อำมาตย์ก็ “ไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจ” เช่นกันกับทักษิณ

การที่ธีรยุทธไม่ apply หลักการที่ใช้วิจารณ์นักการเมืองกับอำนาจนอกระบบใน “มาตรฐานเดียวกัน” ทำให้ข้อเรียกร้องของเขาข้างล่างนี้ยิ่งน่าขบขันยิ่งขึ้นไปอีก คือเขาเรียกร้องว่า

“ผู้ที่ควรร่วมคิด ผลักดันประเด็นข้างต้นควรเป็นนักวิชาการเสื้อเหลือง แดง และนักวิชาการทั่วไปที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง ภาคธุรกิจ กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงกลางมากที่สุด แต่ก็มีผลได้ผลเสียจากความขัดแย้งปัจจุบันมากที่สุด ควรมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ ด้วยการลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด

ที่ผมขีดเส้นใต้ ผมเห็นว่าธีรยุทธควรเรียกร้องกับ “ตัวเอง” มากที่สุด ในฐานะนักวิชาการที่มี “ต้นทุนทางสังคมสูง” ธีรยุทธควรถามตนเองว่า “อะไรที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ?” หรืออะไรที่ทำไปแล้วผิดพลาดควรจะออกมา “ขอโทษ” สังคมหรือไม่? เช่น ธีรยุทธตระหนักหรือไม่ว่าบทบาทที่ผ่านมาของตนเองมีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหาร และตุลาการภิวัตน์ที่สร้าง “ระบบสองมาตรฐาน” ในกระบวนการยุติธรรมอย่างน่าอเนจอนาถที่สุด!

ธีรยุทธมีความเห็นอย่างไรครับ กับการที่นักศึกษาประชาชนถูกฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา และประชาชนถูกฆ่าอีกในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 แต่ว่าชีวิตนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากขนาดนั้นไม่สามารถจะแลกได้แม้กระทั่งกับ “การแก้ไข ม.112 อันเป็นมรดกเผด็จการ”

ผมถึงติดใจว่า “การลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด” มันคืออะไร?

“ความยุติธรรม” มันหมายความว่าต้อง apply หลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียมไหม? “ค่านิยมประชาธิปไตย” หมายถึงการยึดถือคุณค่าของการ apply หลักการสากลดังกล่าวไหม?

แต่ในบทวิเคราะห์ของธีรยุทธก็ไม่ได้ยืนยันหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมองว่า “เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจ เมืองไทยยุค 2 ก๊ก ก๊ก “คนเลว” โจโฉ จะชนะก๊ก “คนดี” เล่าปี่-ขงเบ้ง” ซึ่งเป็นการใช้ “คำย้อมสี” แบบเหมารวม เพราะอันที่จริงไม่มีทางจำแนกคนเป็น “กลุ่มคนดี” “คนเลว” ได้ขนาดนั้น และการต่อสู้ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นความแพ้-ชนะของคนเพียงสองกลุ่ม แต่มันมีความหมายของแพ้-ชนะทางหลักการ อุดมการณ์ในระดับที่แน่นอนหนึ่งอยู่ด้วย

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ดำเนินมาโดยตลอดและยังดำเนินต่อไป

เอาง่ายๆ แค่ว่าประเด็น “ทักษิณจะกลับบ้านได้หรือไม่?” ก็มีปัญหาเชิงหลักการที่ต้องถกเถียงกันอย่างซีเรียส เช่นเดียวกับประเด็นที่ “งอกเงย” ออกมาจากการต่อสู้ทางการเมืองกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เช่นข้อเสนอแก้ไข ม.112 การลบล้างผลพวงรัฐประหาร การนิรโทษกรรม สาเหตุทุกด้านหรือเบื้องหน้าเบื้องหลังของรัฐประหาร ฯลฯ ก็ยังมีปัญหาเชิงหลักการที่ต้องถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง

ไม่ใช่เรื่องที่จะฟันธงง่ายๆ ว่าสาเหตุทั้งหมดมาจาก “ทักษิณ” เพียงคนเดียวอย่างที่ธีรยุทธสรุป

ซึ่งเป็นข้อสรุปที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการวิเคราะห์การเมืองที่เน้นการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ ตัวบุคคล มากกว่าที่จะลงลึกถึง “หลักการ” หรือ “อุดมการณ์” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยในทางหลักการ อุดมการณ์อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net