พ.อ.ชาคริต สนิทพ่วง กับภารกิจฟื้นภาพ ‘สุภาพบุรุษทหารพราน’

หลังจากเกิดเหตุทหารพราน กรมทหารพรานที่ 43 ยิงชาวบ้านตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 กำลังพลจากกรมทหารพรานที่ 22 ก็เข้ามาสับเปลี่ยนแทนกรมทหารพรานที่ 43 ตามข้อเสนอของชาวบ้านตำบลปุโละปุโย ในแทบจะทันที พันเอกชาคริต สนิทพ่วง ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 22 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นำกำลังเข้าพื้นที่ด้วยผ้าผูกคอสีชมพู รับภารกิจฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ทรุดต่ำลงให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง ต่อไปนี้ เป็นความรู้สึกของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมทหารพรานที่ 22 จากภาคอีสาน ที่ถอดจากคำสัมภาษณ์ออกมานำเสนอคำต่อคำ 0 0 0 “ที่ผ่านมาทหารทำผิดพลาดก็มี แต่ผมอยากให้มองไปที่ตัวบุคคลไม่ใช่เหมารวมไปทั้งหน่วยงาน คนหมู่มากอาจจะมีบางคนออกนอกลู่ไปบ้าง ผมอยากให้เข้าใจว่าผู้บังคับบัญชามีมาตรการป้องกันไม่ให้ทหารทำผิดวินัยอย่างเข้มงวด เราไม่ได้ปกป้องคนผิดไม่ให้ถูกทำโทษ เพราะจะทำให้คนในพื้นที่สูญเสียความเชื่อมั่นในการปฏิบัติภารกิจ ภาพพจน์ของทหารพรานจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นและอยากพึ่งพา ก่อนหน้านี้ ทหารพรานถูกมองว่าไม่มีวินัย ผู้บัญชาทหารบกจึงกำชับทหารพรานชุดใหม่ ที่ลงมาแทนทหารหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วินัยต้องดีกว่าเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใหม่ สนองแนวคิด ‘สุภาพบุรุษทหารพราน’ สำหรับกรมทหารพราน 22 สังกัดกองทัพภาคที่ 2 ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม2554 ทยอยลงมาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน อันนี้เป็นผลมาจากนโยบายกองทัพบก ที่ต้องการนำทหารหลักออกจากพื้นที่ แล้วส่งทหารพรานมาปฏิบัติภารกิจหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน มีการฝึกอาสาสมัครทหารพรานชุดใหม่ ส่งลงมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาสาสมัครทหารพรานที่มาจากกรมนี้มาจากภาคอีสานทั้งหมด จึงต้องอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ต้องฝึกเข้มนานกว่า 8 เดือน มีการลงพื้นที่ร่วมกับทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เห็นการปฏิบัติการจริงนาน 3 เดือน ก่อนถูกส่งมาประจำฐานปฏิบัติภารกิจครั้งแรกที่ตำบลปุโละปุโย กรมทหารพราน 22 ชุดนี้ มาจากการเปิดรับสมัครกำลังพลเข้ามาฝึกเป็นทหารพราน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ปรากฏว่ามีพลทหารราบที่เคยมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 50 เปอร์เซนต์ของกำลังพลทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งเป็นอาสาสมัครจากภาคพลเรือน จากนักศึกษาวิชาทหารผ่านการฝึกกองอาสารักษาดินแดน (รด.) มาแล้ว และอีกส่วนหนึ่งมาจากพลเรือนที่ไม่เคยผ่านการฝึกวิชาทหารมาก่อน ผมเชื่อมั่นว่า กองกำลังทหารพรานของหน่วยผม จะมีความเข้าใจใสภาพพื้นที่มากกว่า เนื่องจากมีพลทหารจากหน่วยทหารราบมาสมัครเป็นอาสาสมัครทหารพรานเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เข้ามาสมัครทั้งหมด กำลังพลส่วนนี้มีความชำนาญ และเข้าใจสภาพปัญหาในพื้นที่ระดับหนึ่ง ผมจึงไม่กังวล แต่สำหรับอาสาสมัครที่ไม่มีประสบการณ์จะต้องผ่านการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาในพื้นที่อย่างเข้ม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ความเชื่อทางสังคมและศาสนาเป็นอย่างไร อาสาสมัครทหารพรานทุกคนต้องรู้ และตระหนักในส่วนนี้ เพื่อให้การเข้าหาชุมชนไม่มีปัญหา การฝึกทหารทหารชุดใหม่ของกรมทหารพราน 22 พิเศษกว่าชุดเดิม เราเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยและการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า มีเงื่อนไขสำคัญอะไร ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนอะไรบ้าง ที่สามารถเอาชนะได้ ทหารต้องรู้จักให้เกียรติคนในท้องถิ่น ให้เกียรติผู้นำทางศาสนา ต้องเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีของพี่น้อง กำลังพลต้องเข้าใจว่า คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความเคารพนับถือผู้นำท้องถิ่น ผู้รู้ทางศาสนาเป็นอย่างมาก วิถีของคนในพื้นที่มีผู้นำทางศาสนาดูแลอยู่แล้ว เราเป็นเพียงตัวเสริมในบางกรณีที่ชุมชนจัดการกันเองไม่ได้ เช่น อิทธิพลมืดบางอย่างที่ชุมชนไม่กล้าจัดการ ฉะนั้นทหารพรานใหม่ ต้องเข้าใจบทบาทตัวเองให้ดี เพื่อลดการกระทบกระทั่งกันในชุมชน ส่วนการควบคุมอาสาสมัครทหารพราน ผู้บังคับบัญชาต้องสอดส่องวินัยของทหารพรานใหม่อย่างใกล้ชิด พบใครกระทำผิดวินัยแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ต้องรีบตักเตือนและแก้ไขทันที เป็นการป้องกันไม่ให้ติดเป็นนิสัย ช่วงหลังทหารเครียดบ่อย เพราะถูกกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องดูแลสภาพจิตใจควบคู่การควบคุมดูแลระเบียบวินัยของทหาร ด้วยการเพิ่มเวลาพักเป็น 15 วัน เนื่องจากทหารพรานส่วนใหญ่ที่เป็นพี่น้องที่มาจากภาคอีสาน เวลาพักส่วนใหญ่จะหมดกับไปกับเดินทาง จึงกำหนดช่วงเวลากลับบ้านที่ชัดเจน โดยเพิ่มเวลาที่ทหารจะได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น และยังมีการอบรมทางจริยธรรมแก่ทหารพรานใหม่ โดยเชิญพระอาจารย์จากอีสานมาให้พร และให้ความรู้ทางธรรมแก่ทหาร เพื่อช่วยปรับสภาพจิตใจด้วย ส่วนการกระทำผิดผิดวินัยร้ายแรง ต้องยอมรับก่อนว่า ปัจจุบันการปิดกั้นข้อมูลข้อเท็จจริงทำได้ยาก ชาวบ้านรับรู้ข่าวสารเร็วมาก การปกป้องผู้กระทำผิดจึงทำกันไม่ได้ง่ายๆ ถ้าจะทำให้ชาวบ้านไว้วางใจ กระบวนการสอบสวนทหารที่ทำผิดวินัยต้องโปร่งใส การเอาผิดกับทหารพราน ซึ่งเป็นอาสาสมัครอัตราจ้าง กรณีทำผิดวินัยร้ายแรง หรือทำผิดต่อประชาชน ไม่ว่าจะปลดออก หรือดำเนินคดีก็ทำได้ง่ายกว่าทหารหลัก ในส่วนของกรมทหารพรานที่ 22 ที่ลงมาปฏิบัติภารกิจแทนที่กรมทหารพรานที่ 43 มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ชุดคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่างๆ ลงไปเยียวยาชาวบ้าน ผมทราบดีว่า ธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความเคารพนับถือผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและบุคคลที่ประชาชนเคารพนับถือ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ก็ต้องให้เกียรติ เหมือนกับที่ชาวบ้านเคารพ ถ้าชาวบ้านและผู้นำชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ การทำงานในพื้นที่ก็ลำบาก ทหารพรานใหม่จะถูกปลูกฝังเรื่องนี้ เพื่อให้การทำงานในพื้นที่ราบรื่นขึ้น เหตุการณ์ที่ปุโละปูโย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้ชาวบ้านและทหารพรานเผชิญหน้ากัน เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตลอด บทเรียนที่ได้รับคือ ฝ่ายตรงกันข้ามจะนำไปขยายผลให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ และบางครั้งกำลังพลของทหารเอง ก็เข้าไปมีส่วนทำให้สถานการณ์ร้ายแรงขึ้น พลทหารจึงต้องรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ชาวบ้านย่อมไม่พอใจ เราต้องขอโทษและระมัดระวังตัว อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่มีความขุ่นเคืองใจกัน จำเป็นต้องมีตัวกลางในการเข้ามาไกล่เกลี่ย และเรื่องยาเสพติด ที่ผ่านมา แนวร่วมของขบวนการที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเราบางคน ถึงแม้จะมีรายชื่ออยู่ในบัญชี แต่ก่อนที่จะควบคุมตัว ต้องเข้าไปสอบถามกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาก่อนว่า มีผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของฝ่ายรัฐ ให้เอาตัวมาพูดคุยและตกลงกันไม่ให้ก่อเหตุ บางคนไม่ได้ไปกระทำผิดมา ชุมชนจะทราบ ต้องใช้มาตรการทางสังคมก่อนที่จะใช้มาตรการทางกฎหมาย เหตุการณ์ 4 ศพ ที่ปุโลปุโยไม่ว่าข้อเท็จจริงใครผิดหรือถูก แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ผมในฐานะผู้บังคับหน่วยทหารพรานเหมือนกัน เป็นข้าราชการเหมือนกัน ก็ต้องขอโทษ หน้าที่ของเราต้องดูแลรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นก็ต้องขออภัย ภารกิจต่อไปคือกอบกู้ความสัมพันธ์ให้กลับมาเหมือนเดิม ในฐานะที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ตอนนี้ ต้องทำให้กระบวนการเยียวยา กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดำเนินไปให้เร็วที่สุด ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายประชาชนและทหาร ให้กระบวนการการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างกระจ่างชัด และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวคดีนี้ สามารถร่วมตรวจสอบได้ด้วย เพื่อลดความคลางแคลงใจระหว่างประชาชนกับรัฐ กรมทหารพรานที่ 22 ภายใต้การดูแลของผม จะทำทุกมิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจระหว่างกัน และลดความระแวงต่อมทหารพรานให้หมดไป ต้องพูดคุยคลุกคลีกับชาวบ้านให้มากขึ้น ต้องลงพื้นที่บ่อยขึ้น เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น ไปลาดตระเวน ไปตั้งฐานในพื้นที่ ก่อนจะลงพื้นที่ต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชนรับทราบก่อนว่า เจ้าหน้าที่มีแผนงาน มีเป้าหมายอย่างนี้ ประชาชนจะได้รับรู้ว่าเราจะทำอะไรอย่างไร ผมเชื่อว่า คนทำดีได้บุญ คนทำผิดได้บาป สิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้คนที่คิดผิดหลงผิด เข้าใจได้ถูกต้องกับหลักการ ใช้ศาสนา ใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาร่วมช่วยดูแลปัญหานี้ด้วย ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาปฏิบัติงานในพื้นที่ มีเรื่องกดดันและท้าทายอยู่เสมอ แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ไข สิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะกอบกู้ความรู้สึกของชาวบ้านต่อทหารพราน ให้กลับมาดีเหมือนแต่ก่อน ทหารพรานลงมาทำงานในพื้นที่สร้างผลงานด้านดีเยอะ แต่ไม่ค่อยได้ออกสื่อ ส่วนใหญ่ทำงานเบื้องหลัง ข่าวด้านลบถูกหยิบยกบ่อย ยิ่งง่ายที่ประชาชนจะเข้าใจผิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท