Skip to main content
sharethis


“กู้วโว้ว  กู้วโว้ว  กู้วโว้ว”

นกกาเหว่าโหมส่งเสียงร้องขณะเกาะอยู่บนต้นสนภายในอาณาบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เช่นดังปกติทุกวัน อาทิตย์ส่องแสงทอประกายกระทบตึกสีส้มเจิดจ้า อันหมายถึงคณะวิทยาการสื่อสาร ที่จะจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ขึ้นในวันรุ่งขึ้น

ลมโชยพัดโบกธงชาตินานาประเทศสะบัดไหว ต้นไม้ข้างคณะฯ โอนเอน ขณะใต้ถุนตึกมีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังจับจองพื้นที่จัดบูธเปิดนิทรรศการอย่างคึกคัก ส่วนคณะจัดงานกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมการพอสมควร

ถ้าดูตามกำหนดการงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia ของวันที่ 12 มีนาคม 2555

เวลา 10.30-12.00 ที่ห้องย่อย A 302 ชั้น 3 จะมีการเปิดตัวกลุ่มผู้ผลิตสื่อไฟน์ทูน โปรดักชั่น (FT Media) มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน “รู้จักและทำเป็นสารคดีเสียง?” ซึ่งนำโดยนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย และทีมถ่ายทอดประสบการณ์และสาธิตการทำสารคดีเสียง สำหรับออกอากาศวิทยุ

ขณะที่ในช่วงบ่ายเวลา 13.30-17.30 น. ที่ห้องเดิมในวันเดียวกัน มีการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “สนามข่าว” และวิเคราะห์ข่าวเชิงลึก จากนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อดีตนักวิเคราะห์อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป หนึ่งในกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ และนายดอน ปาทาน ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

สำหรับกลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตรายการวิทยุ วิดีโอ และเว็บไซต์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2554 มีเป้าหมายเพื่อผลิตงานที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สังคม อธิบายเรื่องราวที่นอกเหนือไปจากข่าวและรายการวิเคราะห์ข่าว เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นที่เป็นเรื่องปัจจุบัน สำคัญต่อชุมชน แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระแส

 นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น บอกถึงการผลิตงานของกลุ่มว่า ต้องการทำงานเน้นคุณภาพ มีเนื้อหารอบด้าน ด้วยรูปแบบที่น่าสนใจและให้อรรถรสตามแบบฉบับที่งานมัลติมีเดียพึงมี

นอกจากนี้กลุ่มไฟน์ทูนฯ สนใจทำงานประเด็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับสังคม ชนกลุ่มน้อย ภาษาและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากร การเมือง และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“กลุ่มยังทำงานด้านอบรมผู้ผลิตสื่อ เพื่อเสริมทักษะในเรื่องการผลิตรายการวิทยุ วิดีโอ ทักษะในการทำข่าว อบรมทั้งในและนอกรูปแบบ โดยมีสมาชิกในกลุ่มก่อตั้งกลุ่ม 5 คน หลักๆ คือ ฉัน สมอุษา บัวพันธ์ และราชพล เหรียญศิริ” นางสาวนวลน้อย บอกถึงสมาชิกและแนวทางการทำงานของกลุ่ม

ตะวันคล้อยต่ำแล้วค่อยเลือนเคลื่อนหายไปจากขอบฟ้า ครั้นความมืดแผ่ขยายปกคลุมตึกสีส้มอันสว่างจ้าถูกกลืนเป็นสีหม่น จนล่วงสู่กลางคืน แสงจากหลอดนีออนไฟฟ้าส่งสว่าง ท่ามกลางการทำงานของคณะจัดงานฯ และกลุ่มคนที่กำลังตกแต่งบูธจัดนิทรรศการเพื่องานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ในวันพรุ่ง



 

สมาชิกกลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น (FT Media)

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้ผลิตรายการและผู้สื่อข่าวของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยในระหว่างปี 2533 ถึงปี 2549  ผลิตรายการวิทยุให้กลุ่มเสียงไทยออกอากาศที่คลื่น FM 92  ในปี 2549 ถึงปี 2551 เคยเป็นนักข่าวนสพ.เดลินิวส์ เดอะเนชั่น

เคยอบรมทีมผู้สื่อข่าวประชาไทให้ทำรายการวิทยุ “ประชาไทใส่เสียง” อบรมการสื่อข่าวและผลิตรายการวิทยุ/วิดีโอให้กับนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ในโครงการอบรมผู้ผลิตสื่อของอินเตอร์นิวส์

เคยร่วมผลิตสารคดีชุดรอยร้าวชายแดนใต้ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ในการผลิตรายการวิทยุ ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ฯลฯ

นางสาวสมอุษา บัวพันธ์  เคยร่วมงานกับกลุ่มเสียงไทย ผลิตรายการวิทยุออกอากาศทางคลื่น  FM 92 ในปี 2549 ถึงปี 2551 ให้กับกลุ่มเสียงไทย เคยรับหน้าที่ ที่ปรึกษาของกลุ่มผู้ผลิตรายการวิทยุในสังกัดมูลนิธิฮิลาล ฮะมัร ในปัตตานี ในปี 2554 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน

เคยเป็นสมาชิกโครงการสนับสนุนวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ผลิตรายงานออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย และผ่านการเป็นวิทยากรในการอบรมงานด้านวิทยุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2554

นายราชพล เหรียญศิริ ทำงานทางด้านมัลติมีเดีย เชี่ยวชาญในเรื่องงานไอที ร่วมผลิตงานวิดีโอ วิทยุ และการทำเวบไซต์ เคยร่วมงานกับอินเตอร์นิวส์และทำงานอบรมสื่อ  เคยร่วมงานในโครงการ World Trust ของวิทยุบีบีซีภาคบริการโลกในปี 2545 - 2547 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตวิทยุอิสสระผลิตรายการละครวิทยุเพื่อการศึกษา (เรื่องโรคเอดส์)

เคยร่วมผลิตสารคดีชุดรอยร้าวชายแดนใต้ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ปัจจุบันยังร่วมงานกับเวบไซต์ข่าว TCIJ   

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net