Skip to main content
sharethis

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อของประเทศไทย ระบุเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์เสื่อมถอยลงภายใต้รัฐบาลใหม่ การใช้กฎหมายหมิ่นโดยมิชอบเพื่อเล่นงานทางการเมืองก่อให้เกิดคดีความและการ เซ็นเซอร์ที่เข้มงวดขึ้น การตัดสินคดีอากง (อำพล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อากงเอสเอ็มเอส" สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างดุเดือดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยลืมคำสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะแก้มาตรา 112 เสียแล้ว

โดยรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุถึงคำกล่าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (10 ส.ค.54) ซึ่งระบุว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ควรถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม พร้อมชี้ว่า ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการกับคดีหมิ่นฯ นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่ยิ่งลักษณ์กล่าว

รายงานระบุว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงให้เห็นว่าแย่กว่ารัฐบาลก่อนหน้าในเรื่องของการกรอง เว็บ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ได้สั่งบล็อคเว็บเพจกว่า 60,000 ยูอาร์แอลในเวลาไม่ถึงสามเดือน ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมา ปิดไป 70,000 ยูอาร์แอลในเวลาสามปี ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์คิดว่านี่เป็นการพิสูจน์แสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของ รัฐบาล

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุว่า จำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นที่เพิ่มสูงขึ้น สัมพันธ์กับการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการกระจาย ข่าวสาร โดยในงานแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 รัฐมนตรีไอซีทีอ้างว่า กระทรวงไอซีทีรัฐบาลก่อนขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์เองร้องขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ดูแลเว็บไซต์ซึ่ง อยู่ในต่างประเทศ ทำการปิดหรือบล็อคหน้านั้นๆ เสีย เพื่อที่ผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็จะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวได้ด้วย

นอกจากนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้อ้างอิงเอกสารราชการจากขวัญระวี วังอุดม นักวิชาการศูนย์สิทธิมนุษย์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าระหว่าง ม.ค.-ต.ค.2554 มีคดีหมิ่นฯ ในศาลชั้นต้น 122 คดี (ทั้งที่อาจมีหรือไม่มีการตัดสินแล้ว) 8 คดีในศาลอุทธรณ์ และ 3 คดีในศาลฎีกา

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ประกาศว่าการสอดส่องอินเทอร์เน็ตจะเข้มงวดมากขึ้นเนื่องจากกฎหมายหมิ่นฯ โดยจะมีการจับตาตลอด 24 ชม. นอกจากนี้รัฐบาลวางแผนจะลงทุน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับระบบการกรองเนื้อหาเพื่อบล็อคเว็บหมิ่นฯ

อีกตัวอย่างของการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในทางมิชอบ และผลที่ตามมาคือการประกาศของกระทรวงไอซีที ไม่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกดไลค์ หรือกดแชร์ลิงก์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯ มิเช่นนั้น อาจถูกดำเนินคดีได้

ทั้งนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานถึงสถานการณ์การใช้กระบวนการทางกฎหมาย จัดการกับพลเมืองเน็ตในคดีหมิ่นฯ ที่มีมากจนนับไม่ถ้วนด้วย โดยระบุถึงคดีที่โจ กอร์ดอน บล็อกเกอร์ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกศาลตัดสินเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.54 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่งด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแปลเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ The King Never Smiles ของพอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม ลงในบล็อกของเขา โดยรายงานระบุว่า เขารับสารภาพโดยหวังว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นอกจากนี้ ยังมีคดีของนายอำพล หรือ อากงเอสเอ็มเอส ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อวันที่ 23 พ.ย.54 จากการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ ขณะที่นายอำพลปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว รายงานระบุว่า คดีของนายอำพลก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เข้มข้นในประเทศ และนับเป็นครั้งแรกที่สื่อไทยติดตามประเด็นนี้อย่างลงลึก นอกจากนี้ยังเกิดกระแสความไม่พอใจจากนานาชาติด้วย โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่ง องค์การสหประชาชาติที่ระบุว่ากฎหมายหมิ่นฯ ส่งผลสะเทือนต่อเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรุนแรง

นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงคดีที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บประชาไท ซึ่งมีการสืบพยานที่เหลืออีก 5 ปากเมื่อวันที่ 14-16 ก.พ.55 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 เม.ย.55 จากข้อหาละเมิดมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จีรนุชเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกจำคุก 20 ปีจากการปิดความเห็นที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เร็วพอ โดยรายงานระบุว่าการพิจารณาคดีนี้จะช่วยทำให้เห็นถึงความรับผิดชอบของตัว กลางทางเทคนิคที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังมีคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ซึ่งถูกปิดไปในปี 2553 ถูกควบคุมตัวกว่า 7 เดือนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวถึงการที่ชาวเน็ตหลายคนยังถูกจองจำจาก ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาทิ สุรภักดิ์ ซึ่งยังรอคำตัดสินคดีของเขาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธันย์ฐวุฒิ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 15 มี.ค.54 เป็นเวลา 13 ปีจากการเผยแพร่บทความในเว็บ นปช.ยูเอสเอ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง นรเวศย์ นักศึกษาที่เขียนบล็อก ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ส.ค.54 ก่อนจะได้ประกันตัวในสามวันถัดมา เอกชัยและวิภาส ซึ่งได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติระหว่างรอขึ้นศาล

ด้านข้อถกเถียงของการใช้กฎหมายหมิ่นฯ นั้น องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลก่อน สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ โดยลงความเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่เดิมรุนแรงเกินไป ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาบอกว่าไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายและไล่ให้ผู้ที่วิจารณ์ออกจากประเทศ ส่วนกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านกฎหมาย 7 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เสนอร่างแก้ไขมาตราดังกล่าว โดยต่อมา มธ.ได้ห้ามไม่ให้มีการใช้สถานที่เพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว โดยอ้างว่าอาจเสี่ยงจะเกิดความรุนแรง แต่ก็ได้มีการพิจารณามตินี้ใหม่อีกครั้ง การสั่งห้ามครั้งนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างมาก โดยมีทั้งกลุ่มนักศึกษาที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมนิติราษฎร์ออกมา แสดงจุดยืน และเมื่อต้นปี 2555 นักวิชาการ 224 คนจากทั่วโลก รวมถึงนอม ชอมสกี และพอล แฮนลีย์ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกสนับสนุนข้อเสนอแก้มาตรานี้ มาตรา 112 ถูกวิจารณ์ว่า "วิธีที่ทรงพลังในการทำให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองเงียบลง"

รายงานระบุว่า ขณะที่รัฐบาลไทยรักษาระยะห่างกับแนวความคิดนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลไม่ต้องการแก้มาตรา 112 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกที่ขานรับการออกมาตรการใหม่ของทวิตเตอร์ที่จะ เซ็นเซอร์เฉพาะประเทศด้วย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนตั้งข้อสังเกตว่า นอกเหนือจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แล้ว สื่อในประเทศไทยดูจะมีเสรีภาพ แต่ก็มีการคุกคามด้วยการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อ เนื่องและเพิ่มมากขึ้น การเห็นต่างในรูปแบบใดก็ตามถูกตีความว่าเป็นการไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน กษัตริย์ ประเทศไทยดูเหมือนจะส่งเสริมการกำจัดเว็บที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ ไม่ว่ามากหรือน้อย ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะนำไปสู่ความแตกแยกของประชาชนและกัดกร่อนความสามัคคีของ ชาติในที่สุด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เผยแพร่รายงาน "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" โดยยังคงจัดประเทศไทยอยู่ในหมวดที่ต้องเฝ้าจับตา พร้อมชี้ว่าหากยังมีการดำเนินคดีกับชาวเน็ตและปิดกั้นเนื้อหาด้วยเหตุผลของ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประเทศไทยอาจถูกจัดอยู่ในหมวด "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" เช่นเดียวกับ จีน อิหร่าน และพม่า ในไม่ช้า

นอกจากนี้ ในส่วนดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 137 แต่ยังอยู่ในหมวดประเทศที่ต้องจับตา ขณะที่ประเทศในอาเซียนด้วยกัน กัมพูชาได้คะแนนเสรีภาพสื่อสูงที่สุดโดยอยู่ในอันดับที่ 117 ส่วนประเทศอื่นๆ ได้แก่ บรูไน อยู่ที่อันดับที่ 125 สิงคโปร์ อันดับที่ 135 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 140 อินโดนีเซีย อันดับที่ 146 ลาว อันดับที่ 165 พม่า 169 และเวียดนาม 172

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" จัดบาห์เรน-เบลารุส "ศัตรูรายใหม่ของอินเทอร์เน็ต"
http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39643

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net