นักวิชาการเสนอทางออกปมไทย-กัมพูชา “ชาญวิทย์” เสนอเปลี่ยนที่พิพาทเป็นการจัดการร่วม

อดีตทูตกัมพูชาคาด ศาลโลกไม่น่าตัดสินให้ชาติใดชาติหนึ่งชนะโดยเด็ดขาด แต่จะออกคำสั่งเพื่อให้เกิดการไกล่เกลี่ยมากที่สุด ในขณะที่ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”เสนอเปลี่ยนพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกม. เป็น “พุทธสถานสันติ” แห่งอาเซียนเพื่อสร้างสันติภาพโดยการบริหารจัดการร่วม

8 มี.ค. 55 วิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาในหัวข้อ Thai-Cambodian Conflict: Nature and Solutions (ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา: ธรรมชาติและความขัดแย้ง) โดยมีนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่าง ไทยและกัมพูชา รวมถึงเสนอทางออกต่อปัญหาดังกล่าวด้วย

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ มองว่าความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาถูกนำมาใช้ในทางการเมืองอย่างจริงจัง หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เพื่อท้าทายความชอบธรรมของรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวชมาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้ใช้เหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่การคัดค้านการเสนอชื่อเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลก การเรียกร้องพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย ไปจนถึงการเรียกร้องให้ไทยประกาศสงครามกับกัมพูชาโดยสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาลในแต่ละช่วง และนำไปสู่ความรุนแรงดังจะเห็นจากการปะทะกันในบริเวณชายแดน

“ต้องเข้าใจก่อนว่ากระแสชาตินิยมถูกหยิบมาใช้โดยกลุ่มทางการเมืองตลอด เวลา จึงจำเป็นต้อง Depoliticize (ลดการทำให้เป็นการเมือง) และทำให้การเมืองไทยนิ่งให้ได้ก่อน หากยังมีการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย ก็ยังไม่เห็นว่าจะแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชาได้อย่างไร” ปวินกล่าว และเสริมว่า ควรให้การตัดสินใจเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ เป็นหน้าที่ของข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าที่จะให้กลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าไปกดดันหรือแทรกแซง

DSC_0023

เขามองว่า ในแง่การแก้ปัญหาเรื่องปมระหว่างไทยและกัมพูชา คงจะไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ ในความสนใจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเท่าใดนัก เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เองก็มีประเด็นร้อนที่ต้องจัดการเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรองดอง กันได้เท่าใด ซึ่งในที่สุดหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต รัฐบาลน่าจะอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกัมพูชาเพื่อเข้าไปแก้ไขมากกว่า

ด้านชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ ปัจจุบันนักวิจัยอาวุโสที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ ชี้ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย และเพื่อนบ้านในอาเซียนย่ำแย่ โดยเฉพาะตำราแบบเรียนของไทยเลือก “จำ” และเลือก “ลืม” ซึ่งนำไปสู่การสร้างความทรงจำที่บิดเบือนและถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น การปลุกกระแสชาตินิยมสุดขั้ว

“หนังสือประวัติศาสตร์ของทุกชาติในอาเซียนต้องแก้ เขียนอย่างปัจจุบันนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเขียนแบบปัจจุบันตีกันตาย ต้องแก้หนังสือประวัติศาสตร์เขียนเพื่อให้เกิด ASEAN Community (ประชาคมอาเซียน)” ชาญวิทย์กล่าว “คนไทย คนเขมร คนลาว...รู้จักตัวเองไม่พอ ต้องรู้จักเพื่อนบ้านด้วย”

DSC_0071

ชาญวิทย์เสนอทางออกต่อปัญหาไทย-กัมพูชาว่า ในระยะสั้น ให้เปลี่ยนพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรให้เป็นสถานที่ของอาเซียนอย่างแท้จริง โดยอาจจัดทำเป็น “พุทธสถานสันติ” หรือ ASEAN Buddhist Peace Zone ที่มีการจัดการและใช้ร่วมกัน พร้อมกับเสนอให้เปลี่ยนเขตปลอดทหารที่กำหนดโดยศาลโลก ให้เป็นมรดกข้ามพรมแดนและวัฒนธรรมและธรรมชาติระหว่างสามประเทศคือ ลาว ไทย และกัมพูชา จากดงพญาเย็น เทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหาร วัดภู ไปจนถึงน้ำตกแก่งลีผีในประเทศลาว โดยเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ในสามเหลี่ยมมรกตเป็นเขตมรดกโลกทั้งหมด

ภู โสธิรักษ์ (Pou Sothirak) อดีตเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศญี่ปุ่นและปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโส ที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มองว่าคำตัดสินของศาลโลกที่จะออกมาในปลายปีนี้ ต่อคำร้องของกัมพูชาเพื่อให้ตีความชี้ขาดคำตัดสินของศาลโลกในปี 1962 (พ.ศ. 2505) น่าจะออกมาในลักษณะที่ไม่ยกชัยชนะให้ชาติใดชาติหนึ่งอย่างเด็ดขาด แต่น่าจะเป็นคำสั่งที่เอื้อให้เกิดการไกล่เกลี่ยระหว่างสองประเทศให้ได้มาก ที่สุด อย่างไรก็ตาม หากไทยและกัมพูชาแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้น และสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้โดยด้วยตนเอง ศาลโลกเองก็อาจจะยังไม่ออกข้อตัดสินใดๆ ในระหว่างนั้น

DSC_0083

อดีตเอกอัครราชทูตยังเสนอว่า หากจะให้การแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมาธิการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา และคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ต้องสามารถทำงานได้อย่างไม่มีอุปสรรคกีดขวาง โดยเฉพาะในแง่ของการตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวที่ได้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2000 ในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ได้หยุดชะงักไปหลังจากที่มีการถกเถียงเรื่องมาตรา 190 ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศในระยะที่ผ่านมา ทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม ภู แสดงความหวังว่า หลังจากที่คณะกรรมการดังกล่าวได้เริ่มการทำงานขึ้นใหม่ภายใต้รัฐบาลนี้ ก็น่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขปมไทยและกัมพูชาต่อไปในอนาคต

มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ นักวิชาการด้านไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เสนอว่า อาเซียนจำเป็นต้องมองเรื่องการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในมิติใหม่ และยกเอารูปแบบในยุโรปมาเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะในกรณีของเขาพระวิหาร อาจจะนำการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่ข้ามเขตแดน (Trans-boundary heritage) มาใช้ โดยให้สองประเทศร่วมกันจัดการ ในขณะเดียวกันก็ต้องได้รับงบประมาณและการสนับสนุนจากอาเซียน ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จแล้ว จะทำให้เกิดจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอาเซียนและการจัดการมรดกโลกขึ้นมาได้

DSC_00103

เช่นเดียวกันกับรูปแบบของการจัดการภูมิภาคที่ข้ามชายแดน (Cross-border region) ที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบพิเศษบริเวณจังหวัดรอยต่อของรัฐ ปัจจุบันนี้ก็มีการดำเนินการอยู่ในบางส่วนของยุโรป โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะลดความปฏิปักษ์ระหว่างรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประชาชนของประเทศที่เกี่ยวข้อง มรกตชี้ว่า บทเรียนดังกล่าว เป็นเรื่องที่ประเทศไทยและอาเซียนควรจะได้เรียนรู้และนำมาใช้ในภูมิภาค เพื่อให้เกิดความสงบในอาเซียนได้ในอนาคต
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท