Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“วันสตรีสากล” ในสังคมไทย ปัจจุบันมิอาจถูกนิยามความหมายผูกขาดเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเท่านั้น ผู้หญิงหลากหลายสาขาอาชีพ ได้ตระหนักถึงความสำคัญความหมายของผู้หญิงที่มีความเป็นมนุษย์เสมอภาคกับ ผู้ชาย  การเรียกร้องและการมีข้อเสนอทางสังคมจึงเกี่ยวข้องกับมิติความหลากหลายใน มุมของผู้หญิงแต่ละกลุ่มแต่ละองค์กรแต่ละสาขาอาชีพแต่ละความคิด  

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การก่อกำเหนิด”วันสตรีสากล” นั้นเกี่ยวข้องกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานอย่างมิอาจปฏิเสธได้และล้วนเป็นผู้ใช้ แรงงานที่รักประชาธิปไตยมิใช่อำมาตยาธิปไตยเป็นแน่

“8 มีนาคม” ความหมายผู้หญิงและชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

จุดเริ่มต้นวันสตรีสากล  เริ่มจากเมื่อวันที่ 8 มีนาคม  พ.ศ.2400   กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ 

ในปี พ.ศ.2450 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก 

จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา  และมี "คลาร่า เซทคิน" ชาวเยอรมัน  เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหว 

บทบาทของ"คลาร่า เซทคิน"  นั้น เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ 

“คลาร่า เซทคิน”  มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

ในการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น 

ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2453 ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ  ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  ได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย 

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล 

ผู้หญิง  สหภาพแรงงานด้านอิเลคทรอนิคส์  และปัญหาการเลิกจ้าง

งานศึกษาของ  วรวิทย์ เจริญเลิศ  เรื่อง“วิกฤตของการพัฒนา โลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อแรงงาน”   พบว่า   กระบวนการผลิตในโรงงาน เน้นระบบสายพานการผลิต ค่าจ้างขั้นต่ำ  ชั่วโมงการทำงานยาว (ปกติ+โอที)  ระหว่าง 60-72 ชม. ต่ออาทิตย์  และโรงงานที่ผลิตเกี่ยวข้องกับด้านอิเลคทรอนิคส์ มักใช้แรงงานส่วนใหญ่ 80-90% เป็นหญิง โสด อายุน้อย   เนื่องจากมีความอดทนสูงทำงานบนสายพานการผลิต    ที่เน้นการแข่งขันที่ราคา ต้นทุนค่าแรงต่ำ และ รับ Order จากบรรษัทข้ามชาติ เพื่อผลิตแล้วส่งออก

แม้ว่าแรงงานสตรีความสำคัญของในการผลิต  แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงเงื่อนไขการควบคุมแรงงานหญิงของนายทุนบริษัทโรงงาน ต่างๆ  โดยใช้ทัศนะคติครอบงำแบบอำมาตย์ศักดินา ต่อ “ความเป็นผู้หญิง”ในสังคมไทยที่ถูกกดทับหลายซ้อนมากกว่าแรงงานผู้ชาย

แต่แรงงานผู้หญิงจำนวนมากก็หายอมจำนนแต่อย่างไร ได้เข้าร่วมสิทธิเรียกร้องความยุติธรรมและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซี่งหลายคน เป็นประธาน เป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำที่เท่าเทียมกับแรงงาน ผู้ชายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้ งานศึกษาของ พัชณีย์ คำหนัก เรื่อง  ระบบทุนนิยมเสรี เสรีของใครกัน ? : กรณีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน 4 แห่ง AGC, Ricoh, Hoya และ MMI  ได้วิเคราะห์ปัญหาการเลิกจ้างคนงานในช่วงวิฤตการน้ำท่วมไว้ว่า   

ปัญหาการเลิกจ้างที่นำไปสู่ภาวะสั่นคลอน/ไร้เสถียรภาพของสหภาพแรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ 1) สหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทย  2) สหภาพแรงงานริโก้ประเทศไทย  3) สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์  (Hoya) และ 4) สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ (MMI) และตั้งคำถามต่อนายทุนเอกชนถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคน ส่วนใหญ่ของสังคม การใช้กลไก CSR (Corporate Social Responsibility) จรรยาบรรณทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงกลไกรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า ทำไมไม่สามารถรองรับปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในภาวะปกติและไม่ปกติ

การแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างพนักงาน 4 บริษัทนี้ เจ้าหน้าที่รัฐควรต้องรับออกมาปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน และสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่อย่างทันท่วงที โดยต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพนักงานในระยะเฉพาะหน้า ดังนี้

ข้อเรียกร้องของพนักงานอิเล็กทรอนิกส์ 4 บริษัท มี 3 ประการ ได้แก่

1. ขอให้พนักงานทั้ง 4 แห่งกลับเข้าไปทำงาน ซึ่งจะเป็นการรักษาสถานภาพการเป็นลูกจ้างและผลประโยชน์ที่สั่งสมมาจากการทำ งานหลายปี  โดยจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และตำแหน่งตามเดิม

2. ปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้น (กรณีริโก้) และตรวจสอบการใช้มาตรา 75 ของนายจ้างว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (กรณีเอจีซี)

3. หยุดการกลั่นแกล้ง ขัดขวางการจัดตั้งและดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานทั้ง 4 แห่ง

4. กรณีพนักงานเอ็มเอ็มไอที่ไม่ขอกลับเข้าทำงาน ขอค่าชดเชยพิเศษที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด และขอให้บริษัทจ่ายเงินค้างจ่ายบางส่วนให้ครบถ้วน พร้อมกับขยายสิทธิประกันการว่างงานเป็น 10 เดือนเพื่อขยายเวลาแก่พนักงานอายุมาก คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ในการหางานทำใหม่  เนื่องจากบริษัทหลายแห่งไม่นิยมรับพนักงานใหม่ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปรวมทั้งคนงานที่กำลังตั้งครรภ์

2  ข้อเรียกร้องในระดับนโยบาย  มี 2 ประการ ได้แก่ 

1. รัฐบาลจะต้องให้สัตยาบัน รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศข้อ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วม 

2. รัฐจะต้องปรับปรุงกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้รองรับสภาพความเป็นจริง ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการเลิกจ้าง การละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเสรี และตรวจสอบโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ดังนั้นไม่เพียงแต่แรงงานผู้หญิงยังไม่ได้มดำรงชีวิตในระบบสาม แปดดั่งเจตนารมย์ของวันสตรีสากล  แรงงานหญิงจำนวนมากยังไม่มีความมั่นคงด้านสิทธิเสรีภาพอันขัดกับหลักการ ประชาธิปไตย  และไม่มีความมั่นคงด้านการทำงานด้วยเช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net