เสวนา: ‘สันติประชาธรรม’ กับการคลี่คลาย ‘ความขัดแย้ง’

“ส.ศิวรักษ์” เสนอให้ยึดมั่นในสันติประชาธรรม และสันติวิธี ชี้เมืองไทยขาดสัจจะกันมาก สันติประชาธรรมต้องกล้าเผชิญกับสัจจะ ส่วน “ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์” แนะจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย สันติประชาธรรม อย่างเดียวไม่พอ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดงานเสวนาเรื่อง “สันติประชาธรรมกับการคลี่คลายความขัดแย้ง” โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง, เดช พุ่มคชา อดีตประธานคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โดยมี รศ.ดร สุรัสวดี หุ่นพยนต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ดำเนินรายการ


จัดการความขัดแย้งในสังคมไทย สันติประชาธรรม อย่างเดียวไม่พอ

ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เริ่มต้นตอบคำถามถึงการใช้สันติประชาธรรมมาจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเสนอว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยนั้นเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งสัญญาประชาคมบางอย่างเริ่มมีปัญหาและได้กลายเป็นต้นตอของปัญหา แสดงออกมาผ่านความไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันรับเอาแต่ทฤษฎีตะวันตกมาแค่ตัวรูปแบบ แต่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงโครงสร้างได้ว่า ใครได้อะไร ใครสูญเสีย และใครล่มสลาย

ดร.ปรีชา กล่าวถึงคำพูดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า “นักเศรษฐศาสตร์กำลังทำอาชญากรรมกับสังคมไทยไทย โดยเฉพาะสังคมชนบทอย่างมาก” การพัฒนามันจึงเข้าไปละเลยความเป็นธรรม ทักษิโณมิกส์ เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่นำพาไปสู่ความล้มเหลว ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน ว่าในประเทศไทยมีความแตกต่างทางรายได้ที่สูงมาก และแนวโน้มวิกฤติเชิงโครงสร้างมีทิศทางที่สูงขึ้น

ปัญหาคือ สันติประชาธรรม อย่างเดียวไม่พอ สิ่งที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์นำมาใช้นั่นคือ การให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ชนบท” แต่เราต้อง มี 3 สิ่งที่ ปูชนียบุคคล 3 ท่านได้เสนอไว้ ประการแรกคือ “ธรรมิกสังคมนิยม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ประการที่สอง “ประชาธิปไตยเศรษฐกิจ” ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และประการสุดท้าย “ภูมิปัญญายั่งยืน” ของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์

กล่าวคือเราต้องผสมผสานทั้ง 4 แนวคิด แก้ปัญหา อวิชชาของทุนนิยมที่ครอบงำสังคมไทย โดยสันติประชาธรรมสามารถลดความรุนแรงของโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายการถือครองที่ดิน ในขณะที่ประชาธิปไตยเศรษฐกิจจะสามารถนำเอาเสียงของผู้ใช้แรงงาน ชาวไร่ชาวนา คนทำงานให้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงในทุกองค์กร แต่ประชาธิปไตยเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ได้ถ้า ปตท.ยังยึดกุม เศรษฐกิจประเทศไทย เราต้องปฏิรูปธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นของสังคม
 

อุปสรรคของประชาธิปไตยคือการเพิกเฉยต่อสิทธิของผู้อื่น และทระนงตัวว่าเหนือกว่าผู้อื่น

เดช พุ่มคชา เริ่มต้นด้วยการยกคำ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า “พยายามทำเถิด ทำแล้วทำอีก ถ้ามันจะผิดพลาดก็หาใช่ความผิดของสุภาษิต” โดยกล่าวว่า “สันติประชาธรรม” เป็นบันทึกประชาโดยสันติวิธี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 โดย บทความของนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงพี่ทำนุ ซึ่งเกิดในช่วงรัฐบาลจอมพลถนอมขณะนั้น ในจดหมายระบุถึง ประชาธรรมหมายถึง สิทธิ เสรีภาพ ประชาชนทางการเมือง เราสามารถดูประชาธรรมได้ที่ประชาชน ซึ่งยังต้องการสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง

ประชาธรรมควรจะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดสุดท้าย ซึ่งประชาธรรมต้องหมายถึง ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่การปกครองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ประชาธรรมนี้ ต้องรวมถึงการทำให้ประชาชนและผู้นำ ตระหนักในหน้าที่ด้วย ในสันติประชาธรรมยังเสนอข้อควรระวังของผู้นำที่สมาทานหลักการสิทธิเสรีภาพว่า มักแตกความสามัคคีกันง่าย มีความแตกแยกกันได้ง่ายของผู้ใฝ่สิทธิ เสรีภาพ โดยต้องปรองดองกันเพื่อรักษา “หลักใหญ่”

เดช ขยายความหลักธรรมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุว่า ประกอบไปด้วย 3 สิ่ง 1.นึกถึงส่วนรวม 2.ความซื่อสัตย์ 3.ปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน ปัจจุบันที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตย 100 % กับประชาธิปไตยแบบมีนามสกุล ธรรมิกสังคมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ตอนนี้มีการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ การไปมีส่วนร่วมในการเตรียมคนเข้าไปสู่การทำสัญญาประชาคมนี้ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่ชนชั้นนำเดิม กระบวนการแบบนี้จึงจะสัมฤทธิ์ผล

อดีตประธาน กป.อพช.กล่าวว่า อุปสรรคของประชาธิปไตยคือการเพิกเฉยต่อสิทธิของผู้อื่น และทระนงตัวว่าเหนือกว่าผู้อื่น สันติวิธีเป็นวิธีเดียวที่รักษาประชาธิปไตยได้ในระยะยาว โดยเชื่อว่าโครงสร้างความไม่เป็นธรรมได้สั่นคลอนแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ เราต้องเริ่มทำจากเล็กๆ ต้องหลีกเลี่ยงความชั่วทั้งปวง เริ่มจากราก เริ่มจากท้องถิ่น เริ่มจากชุมชนเล็กๆ ไม่หลงไปกับวาทกรรมต่างๆ และไปด่าคนอื่นที่เห็นต่าง
 

สันติประชาธรรม นั้นมีรากมาจากความเป็นมนุษย์ หมายถึงสัจจะเมื่อคุณไม่มีสัจธรรม คุณก็หลอกตัวเอง

ส. ศิวรักษ์ เสนอให้ยึดมั่นใน 2 สิ่ง นั่นคือ สันติประชาธรรม และ สันติวิธี ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เชื่อ “ตอนที่ท่านกลับมาไทย หลังจากที่ทำงานเสรีไทย ท่านพยายามประยุกต์ใช้แต่ไม่สำเร็จ เมืองไทยผิดพลาดที่ไม่นำแนวคิดท่านมาทำ” และเริ่มต้นตั้งคำถามว่า ทำไมคนต้องมากรุงเทพ แต่คนเริ่มต้องมากรุงเทพในรัชกาลที่ 5 นี่เอง ก่อนหน้านั้นมีน้อยมาก อาจารย์ป๋วยเล็งเห็นตรงนี้ ก็ต้องการให้ชาวบ้านมีความรู้ไม่ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ ที่ลุ่มน้ำแม่กลองถัวเฉลี่ยประชาชาติ ดีที่สุดในประเทศ และสอง ให้ทำกสิกรรมแบบสมัยใหม่ซึ่งเป็นงานที่คนส่วนใหญ่ของประเทศทำ และสุดท้ายคือเรื่องสาธารณสุขโดยให้มหาวิทยาลัยมหิดลมาช่วย ซึ่งเป็นการใช้บารมีสันติประชาธรรมนำหน้า

“สันติประชาธรรม นั้นมีรากมาจากความเป็นมนุษย์ หมายถึงสัจจะ เมื่อคุณไม่มีสัจธรรม คุณก็หลอกตัวเอง คานทีสู้กับอังกฤษยังใช้สัจจะสู้ คานทีและต่อสู้กับอังกฤษด้วยสันติวิธี” ส. ศิวรักษ์ กล่าว

ราษฎรอาวุโส แสดงความเห็นว่า เมืองไทยขาดสัจจะข้อนี้ กรณีนักข่าวรอยเตอร์วิจารณ์หนังสือ “King Bhumibol Adulyadej : A Life’s Work” ที่เขียนโดยอานันท์ ปันยารชุน โดยวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเท็จจริง ซึ่งเมืองไทยขาดสัจจะกันมาก กรณีสำนักงานทรัพย์สินฯ ตอนนี้ถึงกับมีการให้งบประมาณวิจัยกันแล้ว หลังจากทีสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานาน แต่ก็เป็นลักษณะโยนกระดูกให้หมา หรือกระทั่งบริษัทของทักษิณ ก็เลวไม่ต่างกัน

ผมเห็นว่าสังคมไทยกำลังหลงทาง เราต้องตีอริยสัจให้แตก หาเหตุแห่งทุกข์ กรณีวันเฉลิมฉลองใช้งบประมาณเท่าไหร่ เราไม่เผชิญกับสัจจะ ผมบอกวรเจตน์ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) ว่า ให้ต่อสู้ไปให้ถึงที่สุด สันติประชาธรรมต้องกล้าเผชิญกับสัจจะ เราถอนรากถอนโคนจากเกษตรกรรมาเป็นอุตสาหกรรม ทหารฆ่าตั้งแต่สมัย ร.4 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นต้องต่อสู้โดยยึดสันติประชาธรรมแก้ปัญหาจากชุมชน

คนรากหญ้าทั้งหลายที่มีสัจจะ กรณีจิตนา แก้วขาวเป็นตัวอย่างที่ดี มีคนมาเสนอเงินให้เป็นล้านไม่เอา ใช้สันติวิธีต่อสู้ เพื่อรักษาพื้นที่ริมชายหาดให้ปลามาวางไข่ รักษาธรรมชาติของชุมชนไว้ นี่เป็นสัญลักษณ์สันติประชาธรรมของคนรากหญ้า ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ในการช่วยให้คนเสื้อแดงที่อาจจะขาดสัมมาวาจา หรือยึดติดกับการสร้างรูปเคารพตัวบุคคลอีกอย่างมาแทนที่รูปเคารพ ให้เป็นรากหญ้าที่มีสัจจะได้ โครงสร้างที่เริ่มจากรัฐสมัยใหม่เป็นต้นมา เป็นสภาพของชนชั้น ซึ่งชนชั้นบทสร้างภาพว่าวิเศษหมดซึ่งในปัจจุบันมีบ้าคลั่งมากขึ้น สันติประชาธรรมต้องต่อสู้โดยไม่ใช้ความชั่วตอบกลับศัตรู

ตอนนี้ในหลายๆ ประเทศสันติวิธีกำลังขยายตัว ในทิเบตเขาไม่สอนลูกให้เกลียดคนจีนทั้งๆ ที่คนจีนทำร้าย เอารัดเอาเปรียบมาอย่างยาวนาน แต่เราเริ่มเห็นเค้าลางของสันติภาพ มันช้าแต่มันกำลังขยายตัวเราต้องมีขันติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท