Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 55 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เสียใจต่อการที่ประเทศไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการรับรองผลการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ ...

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
AI Index: ASA 39/002/2012
15 มีนาคม 2555

ประเทศไทย: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเสียใจต่อการที่ประเทศไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของ

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการรับรองผลการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลผิดหวังกับการที่ประเทศไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับพันธกิจที่แสดงไว้อย่างชัดเจนในการจัดทำแผนปฏิบัติการแม่บทแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับปี 2552-2556 [1] และขอย้ำเตือนการตัดสินใจที่น่ายินดีของประเทศไทยเมื่อปี 2553 ที่ไม่คัดค้านข้อเรียกร้องของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ให้มีประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราว และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มการลดหย่อนโทษให้กับนักโทษประหารในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรู้สึกผิดหวังที่ประเทศไทยเริ่มการประหารชีวิตอีกครั้งเมื่อปี 2552 หลังจากว่างเว้นไปเป็นเวลาหกปี ทางองค์การรู้สึกกังวลต่อการที่นักโทษประหารยังคงถูกล่ามโซ่ตรวน แม้มีคำสั่งศาลเมื่อปี 2552 ว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตัดสินประหารชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งขัดกับกฎบัตรระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต และมีการเสนอเป็นระยะๆ เพื่อให้ลดหย่อนโทษให้กับนักโทษประหารทุกคน และประกันว่าจะไม่นำโทษประหารชีวิตมาเป็นมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด

รัฐหลายแห่งแสดงข้อกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในท่ามกลางการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย [2] ผู้ก่อการได้กระทำการที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามอย่างหนึ่ง ในขณะที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงก็ยังคงใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างเป็นระบบเพื่อต่อสู้กับการก่อความไม่สงบ กฎหมายพิเศษให้อำนาจอย่างมากกับฝ่ายความมั่นคงที่จะปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการฟ้องร้องดำเนินคดี ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สำเร็จเลย นับแต่ความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นมาอีกในปี 2547 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้รัฐบาลประกันว่า ปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบจะต้องเป็นไปโดยเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และให้นำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลเกี่ยวกับการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอันเนื่องมาจากการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาใช้ [3] นับแต่คณะทำงาน UPR ได้ทบทวนสถานการณ์ของไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2554 มีบุคคลอย่างน้อยสามคนที่ถูกตัดสินลงโทษเนื่องจากละเมิดกฎหมายเหล่านี้ รวมทั้งนายอำพล ตั้งนพคุณที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปี และนาย Joe Gordon ซึ่งมีทั้งสัญชาติไทยและสหรัฐอเมริกาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสองปีครึ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้ประเทศไทยชะลอการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้จนกว่าจะมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย และให้ปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่

ข้อมูลพื้นฐาน

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก UPR เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ในวาระประชุมสมัยที่ 19 ก่อนจะรับรองรายงานการทบทวนสถานการณ์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลมีโอกาสได้แถลงการณ์ด้วยวาจาตามเนื้อหาข้างต้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลในระหว่างการพิจารณารายงานของประเทศไทยด้วย: http://www.amnesty.org/en/library/info/ASA39/001/2011/en

เชิงอรรถ:

  1. A/HRC/19/8, recommendations 89.1 (Argentina), 89.3 (Spain), 89.6 (Hungary), 89.7 (Switzerland), 89.27 (Turkey), 89.28 (France), 89.29 (Slovakia), 89.30 (Spain), 89.31 (Switzerland), 89.32 (Slovenia), 89.33 (Brazil), 89.34 (Argentina) and 89.35 (Nicaragua)
  2. อ้างแล้ว recommendations 88.54 (South Africa), 88.55 (Qatar), 88.65 (Malaysia) and 88.68 (Canada)
  3. อ้างแล้ว recommendations 89.50 (Brazil), 89.51 (United Kingdom), 89.52 (France), 89.53 (France), 89.54 (New Zealand), 89.55 (Norway), 89.56 (Norway), 89.57 (Norway), 89.58 (Slovenia), 89.59 (Sweden), 89.60 (Spain), 89.61 (Indonesia), 89.62 (Switzerland), 89.63 (Canada) and 89.64 (Switzerland)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net